
“บัญชีลูกหนี้การค้า” รายการบัญชีที่สำคัญ นักบัญชีต้องบริหารจัดการ
24 มิถุนายน 2566
สวัสดีครับเพื่อนนักบัญชีทุกท่าน เดือนกรกฎาคมแบบนี้คิดว่านักบัญชีหลายท่านคงวางแผนเตรียมข้อมูล ประกอบการนำยื่นประมาณการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภายในเดือนสิงหาคม สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปกติ) แต่อย่าลืมดูข้อมูลย้อนหลังและแผนธุรกิจประกอบด้วยนะครับ
สำหรับบทความฉบับบนี้ เราจะมาคุยในหัวข้อเรื่อง “บัญชีลูกหนี้การค้า” รายการบัญชีที่สำคัญ นักบัญชีต้องบริหารจัดการ ไปด้วยกันครับ
หลักการบัญชีลูกหนี้การค้า
ก่อนอื่นเรามาดูว่า บัญชีลูกหนี้การค้าสำคัญอย่างไร
ที่ถือว่าเป็นรายการบัญชีที่สำคัญนั้น หมายความว่า หากบริษัทไม่สามารถเก็บเงินจากบัญชีลูกหนี้การค้าได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องนั่นเอง ดังนั้นบทบาทของนักบัญชีจึงไม่ควรมองภาพเพียงแค่การบันทึกบัญชี แต่ควรให้ความสำคัญต่อกำกับ ควบคุมดูแล และการบริหารจัดการ
หลักการพื้นฐานของการบริหารลูกหนี้การค้า ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญและระมัดระวัง โดยจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอที่จะช่วยลดปัญหาของการไม่ได้รับชำระเงิน ซึ่งนักบัญชีควรช่วยผู้บริหารประเมินคุณภาพระบบการควบคุมภายใน การกำกับ สอบยัน ตรวจสอบ วิเคราะห์ผล ในทำนองเดียวกัน หากบัญชีลูกหนี้การค้ารายใดมีแนวโน้มที่อาจจะเก็บเงินได้ช้าหรือไม่สามารถชำระเงินให้กับบริษัทได้ นักบัญชีต้องรีบจัดทำรายงานเสนอต่อผู้บริหารเพื่อกำหนดมาตรการในการจัดการได้อย่างทันเวลา
การบริหารลูกหนี้การค้า
ในการบริหารลูกหนี้การค้าจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ลูกค้ารายใหม่
การบริหารจะเน้นเรื่องการพิจารณาคุณภาพของลูกค้า เพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่า หากได้ทำข้อตกลงขาย/ให้บริหาร ทางบริษัทจะสามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้
ดังนั้นการบริหารลูกค้ารายใหม่หรือที่หลาย ๆ บริษัทเรียกกระบวนการนี้ว่า “การวิเคราะห์สินเชื่อ” จึงควรพิจารณาในประเด็นที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. ความตั้งใจในการชำระหนี้
ต้องเน้นตรวจสอบข้อมูล ประวัติ ชื่อเสียงของลูกค้าใหม่
2. ความสามารถในการชำระหนี้
ต้องเน้นตรวจสอบระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ อาทิ ระยะเวลาที่บริษัทก่อตั้งมา ความสามารถทางการเงินและสภาพคล่อง สภาพหนี้สินของของบริษัทลูกค้าใหม่
3. โครงสร้างของทุน
ต้องเน้นการตรวจสอบว่า เงินทุนของบริษัทลูกค้าใหม่มีเพียงพอ มีกำไรสะสม
4. หลักประกัน
ต้องพิจารณาว่า ในบางกรณีการขายสินค้า/การให้บริการ อาจจะต้องมีความจำเป็นต้องเรียกหลักประกัน ดังนั้นบริษัทลูกค้าใหม่สามารถมีหรือหาหลักประกันได้หรือไม่
5. สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
ต้องเน้นการตรวจสอบความเชื่อมโยง เช่น บริษัทลูกค้าใหม่เป็นนายหน้าตัวแทน/จัดทำหน่ายเองโดยตรง รวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจ ผลกระทบในปัจจุบันและอนาคต
จากที่กล่าวมาข้างต้น คือ ประเด็นที่ควรพิจารณา ดังนั้นเวลาที่เราขอเอกสารหลักฐานของบริษัทลูกค้ารายใหม่ เพื่อนำประกอบการพิจารณาการขาย/การให้บริการ จึงต้องตอบคำถามได้ว่า เรากำลังใช้เอกสารหลักฐานของลูกค้าใหม่ที่ได้มานั้นตรวจสอบข้อมูลในประเด็นใด เพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะไม่ได้รับชำระเงิน
ดังนั้นกรณีบริหารลูกค้ารายใหม่จึงควรกำหนดแบบฟอร์มในการพิจารณา และระบุหัวข้อในการตรวจ เปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเกณฑ์ในการพิจารณา เช่น ( ปรับตามความเหมาะสมกับธุรกิจ )
1. คุณสมบัติ
เกณฑ์ : นิติบุคคล จดทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
2. ประเภทของธุรกิจ
เกณฑ์ : อุตสาหกรรมการผลิตโดยตรง
3. ทุนจดทะเบียน
เกณฑ์ : > 3,000,000 บาท
4. ยอดขายและกำไร
เกณฑ์ : ยอดขาย เฉลี่ยปีละ 5,000,000 บาท/กำไรสุทธิหลังภาษี > 5 %
5. สภาพคล่อง
เกณฑ์ : > 0.5 (วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน)
6. สภาพหนี้สินต่อทุน
เกณฑ์ : ไม่เกิน 3 : 1
7. อื่น ๆ
เกณฑ์ : (ตามที่เห็นสมควร)
การพิจารณา :
1. โอนเงินก่อนค่อยส่งมอบสินค้า กรณีไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด
2. เก็บเงินมัดจำอย่างน้อย 30 % /เครดิตไม่เกิน 30 วัน กรณีเข้าเกณฑ์บางข้อ
3. เครดิตเทอมไม่เกิน 30 วัน กรณีเข้าเกณฑ์ที่กำหนด
4. เครดิตเทอมไม่เกิน 45 วัน (ต้องมียอดสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 500,000 บาท) เข้าเกณฑ์ที่กำหนด
กรณีให้สินเชื่อ :
วงเงิน : …………………………… บาท ทบทวนทุกปี
2. ลูกค้าเดิม
การบริหารจะเน้นเรื่องการทบทวนคุณภาพของลูกค้า การกำกับ ตรวจสอบพฤติกรรมที่ผิดปกติ ทบทวนการให้วงเงินเครดิต การทบทวนการให้ระยะเวลาเครดิตเทอม
1. บัญชีลูกหนี้การค้าแต่ละราย
ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ สภาพทางการเงิน อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง (ประเด็นนี้นักบัญชีต้องพึงพิจารณาการทำงานเชิงรุก มิใช่ไปรอให้ลูกหนี้การค้ามีปัญหาถึงค่อยไปตรวจสอบ)
2. การตรวจสอบพฤติกรรม
เช่น ลูกหนี้การซื้อสินค้ามากเกินไป/น้อยเกินไป, การเลื่อนการวางบิล/การเก็บเงิน, ลูกหนี้การค้าจ่ายชำระเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า, เช็คคืน เป็นต้น
นั่นหมายความว่า ทางบัญชีต้องมีการจัดแผนงานการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ และที่สำคัญต้องบันทึกบัญชีให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลที่สำคัญควรมีดังนี้
- รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้การค้า
- รายงานวิเคราะห์ระยะการเก็บเงินจากลูกหนี้การค้า
- ข้อมูลสถิติการขายสินค้าให้กับลูกหนี้การค้าแต่ละราย เป็นต้น
สำหรับเครื่องมือการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ที่ควรนำมาใช้ในการวิเคราะห์บัญชีลูกหนี้การค้า ควรมีดังนี้
1. อัตราส่วนสภาพคล่อง
2. อัตราส่วนการหมุนเวียนของลูกหนี้
3. อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน
4. อัตราส่วนกำไรขั้นต้น/อัตราส่วนกำไรสุทธิ เป็นต้น
การบริหารบัญชีลูกหนี้การค้าที่ต้องพิจารณาต่อเนื่อง ก็คือ มาตรการในการติดตามหนี้ ซึ่งควรเข้าใจในประเด็นดังต่อไปนี้
1. ต้องมีความเข้าใจข้อกำหนดของลูกหนี้การค้า ในเรื่องวันที่รับวางบิล, เอกสารประกอบการวางบิล, วันที่นัดรับเช็ค, เอกสารประกอบการรับเช็ค ดังนั้นการกำกับในประเด็นนี้จะต้องไม่เกิดปัญหาการวางบิลไม่ทันเวลา เอกสารไม่ครบ หรือการลืมไปรับเช็คจากลูกหนี้การค้า เป็นต้น
2. ต้องกำหนดตารางแผนการเก็บเงิน ต้องมีบันทึกในการติดตามหนี้
3. กรณีที่พบปัญหาลูกหนี้การค้าไม่สามารถเก็บเงินได้ จะต้องมีการกำหนดมาตรการดำเนินการได้ทันที
ในบางบริษัท การกำกับดูแลบัญชีลูกหนี้การค้าแต่ละรายมีการกำหนดเครดิตเทอมและวงเงินเครดิต โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสนับสนุน
ประเด็นที่ควรระวังก็คือ หากลูกค้ายังมีวงเงินเครดิตเหลือเพียงพอที่จะสั่งซื้อสินค้าได้ แต่มียอดหนี้เดิมคงค้างเกินกว่าเครดิตเทอม ดังนั้นในตัวระบบโปรแกรมไม่ควรอนุญาตให้สามารถเปิดบิลขายในระบบได้ทันที เพื่อจะได้นำรายการขอสั่งซื้อจากลูกค้ามาพิจารณาเพิ่มความระมัดระวัง
ก่อนจบคงต้องขอเน้นความสำคัญของการบริหารลูกหนี้การค้าซึ่งเป็นรายการที่สำคัญ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันต้องระมัดระวังต่อสภาพคล่องอย่างเข้มงวด จึงถือเป็นภารกิจของบัญชีที่ต้องช่วยผู้บริหารกำกับ ดูแล และพร้อมที่จะส่งสัญญาณเตือนภัยให้ผู้บริหารได้รับทราบทันที
แล้วพบกันใหม่ครับ...สวัสดี
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ