กำลังโหลด...

×



Accounting การจัดทำ Process Mapping for Accounting เพื่อการค...

magazine image
Accounting

การจัดทำ Process Mapping for Accounting เพื่อการควบคุมงานบัญชี

Mr.Knowing

30 พฤษภาคม 2566

สวัสดีครับเพื่อนนักบัญชีทุกท่าน สำหรับเดือนนี้จะขอเสนอเรื่อง การจัดทำ Process Mapping for Accounting เพื่อการควบคุมงานบัญชี

การทำ Process Mapping for Accounting (ขอเรียกย่อๆ ว่า PMA) เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้ถึงความสัมพันธ์ การเชื่อมโยงในการทำงาน อันจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ วิเคราะห์จุดเสี่ยงกับระบบการควบคุมภายใน (Risk & Control) ที่มีอยู่ว่าเพียงพอ เหมาะสมที่จะช่วยลดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อคุณภาพในงานบัญชีด้วยเช่นกัน (ความน่าเชื่อถือของงบการเงิน)

ในเบื้องต้น พึงจะขอแนะนำการจัดทำ PMA เพื่อให้นักบัญชีได้เห็นภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ควบคุมงานบัญชีดังนี้

5 ขั้นตอนการจัดทำ PMA

1. การทำความเข้าใจในลักษณะของธุรกิจ (Knowledge of Business = KOB)

นักบัญชีควรทำความเข้าใจในภาพรวมของลักษณะธุรกิจ และประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นที่จะส่งผลต่อกระบวนการทำงานที่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีประสิทธิผล (Operation Risk) ส่งผลต่อรายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง ไม่ทันเวลา ขาดความน่าเชื่อถือ (Financial Reporting Risk) และส่งผลต่อข้อกฎหมาย นโยบาย ระเบียบข้อบังคับ ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง (Compliance with Applicable Laws and Regulations Risk) ซึ่งโดยภาพรวม เราเรียกว่า ความเสี่ยงตามปกติของธุรกิจ/ความเสี่ยงก่อนการจัดการ (Inherent Risk)

2. การทำความเข้าใจในโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างหน่วยงานต่าง ๆ

เมื่อนักบัญชีได้ทำความเข้าใจภาพรวมของธุรกิจแล้ว ต่อมาก็คือ

การศึกษาทำความเข้าใจในโครงสร้างองค์กร เพื่อดูว่าทางผู้บริหารได้พิจารณาการจัดโครงสร้าง การแบ่งหน้าที่อย่างเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของระบบการควบคุมภายใน 
จากนั้นให้พิจารณาถึงโครงสร้างหน่วยงานต่าง ๆ ว่าทางผู้บริหารได้มีการกำหนดหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

3. การถอดแบบ/สรุประบบงาน และทำความเข้าใจกระบวนการปฏิบัติงาน

เมื่อเราทำความเข้าใจในหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน นักบัญชีควรต้องถอดแบบ/สรุป กล่าวคือ

หน่วยงานนี้มีระบบงานใด (What) และหน่วยงานมีการกำหนดกระบวนการปฏิบัติอย่างไร (How to)

ซึ่งนักบัญชีควรศึกษาและเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการจัดทำบัญชี ตัวอย่างเช่น

ฝ่ายขาย :

ระบบงาน  (What) :

1. ระบบการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าและการอนุมัติขาย

2. ระบบการออก Invoice

3. ระบบการติดตามการจัดส่งสินค้า

4. ระบบการรับคืนสินค้า/การให้ส่วนลดลูกค้า

5. ระบบการประเมินและการติดตามการทำงานของทีมงาน

เป็นต้น

ต่อมานักบัญชีต้องทำความเข้าใจแต่ละระบบงานมีการกำหนดกระบวนการปฏิบัติงานอย่างไร  ยกตัวอย่าง

ระบบการรับคำสั่งซื้อและการอนุมัติขาย

กระบวนการปฏิบัติงาน (โดยสังเขป) มีดังนี้

4. วิเคราะห์จุดเสี่ยง กับระบบการควบคุมภายใน (Risk & Control)

จากระบบงานและกระบวนการปฏิบัติงาน นักบัญชีควรวิเคราะห์จุดเสี่ยงกับระบบการควบคุมภายใน (Risk & Control) ว่าเพียงพอ เหมาะสมที่สามารถลดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้หรือไม่

จากตัวอย่าง :  ระบบงาน การรับคำสั่งซื้อและการอนุมัติขาย

จุดเสี่ยง :  การขายแล้วไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้

ระบบการควบคุมภายในที่ปรากฏ :  

1. มีแบบฟอร์มในการบันทึกข้อมูลจากลูกค้า

2. มีระบบ Program รวบรวมข้อมูล

3. มีการตรวจสอบ ยืนยันสถานะของลูกค้า ก่อนอนุมัติขาย

4. มีการกำหนดผู้มีอำนาจในการอนุมัติ - กำหนดแบ่งตามวงเงิน

หมายความว่า ระบบการควบคุมภายในตามที่ออกแบบไว้ (ปรากฏให้เห็น - มีอยู่จริง) หากมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ผลที่ปรากฏจึงไม่ควรมีลูกหนี้การค้าค้างนาน ซึ่งนำไปสู่การบันทึกบัญชีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนั่นเอง

5. เชื่อมโยงระบบงาน/กระบวนการปฏิบัติงานกับผังบัญชี

ผังบัญชี - ชื่อบัญชี ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นการแทนเนื้อหาของรายการค้าทางบัญชีที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากนักบัญชีร้อยเรียง เชื่อมโยง ระบบงาน/กระบวนการปฏิบัติงานกับผังบัญชี นอกเหนือประโยชน์สำคัญในการประเมิน Risk & Control ยังช่วยประโยชน์ในการควบคุมงานบัญชี เพื่อนำมาสู่ความครบถ้วนของข้อมูลในการบันทึกบัญชี

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ การจัดทำ Process Mapping for Accounting เชื่อว่าหากนักบัญชีได้ลองนำไปปฏิบัติ น่าจะทำให้คุณภาพในการจัดทำบัญชีดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้นข้อสังเกตเพิ่มเติมยังช่วยสามารถเห็นจุดเสี่ยง ทำให้องค์กรได้ตระหนักรู้ เพิ่มความระมัดระวัง อันจะลดผลกระทบ ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้า สวัสดีครับ

Top 5 Contents