
แด่... สามัญสำนึก (In Pursuit of Common Sense)
23 กุมภาพันธ์ 2565
สองพันกว่าปีก่อน อริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีก กล่าวถึง ‘สามัญสำนึก’ ว่า เป็นความสามารถที่มีอยู่ในสัตว์ (รวมทั้งมนุษย์) ในการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อประมวลความรู้สึก ความทรงจำ ผสานด้วยจินตนาการ เพื่อให้บรรลุการคิดและตัดสินใจขั้นพื้นฐาน โดยอริสโตเติลเชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตว์โลกประเภทเดียวที่รู้จักใช้เหตุและผล ทำให้การตัดสินใจของมนุษย์อยู่เหนือกว่า ‘สามัญสำนึก’
ยุคสมัยของอริสโตเติล ‘สามัญสำนึก’ ดูมีความหมายที่ ‘เบา’ จนเสมือนไม่มีตัวตน แต่ก็ยังคงเป็น ‘อากาศธาตุ’ ที่ขาดไม่ได้ เมื่อสังคมขยายตัวพร้อมกับองค์ความรู้ที่พัฒนามากขึ้น กังหันลมของกาลเวลาได้พัดพาธรรมชาติแห่งความเป็นจริงเข้ามา จนเผยให้เห็นการมีอยู่ของเจตจำนงเสรี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ การให้คำจำกัดความ ‘สามัญสำนึก’ จึงได้ถูกตีความใหม่ในมิติที่ลุ่มลึกกว่าเดิม บุคคลที่มีส่วนสำคํญคือ โธมัส เพน (Thomas Paine) หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้เขียนบทความ ‘Common Sense’ เมื่อค.ศ. 1776 แม้จะตีพิมพ์เป็นเพียงจุลสารเล่มเล็ก แต่ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลกใบใหญ่ โธมัส เพน นำเสนอข้อถกเถียงอันทรงพลังเกี่ยวกับความคิดพื้นฐานที่ส่งผลให้ชาวอาณานิคมอเมริกันภายใต้การปกครองของอังกฤษเริ่มรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และความไร้เหตุผล ภายใต้ระบอบการปกครองที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนนำไปสู่การตัดสินใจประกาศเอกราชจากเครือจักรภพอังกฤษ จอห์น อดัมส์ (John Adams) ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา ถึงกับกล่าวว่า “หากปราศจากปากกาของผู้เขียนสามัญสำนึก ดาบของวอชิงตันก็คงกวัดแกว่งอย่างสูญเปล่า”
‘สามัญสำนึก’ ในปัจจุบันได้ถูกนิยามใหม่ให้ครอบคลุมถึงความสำนึก หรือความเฉลียวใจที่คนทั่วไปควรจะต้องรู้ และตัดสินได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับคำชี้แนะสั่งสอน หรือต้องใช้ความรู้ที่สลับซับซ้อนหรือการวินิจฉัยเพิ่มเติม แต่มีพื้นฐานอยู่บนกฎธรรมชาติ เป็นสิ่งที่คนปกติธรรมดาเข้าใจตรงกันว่า สิ่งใดควรยึดถือและปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน เพื่อธำรงความดีงามของส่วนรวมเอาไว้
แม้กระนั้นก็ตาม ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถใช้สามัญสำนึกของตนได้อย่างเหมาะสม สาเหตุหลักเพราะบางคนยังไม่สามารถละทิ้งชุดความเชื่อที่เป็นอคติ และอุดมไปด้วยความมั่นใจในตนเองที่สะสมไว้ยาวนาน อันเนื่องมาจากการให้คุณค่ากับตนเองมากเกินไป จึงพยายามแสวงหาตรรกะและเหตุผลต่างๆ นานา มาหักล้างความคิดพื้นฐานอันเป็น ‘สามัญสำนึก’ ที่คนส่วนใหญ่ล้วนเห็นพ้อง
คุณค่าของ ‘สามัญสำนึก’ ในความหมายใหม่ทำให้โดยพื้นฐาน มนุษย์อยู่เหนือกว่าสัตว์ในการตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ในยุคที่สมองกลและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและอาจเปลี่ยนสถานะจากทาสรับใช้ตามคำสั่งเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีสติปัญญาและความสามารถระดับเดียวกันกับมนุษย์ (Human-level AI) ศักยภาพในการเรียนรู้เชิงลึกและการประมวลผลทำให้สติปัญญาของปัญญาประดิษฐ์ไปไกลกว่าของมนุษย์ แต่การทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีความคิดและการตัดสินใจขั้นพื้นฐานที่เรียกว่า ‘สามัญสำนึก’ กลับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับนักวิทยาศาสตร์
ปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ทั้งหมดยังเป็น ‘ปัญญาประดิษฐ์แบบแคบ (Artificial Narrow Intelligence)’ หรือ ANI ที่มีความสามารถเฉพาะด้านเท่านั้น เช่น อัลฟาโกะ (AlphaGo) ของบริษัท กูเกิล ดีปมายด์ (Google DeepMind) ที่พัฒนาให้มีความสามารถในการเล่นหมากล้อม จนสามารถเอาชนะ อี เซดล (Lee Sedol) แชมป์หมากล้อมมือหนึ่งของโลกชาวเกาหลีใต้ได้อย่างง่ายดาย หรือระบบขับขี่รถยนต์อัตโนมัติของเทสลา (Tesla) ซี่งเป็น ANI ที่นำมาใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ หรือ ‘Applied Artificial Intelligence’ เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า ถ้าเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น สุดท้าย ปัญญาประดิษฐ์จะอาศัยการทำงานของโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neuron Network : ANN) เหมือนกับกระบวนการทำงานในสมองของมนุษย์ สร้าง ‘สามัญสำนึก’ ขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ เช่น ยอนน์ เลอคุน (Yann Lecun) ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยเฟซบุ๊ก เอไอ รีเสิร์ช (Facebook AI Research) เห็นว่าเป็นเรื่องยาก เพราะสมองมนุษย์มีความสลับซับซ้อนมาก การนำ ‘สามัญสำนึก’ มาใส่ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Commonsense Transformers) น่าจะง่ายกว่า เช่น โครงการ COMET ของสถาบันปัญญาประดิษฐ์อัลเลน (Allen Institue for AI) ได้สร้างโครงข่ายประสาทเทียมที่สามารถเรียนรู้จากฐานความรู้ซึ่งจะกลายเป็นก้าวกระโดดในการสร้างกลไก AI- Common Sense หรือโครงการอเล็กซานเดรีย ของบริษัทไมโครซอฟต์ ที่รวมการอ่านด้วยเครื่องการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) และคอมพิวเตอร์วิชั่นเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างฐานความรู้สามัญสำนึกสำหรับระบบปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนจาก ANI ไปเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่คิดและทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนมนุษย์ เรียกว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไป (Artificial General Intelligence)’ หรือ AGI
AGI หมายถึง ระบบปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไป หรือแบบกว้าง (Board AI) ที่มีความเฉลียวฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ ทั้งความสามารถในการวางแผน การแก้ปัญหา และการคิดเชิงวิพากษ์ ทำให้สามารถทำงานทั่วไปได้เช่นเดียวกับมนุษย์ โดยการพัฒนา AGI เริ่มจากการสร้างแบบจำลองสมองทั้งหมดด้วยการสแกนและสร้างแผนที่สมองชีวภาพด้วยความละเอียดสูง ปัจจุบันเทคโนโลยีการถ่ายภาพสมองพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งความหวังในการได้รายละเอียดที่สำคัญของสมอง จนทำให้สามารถสร้างแบบจำลองที่เลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ได้ ตั้งแต่การรู้จำ (Recognition) เข้าใจข้อมูลที่ป้อนเข้ามาว่าคืออะไร เช่น การจดจำใบหน้า ข้อความ และเสียง การตรวจหา (Detection) สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในข้อมูล เช่น อวัยวะของคนไข้ทำงานแตกต่างไปจากสภาวะปกติหรือไม่ ความสามารถในการทำนาย (Prediction) ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่พยากรณ์อากาศ นอกจากนี้ยังสามารถทำการแบ่งส่วน (Segmentation) ข้อมูลที่เหมือนกันเป็นชุดๆ เช่น พฤติกรรมการซื้อของลูกค้า และหาค่าเหมาะสมที่สุด (Optimization) เพื่อช่วยในการวางแผนการตลาด
อย่างไรก็ตาม การพัฒนา AGI ยากกว่าการพัฒนา ANI มาก จนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสร้าง AGI ที่ใช้งานได้จริง แต่คาดว่าจะประสบผลสำเร็จไม่เกินค.ศ. 2029 ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงสุดที่ไปไกลกว่า AGI เรียกว่า ‘Artificial Super-Intelligence’ หรือ ASI ซึ่ง นิค โบสตรอม (Nick Bostrom) นักปรัชญาและนักคิดชั้นนำด้าน AI ได้ให้นิยามไว้ว่า เป็น ‘เครื่องจักรทรงภูมิปัญญา’ ที่มีความสามารถเหนือกว่าสมองมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดในทุกสาขาวิชาการ มีทั้งความคิดเชิงสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้เชิงปรัชญา และทักษะความสามารถในการเข้าสังคม
การมาถึงของ AGI ในมุมหนึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นภัยต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ เช่น แม็กซ์ เทกมาร์ก (Max Tegmark) ศาสตราจารย์จากสถาบัน MIT เจ้าของผลงานหนังสือ ‘Life 3.0 : Being the Age of Artificial Intelligence’ ได้ทำนายว่า AGI จะมีความฉลาดจนสามารถค้นหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำสิ่งต่างๆ และปรับแต่งให้บรรลุเป้าหมาย จนถึงขั้นตั้งเป้าหมายของตนเองได้ และยังมีแนวโน้มที่จะต่อสู้กันเอง หากเป้าหมายหรือผลประโยชน์ไม่ตรงกัน นอกจากความเสี่ยงที่ AGI จะคิดดำเนินการอย่างเป็นอิสระจากมนุษย์จนเป็นอันตราย ยังมีความเป็นไปได้ที่ AGI จะดึงข้อมูลส่วนบุคคลจากคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ และเรียนรู้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อจำลองลักษณะเฉพาะของบุคคล ตั้งแต่ความสนใจ รูปแบบสื่อสาร จนสามารถสร้างตัวตนปลอมเพื่อติดต่อกับคนทั่วไปได้
อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และเทสลา ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภัยของ AGI ที่จะเป็นอันตรายต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ และเสนอให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ตระหนักถึงเรื่องนี้ และพยายามหาทางควบคุมการพัฒนาเสียแต่เนิ่นๆ เช่นเดียวกับ สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาชื่อดังระดับโลก เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคต AGI จะเข้ามามีบทบาทกับคนทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อถึงเวลานั้นมนุษยชาติอาจจะถึงจุดจบ เพราะเมื่อ AGI เหล่านี้ถูกพัฒนาไปจนถึงขีดสุดกลายเป็น ‘Artificial Super-Intelligence’ จะไม่ต้องพึ่งพามนุษย์อีกต่อไป เช่นเดียวกับ บิล เกตส์ (Bill Gates) เจ้าของบริษัท ไมโครซอฟต์ ก็เคยออกมาแสดงความกังวลถึงอนาคตของ AGI ว่าจะเป็นภัยคุกคามมนุษย์
บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงระบบปัญญาประดิษฐ์กันแทบทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะรู้ดีถึงศักยภาพ ขณะเดียวกันก็คาดการณ์ถึงภัยอันตรายในอนาคต แม้จะยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจนว่า ความก้าวล้ำของปัญญาประดิษฐ์จะเป็นภัยต่อมนุษย์ในลักษณะใด แต่ก็เริ่มปรากฏให้เห็นว่าอาจทำให้คนตกงานมากขึ้น เช่น คนขับรถแท็กซี่จะมีผู้ใช้บริการน้อยลงจากการเกิดขึ้นของรถยนต์ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ หรือคนงานตามโรงงานต่างๆ ที่อาจถูกระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ ในอนาคตเมื่อการพัฒนา AGI อาจก้าวไปถึงขั้นที่ทำงานได้สมบูรณ์แบบเหมือนสมองมนุษย์ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์และอาจปิดกั้นระบบไม่ให้มนุษย์ควบคุมมันได้อีกต่อไป
แม้ว่าในอนาคต AGI อาจจะมีความสามารถหลายๆ อย่างสูงกว่ามนุษย์ และยังสามารถพัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆ แต่ AGI จะขาดสิ่งสำคัญซึ่งมีแค่ในมนุษย์เท่านั้น นั่นคือ ‘สามัญสำนึก’ การตัดสินใจของ AGI อาจทำได้ละเอียดและรวดเร็ว แต่การตัดสินใจนั้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากการตัดสินใจอาศัยการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากแล้วเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งในสถานการณ์ต่างๆ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ในขณะที่มนุษย์จะอาศัยสิ่งต่างๆ เข้ามาช่วยในการตัดสินใจนอกเหนือจากข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นหลักศีลธรรมความถูกต้อง ความเหมาะสม รวมทั้งการเห็นพ้องของคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้ว่าการตัดสินใจของมนุษย์จะช้ากว่า AGI และอาจไม่ใช่การตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ตัวเลือกนั้น คือสิ่งที่ประกอบไปด้วยความเหมาะสมตามสถานการณ์และสอดคล้องกับความคิดพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็คือ ‘สามัญสำนึก’ นั่นเอง เช่น เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง นอกจากจะให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งาน ช่วยควบคุมการทำงานในทุกสภาพถนนแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ตัดสินใจโดยอัตโนมัติในหลายสถานการณ์ เพื่อบังคับรถให้ขับเคลื่อนไปถึงจุดหมายอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยอย่างสูงสุด แต่ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อมีรถอื่นเข้ามาชน สิ่งที่ตัดสินชะตากรรมว่าคนขับรถ หรือผู้เดินข้ามถนนใครจะอยู่รอด หรือต้องกลายเป็นเหยื่อผู้เสียชีวิต กรณีที่มนุษย์เป็นผู้ควบคุมพวงมาลัย จะตัดสินใจโดยทันทีว่าจะบังคับรถในสถานการณ์นั้นอย่างไร หลายครั้งคนขับใช้สามัญสำนึกเลือกหักรถลงข้างถนนเพื่อรักษาชีวิตของเด็กนักเรียนที่กำลังเดินข้ามถนนไว้ก่อน แต่ในกรณีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบ AGI จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้โดยสารในรถเท่านั้น ไม่มีสามัญสำนึกการเสียสละแบบมนุษย์
ด้วยเหตุนี้ วิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการออกแบบและจัดการเพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน AGI คือการนำสามัญสำนึกไปใส่ในระบบปัญญาประดิษฐ์ ควบคู่กับความสามารถในการคิดด้วยตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์คงไม่สามารถควบคุม AGI ได้ง่ายๆ หรือตรงไปตรงมาเหมือนการตรวจสอบหรือควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ผ่านกระบวนการทางกฎหมายและการให้คุณให้โทษ โดยการใส่สามัญสำนึกเข้าไปใน AGI เป็นเรื่องที่มีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคน เช่น อิกอร์ อเล็กซานเดอร์ (Igor Aleksander) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เชื่อว่า การเกิดขึ้นของ AGI ที่มีสามัญสำนึกเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยในทศวรรษหน้าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะได้เห็นระบบ AGI ที่มีสามัญสำนึก สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
อริสโตเติลและโธมัส เพน อาจจะผิดหวังอยู่บ้างที่ยังมีมนุษย์บางคนไม่เลือกใช้ ‘สามัญสำนึก’ เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อแสดงความอ่อนแอของตนออกมา แต่กลับเลือกใช้ ‘สามัญสำนึก’ เป็นป้อมปราการสนับสนุนการดำรงอยู่ของชุดความเชื่อที่เป็นอคติและตัดขาดจากความจริงที่กำลังเกิดขึ้น และคงไม่คาดคิดว่าสุดท้ายกังหันลมแห่งกาลเวลาได้คัดเลือกผู้ที่สามารถใช้ ‘สามัญสำนึก’ในการตัดสินใจขั้นพื้นฐานได้เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ ซึ่งก็คือระบบปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไปที่มนุษย์นั่นเองเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ