กำลังโหลด...

×



HRM / HRD ผู้นำกับการบริหารจัดการองค์กร...ณ เวลานี้

magazine image
HRM / HRD

ผู้นำกับการบริหารจัดการองค์กร...ณ เวลานี้

ดร.ขวัญชัย เกิดอุบล

23 กุมภาพันธ์ 2565

             เมื่อกล่าวขึ้นหัวเรื่องกันมาแบบนี้แล้ว ก็คงไม่ต้องสงสัยเลยนะครับว่า ทำไมผู้เขียนจึงต้องขอนำเรื่อง “ผู้นำ” กับการจัดการองค์กรมาเขียน ซึ่งที่จริงแล้วผู้เขียนได้เขียนเรื่องอื่นเตรียมเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วถึง 3 เรื่อง แต่ต้องขอพักไว้ก่อน และหันกลับมาเขียนเรื่องการบริหารจัดการองค์กรของผู้นำที่จะเข้ามาบริหาร เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในตอนนี้...โดยก่อนเขียนเรื่องนี้ ผู้เขียนได้ตั้งคำถามกับตนเองว่า...ทำไมองค์กรต้องมีผู้นำ? และผู้นำองค์กรต้องสามารถแก้ไขปัญหาบนสถานการณ์ได้อย่างชาญฉลาดจริงหรือ? จึงกลายมาเป็นบทความชิ้นนี้ที่อยู่ในมือท่านผู้อ่าน เพื่อตอบคำถามของผู้เขียนเองและเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นภาพโดยรวมด้วยเช่นกัน เพราะหากผู้เขียนเดินหน้าเขียนหรือจับประเด็นในเรื่องอื่นขึ้นมาพูดคุยก่อน ก็จะเป็นการมองข้ามปัจจัยที่มีน้ำหนักและสำคัญในการบริหารจัดการองค์กรหรือประเทศไป แล้วไม่ได้นำเรื่องในส่วนตรงนี้ขึ้นมาเล่าสู่กันฟังก่อน แต่กลับข้ามไปคุยกันในเรื่องประเด็นอื่นที่ยังไม่ตรงกับสถานการณ์ เช่นในเรื่อง การวางแผน หรือ การมีแผนฉุกเฉินก่อนล่วงหน้า ซึ่งตามหลักความจริงแล้ว ผู้นำจะต้องเป็นผู้ดำเนินการสั่งการให้หน่วยงานในบังคับบัญชาเป็นผู้ดำเนินการจัดทำขึ้นมาเพื่อนำเสนอให้เป็นแนวทางของการรับมือกับปัญหาข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นมา และหากไม่กล่าวถึงหลักการและหน้าที่ของผู้นำก่อนแล้ว ท่านผู้อ่านก็อาจจะไม่ทราบเลยว่า ตัวผู้นำสูงสุดในองค์กรควรจะเป็นผู้ดำเนินการในการบริหารจัดการและสั่งการภายในองค์กร และคงจะทำให้เนื้อหาของการบริหารจัดการองค์กรขาดความต่อเนื่องไปในมุมมองภาพรวมของการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งจะมีหลักการสำคัญในการบริหารจัดการที่ผู้บริหารหรือผู้นำจะต้องมองให้เห็นภาพรวมของหลักการและวิธีการบริหารแต่ละหน่วยงานขององค์กร ซึ่งมีโครงข่ายความเชื่อมต่อโยงใยของการสื่อสาร สั่งการ บังคับบัญชา ภายใน และสัมพันธ์โยงใยกับตัวผู้นำและกับตัวผู้ปฏิบัติงาน โดยผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำองค์กรและบริหารจัดการองค์กรให้มีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ตามเป้าหมาย จะต้องมีความเข้าใจและมองเห็นภาพโครงข่ายของการบริหารจัดการในภาพรวมภายในองค์กร ซึ่งก็จะมีภาพใหญ่ทั้งระบบให้มาบริหาร โดยจะต้องใช้ความสามารถที่เป็นตัวตนของตนเองกับความเป็น “ผู้นำ” ซึ่งจะต้องมีทั้งจิตวิญญาณของความเสียสละในเรื่องความสุขส่วนตัว ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องออกไป พร้อมกับการมีความอดทน ทุ่มเทในการปฏิบัติงานที่จะให้บรรลุความสำเร็จ เพื่อที่จะนำพาองค์กรของตนเองให้รอดพ้นและปลอดภัยจากหายนะที่กำลังจะเข้ามาหรือได้เกิดขึ้นมาแล้วในปัจจุบันเช่นนี้ ด้วยความเป็น ผู้นำ ที่มีอยู่ในตัวผู้บริหารองค์กร 
          ดังนั้น คนที่จะมาเป็นกัปตันเพื่อนำพาองค์กรให้ไปรอด จะต้องตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญทั้งภายในและภายนอกองค์กร ด้วยการนำพาองค์กรที่อยู่ในสภาวะวิกฤติให้รอดพ้นผ่านไปให้ได้ จะต้องมีสภาวะความเป็นผู้นำ..สูงที่สุดและมีความเป็น“ผู้นำ”ในแบบของตนเองอย่างสมบูรณ์ แต่หากผู้เขียนเลี่ยงไม่นำเรื่องความเป็นผู้นำ นี้มากล่าวถึงในช่วงเวลาเช่นนี้แล้ว จะทำให้ท่านผู้อ่านทุกท่านพลาดจากประเด็นเนื้อหาที่มีความสำคัญกับการบริหารจัดการองค์กรบนสถานการณ์วิกฤติ โดยผู้เขียนได้เล็งเห็นและคำนึงถึงความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการองค์กรด้วยการใช้ความเป็นผู้นำ ซึ่งตัว “ผู้นำ” ควรประพฤติตนและปฏิบัติตนเองอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อที่จะนำพาให้องค์กร (ประเทศชาติ) ให้อยู่รอดปลอดภัย จากวิกฤตของการระบาดของโรคร้ายที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหนักในปัจจุบัน และหากผู้เขียนไม่นำเสนอเนื้อเรื่องในประเด็นนี้ก็เท่ากับว่าผู้เขียนขาดการนำเสนอ เนื้อหาสาระ ความรู้ที่จำเป็นกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ในแบบการสร้างองค์ความรู้ที่ต่อเนื่องของเนี้อหาอันมีความสำคัญในการบริหารจัดการองค์กรให้ประสบความสำเร็จในช่วงวิกฤตเช่นนี้ไปเลยก็ว่าได้
          แล้วเพราะอะไร?  ก็เพราะ...ปัญหาที่เกิดขึ้นมาในองค์กรหรือในประเทศไทย ณ ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่มีขนาดเล็ก (ครอบครัว) หรือองค์กรที่มีขนาดใหญ่ เช่น บริษัทจำกัด (มหาชน) หรือองค์กรระดับประเทศก็ตาม หากขาด “คน” ที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งบริหารสูงสุดที่จะต้องเป็นผู้บริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยเป็นผู้มีคุณสมบัติอย่างครบถ้วน แต่หาก ผู้นำ มีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำองค์กรที่ไม่ครบถ้วน และมานั่งบริหารองค์กรก็อาจจะทำให้องค์กรได้รับความเสียที่ร้ายแรงตามมา อันอาจจะทำให้องค์กรถึงกับล่มสลายไปเลยทีเดียวก็ว่าได้ (ดั่งปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบอยู่) เพราะตัวผู้นำเองขาดซึ่งจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ที่ตนเองพึงปฏิบัติและจะต้องมีอยู่ในจิตวิญญาณของตัวตนของผู้นำ นั่นก็คือการมีความเป็นผู้นำที่ต้องมานำองค์กรด้วยการตัดสินใจในการบริหาร ซึ่งคนที่จะมาเป็นผู้นำของการบริหารจัดการให้แก่องค์กร(ประเทศชาติ)ได้นั้นจะต้องมีสิ่งนี้ติดอยู่ในจิตสำนึกของตนเอง เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการองค์กรหรือประเทศชาติให้รอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤติ โดยมีสาระและมีความสำคัญของการเข้ามานำองค์กร ด้วยการใช้ในการตัดสินใจในประเด็นที่เร่งด่วนและมีความสำคัญต่อความเป็นความตายของบุคลากร หรือประชาชนที่จำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรหรืออุปกรณ์บางอย่างที่เร่งด่วนและมีความจำเป็นจำนวนมาก ในการนี้ ผู้นำบริหารต้องตัดสิอย่างรวดเร็ว เฉียบขาด บนความคิดและวิจารณญาณของผู้บริหารที่จะต้องมีความเด็ดขาดในแบบของตนเอง และตรงไปตรงมา ไม่มีผลประโยชน์ของตนเองหรือผู้หนึ่งผู้ใดมารบกวนในการตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าและเสียหายเกิดได้ โดยผู้นำที่ดีต้องมองและคำนึงถึงเพียงผลประโยชน์ขององค์กรหรือประเทศชาติ กับประชาชน หรือบุคลากรในองค์กรเป็นหลักก่อนเสมอ!! 
          แต่หากผู้นำไม่มีการตัดสินใจในลักษณะดังกล่าว และกลับมีความคิดไปในทางตรงกันข้าม มัวแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองกับผลประโยชน์ของพวกพ้องผู้หนึ่งผู้ใดเอาไว้ก่อน ก็คงยากที่จะนำพาองค์กรหรือประเทศชาติให้รอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ไปได้ หรือพูดกันในแบบง่ายๆ ตรงๆ นั่นก็คือ องค์กรหรือประเทศชาติก็จะได้รับความเสียหายแบบที่ไม่มีใครรอดพ้นจากหายนะในครั้งนี้ไปได้เลย แม้นแต่คนเดียวอย่างแน่นอน เพราะองค์กรขาดผู้นำที่ดี และการที่ใครสักคนจะมาเป็นผู้บริหารองค์กรหรือประเทศชาติได้ ไม่ว่าจะมาด้วยกรรมวิธีหรือลักษณะใดก็ตาม คนคนนั้นจะต้องมีความเข้าใจว่า ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ “ผู้นำ” ที่แท้จริงที่จะต้องปฏิบัติตนหรือทำตนเองอย่างไรให้ได้ใจคนหรือผู้ติดตาม เพื่อจะเรียกขวัญกำลังใจ และความศรัทธาของบุคลากรในองค์กร (ประชาชนในประเทศ) กลับคืนมา
         ...แล้วผู้นำจะต้องทำอย่างไรในการสร้างการร่วมแรงร่วมใจกัน ในการจะรับมือและเอาชนะกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมาในครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นไปได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะนั่นคือภารกิจบนวิกฤตซึ่งไม่ธรรมดาและมีความซับซ้อน ตลอดจนมีความรุนแรงที่ร้ายแรงกว่าภัยพิบัติครั้งอื่นใดที่เคยเกิดขึ้นมาในโลกหรือในประเทศนี้เลย โดย คนที่จะมาเป็นผู้นำในยุคนี้ จะต้องมีแนวความคิดเป็นของตนเองว่า ตนเองและทีมงานจะต้องปฏิบัติกันอย่างไร? ด้วยการทำอะไร? ตรงจุดไหน? ก่อนและหลัง เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย ทั้งทางด้าน สังคม (ครอบครัว/ประชาชน) เศรษฐกิจ และ ความตาย (การสูญเสีย) และจะต้องใช้ความคิดในแง่การรับมือและการป้องกันร่วมไปด้วยกัน...อย่างไร? การวางแผนในทางปฏิบัติจะต้องลงในรายละเอียดแบบไหน? ใช้หลักการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นอย่างไร? โดยมีปัจจัยพื้นฐานของมูลเหตุและต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นมา ด้วยการขจัดความซับซ้อนและสร้างโคร่งข่ายในการรับมืออย่างเป็นระบบ โดยมีลำดับขั้นตอนวิธีปฏิบัติให้สอดรับกันทั้งระบบ และไม่มีหรือสร้างผลกระทบกับข้อขัดแย้งใดๆ ให้เกิดเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน พร้อมกับการดำเนินการบริหารจัดการด้วยการออกคำสั่งการให้หน่วยงานและบุคลากรไปปฏิบัติงานร่วมกันด้วยความมุ่งมั่น ศรัทธา อย่างตรงไปตรงมาและเด็ดขาดรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ให้ตรงกับส่วนงานที่มีปัญหาเพื่อที่จะทำให้องค์กรหรือประเทศชาติเคลื่อนที่เดินหน้าต่อไปได้ตามแผนงานที่ได้วางเอาไว้และรอดพ้นจากวิกฤตบนสถานการณ์ที่เลวร้าย พร้อมกับกำกับดูแลให้ทุกส่วนงานมีการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าร่วมกัน ตามแผนงานที่ได้มีการกำหนดและออกแบบเอาไว้แล้วอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ท่านผู้อ่านลองมาดูกันว่า ลักษณะ“ผู้นำ” แบบไหนที่ท่านควรจะมีหรือที่ตัวท่านเองอาจจะกำลังเป็นอยู่..หรือได้รับบทบาท “ผู้นำ” นี้อยู่แล้วในปัจจุบัน ลองมาดูกันครับว่าตัวท่านเองหรือ             ผู้นำของท่านจะมีคุณสมบัติและวิธีคิดในทางปฏิบัติเป็นเช่นใด ดังต่อไปนี้
         1. ผู้นำที่มาบริหารจัดการองค์กรจะต้องทราบว่า ท่านคือผู้ที่จะต้องมานำพาองค์กรให้ขับเคลื่อนต่อไป หรือพูดอีกอย่างก็คือ ท่านเป็นผู้นำองค์กรที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการองค์กรให้เจริญก้าวหน้า เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยการให้ความร่วมมือและสนับสนุนทีมงานหรือพนักงานผู้ปฏิบัติงานให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในทางปฏิบัติ ด้วยการสั่งการ บังคับบัญชา และติดตามงาน ตามที่ได้สั่งการหรือได้มอบหมายออกไป โดยมีขั้นตอนของกระบวนการในการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องเหมาะสมกับฟังก์ชันงานที่มีโครงสร้างงานกำหนดและมอบหมายเอาไว้แล้วให้แก่หน่วยงานภายในได้ประสานกับหน่วยงานภายนอกที่ต้องดำเนินงานร่วมกัน ให้เกิดความสอดคล้องประสมประสาน ลดการขัดแย้ง เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้มีการกำหนดและวางแผนงานเอาไว้ล่วงหน้า โดยหากมีข้อขัดแย้งก็สามารถเข้าถึงและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยทำการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งและแก้ไขให้ได้ผลสรุปในทางปฏิบัติที่ดีและรวดเร็วเพื่อส่งผลกระทบต่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้ตามอำนาจและหน้าที่ของผู้นำ
        2. ผู้นำที่จะมาบริหารงานจะต้องมีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการงานในองค์กรมาก่อน โดยสามารถอ่าน คิด วิเคราะห์ หรือคาดการณ์สถานการณ์ได้ล่วงหน้าอย่างใกล้เคียงและแม่นยำที่สุด ตลอดจน จะต้องมีความสามารถเฉพาะตัวในการคิด วิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาและต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นมาในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว จากกระบวนการคิด ทักษะและประสบการณ์ที่สะสมมาว่า องค์กรมีปัญหามาจากสาเหตุของปัญหาที่มีต้นตอมาจากอะไร? จะได้เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับสาเหตุนั้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อองค์กรหรือทำให้องค์ก็ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ไม่ว่าผลกระทบนั้นจะเป็นผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบ ก็จะสามารถรับมือได้ หากผู้นำมีความสามารถในการเข้าถึงและเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ด้วยการปฏิบัติและลงงานมือทำด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอการรายงานเท็จหรือการรายงานแบบฟ้องเพื่อประจบสอพลอ ควบคู่กับการเอาข้อมูลเท็จมารายงานผสมไปด้วยความอิจฉาริษยาที่มีปะปนมาแบบไม่ได้เห็นปัญหานั้นด้วยตาตนเอง กอปรกับผู้นำต้องมีความสามารถในการสร้างทีมงานและบริหารทีมให้มีศักยภาพ ไว้ใจได้ โดยให้การสนับสนุนและพัฒนาทรัพยากร บุคคล ที่มีอยู่ในองค์กร ด้วยการฝึกฝนอบรมและพัฒนาศักยภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจในด้านความคิด/ความสามารถ ที่สร้างให้รู้จักและศรัทธาในการปฏิบัติงานอย่างเสียสละและอดทนกับความยึดมั่นในองค์กรของตนเอง โดยผู้นำจะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนต่อการแก้ไขปัญหาในทุกประเด็นที่เกิดขึ้นมาร่วมกันอย่างเป็นระบบในแบบบูรณาการทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่ในองค์กรร่วมกัน (สร้างทีมเวิร์ก) ตลอดไป
        3. ผู้นำองค์กรจะต้องสร้างความร่วมมือในทางปฏิบัติด้วยความเต็มใจให้เกิดขึ้นมาในจิตใจของตัวพนักงานเอง (ประชาชน) โดยไม่ขัดขืน ดื้อดึง และไม่มีเงื่อนไขในการปฏิบัติงาน ปฏิบัติด้วยร่างกายและจิตใจที่มีความมุ่งมั่นในการทำให้สำเร็จตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยให้มีและเกิดขึ้นมาภายใต้จิตสำนึกของความรักษ์องค์กรของตนเองที่ในตัวตนพนักงานและทีมงาน โดยการสร้างและการปลูกฝังให้พนักงาน (ประชาชน) รักษ์องค์กร (ประเทศชาติ) ให้เกิดขึ้นมาภายในจิตใจหรือจิตสำนึกของผู้ปฏิบัติงาน (ประชาชน) ทุกคน ในการร่วมยึดมั่นและถือปฏิบัติตนเองตามหน้าที่ของตนด้วย ศรัทธา ซื่อสัตย์ ขยัน และอดทน เพื่อให้งานสำเร็จด้วยความร่วมแรงร่วมใจและมือกันที่จะขับเคลื่อน นำพาองค์กร (ประเทศ) ให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้ โดยไม่ย่อท้อต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมารอบข้าง อันจะส่งผลกระทบต่อจิตใจที่จะทำให้เกิดการอ่อนล้า ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเททั้งกายและใจให้องค์กร (ประเทศชาติ) อย่างเดียวตลอดไป
        4. ผู้นำจะต้องแสดงตนเองให้ผู้ร่วมปฏิบัติงาน (พนักงาน/ประชาชน) ได้ประจักษ์ถึงซึ่งความฉลาดหลักแหลม พร้อมความสามารถและความเสียสละจนทำให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธาในความเป็นผู้นำของผู้บริหารองค์กรที่เข้ามานำพาองค์กรด้วยวิธีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ซึ่งจะนำพาองค์กรให้อยู่รอดปลอดภัยและประสบความสำเร็จได้ด้วยการแสดงออกในทางปฏิบัติของตนเองให้เป็นตัวอย่างในสิ่งที่ดีงาม อันจะทำให้พนักงาน (ประชาชน) ทุกคนในองค์กร ได้เห็นถึงคุณงามความดีของผู้นำในการทุ่มเท เสียสละ ซื่อสัตย์ และอดทนต่อองค์กร ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำที่ไม่ยอมแพ้หรือท้อถอยต่ออุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา จนทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปด้วยความคิดที่ฉลาดหลักแหลมในการรับมือกับปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาทั้งในระยะสั้น (เฉพาะหน้า) หรือในระยะยาวอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ขององค์กรหรือประเทศชาติเป็นหลัก และต้องคำนึงถึงผู้ร่วมปฏิบัติงาน คือพนักงานหรือประชาชน มากกว่าผลประโยชน์อื่นใดของตนเองหรือพวกพ้อง เพราะหากองค์กรอยู่รอดปลอดภัยกันทุกคนในองค์กรหรือประเทศชาติก็จะทำให้ทุกคนอยู่ดีมีความสุขไปด้วยกันทั้งนั้น 
       ดังนั้น ผู้นำองค์กรที่ฉลาดและเก่งจะต้องเริ่มทำในสิ่งนี้เป็นสิ่งแรกเมื่อตนเองเข้ามารับตำแหน่ง นั้นก็คือการมีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยความขยันและอดทนในการไม่ประพฤติตนในลักษณะที่มองแต่ผลประโยชน์ที่พึงจะได้ของตนเองหรือพวกพ้องเท่านั้น โดยการได้ลงมือปฏิบัติงานเพื่อเป็นตัวอย่างในหน้าที่ของตนเอง เช่น อย่าหูเบา ฟังแต่รายงานหรืออ่านรายงานเท็จที่ส่งมาเพียงอย่างเดียว จะต้องมีและใช้วิจารณญาณของตนเองอย่างชาญฉลาดและรู้เท่าทันคน ด้วยการสังเกตข้อสังเกตในสิ่งผิดปกติของการรายงาน โดยลงมือทำ ให้เห็นการปฏิบัติที่แท้จริงในแบบเข้าถึงและเข้าใจ กับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตนเองพร้อมการแก้ไขหรือนำพาองค์กรหรือประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ไป ด้วยการทำให้องค์กร (ประเทศ) ประสบความสำเร็จสืบไปด้วยฝีมือของตนเอง
      สำหรับเรื่องราวของผู้นำกับการบริหารจัดการองค์กร...ณ เวลานี้ ผู้เขียนขอจบในส่วนของตอนแรกไว้เพียงเท่านี้ สำหรับตอนหน้า เนื้อหาจะเป็นอย่างไร ขอให้ท่านผู้อ่าน (โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้บริหาร) โปรดติดตามอ่านต่อฉบับหน้า เนื่องจากประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านอย่างยิ่ง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

Top 5 Contents