กำลังโหลด...

×



Tax รับเงินค้ำประกัน ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

magazine image
Tax

รับเงินค้ำประกัน ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

การขายสินค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีภาระในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจำเป็นต้องมีการนำส่งภาษีและออกใบกำกับภาษีให้ถูกต้องทั้งจำนวนเงินและวันที่ออกใบกำกับภาษี หากปฏิบัติผิดมีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีโดยไม่ควรต้องนำส่ง อาจทำให้ผู้นำส่งภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ส่วนผู้นำใบกำกับภาษีไปใช้อาจต้องรับผิดเสียเงินภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หากนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธินี้ไปใช้ บทความฉบับนี้จึงจะนำเสนอจุดที่ควรพิจารณากรณีเงินค้ำประกันค่าสินค้าที่รับจากคู่ค้า ซึ่งจะไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อกฎหมาย : มาตรา 78 ภายใต้บังคับมาตรา 78/3 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขายสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การขายสินค้านอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) (4) หรือ (5) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย

(ก) โอนกรรมสิทธิ์สินค้า

(ข) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ

(ค) ได้ออกใบกำกับภาษี

ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

ข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการขายสินค้าจุดความรับผิดในการขายสินค้าเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า ดังนั้น ณ วันที่ส่งมอบสินค้าก็จะมีการออกใบกำกับภาษีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีการรับเงินค่าสินค้า หรือโอนกรรมสิทธิ์ หรือออกใบกำกับภาษีก่อนส่งมอบสินค้า ก็จะเกิดจุดความรับผิดทันที ดังนั้นการรับเงินค่าสินค้าล่วงหน้าก่อนส่งมอบสินค้าจะเกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องออกใบกำกับภาษีทันที การรับเงินก่อนส่งมอบสินค้าจึงเป็นจุดที่ควรระวังในการพิจารณาให้ดีว่าเป็นการรับเงินล่วงหน้าค่าสินค้าหรือไม่

สำหรับกรณีการรับเงินค้ำประกันตามสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายสินค้าไม่ถือว่าเป็นการรับเงินค่าสินค้า ซึ่งมีหลักเกณฑ์พิจารณาที่ควรนำมาใช้คือ กรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์ได้แก่ หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรที่ กค 0702/5434 วันที่ 23 กันยายน 2567 เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเรียกเก็บเงินค้ำประกันจากผู้จำหน่ายสินค้า 

โดยมีข้อหารือและแนววินิจฉัยดังนี้ 

(เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th คัดค้นข้อหารือ)

ข้อหารือ มีข้อเท็จจริงดังนี้

1. บริษัท ข. (บริษัทฯ) เป็นผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายถังเก็บน้ำ ถังบำบัดน้ำเสีย ถังดักไขมัน ถังขยะ ปั๊มน้ำ ประตู หน้าต่าง ฯลฯ รวมทั้งสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้ในครัวเรือนและในภาคส่วนอุตสาหกรรม และบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

2. บริษัทฯ มีนโยบายการขายสินค้าให้แก่กลุ่มผู้จำหน่ายสินค้าเงินเชื่อรายกลางและรายเล็ก (ผู้จำหน่ายสินค้า) ด้วยวิธีเรียกหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันจากธนาคารหรือเป็นเงินฝากค้ำประกันเพื่อซื้อสินค้า อันเป็นการลดความเสี่ยงเรื่องหนี้สูญ

บริษัทฯ ขอหารือว่า เงินที่ผู้จำหน่ายสินค้านำมาฝากไว้ในธนาคารของบริษัทฯ เพื่อค้ำประกันการซื้อสินค้าจนกว่าเลิกสัญญา หรือจนกว่าผู้จำหน่ายสินค้าผิดเงื่อนไข หรือไม่สามารถชำระค่าสินค้าได้ โดยบริษัทฯ จะคืนเงินให้หรือหักเงินค้ำประกันเพื่อชำระในส่วนที่เป็นหนี้ผิดรับชำระนั้น บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการเรียกเก็บเงินค้ำประกันดังกล่าวหรือไม่

แนววินิจฉัย เงินค้ำประกันที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้จำหน่ายสินค้าตามที่บริษัทฯ กำหนด มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายสินค้าด้วยวิธีเรียกหลักประกันเป็นเงินฝากค้ำประกันฝากไว้ในธนาคารของบริษัทฯ เพื่อค้ำประกันการซื้อสินค้าจนกว่าเลิกสัญญา หรือจนกว่าผู้จำหน่ายสินค้าผิดเงื่อนไข หรือไม่สามารถชำระค่าสินค้าได้ ซึ่งบริษัทฯ จะคืนเงินให้หรือหักเงินเพื่อชำระในส่วนที่เป็นหนี้นั้น เงินค้ำประกันดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินที่เรียกเก็บเป็นค่าสินค้าหรือเป็นการตอบแทนการให้สิทธิเป็นผู้จำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ แต่อย่างใด ไม่ถือเป็นเงินที่บริษัทฯ ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

จากแนววินิจฉัยข้างต้น การรับเงินค้ำประกันมาก่อนที่จะขายส่งมอบสินค้าให้ผู้จำหน่ายสินค้า จะยังไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ

1. วัตถุประสงค์ในการเก็บเงินนี้เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายสินค้า

2. ด้วยวิธีเรียกหลักประกันเป็นเงินฝากค้ำประกันฝากไว้ในธนาคารของบริษัทฯ เพื่อค้ำประกันการซื้อสินค้าจนกว่าเลิกสัญญา หรือจนกว่าผู้จำหน่ายสินค้าผิดเงื่อนไข หรือไม่สามารถชำระค่าสินค้าได้ ในทางธุรกิจบางบริษัทอาจมีทางเลือกให้ค้ำประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือวิธีอื่น ๆ

3. บริษัทฯ จะคืนเงินให้หรือหักเงินเพื่อชำระในส่วนที่เป็นหนี้นั้น

หากการเรียกเก็บเงินค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษี 

ความเห็นของผู้เขียน เงินค้ำประกันนี้ควรเก็บในบัญชีที่แยกจากการรับเงินค่าสินค้าเพื่อชัดเจนว่าไม่ใช่ค่าสินค้ารับล่วงหน้า ถ้าเข้าข่ายเป็นการรับเงินหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาแล้ว หากท่านนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษี จะถือว่าออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกจะต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำส่งก็ต้องขอคืน ซึ่งหากสรรพากรมาตรวจพบความผิดเกิน 3 ปี ก็จะหมดอายุความการขอคืน และที่แน่นอนไม่มีใครอยากขอคืนภาษีจากสรรพากรเพราะจะถูกตรวจสอบประเด็นต่าง ๆ อีก ส่วนผู้ที่รับใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิจะออกและนำไปใช้เป็นเครดิตภาษี ก็จะต้องรับผิดนำส่งภาษีคืนรวมเบี้ยปรับ 2 เท่า และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน

หวังว่าประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มในบทความในครั้งนี้จะจุดประกายความคิดให้นำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน

Top 5 Contents