
เทคโนโลยีต้องห้าม (Dark Technology)
23 กุมภาพันธ์ 2565
ความก้าวหน้าของโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ถูกกำหนดด้วยฝีแปรงแห่งโชคชะตาของเทคโนโลยีและ สิ่งประดิษฐ์ ในยุคโบราณ ประเทศจีนเคยเป็นผู้นำในการสร้าง 4 สิ่งประดิษฐ์ คือ ‘กระดาษ แท่นพิมพ์ เข็มทิศ และดินปืน’ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานวิทยาการสำคัญที่สร้างอารยธรรมของมนุษยชาติ และในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่จัดว่าเป็นสุดยอด ‘จตุรนวัตกรรม’ ประกอบด้วย ‘เครือข่ายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีคลาวด์ ระบบปัญญาประดิษฐ์ และDigital Convergence’ ซึ่งเป็นกลไกหลักที่นำไปสู่การสร้างอุปกรณ์ไฮเทคจำนวนมากตั้งแต่การสื่อสารเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่หลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้กลายเป็นระบบนิเวศพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เปลี่ยนแปลงบริบทการทำธุรกิจแบบดั่งเดิมไปโดยสิ้นเชิง หรือการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อควบคุมจักรกลอัจฉริยะ ตลอดจนแอปพลิเคชัน Google Earth ที่ทำให้ทุกพื้นที่บนโลกใบนี้สามารถค้นหาและมองเห็นได้โดยใช้เพียงปลายนิ้ว
เทคโนโลยีดิจิทัลทําให้ชีวิตเราสะดวกสบายเกินกว่าคนรุ่นก่อนจะจินตนาการได้ แม้ว่าอาจจะรุกล้ำความเป็นส่วนตัว หรือทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตขาดสมดุลไปบ้าง แต่ยังมีเทคโนโลยีบางชนิดที่เมื่อนำมาใช้อาจสร้างเงื่อนไขทางจริยธรรม หรือคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและความมั่นคงของสังคม เทคโนโลยีเหล่านี้จึงเป็นเรื่องต้องห้ามทั้งในเชิงกฎหมายและจริยธรรม แม้กระนั้นก็ยังมีการแอบพัฒนาอย่างลับๆ ทั้งโดยเอกชนและภาครัฐเอง ตัวอย่างเทคโนโลยีต้องห้ามที่มีความคืบหน้าในการพัฒนาไปมาก คือ ตัวอ่อนมนุษย์เทียม (Artificial Human Embryo) หุ่นยนต์สังหาร (Killer Robot) เว็บไซต์อำพราง (Dark Web) และการปลอมแปลงอัตลักษณ์ขั้นสูง (Deepfake)
ตัวอ่อนมนุษย์เทียม (Artificial Human Embryo) การโคลนนิ่งมนุษย์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและบางส่วนของยุโรป เนื่องจากเหตุผลด้านศีลธรรมและจริยธรรม โดยองค์กรระหว่างประเทศชื่อ Human Fertilization and Embryology Authority (HFEA) ซึ่งตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1991 มีหน้าที่ควบคุมและออกใบอนุญาตการวิจัยตัวอ่อนมนุษย์และการเจริญพันธุ์ให้อยู่ภายใต้ ‘กฎ14วัน สำหรับการวิจัยตัวอ่อน’ โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างตัวอ่อนมนุษย์ ในการวิจัยสเต็มเซลล์ได้ไม่เกิน 14 วัน เนื่องจากเป็นเวลาที่ตัวอ่อนยังไม่ได้พัฒนาระบบประสาทกลาง และต้องถูกทำลายก่อนครบกำหนด 14 วัน เพื่อไม่ให้เติบโตกลายเป็นสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ รวมถึงความเสี่ยงที่ร่างกายจะไม่ตอบสนองต่ออวัยวะบริจาคทำให้มีความต้องการสร้างอวัยวะใหม่ด้วยเทคนิคการนำสเต็มเซลล์มนุษย์ใส่เข้าไปในตัวอ่อนของสัตว์ หรือ คิเมร่า (Chimera) เพื่อปลูกอวัยวะมนุษย์ เช่นตับ หรือไตที่มีคุณภาพในสัตว์ชนิดอื่น
ในปี ค.ศ. 2019 ศาสตราจารย์ฆวน การ์ลอส อิซปิซูอา เบลมอนเต (Juan Carlos Izpisúa Belmonte) ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกมูร์เซีย (Catholic University of Murcia) ของสเปนและสถาบันซอลค์ (Salk Institute) ในสหรัฐอเมริกา ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างคิเมร่า จากสเต็มเซลล์ของมนุษย์ซึ่งฉีดเข้าไปในตัวอ่อนของลิง โดยการทดลองดังกล่าวทำที่ห้องปฏิบัติการในประเทศจีนเพื่อหลีกเลี่ยง ‘กฎ14วัน สำหรับการวิจัยตัวอ่อน’ และรัฐบาลญี่ปุ่นก็เคยอนุมัติให้นักวิทยาศาสตร์ทดลองเลี้ยงตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งหนู ทั้งยังอนุญาตให้ตัวอ่อนคิเมร่าเติบโตจนครบกำหนดคลอดและลืมตามาดูโลกได้ด้วย การกระทำดังกล่าวสร้างคำถามทางจริยธรรมจากหลายฝ่าย เช่น ถ้าหากสเต็มเซลล์ของมนุษย์หลุดเข้าไปในสมองของสัตว์ จะทำให้สัตว์มีสติรับรู้เหมือนคนหรือไม่ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากสเต็มเซลล์เหล่านี้ได้กลายเป็นเซลล์สืบพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยอ้างว่าได้สร้างกลไกทำลาย สเต็มเซลล์ประสาทมนุษย์โดยทันทีถ้าบังเอิญหลุดเข้าไปในสมองสัตว์
หุ่นยนต์สังหาร (Killer Robot) การพัฒนาอย่างรวดเร็วของระบบปัญญาประดิษฐ์ทำให้การสร้างหุ่นยนต์ใช้งานในสนามรบเพื่อลดการเสียชีวิตของทหารกลายเป็นหนึ่งในการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่อันตราย และสร้างความกังวลในประเด็นศีลธรรม กฎหมาย และความรับผิดชอบ หุ่นสังหารที่พัฒนามีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋วโจมตีด้วยการกลุ้มรุมนับหมื่นนับแสน ไปจนถึงระบบอาวุธอัตโนมัติที่โจมตีจากทางอากาศ ภาคพื้นดิน หรือจากใต้ทะเล แต่ที่ได้รับการพูดถึงกันมากคือ ปืนกลนิวรัลเน็ต ขนาด 7.22 มิลลิเมตร ติดตั้งกล้องกับระบบคอมพิวเตอร์ที่สร้างเลียนแบบเส้นใยประสาทของมนุษย์ และถูกออกแบบมาให้เรียนรู้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ทำให้สามารถตัดสินใจเล็งเป้าหมายได้เองโดยไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม ผู้เชี่ยวชาญทางทหารหลายคนเชื่อว่าหุ่นยนต์สังหารกำลังจะกลายเป็นกำลังหลักในการทำสงคราม และกังวลว่า ถ้าหุ่นยนต์พวกนี้เผชิญกับอะไรบางอย่างที่ไม่เคยพบมากก่อน จะไม่มีการตัดสินใจที่ยืดหยุ่นแบบมนุษย์ และความผิดพลาดอาจจะนำไปสู่การสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ การทำลายล้างเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางการทหาร และการโจมตีพวกเดียวกันเองโดยไม่ตั้งใจ รวมทั้งโอกาสที่อาวุธดังกล่าวอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการก่อการร้าย โดยในปี ค.ศ. 2015 นักวิทยาศาสตร์และผู้นำด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 คน รวมทั้ง อีลอน มัสก์ เจ้าของเทสลา และสเปซเอ็กซ์ กับตัวแทนของกูเกิล และไมโครซอฟท์ เข้าชื่อกันทำจดหมายถึงสหประชาชาติ เรียกร้องให้จำกัดการพัฒนา“ระบบอาวุธทำลายล้างอัตโนมัติ” หรือ “หุ่นยนต์สังหาร” ที่ควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์ซึ่งสามารถเลือกและสังหารเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง แต่ประเทศที่เป็นผู้นำในการพัฒนาและอยู่ในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เช่น สหรัฐ จีน รัสเซีย และอังกฤษ ไม่เห็นด้วย ทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์สังหารมีแนวโน้มที่จะก้าวหน้าได้ เร็วกว่าการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับเสียอีก
เว็บไซต์อำพราง (Dark Web) เว็บไซต์ที่ใช้งานกันทั่วไปจะอยู่บนพื้นที่เปิดและเข้าถึงได้ง่าย แต่ในอีกโลกหนึ่งยังมีเว็ปที่ไม่สามารถค้นหาด้วยกูเกิล หรือ Search Engine ทั่วไป เรียกว่าเว็บไซต์อำพราง เนื่องจากมีการใช้เครือข่ายทอร์ (The Onion Router-Tor) ช่วยปกปิดเส้นทางของข้อมูล มีการเข้ารหัส และระบุตัวตนไม่ได้ ทำให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากการถูกติดตามบนโลกออนไลน์ โดยที่รู้จักกันดี เช่น Silk Road Agora และ AlphaBay
เว็บไซต์อำพรางจัดเป็นเทคโนโลยีต้องห้าม เพราะถูกนำไปใช้เผยแพร่เนื้อหาดิบ เถื่อน มีความอ่อนไหวในเชิงศีลธรรม รวมทั้งยังใช้ซื้อขายสิ่งของผิดกฎหมายทั้งในแบบนำมาวางขาย หรือในลักษณะเว็บตลาดสินค้า รวมทั้งใช้เป็นแพลตฟอร์มฟอกเงิน ด้วย เหตุผลของการที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้อย่างชัดเจน จึงทำให้หน่วยงานทางกฎหมายเข้าไม่ถึงการกระทำผิดที่เกิดขึ้นของเว็บต้องห้ามเหล่านี้ อย่างกรณีล่าสุดเกิดขึ้นกับบริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ (Coloniel Pipeline) ซึ่งเป็นบริษัทท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ถูก ‘ดาร์กไซด์ (DarkSide)’ ซึ่งเป็นกลุ่มแฮกเกอร์จากยุโรปตะวันออกโจมตีด้วย Malware เรียกค่าไถ่ ทำให้การลำเลียงน้ำมันผ่านท่อส่งน้ำมันที่มีความยาว 5,500 ไมล์ไปยังภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐต้องหยุดชะงักลง บริษัทโคโลเนียลได้ยอมจ่ายเงินค่าไถ่เป็นสกุลบิตคอยน์ มูลค่า 90 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,900 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเปิดท่อส่งน้ำมัน หลังจากที่แฮกเกอร์ได้รับเงินค่าไถ่ไปแล้ว ก็ได้นำขายในแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลที่อยู่บนเว็บไซด์อำพราง เพื่อแลกเป็นสกุลเงินที่ออกโดยธนาคารกลางของชาติต่างๆ และปิดบัญชีหายตัวไป
การปลอมแปลงอัตลักษณ์ขั้นสูง (Deepfake) การพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์สร้างดีปเฟค เพื่อเลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทของมนุษย์ในการเรียนรู้ เก็บข้อมูล และประมวลผลอัตลักษณ์บุคคล เช่น ใบหน้า สีผิว รวมถึงรูปแบบการเคลื่อนไหว การพูดจา และน้ำเสียง ทำให้สามารถนำเสนอใบหน้าของบุคคลนั้นในรูปแบบต่างๆ ที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระราวกับบุคคลจริงมาปรากฏตัว โดยมีซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น Lyrebird และ Baidu DeepVoice ซึ่งใช้เลียนแบบเสียง Adobe Cloak ช่วยในการตัดต่อภาพ รวมทั้ง FaceSwap และ Deep Video Portraits ใช้ในการสลับใบหน้า หรือแปลงการขยับหน้า ตา ปาก ของคนคนหนึ่งไปเป็นของอีกคนหนึ่ง
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2018 สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ของประเทศจีนได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างผู้อ่านข่าวเสมือนคนแรกของโลก ซึ่งดูแล้วแทบจะไม่แตกต่างจากผู้อ่านข่าวจริง อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้ได้ถูกนำไปใช้ปลอมแปลงอัตลักษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียงในรูปแบบวีดีโอที่เรียกว่า ‘ดีปเฟควีดีโอ’ โดยไม่เพียงเลียนแบบภาพแต่ยังเลียนแบบเสียง ท่าทาง เนื้อหาที่พูด ของดาราและคนดังมากกว่า 15,000 วีดีโอ กลายเป็นการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber Bullying) ปลุกปั่นกระแส สร้างความแตกแยก และทำลายชื่อเสียงบุคคล ซึ่งสถิติการเติบโตของวิดีโอดีปเฟคในปี ค.ศ.2018 มีอัตราการเติบโตขึ้นเกือบ 100% ทำให้หน่วยงานภาครัฐเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการนำเทคโนโลยีดีปเฟคไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น การปลอมแปลงเป็นญาติหลอกเงินผู้เสียหาย หรือสร้างความเข้าใจผิดทางการเมือง
ในปีค.ศ.2019 บริษัทไมโครซอฟได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Video Authenticator สำหรับใช้ตรวจจับว่าคลิปวิดีโอนั้นๆ ผ่านการตัดแต่งขั้นสูงจนแยกแยะด้วยตาเปล่าไม่ออกหรือไม่ เป็นการป้องกันการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ รวมทั้งยังได้พัฒนาระบบที่ช่วยให้ผู้ผลิตเนื้อหาคลิปวิดีโอสามารถเพิ่มโค้ดที่ซ่อนอยู่ในวิดีโอของตน เพื่อให้สามารถจับสังเกตได้ว่าเนื้อหานั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าในอนาคตดีปเฟคจะเรียนรู้เองจนสามารถสร้างภาพความคมชัดสูงและท่าทางที่เสมือนจริงได้จนตรวจสอบได้ยากขึ้น และผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าเทคโนโลยีดีปเฟคจะแพร่หลายมากขึ้น จนทำให้คนเราไม่เชื่อสิ่งที่ตาเห็นอีกต่อไป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยุ่งยากมากกว่าการพบข่าวปลอมที่ถูกเขียนขึ้นหรือภาพถ่ายที่ตัดต่อขึ้น เพราะประเด็นหลังนั้นสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายกว่า แต่การตรวจสอบวิดิโอดีปเฟคต้องใช้เครื่องมือพิเศษและเป็นงานยากมากกว่าหลายเท่า
ในบรรดาเทคโนโลยีต้องห้ามทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นที่ค่อนข้างจะใกล้ตัวเราและส่งผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นเทคโนโลยีดีปเฟค ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องต้องห้ามแต่ก็ยังมีประโยชน์ โดยบริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) ได้จัดทำเอกสารแสดงให้เห็นตัวอย่างของดีปเฟคในแง่บวกไว้หลายเรื่อง เช่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ นักแสดงที่เสียชีวิตไปแล้วสามารถกลับมาแสดงได้อีกอย่างสมจริง สตั้นท์แมนคนเดียวแสดงได้หลายครั้งด้วยการเปลี่ยนหน้าเดิมเป็นหน้าใหม่ได้ ช่วยการพากย์อัตโนมัติให้เป็นภาษาอะไรก็ได้โดยที่เนื้อเสียงยังเป็นเสียงของดาราคนนั้น แก้ไขนักแสดงที่ต้องแสดงเป็นตนเองในช่วงอายุต่างๆ และตัวอย่างที่รู้จักกันดี คือภาพยนต์เรื่อง Forrest Gump ที่มีการควบคุมจังหวะการเคลื่อนไหวริมฝีปากของประธานาธิบดีเคนเนดี้จนดูเสมือนพูดจริง หรือนำนักแสดงที่ได้เสียชีวิตไปแล้วกลับมามีชีวิตในภาพยนต์ เช่น หลังจากการเสียชีวิตของ พอล วอร์คเกอร์ ในเรื่อง Fast & Furious 7 ก็มีการใช้เทคโนโลยีดีปเฟคในสร้างพอล วอร์คเกอร์ แสดงร่วมกับนักแสดงคนอื่น และยังมีประโยชน์ของดีปเฟคในการสร้างความบันเทิงแขนงใหม่ เช่น แอปพลิเคชัน Zao สามารถตัดต่อเอาใบหน้าเราไปใส่ในคลิปวิดีโอจากภาพยนตร์ หรือเกมส์ได้ โดยใช้เพียงแค่รูปถ่ายหน้าของเราเพียงรูปเดียว หรือพัฒนาการของดีปเฟคที่ช่วยทำให้การชอปปิงออนไลน์มีสีสันเพิ่มขึ้น โดยเอามาสร้างแบบจำลองเสมือนจริงของร่างกาย เพื่อให้เราสามารถลองสวมใส่แบบดิจิทัลได้ก่อนซื้อ ทำให้มีความเป็น Interactive มากขึ้น และในทางการแพทย์ มีการนำดีปเฟคไปช่วยคนป่วยที่พูดไม่ได้แล้ว ให้สามารถกลับมาสื่อสารกับผู้คนด้วยเนื้อเสียงเดิมตอนที่ยังพูดได้อีกครั้ง สำหรับในระดับองค์กรดีปเฟคก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการประชุมวิดีโอทางไกลเช่นกัน
แม้ว่าเทคโนโลยี คือสิ่งสำคัญที่เข้ามาช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าให้มนุษยชาติ แต่เทคโนโลยีเองก็เปรียบเสมือนดาบสองคม หากถูกนำไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล แต่หากนำไปใช้ในทางที่ผิดจริยธรรม หรือกฏหมาย ก็อาจสร้างความเสียหายทั้งในระดับบุคคลและในวงกว้าง เทคโนโลยีจึงต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบมากขึ้น พลังอำนาจของเทคโนโลยีอาจไม่ได้อยู่กับคนที่สร้างมันขึ้นมา แต่อยู่ที่การนำไปใช้มากกว่า ถ้านำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีต้องห้ามในที่สุด
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ