กำลังโหลด...

×



HRM / HRD คาถาลูกน้องรัก

magazine image
HRM / HRD

คาถาลูกน้องรัก

วิชัย อุตสาหจิต

23 กุมภาพันธ์ 2565

            คาถาลูกน้องรัก

           “โอมจะเป่าคาถามหาระรวย
           ดลหัวใจคนสวย ให้มาหลงเสน่ห์
           ทั้งสาวใหญ่สาวเล็ก ทั้งนางเอกลิเก
           ทั้งแม่ค้าหาบเร่ ทั้งที่อยู่โรงงาน

          โอมจะเสกคาถา ลงนะหน้าทอง
          ให้ฉันมีชื่อก้อง อยู่ทั่วทุกมุมบ้าน
          อย่าให้ต้องอกหัก ให้คนรักนานนาน
          เป็นขวัญใจชาวบ้าน ทั่วถิ่นฐานเมืองไทย”

          เนื้อเพลงข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของเพลง “คาถามหานิยม” ที่โด่งดังในหมู่ผู้ชื่นชอบเพลงลูกทุ่ง ท่านผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นหูกันบ้างไม่มากก็น้อย และทุกวันนี้ยังคงมีนักร้องรุ่นใหม่นำมาร้องเพื่อการประกวดหรือการแสดงอยู่บ้างเป็นระยะ 
ผู้เขียนขออนุญาตแปลงเนื้อเพลงของเพลงดังกล่าวข้างต้น เพื่อเป็นการเปิดประเด็นชวนทุกท่านคุยในบทความนี้ เป็นดังนี้

         “โอมจะเป่าคาถางานบริหาร
         ดลหัวใจพนักงาน ให้มาหลงเสน่ห์
         ทั้งพี่ใหญ่น้องเล็ก ทั้งรับผิดชอบไม่เท
         ทั้งออฟฟิศฮาเฮ ทั้งหมดที่อยู่ในโรงงาน

        โอมจะเสกคาถา ลงนะหน้าทอง
        ให้เสียงปรบมือกึกก้อง อยู่ทั่วที่ทำงาน
        อย่าให้ต้องถูกลืม ให้คนปลื้มนานนาน
        เป็นขวัญใจทุกหน่วยงาน ทั่วถิ่นฐานองค์กรเรา”

       เป็นอย่างไรครับ ท่านผู้อ่านพอจะเห็นคาถาลูกน้องรักที่หัวหน้าประสงค์อยากจะได้ อยู่ในเนื้อเพลงนี้บ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการให้พนักงานเลื่อมใสศรัทธาและเชื่อฟัง ความต้องการที่จะเห็นภาพการทำงานร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคีระหว่างพนักงานในทุกๆ ฝ่าย พนักงานมีความรับผิดชอบในงาน และได้ทั้งความสุขในการทำงานและความสำเร็จที่บรรลุตามเป้าประสงค์ขององค์กรไปในคราวเดียวกัน รวมๆ เรียกว่า “ลูกน้องรัก” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในองค์กรใด สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแล้วเป็นภาพที่พึงประสงค์ทั้งสิ้น
       เนื้อหาในส่วนต่อจากนี้ ขอนำคาถา “ลูก-น้อง-รัก” มาขยายความ ชวนตกผลึกความคิดกันทีละคำ 
       คาถาคำแรก “ลูก”
      คาถาคำต่อมาคือ “น้อง”
      และแน่นอน คาถาคำสำคัญสุดท้ายคือ “รัก”
      เริ่มต้นจากคาถาสำคัญคำแรก “ลูก” ที่หัวหน้าต้องท่องไว้ในใจ โดยขออธิบายเทียบเคียงกับแนวทางการดูแลลูกของพ่อแม่ผู้ปกครองโดยทั่วไป ซึ่งเชื่อว่าความรักความเอาใจใส่ที่พ่อแม่มีต่อลูกของตนนั้น มีมากมายเหลือคณานับ ยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกับการดูแลลูกน้อง แต่หากหัวหน้าได้ลองเทียบเคียงมุมมองความรักความใส่ใจที่พอจะมีให้กับลูกน้องได้ในบางส่วน โดยอยู่บนพื้นฐานของความห่วงใยและปรารถนาดีที่ไม่มีเงื่อนไข ก็น่าจะเป็นไกด์ไลน์แนวทางเบื้องต้นสำหรับการแสดงออกที่หัวหน้าพึงมีต่อลูกน้องได้
      ความรักที่หัวหน้าพึงมีต่อลูกน้องในลักษณะของความห่วงใยและความปรารถนาดี ที่ทำให้คนหนึ่งคนแสดงออกด้วยการหมั่นดูแลและเกื้อกูล สอนสั่งและชี้แนะแนวทางด้วยความหวังดี ลงมือทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง หากลูกน้องผิดพลาดพลั้งเผลอประการใด ก็ตักเตือนและให้โอกาสในการเรียนรู้และปรับปรุงตัว อาจต้องใช้ความอดทนอดกลั้นเป็นพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์เหนือเหตุผล และต้องประพฤติตนเป็นต้นแบบที่ดีด้วยการมีวินัยและความสม่ำเสมอ
      คาถาคำที่สอง “น้อง” ความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง บ่งบอกถึงความใกล้ชิดสนิทสนม ผูกพันกันด้วยความรัก ความปรารถนาดีที่อยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติในความเป็นตัวตนของกันและกัน พี่ย่อมแสดงออกถึงความรักน้องด้วยการคอยปกป้องช่วยเหลือน้อง เมื่อยามน้องต้องตกอยู่ในอันตราย ร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมใช้เวลาด้วยกัน เดินผ่านประสบการณ์ชีวิตที่มีความสำคัญต่อการเติบโตมาร่วมกัน โดยต่างเป็นกำลังใจให้กันและกัน
      ความรักที่หัวหน้าพึงมีต่อลูกน้องในลักษณะของความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพี่น้องนั้น เป็นความรักที่สะท้อนถึงความสนิทสนมกลมเกลียว จากการใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน จากการผ่านสถานการณ์ต่างๆ ในการทำงานมาด้วยกัน ร่วมด้วยช่วยกันจัดการปัญหา และเรียนรู้จากกันและกัน เมื่อเกิดข้อผิดพลาด พี่ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและร่วมรับผิดชอบกับน้อง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์คับขันเพียงใด น้องจะยังคงมีกำลังใจและไม่ท้อถอย เพราะรับรู้ได้ว่าจะมีพี่อยู่เคียงข้างเสมอ
      และคาถาคำสุดท้าย “รัก” ที่ในที่นี้คือความรักที่มีต่อตนเองและคนรอบข้าง ความรักที่มีต่องาน และความรักที่มีต่อองค์กร ซึ่งเป็นความรักในสามสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อการทำงานให้มีความสุขและความสำเร็จ และหัวหน้าต้องสร้างและรักษาความรักนี้ไว้ทั้งในตัวเองและลูกน้อง โดยความรักทั้งสามนี้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เสริมเติมต่อยอดให้กันและกัน ยามใดที่เราอาจต้องประสบพบกับสถานการณ์ที่บั่นทอนจิตใจและความรู้สึก ความรักเหล่านี้จะช่วยเยียวยาเราทุกคนได้
     ความรักต่อตนเองและคนรอบข้าง สามารถท้อนให้เห็นในลักษณะของการแสดงพฤติกรรมการทำงานและการดำรงตนอย่างเหมาะสม เพื่อให้ไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่นๆ ในที่ทำงาน อย่างน้อยได้แก่ ประการแรก การทำหน้าที่ของตนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและมีความรับผิดชอบในงาน เพื่อให้ได้งานที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมส่งต่อให้กับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานที่ต้องรับช่วงต่อ ประการที่สอง การดูแลรักษาสุขภาพใจ เพื่อให้เรามีวิธีคิดที่เหมาะสม มีอารมณ์ที่มั่นคง แสดงออกอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ ประการที่สาม การดูแลรักษาสุขภาพกาย ด้วยการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ และประการที่สี่ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างให้เกียรติและเคารพในความแตกต่าง
      ความรักต่อมาคือความรักที่มีต่องาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนทำงานมีพลังใจและพลังกายในการทำงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คนรักงานจะมีความสุขและสนุกที่ได้ทำงาน คนรักงานจะคิดสร้างสรรค์ปรับปรุงงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ คนรักงานจะขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับงานเพิ่มเติม คนรักงานจะพร้อมเปิดรับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในงานที่เกิดขึ้นและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต 
      และความรักมิติสุดท้ายคือ ความรักที่มีต่อองค์กร เป็นพลังสำคัญของคนทำงานในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในทุกภารกิจให้สำเร็จลุล่วง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เป็นสมาชิกที่มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน การเรียนรู้ และการพัฒนา มีความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมในภารกิจต่างๆ ขององค์กร 
      ความรักทั้งสามมิติดังกล่าวข้างต้นนี้ต่างร่วมด้วยช่วยผูกจิตผูกใจให้คนทำงานมีพลังทางบวกในการทำงาน คราใดที่เราอาจท้อแท้จากปัญหาด้านคน เรายังมีความรักในงานและความภาคภูมิใจในองค์กรที่คอยยึดเหนี่ยวให้เราพยายามจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างสุดความสามารถ หรือยามใดที่เราประสบความยากลำบากในการปฏิบัติภารกิจในงาน ความรักในเพื่อนร่วมงานและองค์กรก็สามารถทำให้เราอดทน บากบั่น และยังคงก้าวต่อไป หรือเมื่อเราอาจต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ด้วยเพราะดูเหมือนว่าองค์กรจะไม่เห็นความสำคัญของเราและไม่ให้โอกาสเราเท่าที่ควร ความรักในตนเอง ในเพื่อนร่วมงาน และในงาน ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรายังมีพลังและแรงจูงใจในการมุ่งมั่นทำงานในหน้าที่อย่างสุดความสามารถต่อไป
ดังนั้น หากหัวหน้าได้แสดงความรักทั้งสามมิตินี้ออกมาให้ลูกน้องได้ประจักษ์ และส่งเสริมให้เกิดขึ้นในที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงานที่สร้างสรรค์ และยังก่อเกิดเป็นแรงกระเพื่อมของบุคคลต้นแบบที่แสดงพฤติกรรมการทำงานที่พึงประสงค์ ส่งผลกระทบทางบวกต่อบุคลากรโดยรวม เพราะก่อนที่หัวหน้าจะคาดหวังให้ลูกน้องแสดงพฤติกรรมการทำงานที่พึงประสงค์ใด หัวหน้าจะต้องแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์เหล่านั้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนจับต้องได้ เพื่อเป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ

      การดูแลลูก การดูแลน้อง และการแสดงความรักคน รักงาน และรักองค์กรนี้นั้น เป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถของคนทำงานมาทุกยุคทุกสมัย ต้องอาศัยทักษะร่วมกันของทักษะด้านงานและด้านคน เป็นการใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และเป็นสิ่งที่หัวหน้าต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการมีประสบการณ์ตรง
      คาถาสามคำสำคัญนี้ อาจไม่ใช่มนต์ขลังที่จะดลบันดาลให้เกิดผลตามความต้องการทุกประการของหัวหน้าอย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการบังคับบัญชาลูกน้องหรือการดูแลคนในที่ทำงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีสูตรสำเร็จเฉพาะตายตัวที่จะสามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่ และทุกเวลา แต่คาถาลูกน้องรักข้างต้นนี้ น่าจะพอเป็นหลักคิดเตือนใจที่ช่วยให้หัวหน้าได้ยึดถือและนำไปประยุกต์และปฏิบัติ อันจะนำไปสู่ภาพของความสำเร็จและความสุขร่วมกันของคนในองค์กร
ในท้ายสุดของบทความนี้ ขอนำเสนอเรื่องเล่าจากนิทานผีเสื้อ BLS ที่ย่อมาจาก Butterfly Lesson for Survival ที่สะท้อนถึง BLS เช่นกัน แต่ย่อมาจาก Building Leadership Strength หรือการพัฒนาภาวะผู้นำ
      เรื่องมีอยู่ว่า ชายคนหนึ่งพบรังไหมของตัวอ่อนผีเสื้อ และได้เฝ้าจับตาดูจนกระทั่งเห็นรอยปริขนาดเล็กค่อยๆ ปรากฏขึ้นที่ผิวภายนอก ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการของผีเสื้ออ่อนที่กำลังเติบโตตามธรรมชาติ เขาเห็นมันพยายามดิ้นรนเพื่อออกจากช่องเล็กๆ ของรังที่หุ้มอยู่ให้ได้ แต่เมื่อไม่สำเร็จ ผีเสื้ออ่อนก็หยุดเคลื่อนไหว เหมือนจะยอมรับว่าไม่อาจทำอะไรได้มากไปกว่านั้น ด้วยความหวังดี ชายหนุ่มคนนั้นหยิบกรรไกรขึ้นมาช่วยตัดเปิดช่องรังไหมให้กว้างพอที่ตัวอ่อนจะสามารถออกมาได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้น ตัวอ่อนผีเสื้อน้อยค่อยๆ ดันตัวออกมาภายนอกรังและออกมาได้ในที่สุด แต่สิ่งที่ชายหนุ่มเห็นก็คือผีเสื้อน้อยตัวนั้นออกมาด้วยสภาพร่างกายบวมกลม และปีกที่มีขนาดเล็กนิดเดียว
ชายคนนั้นหวังในใจว่า อีกไม่นานปีกของมันคงจะขยายใหญ่ขึ้น และแข็งแรงพอที่จะพยุงร่างกายมันได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผีเสื้อน้อยตัวนั้นต้องเดินและคลานไปมาทั้งชีวิตด้วยสภาพร่างกายบวมกลมและปีกแห้งเล็กจนไม่สามารถบินได้ ด้วยเพราะธรรมชาติได้กำหนดไว้แล้วว่า ผีเสื้อตัวอ่อนแต่ละตัวหากจะออกจากรังไหมไปเผชิญโลกได้นั้นก็ต้องเป็นไปได้ด้วยพัฒนาการในความแข็งแกร่งของตนเอง เมื่อสภาพร่างกายของตนพร้อมเต็มที่ก็จะออกจากรังได้และสยายปีกเพื่อไปเผชิญโลกได้สำเร็จ
      เมื่อนำธรรมชาติของพัฒนาการผีเสื้อมาพิจารณานั้นก็จะทำให้เห็นได้ว่า การใส่ใจดูแลลูกน้องเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำที่หัวหน้าจะต้องแสดงออกนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเช่นเดียวกัน ความรักความปรารถนาดีระดับใดที่เรียกว่าพอดี และระดับใดที่เรียกว่ามากไปหรือน้อยไป การที่หัวหน้าปล่อยให้ลูกน้องต้องเผชิญกับปัญหาในการทำงาน ก็อาจทำให้ลูกน้องเกิดการเรียนรู้และเติบโตแข็งแกร่ง หรืออาจทำให้ลูกน้องล้มเหลวและสิ้นหวัง และในขณะเดียวกัน การที่หัวหน้าให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการทำงาน ก็อาจทำให้ลูกน้องทำงานสำเร็จและเกิดความมั่นใจและความภาคภูมิใจในงาน หรืออาจทำให้ลูกน้องอ่อนแอและขาดความสามารถในการจัดการกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในงานด้วยตนเองได้เช่นเดียวกัน
     อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า หากหัวหน้าคนใดมีฐานคิดในการดูแลคนในองค์กรอยู่บนคาถาของคำว่า “ลูก-น้อง-รัก” นี้ ก็พอจะมั่นใจได้ว่า หัวหน้าคนนั้นมีความตั้งใจ ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับลูกน้อง มีความพยายามในการดูแลทั้งงานและทั้งคนให้มีความสุขและความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการปรบมือชื่นชม

    “อย่าให้ต้องถูกลืม ให้คนปลื้มนานนาน”
    “เป็นขวัญใจทุกหน่วยงาน ทั่วถิ่นฐานองค์กรเรา”

Top 5 Contents