กำลังโหลด...

×



Tax เอกสารจ้างทำของกับอากรแสตมป์

magazine image
Tax

เอกสารจ้างทำของกับอากรแสตมป์

การจ้างทำของ คือ การกระทำที่มีลักษณะทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้สำเร็จ โดยมีข้อตกลงว่าผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างหรือค่าตอบแทนแห่งผลสำเร็จนั้นให้แก่ผู้รับจ้าง โดยมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า “อันว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น” สัญญาจ้างทำของจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมุ่งผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ โดยไม่ต้องการแต่แรงงานในการทำงานเหมือนสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น และเนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบในการทำสัญญาจ้างทำของไว้แต่อย่างใด ดังนั้นคู่สัญญาจึงสามารถตกลงกันด้วยวาจาหรือทำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ตัวอย่างสัญญาจ้างทำของมีหลายประการ เช่น สัญญาจ้างที่ปรึกษา สัญญาจ้างผู้เชี่ยวชาญ สัญญารับจ้างบริการ สัญญาจ้างออกแบบ เป็นต้น

 ในการจ้างให้กระทำการใด ๆ ตามสัญญาจ้างทำของนั้น คู่สัญญานอกจากจะต้องศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว การจ้างทำของมีประเด็นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรที่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงินต้องศึกษาให้เข้าใจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการทำสัญญาจ้างทำของเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการลงลายมือชื่อของคู่สัญญา สัญญาดังกล่าวจะต้องมีการชำระอากรแสตมป์ให้กรมสรรพากรด้วย มิเช่นนั้น คู่สัญญาจะไม่สามารถนำสัญญาดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้[1] 

ปัจจุบันการทำสัญญาจ้างทำของสามารถทำในรูปกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ว่าจะทำรูปแบบใด ภาระภาษีและอากรแสตมป์จะไม่ต่างกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กรณีคู่สัญญาไม่ได้ทำในรูปแบบของสัญญาจ้างทำของ แต่ได้ตกลงทำในรูปแบบอื่นเพื่อให้ทันต่อการติดต่อธุรกิจ กรณีดังกล่าวต้องมีภาระอากรแสตมป์ด้วยหรือไม่

1. สัญญาจ้างทำของแตกต่างจากใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง ใบเสนอราคา หรือไม่ 

สัญญาจ้างทำของมีลักษณะเป็นหนังสือโต้ตอบกัน 2 ฝ่าย และมุ่งผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ โดยรูปแบบการทำสัญญา คู่สัญญาต้องกำหนดรายละเอียดในการจ้างให้ทำงานในสัญญาค่อนข้างมาก เช่น ขอบเขตงาน ระยะเวลาของสัญญา การบังคับตามสัญญา เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าการมีรายละเอียดของสัญญามาก คู่สัญญาจึงต้องใช้ระยะเวลาในการกำหนดสัญญา

ปัจจุบันธุรกิจต้องใช้ความรวดเร็วในการจ้างงาน บางกรณีผู้ประกอบการบางรายจึงหลีกเลี่ยงการทำสัญญาที่มีรายละเอียดมาก ๆ เป็นการทำเอกสารอย่างอื่นที่จัดทำได้ง่าย รวดเร็ว และรายละเอียดไม่มากเท่าสัญญา เช่น ใบสั่งจ้าง ใบเสนอราคา ใบแจ้งหนี้ เป็นต้น เอกสารดังกล่าวมีสถานะเป็นสัญญาและสามารถใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาได้เช่นกัน แต่เนื่องจากการกำหนดขอบเขตหรือเงื่อนไขในใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง ใบเสนอราคา ไม่ละเอียดเท่ากับการทำเป็นสัญญา ดังนั้นหากคู่สัญญามีข้อพิพาท การทำเป็นสัญญาน่าจะได้เปรียบกว่าการทำใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือใบเสนอราคา

2. สัญญาจ้างทำของ ใบสั่งจ้าง ใบเสนอราคา ต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่

มาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่า “ตราสาร หมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดนี้ …” ดังนั้นสัญญาจ้างทำของ ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง ใบเสนอราคา ล้วนแต่เป็นเอกสารทั้งหมด แต่เอกสารดังกล่าวต้องชำระอากรแสตมป์หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาในเบื้องต้นดังนี้

1) บุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป และทุกฝ่ายได้ทำเอกสารหรือตราสารต่าง ๆ โดยได้แสดงเจตนาตกลงยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขระหว่างกันในเอกสารที่กระทำ กล่าวคือฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็น “คำเสนอ” อีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเป็น ”คำสนอง” เมื่อ “คำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน” จึงทำให้เกิดสัญญาระหว่างกัน ซึ่งในประมวลรัษฎากร นอกจากการทำเอกสารหรือตราสารของคู่สัญญาแล้ว กฎหมายได้กำหนดว่าคู่สัญญาต้องมีการกระทำในตราสาร คือ มีการลงลายมือชื่อของคู่สัญญาหรือบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย ในเอกสารหรือตราสารตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[2] โดยการลงลายมือในเอกสารนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ต้องลงลายมือชื่อในเอกสารฉบับเดียวกันเท่านั้น ดังนั้นคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจลงลายมือชื่อในเอกสารหรือตราสารต่างฉบับก็ได้ โดยเมื่อนำเอกสารทั้ง 2 ฉบับมาใช้ด้วยกันแล้ว แสดงให้เห็นได้ว่าคู่สัญญาได้ยินยอมและตกลงในคำเสนอและคำสนองตามข้อตกลงและเงื่อนไขระหว่างกัน เช่น ผู้รับจ้างออกใบเสนอราคาค่าติดตั้งเครื่องปรับอากาศซึ่งลงลายมือชื่อของตนให้ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างออกใบสั่งจ้างซึ่งมีลงลายมือชื่อของตนให้ผู้รับจ้าง เป็นต้น ถือว่าบุคคล 2 ฝ่ายแสดงเจตนาตามคำเสนอและคำสนองสอดคล้องต้องกัน เอกสารดังกล่าวถือเป็นตราสารที่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์

2) เอกสารหรือตราสารตาม 1) ซึ่งเข้าลักษณะตราสารตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องนำเอกสารหรือตราสารดังกล่าวไปชำระอากรแสตมป์กับกรมสรรพากร (ตราสารใดไม่เข้าลักษณะตราสารตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ไม่อยู่ในบังคับอากรแสตมป์) โดยสัญญาหรือตราสารการจ้างทำของ เข้าลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา 1 บาท ทุกจำนวนค่าจ้างทำของ 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนด โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม[3]

กรณีการตกลงด้วยวาจาให้ทำการงานให้ หรือกรณีมีการทำสัญญาหรือเอกสารอื่นฝ่ายเดียว โดยมีการลงลายมือชื่อในเอกสารฝ่ายเดียวเท่านั้น แสดงว่าฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็น “คำเสนอ” ฝ่ายเดียว อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีการแสดงเจตนาทำ “คำสนอง” เป็นลายลักษณ์อักษรให้ฝ่ายผู้ทำคำเสนอ เอกสารฝ่ายเดียวดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะตราสาร 4. จ้างทำของ และไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ เช่น 

ตัวอย่างที่ 1 : ห้าง ก. ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเพียงฝ่ายเดียว สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำตราสารที่อยู่ในบังคับต้องเสียอากรแสตมป์ ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อห้าง ก. ได้เสียอากรไปแล้ว โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ห้าง ก. จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนค่าอากรได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันเสียอากรตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[4] เป็นต้น

ตัวอย่างที่ 2 : รัฐวิสาหกิจ ข. ให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้ใช้บริการ โดยจัดให้ผู้ใช้บริการกรอกคำขอฝ่ายเดียวก่อนใช้บริการแต่ไม่ได้มีการจัดทำสัญญาใช้บริการเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น คำขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ระบบอัตโนมัติประเภทเรียกเข้าเก็บเงินปลายทาง เป็นต้น กรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารที่อยู่ในบังคับต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์[5]

3. อากรแสตมป์กับตราสารจ้างทำของแบบกระดาษหรือแบบอิเล็กทรอนิกส์

การทำตราสารจ้างทำของสามารถทำได้ 2 แบบ คือ 1. แบบกระดาษ และ 2. แบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันการจัดทำตราสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมอย่างมากตามเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่ผู้ประกอบการต้องการความรวดเร็วและลดการใช้กระดาษในการดำเนินธุรกิจของตน ทำให้รูปแบบการทำตราสารได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย 

อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรไม่ได้หยุดนิ่งในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและกฎหมายตามประมวลรัษฎากร โดยกรมสรรพากรได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้รองรับการทำตราสารในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้มีหน้าที่ชำระอากรแสตมป์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ สามารถชำระอากรแสตมป์ด้วยตัวเงินผ่านระบบ e-Stamp Duty ของกรมสรรพากรได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส อีกทั้งยังใช้แบบแยกต่างหากจากแบบการชำระอากรแสตมป์ที่มีการจัดทำตราสารในรูปแบบกระดาษ เพื่อให้เข้าใจง่ายขอสรุปดังนี้

อากรแสตมป์สำหรับตราสารจ้างทำของ

ตราสารจ้างทำของแบบกระดาษ

ตราสารจ้างทำของแบบอิเล็กทรอนิกส์

1. กรณีชำระอากรแสตมป์ด้วยวิธีการปิดอากรแสตมป์บนตราสาร

กรณีจำนวนสินจ้างตามสัญญามีจำนวนไม่ถึง 1,000,000 บาท และไม่ใช่กรณีที่ภาครัฐหรือองค์กรของรัฐเป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีจำนวนสินจ้างตั้งแต่  200,000 บาทขึ้นไป

สำหรับต้นฉบับตราสาร ให้ผู้รับจ้างมีหน้าที่ปิดอากรแสตมป์บนต้นฉบับทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ และผู้รับจ้างมีหน้าที่ขีดอากรแสตมป์นั้น[6] 

สำหรับคู่ฉบับ ให้ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ปิดอากรแสตมป์บนตัวคู่ฉบับ[7] กรณีต้นฉบับปิดอากรแสตมป์ไม่เกิน 5 บาท ให้ปิดอากรแสตมป์ที่คู่ฉบับ 1 บาท กรณีต้นฉบับปิดอากรแสตมป์เกิน  5 บาท ให้ปิดอากรแสตมป์ที่คู่ฉบับ 5 บาท และผู้รับจ้างมีหน้าที่ขีดอากรแสตมป์[8]

1. ชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน 

กฎหมายกำหนดให้ชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินเท่านั้น โดยผู้รับจ้างสามารถขอชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งนี้ ไม่จำกัดประเภทผู้ว่าจ้าง ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน และไม่จำกัดจำนวนสินจ้างในตราสาร

ผู้รับจ้างมีหน้าที่ยื่นขอชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และชำระเงินค่าอากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสาร โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ กรณีวันสุดท้ายของการยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินเป็นวันหยุดราชการ ให้ยื่นได้ภายในวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดราชการนั้น

 

 

2. กรณีชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน  ได้แก่

     ก. กรณีจำนวนสินจ้างตามสัญญามีจำนวนตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป หรือ

     ข. กรณีที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ว่าจ้าง และมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป

การชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ให้ผู้รับจ้างชำระอากรเป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยการนำตราสารไปสลักหลังตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น[9]

3. แบบชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน

ผู้มีหน้าที่เสียอากร ต้องยื่นขอชำระและชำระเงิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่มีการกระทำตราสารที่ต้องเสียอากรนั้น หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่อื่น ทั้งนี้ โดยใช้แบบขอเสียอากรเป็นตัวเงินตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ได้แก่ แบบชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน (อ.ส.4) และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกใบรับเงินและสลักหลังตราสาร  หรือทำหลักฐานขึ้นในกรณีไม่มีตราสาร ตามมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ถือว่าตราสารนั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว

2. แบบชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน

ผู้มีหน้าที่เสียอากร  ต้องยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินตามแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (อ.ส.9) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

(1) เว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยใช้ชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ได้รับจากการลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

(2) Application Programming Interface ของกรมสรรพากรโดยกรมสรรพากรจะออกรหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์ พร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินตามจำนวนเงิน ซึ่ง “เจ้าหน้าที่รับชำระเงินภาษีอากร” ได้ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากร กรณีดังกล่าวจึงถือว่าตราสารอิเล็กทรอนิกส์ตามรายการข้อมูลในแบบ อ.ส.9 ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว

การทำสัญญา เอกสาร หรือหนังสือใดที่เป็นไปตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือว่าเป็นตราสารจ้างทำของ ไม่ว่าจะทำแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องชำระอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากร โดยหากมีการทำตราสารในแบบอิเล็กทรอนิกส์ การชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสามารถทำได้ง่ายและสะดวก สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล


[1] มาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร

[2] มาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร

[3] หนังสือกรมสรรพากรที่กค 0811(กม)/464 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2541

[4] หนังสือกรมสรรพากรที่กค 0811/ก.62 ลงวันที่ 4 กันยายน 2543

[5] หนังสือกรมสรรพากรที่กค 0706/2502 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2546

[6] บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ 

[7]  คู่ฉบับ หมายความว่า ตราสารซึ่งมีข้อความอย่างเดียวกันกับต้นฉบับหรือต้นสัญญา และผู้กระทำตราสารได้ลงลายมือชื่อไว้อย่างเดียวกับต้นฉบับ ทั้งนี้ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสาร 23. คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารแห่งประมวลรัษฎากร

[8] บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสาร 23. คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารแห่งประมวลรัษฎากร

[9] ข้อ 2 (3) และข้อ 3 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538

Top 5 Contents