
ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
23 กุมภาพันธ์ 2565
เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้นั่งสนทนากับนักแสดงผู้มากความสามารถอย่าง คุณโอ อนุชิต สพันธุ์พงษ์ ในงานเสวนา HRD TALK สามสิบยังแจ๋ว ครบรอบ 30 ปี คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งครั้งนี้เป็นหนึ่งในชุดงานเสวนา 8 หัวข้อใน Theme ของคำว่า WE SHARE+i โดยเป็นประเด็นที่ 7 ภายใต้ตัวอักษรย่อ E (Ethics) ในหัวข้อ “ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต” (The Eight Episodes of Life)
ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะรู้จักคุณโอจากบทบาทของ “ศร” ในภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” ที่สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างในช่วงต้นปีพ.ศ. 2547 ที่แม้จำนวนผู้ชมดูเหมือนจะน้อยในช่วงแรก แต่พอเกิดกระแสปากต่อปากว่าเป็นภาพยนตร์ดีที่น่าชม ก็ทำให้มีผู้สนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างล้นหลามในระยะเวลาอันสั้น จนต้องมีการขยายเวลาการฉายในโรงภาพยนตร์ออกไปหลายครั้ง รวมถึงการเกิดกระแสความสนใจในดนตรีไทย โดยเฉพาะการเล่นระนาด ที่ทำให้เด็กๆ จำนวนมากสนใจเรียนระนาดและเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่นๆ
หรือท่านอาจจะเคยได้รับชมละครโทรทัศน์เรื่อง “กาหลมหรทึก” ที่คุณโอรับบทเป็น “นายกล้า” ฆาตกรต่อเนื่องที่กลับได้รับกระแสความเห็นใจจากผู้ชม เมื่อได้รู้ถึงเหตุผลความเป็นมาของตัวละคร และภาพยนตร์เรื่อง “มะลิลา” ที่คุณโอเล่นบทเป็น “พิช” ศิลปินนักทำบายศรี ที่กลับมาพบกับอดีตคนรักในช่วงวัยรุ่นอีกครั้ง โดยทั้งคู่พยายามเยียวยาบาดแผลในอดีต และรื้อฟื้นความสัมพันธ์ผ่านการทำบายศรีอันงดงาม ซึ่งคุณโอได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขาผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ในปีพศ. 2561 จากการแสดงบทบาทนี้ด้วย
แต่ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะรู้จักคุณโอจากบทบาทใด การสนทนาในหัวข้อนี้มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ยิ่ง เพราะการได้รับฟังมุมมองของนักแสดงผู้มากความสามารถที่ได้รับบทบาทการแสดงที่หลากหลาย ทำให้เป็นผู้ที่มีโอกาสได้สัมผัสมุมมองของชีวิตตัวละครที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ใช่นักแสดง คนเขียนบท หรือผู้กำกับ อย่างพวกเราคงไม่มีโอกาสได้สัมผัส
บทความนี้ขอนำเสนอสรุปสาระจากการสนทนาในครั้งนั้น ทั้งเนื้อหาในส่วนของเส้นทางชีวิตและมุมมองของคุณโอ และประเด็นของธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต เพื่อเป็นการเรียนรู้และตกผลึกความคิดไปพร้อมๆ กัน โดยเริ่มจากประเด็นหลักในการสนทนาและสาระสำคัญในคำตอบทั้งแปดประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง หลักการหรือแนวคิดในการทำงานของคุณโอเป็นอย่างไร (Life Profession)
“มุมมองโอเปลี่ยนไปตามเวลาและอายุที่มากขึ้น เริ่มจากความชอบในการเต้น ก็เริ่มเต้นและมีรายได้จากการเต้น โอรู้สึกโชคดีและมีความสุข จากนั้นเริ่มต้นการเป็นนักแสดงด้วยการไปแคสต์บทในภาพยนตร์ 15 ค่ำ ตอนแรกโอไม่ได้ชอบการแสดงนัก แต่มีพี่ที่รู้จักแนะนำให้ไปลองดู ทีแรกยังไม่ได้ไป จนได้รับการชวนอยู่หลายรอบ จึงลองไปดู พอได้อ่านบทก็รู้สึกชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มาก และรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่ง
ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ทำให้โอเริ่มรักการแสดง และค่อยๆ เข้าใจการแสดงมากขึ้น และเกิดเป็นความรักในอาชีพ จึงตั้งใจเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง เพื่อให้ตัวเราสามารถอยู่ในอาชีพที่เรารักได้ไปนานๆ”
ประเด็นที่สอง การได้รับโอกาสในการแสดงบทบาทต่างๆ ทั้งในภาพยนตร์และละคร ทำให้เรามีมุมมองด้านต่างๆ ในชีวิตเราอย่างไรบ้าง (Life View)
“ส่งผลต่อวิธีการคิดของโออย่างมาก โดยเฉพาะในบทบาทตัวโกง ทำให้โอได้เข้าใจว่า เราจะตัดสินคนโดยเร็วไม่ได้ อย่างตัวโกงเองก็มีเหตุผลและมุมมองของเขา ไม่ใช่ว่าไม่มีที่มาที่ไป เขาอาจจะถูกกระทำถูกรังแกอะไรมามากมาย จึงทำให้เขาแสดงออกอย่างที่เขาเป็น”
ประเด็นที่สาม บทการแสดงบทใด เรื่องใดที่ให้บทเรียนชีวิตเราได้มากที่สุด (Life Journey)
“บทบาทของนายกล้า ในกาหลมหรทึก ซึ่งในสายตาของคนดู คือฆาตกรโรคจิต เป็นฆาตกรต่อเนื่อง ตอนต้นๆ เรื่องทุกคนเกลียดและกลัวนายกล้ามาก แต่พอเรื่องราวได้เปิดเผยให้เห็นถึงเบื้องหลังที่มาที่ไป ทุกคนเริ่มเชียร์ให้หนีตำรวจได้ เพราะพอเรารู้เหตุผลว่านายกล้าถูกกระทำมาก่อน เขามีเหตุผลของเขา แม้ในความเป็นจริงการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ยังไงก็ไม่ควรทำ แต่เราก็เริ่มเข้าใจ โอได้เรียนรู้ว่าถ้าเราใส่ใจและถามว่าเขาทำแบบนั้นไปเพราะอะไร จะทำให้มองคนอื่นเปลี่ยนไป เพราะโออยากรู้เหตุผลของการกระทำก่อนที่จะตัดสินอะไรใคร”
อีกบทบาทหนึ่งคือในภาพยนตร์เรื่องมะลิลา ที่เป็นบทบาทที่ค่อนข้างซับซ้อน มีมุมมองที่ค่อนข้างตรงกันข้ามกับตัวโอ ซึ่งโอไม่เข้าใจความคิดแบบนี้มาก่อน เช่น เหตุการณ์ที่น่าจะทำให้เรามีความสุข อย่างตอนที่คนรักขอให้กลับไปอยู่ด้วย ตัวละครที่โอเล่นจะเศร้ามาก เพราะเขารู้ว่าเขาเป็นมะเร็ง เขาไม่รู้ว่าจะอยู่กับความสุขนี้ไปได้นานแค่ไหน เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ แต่ในเรื่องเวลาที่ต้องเจอเหตุการณ์ที่แย่มาก เขากลับรู้สึกโชคดีที่กำลังจะตาย เพราะความรู้สึกแบบนี้จะอยู่กับเขาไปได้ไม่นาน เรื่องนี้สอนโอเรื่องความไม่จีรังได้ดีมาก ทำให้เข้าใจว่าทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอนเลย”
ประเด็นที่สี่ มุมมองที่มีต่อปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิตเป็นอย่างไร (Life Thought)
“ถ้าปัญหาเกิดจากคนอื่น ไม่ได้เกิดจากเรา เราก็อาจต้องปล่อยไป อย่างในช่วงหลังที่โดนเขียนข่าวแย่ๆ ที่จริงนักแสดงในเมืองไทยมีเยอะมาก การที่เขาใช้เวลาและใช้สมองเขียนถึงเรา ก็แสดงว่าเรายังมีค่า ยังมีคนสนใจ อันนี้โอไม่ได้พูดประชด เพราะถ้าเขาไปเขียนถึงคนที่ไม่มีใครสนใจ ก็ไม่มีคนอ่าน เมื่อคุณเป็นนักแสดง ต่อให้เขาเขียนด่าหรือชม ดีกว่าเขาไม่เขียนอะไรเลย อันนี้โอได้มาจากคำพูดของมาดอนน่า แต่กว่าจะทำได้ กว่าจะเข้าใจ ก็เจ็บมาเยอะครับ ท้ายสุดก็เรียนรู้ว่า ให้พยายามทำความเข้าใจคนอื่นให้ดีที่สุด แล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปถือไว้ มันหนัก”
ประเด็นที่ห้า เคยพบความท้อแท้ในการทำงานบ้างหรือไม่ และจัดการอย่างไร (Life Effort)
“ในสายงานโอก็มีบ้างครับ อย่างสถานที่ทำงานที่เขารักเราไม่เท่ากับที่เรารักเขา ก็อาจมีรู้สึกบ้างว่า ดูเหมือนที่อื่นเขาจะให้ค่ากับเรามากกว่า แต่เรารักเขามากเลย ท้ายที่สุดโอก็เข้าใจว่านั่นคือเขารักเรา และเป็นความรักแบบของเขาที่เขาจะให้เราได้มากที่สุดแล้ว เราก็เข้าใจ ไม่ได้ท้อนะครับ แต่ประมาณน้อยใจ แต่เราก็จะยังทำงานของเราให้เต็มที่”
ถ้าเป็นเรื่องงาน ก็ไม่ค่อยมีท้อนะครับ อาจมีบ้างอย่างโหมโรง เรารู้สึกว่าเขาเลือกเรามาแล้ว แล้วมันก็หลายเทคมาก ก็เลยรู้สึกว่าเรากำลังเป็นปัญหาหรือเปล่า นอกนั้นก็ไม่ค่อยมีครับ”
ประเด็นที่หก คิดว่า Message ในการดำเนินชีวิตที่คุณโอต้องการบอกคนที่รักและชื่นชมเรา คืออะไร (Life Message)
“จริงๆ คือ โอเป็นคนที่มีความสุขกับอะไรได้ง่ายมาก อย่างเวลาไปดูหนังไปดูคอนเสิร์ต แล้วถามโอว่า ดีไหม? มีพี่คนหนึ่งเขาบอกว่าถามโอไม่ได้ เพราะมันดีไปหมด ค่าเฉลี่ยมันต่ำมาก อะไรก็ชอบไปหมด วันหนึ่งโอก็มานั่งคิดว่า มันเป็นข้อเสียหรือเปล่า การที่เราชอบอะไรง่าย เรามีความสุขกับเรื่องง่ายๆ วันหนึ่งโอก็พบว่า มันไม่ผิดที่เราจะชอบวิ่งอยู่ในทุ่งดอกลาเวนเดอร์ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมาวิ่งได้ มันน่าจะเป็นข้อดีมากกว่า เลยเป็นสิ่งหนึ่งที่โอรู้สึกว่าอยากทำให้ทุกคนมีความสุข โอแทบจะไม่ค่อยโพสต์อะไรที่มันเครียดๆ ลงในช่องทางสื่อสารของโอเลย บางอย่างอาจจะดูเหมือนเพี้ยน แต่ถ้าทำให้เขาหัวเราะ โอก็มีความสุข เพี้ยนบ้างไม่เป็นไรหรอก ถ้าเราสามารถมีความสุขกับทุกเรื่องได้ แม้เป็นเรื่องที่เล็กมาก ก็น่าจะทำให้สังคมมีความสุขไปด้วย ไม่ใช่เอาแต่ทุกข์ อย่างล้างจาน ซักผ้า โอก็ร้องเพลงไปด้วย มีความสุขได้ เพราะฉะนั้นเราสามารถหาความสุขจากทุกสิ่งที่เราทำได้”
ประเด็นที่เจ็ด มีวิธีการในการสร้างสมาธิ (ในการแสดง/ทำงาน) ให้กับตนเองได้อย่างไรบ้าง (Life Concentration)
“ช่วงแรกๆ เป็นสิ่งที่ยากมากครับ เรารู้สึกว่า การแสดงมันต้องใช้สมาธิมาก อย่างเช่น ถ้าเราต้องเล่นฉากร้องไห้ เขาก็จะวอบอกกันว่า ซีนอารมณ์ ทุกคนเงียบหน่อย เพราะนักแสดงต้องใช้สมาธิ อย่ามัวแต่พูดเล่น ซึ่งมันก็สำคัญมากและควรจะเป็นอย่างนั้น แต่วันหนึ่งโอก็มานั่งคิดว่า ถ้าเราเศร้าอยู่จริง เสียงดังขนาดไหนหรือไปนั่งอยู่ในเทค เราก็ยังร้องไห้ได้นะ เพราะมันเศร้ามาก หรือถ้าเราง่วงมาก เสียงดังขนาดไหนเราก็หลับ เพราะฉะนั้นโอก็จะเปลี่ยนวิธีคิดว่า ถ้าโอจะเศร้าโอก็จะดึงตัวเองให้ดิ่งลงไปในตัวละคร เพราะฉะนั้นเสียงข้างนอกดังขนาดไหนก็จะไม่มีผล แต่อาจจะแย่มากในเรื่องของสุขภาพจิต เพราะอาจทำให้เราเครียดไป จริงๆ คำถามนี้ค่อนข้างยาก คือสำหรับโอจะยากมากหากเราไม่รู้จักหรือเข้าใจตัวละครนั้นดีพอ แต่ถ้ารู้จักเขาแบบสนิทมากก็จะไม่ยากสำหรับการเล่นบทนั้น ต้องทำการบ้านอย่างหนัก โอคิดว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องพยายามเตรียมความพร้อมมาอย่างดี ศึกษามาอย่างดี พอถึงลงมือปฏิบัติก็จะมีสมาธิในการทำ”
และประเด็นที่แปดประเด็นสุดท้าย ขอให้คุณโอช่วยแบ่งปันแนวทางการพัฒนาตนเองให้มีความสุขทั้งทางโลกและทางธรรม (Life Mindfulness)
“อาจจะเป็นคำตอบที่ไม่ดีนัก เพราะตอบยาก ถ้าจะให้คำแนะนำกับใคร โอคิดว่า โอโชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่รัก เริ่มต้นจากการเต้นที่โอรัก บางคนอาจบอกว่า อย่าเอาสิ่งที่ตัวเองรักมาทำเป็นอาชีพ แต่สำหรับโอแล้วไม่ใช่ เพราะโอได้ทำในสิ่งที่เรารักแล้วมีรายได้ แล้วพอได้มารู้จักการแสดง ซึ่งโอก็มีความสนใจ เมื่อได้ลองทำก็รัก ถ้ามีคนมาขอคำแนะนำโอก็จะบอกว่าให้ทำในสิ่งที่เรารัก แต่ก็ยากเพราะสถานการณ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน เราอาจจะไม่ได้รักมันในตอนต้น ในอดีตโอก็จะเลือกทำแต่เฉพาะสิ่งที่โอชอบ แต่เมื่อเวลาผ่านไป โอเชื่อว่ามันมีข้อดีในทุกสิ่ง หามันให้เจอ ขอให้เรามีความเชื่อและเปิดใจ แม้เราอาจจะยังไม่ได้รักมันในตอนแรก แต่เมื่อเราพบข้อดีในสิ่งที่เราทำแล้ว เราจะมีความสุข”
ประเด็นคำถามทั้งแปดที่ชวนคุณโอคุยในวันนั้นประกอบกันเป็นธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต ได้แก่ (1) Life View มุมมองต่อธรรมชาติของชีวิต (2) Life Thought มุมมองต่อการรับมือกับปัญหา (3) Life Message มุมมองต่อการสื่อสาร (4) Life Journey มุมมองต่อการดำเนินชีวิต (5) Life Profession มุมมองด้านการทำงาน (6) Life Effort มุมมองด้านความเพียร (7) Life Mindfulness มุมมองด้านธรรมะ และ (8) Life Concentration มุมมองด้านการสร้างสมาธิ
ธรรมาภารณ์เปรียบเสมือนเครื่องห่มชีวิต ที่เรานำมาประดับบนร่างกาย ทำให้เราเป็นเราดังเช่นในทุกวันนี้ เป็นมิติของชีวิตทั้งแปดด้านที่เราต้องดูแลใส่ใจตลอดเส้นทางชีวิตของเรา โดยทั้งแปดมิตินี้ผมปรับประยุกต์มาจากหลักธรรมของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักธรรมที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์คบเพลิงแปดอันในตราประจำสถาบัน นั่นคือ มรรคแปด ได้แก่ (1) Right View/Right Understanding สัมมาทิฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) (2) Right Thought สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) (3) Right Speech สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) (4) Right Action สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) (5) Right Livelihood สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) (6) Right Effort สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) (7) Right Mindfulness สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) และ (8) Right Concentration สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง)
การสนทนาในหัวข้อนี้ยืนยันความคิดที่ว่า หลักธรรมในพุทธศาสนาและทุกศาสนานั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของเราอย่างแนบแน่น มิได้ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของเรา และมิได้เป็นสิ่งจำเป็นเฉพาะผู้สนใจปฏิบัติหรือเคร่งครัดในศาสนาเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและสำคัญสำหรับเราทุกคน
และแม้ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิตในบทความนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของหลักธรรมล้ำค่า ที่ถูกนำมาปรับเป็นมุมมองสำหรับการทำความเข้าใจเส้นทางชีวิต แต่ก็เป็นมุมมองเบื้องต้นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
เรามีมุมมองอย่างไรต่อธรรมชาติของชีวิต เรารับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างไร เราให้ความสำคัญและใส่ใจกับการสื่อสารมากน้อยแค่ไหน เราเลือกเส้นทางการดำเนินชีวิตในวิถีใดแบบใด เรามุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำงานที่เป็นสัมมาชีพหรือไม่ และเราใช้ชีวิตด้วยความเพียรเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองทั้งทางโลกและทางธรรมหรือไม่อย่างไร
ขอบคุณโอกาสที่ทำให้ผมได้พบและนั่งสนทนาอย่างใกล้ชิดกับหนึ่งในนักแสดงในจำนวนไม่กี่คนที่ผมชื่นชอบ ด้วยความประทับใจในความเป็นกันเองและอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งทำให้ผมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากมุมมองของเส้นทางชีวิตที่คุณโอได้แบ่งปัน โดยก่อนจบการสนทนา ผมขอให้คุณโอได้ฝากถึงสิ่งที่อยากบอกผู้รับชมการสนทนาออนไลน์ทุกคนในวันนั้น ซึ่งคุณโอทิ้งท้ายไว้ว่า
“เรื่องทุกเรื่องที่มันเกิดในชีวิต วันหนึ่งมันจะกลายเป็นเรื่องตลก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าตอนนี้คุณกำลังเจอปัญหาอะไรอยู่ ให้เวลากับมันสักพัก ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด วันหนึ่งคุณจะมองย้อนสิ่งที่ตอนนี้มันทำร้ายคุณอยู่ แล้วคุณจะสามารถหัวเราะกับมันได้”
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง
ขอเพียงเราตั้งใจและพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แม้เราอาจจะไม่ใช่คนดีหรือคนเก่งที่สมบูรณ์แบบและไม่เคยทำผิด แต่เราจะสร้างโอกาสจากทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพื่อการเรียนรู้และปรับปรุงตนเองให้ได้มากที่สุด
เพราะตัวเราเองเท่านั้น ที่จะเป็นผู้เลือกธรรมาภารณ์แบบใด มาห่มชีวิตทั้งแปดด้านของเรา
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ