
อัปเดตเงื่อนไขการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
26 ตุลาคม 2566
ครั้งที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับ “การนำเข้าไม้” ซึ่งได้แก่ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยนำเสนอสาระสำคัญของกฎหมายในการปรับปรุงมาตรการนำเข้าไม้ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ในครั้งนี้ผู้เขียนจะนำเสนอในอีกด้านหนึ่งคือ “การส่งออกไม้” ออกไปนอกราชอาณาจักร เหตุผลที่ต้องนำเสนอในประเด็นนี้เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้อาศัยฐานอำนาจตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ในการออก “ประกาศกระทรวงพาณิชย์” [1] กำหนดข้อห้ามและข้อจำกัดของการส่งออกไม้ กล่าวคือ กำหนดให้ “ไม้พะยูง” เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก กำหนดให้ “ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด” เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดให้ “สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้” เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งถือว่าเป็นข้อจำกัดของการส่งออก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไม้เหล่านี้จึงต้องทราบถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายโดยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็ย่อมเกิดความเสี่ยงที่จะต้องรับโทษตามกฎหมาย
1. ความหมายและการจำแนกประเภทพิกัดศุลกากรของไม้แต่ละประเภท
ไม้พะยูง[2] ไม้ท่อน[3] ไม้แปรรูป[4]
ไม้ล้อม[5] สิ่งประดิษฐ์ของไม้[6] ถ่านไม้[7]
1.1. ไม้พะยูง
(ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia cochinchinensis Pierre) จัดอยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE มีชื่อสามัญ Siamese Rosewood เป็นต้นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามชนิดหนึ่ง จัดเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีราคาสูงอย่างหนึ่งและมีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีก คือ ขะยุง, พยุง, แดงจีน และประดู่เสน
1.2. ไม้ท่อน
หมายความว่า ส่วนของต้นไม้ที่ตัดออกเป็นตอน ๆ หรือเป็นท่อน ๆ ได้แก่
(1) ไม้ฟืน ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4401.11.00 - 4401.12.00
(2) ไม้ที่ยังไม่แปรรูป จะถากเปลือกหรือกระพี้ออกแล้ว หรือทำเป็นสี่เหลี่ยมอย่างหยาบ ๆ หรือไม่ก็ได้ ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4403.11.10 - 4403.99.90
(3) ไม้เสาเข็ม ไม้เสารั้ว และไม้เสาหลักที่เสี้ยมปลาย แต่ไม่ได้เลื่อยตามยาวหรือไม่ได้ผ่าซีก ไม้ท่อนเล็กที่ตกแต่งอย่างหยาบ ๆ แต่ยังไม่กลึง ไม่ดัด หรือยังไม่ทำอย่างอื่น เหมาะสำหรับผลิตไม้เท้า ร่ม ด้ามเครื่องมือ หรือผลิตของที่คล้ายกัน ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4404.10.00 - 4404.20.90
1.3 ไม้แปรรูป
หมายความว่า การนำเอาลำต้นของไม้หรือซุงมาเลื่อยแปรรูปเป็นแผ่นให้สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย โดยจะสามารถแบ่งตามความแข็งแรง เช่น ไม้เนื้อแกร่ง ไม้เนื้อแข็ง และไม้เนื้ออ่อน ได้แก่
(1) ไม้เป็นชิ้นหรือสะเก็ด ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4401.21.00 - 4401.22.00
(2) ไม้รัดถัง ไม้ซีก รวมทั้งไม้เสาเข็ม ไม้เสารั้ว และไม้เสาหลักที่ผ่าซีก ชิปวูดและของที่คล้ายกัน ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4404.10.00 - 4404.20.90
(3) ไม้หมอนรถไฟหรือรถราง ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4406.11.00 - 4406.92.00
(4) ไม้ที่เลื่อยหรือถางตามยาว ฝาน หรือลอก จะไส ขัด หรือต่อปลายหรือไม่ก็ตาม มีความหนาเกิน 6 มิลลิเมตร ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4407.11.10 - 4407.99.90
(5) แผ่นไม้สำหรับทำไม้วีเนียร์ แผ่นไม้สำหรับทำไม้อัดพลายวูด หรือแผ่นไม้สำหรับทำลามิเนเต็ดวูดที่คล้ายกันอื่น ๆ และไม้อื่น ๆ ที่เลื่อยตามยาว ฝาน หรือลอก จะไส ขัด ต่อริม หรือต่อปลายหรือไม่ก็ตาม มีความหนาเกิน 6 มิลลิเมตร ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4408.10.10 - 4408.90.90
(6) นอกจากนี้ รวมถึงไม้แปรรูปอื่น ๆ เช่น ไม้ประสาน ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4421.99.96 - 4421.99.99 ไม้ปาร์เกต์ ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4409.10.00 - 4409.29.00 และไม้ปูพื้นรางลิ้นรอบตัว ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4409.10.00 - 4409.29.00
1.4 ไม้ล้อมบางชนิด
หมายความว่า ไม้ยืนต้นเฉพาะที่มีชื่อหรือชนิดตรงกับไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ที่มีชีวิตที่ถูกขุดล้อมขึ้นมาทั้งรากเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายไปปลูกในสถานที่แห่งอื่นได้ เช่น ต้นจำปีป่า ต้นตะเคียนทอง และต้นจันทน์หอม ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 0602.90.90/101 - 0602.90.90/272
1.5 สิ่งประดิษฐ์ของไม้
หมายความว่า ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ บานประตู บานหน้าต่าง ไม้วงกบ ไม้คิ้ว ไม้บัว และอาคารสำเร็จรูปที่ทำจากไม้ทุกชนิด แผ่นชิ้นไม้อัด (ปาร์ติเกิลบอร์ด) แผ่นชิ้นไม้อัดเรียงแถว (โอเอสบี) แผ่นไม้ที่คล้ายกัน ทำด้วยไม้หรือวัตถุอื่น ๆ จำพวกไม้ ไฟเบอร์บอร์ด ไม้อัดพลายวูด ไม้อัดวีเนียร์และลามิเนเต็ดวูดที่คล้ายกัน เครื่องประกอบอาคารทำด้วยไม้เสาเหลากลม แผ่นไม้สาหรับทำไม้วีเนียร์ที่ได้จากการฝานลามิเนเต็ดวูดที่มีความหนาไม่เกิน 6 มิลลิเมตร และให้หมายความรวมถึงไม้ประสาน ไม้ปาร์เกต์ ไม้ปูพื้นรางลิ้นรอบตัว และไม้โมเสก ทั้งนี้ ต้องมีลักษณะและขนาดตรงตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ สิ่งประดิษฐ์ของไม้สามารถแยกได้ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย อาทิ 9403.30.00 - 9403.60.90 ,9403.30.00 - 9506.40.10 ,9403.50.00 - 9403.60.90 ,9401.31.00 - 9402.10.30 , 4418.21.00 - 4418.29.00 ,4418.11.00 - 4418.19.00 ,4418.11.00 - 4418.29.00 ฯลฯ
1.6 ถ่านไม้
หมายความว่า ถ่านไม้ตามพิกัดศุลกากรประเภทย่อย 4402.90.00.090 แต่ไม่หมายความรวมถึง ถ่านที่ได้จากวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ไม้ ผงถ่าน และถ่านอัด
2. มาตรการควบคุมการส่งออกโดยการกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้าม
แต่เดิมมาตรการห้ามส่งออกไม้พะยูงมิได้กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ มีเพียงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 ที่กำหนดห้ามการนำเข้าไม้และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้พะยูง รวมทั้งห้ามการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าห้ามส่งออกไม้พะยูงทุกกรณีออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ในปัจจุบันการห้ามส่งออกไม้พะยูงได้ถูกนำมากำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดข้อห้ามในการส่งออกไม้พะยูง ไม่ว่าจะเป็นไม้พะยูงท่อน ไม้พะยูงแปรรูป ไม้พะยูงล้อม และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ที่ทำจากไม้พะยูงหรือผลิตภัณฑ์ทุกกรณี ไม้พะยูงเหล่านี้จึงเป็นสินค้าต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด
ไม้พะยูงถือเป็นไม้ที่มีราคาแพงเป็นอันดับต้น ๆ สาเหตุสำคัญที่ไม้พะยูงมีราคาพุ่งสูงอย่างไม่น่าเชื่อเป็นเพราะมีความนิยมในการใช้ไม้พะยูงในประเทศจีนเป็นอย่างมาก เพราะไม้พะยูงเป็นไม้ที่มองเห็นแล้วสวยสะดุดตาด้วยเนื้อไม้สีแดงสด ยิ่งเปียกน้ำยิ่งสวย จากคุณสมบัติของไม้ชนิดนี้ที่ฝรั่งเรียกว่า Siamese Rosewood เนื้อละเอียดแข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี โดยความนิยมเริ่มต้นมาตั้งแต่การนำเข้าไม้ชนิดนี้ไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้ามในช่วงที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมถึงการสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ต่อมามีผู้นิยมนำไม้พะยูงไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์เป็นการทั่วไป และนำไปทำเป็นวัตถุมงคลหรือของแต่งบ้านชิ้นเล็ก ๆ เช่น ปี่เซียะ เทพเจ้าฮก ลก ซิ่ว เป็นต้น จากความนิยมที่มิได้ลดน้อยลงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีการตัดไม้พะยูงเพื่อส่งออกมากขึ้น มีบ่อยครั้งที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการลักลอบตัดไม้พะยูง และถึงขั้นมีนายทุนต่างชาติเข้ามาสร้างเครือข่ายตัดไม้พะยูงในประเทศไทย จากเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ ภาครัฐจึงกำหนดให้ไม้พะยูงเป็นของต้องห้ามส่งออกนอกราชอาณาจักร
3. มาตรการควบคุมการส่งออกโดยการกำหนดให้ต้องขออนุญาตส่งออก
การส่งออก “ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด” จะต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ประกอบกับระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการอนุญาตให้ส่งไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิดออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2566 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตและคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตไว้ ดังนี้
3.1 การพิจารณาอนุญาตให้ส่งไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิดออกไปนอกราชอาณาจักร จะอนุญาตให้ส่งออกได้เฉพาะไม้ที่มีหลักฐานการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
3.2 ผู้ขออนุญาตส่งออกต้องยื่นขอรับใบอนุญาตส่งออกที่กรมป่าไม้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมป่าไม้กำหนด พร้อมกับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3.3 ใบอนุญาตส่งออกมีอายุ 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต และให้ใช้สำหรับการส่งออกเพียง 1 ครั้งเท่านั้น โดยมีปริมาณการส่งออกตามที่ระบุในสำเนาใบกำกับสินค้า (Invoice) และหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
3.4 กรณีไม่อาจส่งออกได้ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ให้ผู้ได้รับอนุญาตยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตที่กรมป่าไม้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน ซึ่งการยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องกระทำในขณะที่ใบอนุญาตเดิมยังมีอายุการใช้งานอยู่
4. มาตรการควบคุมการส่งออกโดยการกำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองประกอบการส่งออก
การส่งออกสิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ประกอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากรการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยกำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอหนังสือรับรองสิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เพื่อการค้าหรือการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องแสดงหลักฐานกระบวนการทำไม้และการค้าไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายต่อกรมป่าไม้ ดังนี้
4.1 สิ่งประดิษฐ์ของไม้ เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพื่อแสดงต่อศุลกากรประกอบการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศคู่ค้าว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
4.2 ถ่านไม้ ต้องมีหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพื่อแสดงต่อศุลกากรประกอบการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ถ่านที่ได้จากวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ไม้ผงถ่านและถ่านอัด
5. ข้อยกเว้นที่สามารถส่งออกไปนอกราชอาณาจักรได้
แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออก โดยการกำหนดให้ต้องขออนุญาตส่งออกตามข้อ 3 และกำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองประกอบการส่งออกตามข้อ 4 แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่มีหลักฐานการอนุญาตให้ส่งออก หรือไม่มีหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ประกอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากรการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ก็อาจส่งออกไปนอกราชอาณาจักรได้ หากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
5.1 การนำสินค้าติดตัวออกไปเพื่อใช้เฉพาะตัว กรณีนี้สอดคล้องกับตามภาค 4 ประเภทที่ 5 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ที่กฎหมายให้สิทธิยกเว้นภาษีอากรกับของส่วนตัวที่เจ้าของที่นำออกไปพร้อมกับตนทางท่าอากาศยานสำหรับของที่มีลักษณะเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำออกไปพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง
5.2 การนำออกไปเพื่อเป็นตัวอย่างหรือศึกษาวิจัย การนำออกไปนอกราชอาณาจักรสำหรับของที่่นำออกเพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาและการวิจัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการศึกษาและสร้างนวัตกรรมแก่งานวิจัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงยกเว้นอากรให้กับไม้ที่นำออกไปเป็นตัวอย่างหรือการศึกษาวิจัย
5.3 การนำออกไปกับยานพาหนะเพื่อใช้ในยานพาหนะนั้น ๆ เท่าที่จำเป็น ในกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ให้ยกเว้นอากรได้ หากนำออกไปพร้อมกับยานพาหนะและใช้ในยานพาหนะตามความจำเป็น แล้วแต่กรณี
5.4 การส่งออกไม้ยางพาราสามารถส่งออกได้โดยไม่จำกัดปริมาณและไม่ต้องขออนุญาต เนื่องจากไม้ยางพาราเป็นไม้ปลูกจึงไม่มีปัญหาที่เกิดจากการลักลอบตัดไม้แต่อย่างใด
6. การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
เมื่อการส่งออกไม้พะยูงจัดเป็น “ของต้องห้าม” (Prohibited Goods) ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หมายความว่า “ของที่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร” กล่าวโดยสรุป “ของต้องห้าม” คือ “ของที่ถูกกำหนดว่าห้ามนำออกนอกราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด” ผู้ใดฝ่าฝืนนำของต้องห้ามส่งออกไปนอกราชอาณาจักร มีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายศุลกากร อันเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ใดพยายามกระทำความผิดฐานนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ในส่วนการส่งออกไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิดจะต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และการส่งออกสิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ประกอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากรการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น การพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรจึงต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงเป็นเฉพาะกรณีไปว่า ผู้ส่งออกได้ดำเนินการปฏิบัติพิธีการส่งออกไปโดยถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้นครบถ้วนหรือไม่ เมื่อปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดแล้วก็สามารถดำเนินการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรได้
แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ส่งออกปฏิบัติไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวก็จะไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ ซึ่งในส่วนของการพิจารณาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรนั้นจะเป็นความผิดฐานใดต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงว่า กรณีการส่งออกนั้นเป็นเพียงความผิดฐานปฏิบัติพิธีการไม่ถูกต้องครบถ้วนเท่านั้น หรือการส่งออกจะต้องได้รับอนุญาตก่อนการส่งออกก็จะเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อกำกัดต่อไป
[1] ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิดเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2566
[2] ที่มาของรูปภาพ หัวข้อ “ไม้ท่อน-ไม้แปรรูปจ่อเป็นสินค้าต้องห้าม “พะยูง” กัมพูชา-ลาวต้องมีหนังสือรับรอง” เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2471502.
[3] ที่มาของรูปภาพ หัวข้อ “ไม้ยาง อ่วมจีนสั่งปิดโรงงานเฟอร์นิเจอร์ปรับตัวก่อนเจ๊ง” เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/ business/406914
[4] ที่มาของรูปภาพ หัวข้อ “หมวดหมู่สินค้า : ไม้แปรรูป” เว็บไซต์ www.ยูคา.com. https://www.ucawood.com/th/products/category/74596.
[5] ที่มาของรูปภาพ หัวข้อ “หมวดหมู่สินค้า : รับปลูกไม้ล้อมทุกชนิด ทุกขนาด รับล้อมต้นไม้” เว็บไซต์ nana garden https://www.nanagarden.com/ product/237178
[6] ที่มาของรูปภาพ หัวข้อ “หมวดหมู่สินค้า : ชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้ขาโค้ง 4 ที่นั่ง” เว็บไซต์ https://www.yongfurniture.co
[7] ที่มาของรูปภาพ หัวข้อ “มหัศจรรย์ถ่านไม้” เว็บไซต์ https://poptaewall.wordpress.com.
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ