ทำไม (ยัง) ไม่เปิดบริษัท ของตัวเอง ?
28 มีนาคม 2566
สำหรับบทความประจำเดือนนี้ ขออนุญาตพาทุกท่านแวะพักเรื่องวิชาการ มาเล่าสู่กันฟังเรื่องการทำงานส่วนตัวของผมที่เกี่ยวข้องกับภาษีกันบ้างครับ
โดยปกติแล้วที่ผ่านมา เวลาผมไปบรรยายหรือทำงานต่าง ๆ ก็มักจะมีคนเข้าใจว่าผมเป็นที่ปรึกษาภาษี หรือเปิดบริษัทรับทำบัญชี ไปจนถึงทำงานเกี่ยวกับองค์กรต่าง ๆ มากมาย และมักเข้าใจไปเองว่าธุรกิจที่ผมทำนั้น อยู่ในรูปแบบของบริษัท มีทีมงานและการลงทุนจำนวนมาก
แต่ผมมักจะเฉลยว่าทุกวันนี้ผมยังทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาอยู่ เพราะต้นทุนโดยรวมถูกกว่า ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้หลายคนสับสนว่าแล้วมันเป็นไปได้ยังไง ?
มาครับ... บทความนี้จะเปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดให้อ่านกัน
ภาษีเงินได้
อันดับแรก เวลาพูดถึงภาษีเงินได้เราจะนึกถึง 2 ตัวนี้ คือ 1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับ 2. ภาษีกันได้นิติบุคคล ซึ่งความแตกต่างของทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็จะอยู่ที่รูปแบบธุรกิจที่เราเลือกทำนั่นเองครับ
คำพูดที่ติดปากหลายคนก็คือ ถ้ารายได้มากให้จดทะเบียนบริษัทแล้วเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะว่าเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า (อัตราภาษีบุคคลธรรมดาอยู่ที่ ยกเว้น - 35% แต่อัตราภาษีนิติบุคคลสูงสุดคือ 20% เท่านั้น และจะได้รับการปรับลดด้วยหากเป็น SMEs ตามกฎหมาย)
แต่ถ้ามองลึกลงไป เราจะเห็นว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น มีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกันจากฐานภาษีที่คิดกันคนละแบบ นั่นคือ
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
วิธีการคำนวณภาษีมี 2 วิธี คือ
- วิธีเงินได้พึงประเมิน (รายได้ x 0.5%)
- วิธีเงินได้สุทธิ [(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี]
โดยเราต้องเสียภาษีจากวิธีที่คำนวณได้มากกว่า ซึ่งมักจะเป็นวิธีเงินได้สุทธิ
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
คำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษี x อัตราภาษีตามกฎหมาย
และถ้าให้พูดกันตรง ๆ “เงินได้สุทธิ” ไม่ได้แปลว่าจะเท่ากับ “กำไรสุทธิ” เสมอไป เพราะหลักการคำนวณมันแตกต่างกันครับ เนื่องจาก
- เงินได้สุทธิ มาจาก เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน ซึ่งการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดานั้น มักจะมีทางเลือกในการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาหรือตามจริง ขึ้นอยู่กับประเภทเงินได้ที่ได้รับ (มีทางเลือก)
- กำไรสุทธิทางภาษี มาจากการปรับปรุงกำไรทางบัญชีให้เป็นไปตามหลักการของกฎหมาย ทั้งการปรับปรุงรายได้และค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไข และทั้งหมดนี้อยู่ที่หลักการของการบันทึกบัญชีและหักค่าใช้จ่ายจริง (ไม่มีทางเลือก)
ประเภทรายได้
ทีนี้กลับมามองที่ตัวผม ถ้าลองกลับมาเช็คอีกทีก็ต้องเริ่มจากคำถามที่ว่า แล้วรายได้ส่วนใหญ่ที่ผมมีนั้นเป็นรายได้ประเภทไหนบ้าง ?
- เงินเดือนจากการทำงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1)
- ฟรีแลนซ์จากการบรรยายหรือทำงานต่าง ๆ (เงินได้ประเภทที่ 2)
- ค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือ ต้นฉบับ (เงินได้ประเภทที่ 3)
- รายได้จาก Youtube/Facebook
ถ้าใครสังเกตจะเริ่มเห็นว่า เหตุผลที่ผมไม่จดบริษัทมันเกิดจากอะไร
ใช่ครับ มันเกิดจาก “ค่าใช้จ่ายของธุรกิจ” ที่ไม่ได้มีจริง หรือถ้าพูดให้ชัดกว่านั้น คือ ต้นทุนส่วนใหญ่มาจากทักษะส่วนบุคคลหรือตัวผมเองเป็นหลัก
ในปัจจุบัน ส่วนที่มีต้นทุนมากที่สุด คือ รายได้จาก Youtube/Facebook ที่มีต้นทุนในการตัดต่อวิดีโอต่าง ๆ แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือรายได้ในกลุ่มนี้เป็นรายได้ที่น้อยที่สุดครับ
ดังนั้นถ้าหากนำรายได้ทั้งหมดมาเข้าสู่รูปแบบนิติบุคคล เช่น การจดบริษัท คำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้คือ แล้วค่าใช้จ่ายของธุรกิจคืออะไร
ใช่ครับ ... มันก็คงหนีไม่พ้นเงินเดือนของผมอยู่ดี
และถ้าหากหนีไม่พ้นเงินเดือน ก็จะเท่ากับว่าในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็อาจจะไม่ได้ลดลงมาก เพราะผมเองก็ต้องหาทางบริหารจัดการการเงินของตัวเองด้วยการมีรายได้จากบริษัทเช่นเดียวกัน ซึ่งก็แปลว่าผมจะเป็นต้นทุนของบริษัท (ค่าใช้จ่ายในการลดภาษี) ในขณะที่ผมยังมีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกต่อหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ดีขึ้นเลยก็ได้หากมองถึงการประหยัดภาษีและรายจ่ายของตัวเองในระยะยาว เพราะเมื่อมีบริษัทก็ตัองมีการทำบัญชี สอบบัญชี และอื่น ๆ อีกมากมายเช่นเดียวกัน
ดังนั้นมาถึงตรงนี้ สำหรับคนที่จะจดบริษัทหลายคน สิ่งที่ต้องกลับมาถามคือ เรามีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายหรือเปล่า และต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้นั่นเองครับ
จากตัวอย่างของผมเอง เมื่อไรก็ตามที่ผมมีการจ้างคนเข้ามาเพิ่มขึ้น (ที่ไม่ใช่ตัวผมเอง) หรือมีต้นทุนที่ต้องใช้เพิ่มเติม การลงทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การมีหุ้นส่วน แบบนี้ก็จะเป็นไปได้ที่ต้องมาพิจารณาการจดบริษัทอีกทีหนึ่งเหมือนกันครับ
บทความที่เขียนขึ้นในตอนนี้ ไม่ได้บอกว่าการจดบริษัทหรือเสียภาษีในรูปแบบนิติบุคคลนั้นไม่ดีนะครับ เพียงแต่ว่ามันเป็นเหตุผลที่ทำไมผมถึงยังไม่จดบริษัท แต่อยากชี้ให้ชัดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ ภาษี แต่ต้องมองให้เห็นถึงรายจ่ายด้วย ว่าเรามีค่าใช้จ่ายจริงเพียงพอไหมที่จะทำให้มีต้นทุนในการคำนวณภาษีที่เพิ่มขึ้นและเป็นประโยชน์จริง ๆ กับธุรกิจมากที่สุดครับ
สุดท้ายนี้หวังว่าบทความประจำเดือนนี้จะทำให้เห็นทั้งโอกาสและทางเลือกในการตัดสินใจจดบริษัทของตัวเองได้อย่างเหมาะสม จากประสบการณ์ที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
สำหรับฉบับนี้คงต้องลากันไปก่อน พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ