กำลังโหลด...

×



HRM / HRD มาตรา75 จ่าย75% มันใช่เหรอ? กับ “เหตุสุดวิสัย” ของ...

magazine image
HRM / HRD

มาตรา75 จ่าย75% มันใช่เหรอ? กับ “เหตุสุดวิสัย” ของมาตรา75 พัวพันกับประกันสังคมกรณีว่างงาน ตีความอย่างไร

กฤษฎ์ อุทัยรัตน์

24 กุมภาพันธ์ 2565

           มีประเด็นว่า มาตรา75 จ่าย75% มันใช่เหรอ? กับ “เหตุสุดวิสัย” ของมาตรา 75 พัวพันกับประกันสังคมกรณีว่างงาน มีให้เยียวยา ด้วยอิทธิฤทธิ์แผลงเขาของ “โควิด-19” ขวิดให้ชวนสงสารลูกจ้างทั่วประเทศไทย มาทำความเข้าใจกันครับ
ก่อนอื่นเลยขอบอกว่า ห้ามใช้ พคร. มาตรา75 สั่งหยุดกิจการชั่วคราวแบบซี้ซั้ว มักง่าย แล้วจ่าย 75% นะครับ เพราะนอกจากลูกจ้างจะได้หยุดฟรี ๆ แล้ว จะได้เงินเดือนค่าจ้างเต็มจำนวนเหมือนเดิมอีก มันใช้กันไม่ได้ ครั้นจะอ้างเหตุสุดวิสัยก็ไม่ได้ด้วย มันสีข้างเจ้าถูเกินไป อ่านกฎหมายดี ๆ เค้าเขียนว่า... 
           “ในกรณีที่นายจ้างมีความจําเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สําคัญ อันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทําให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งมิใช่ “เหตุสุดวิสัย” ต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงิน (ไม่ได้บอกว่าค่าจ้างนะ) ให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 (75%) ของค่าจ้าง ในวันทํางานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทํางาน (วรรค1) ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือ ก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 3 วันทําการ” (วรรค 2) 
            ฉะนั้น ต่อให้สถานการณ์มันร้ายแรง ถ้ามันไม่ใช่ความจำเป็นที่เป็นสาเหตุสำคัญถึงขนาดส่งผลกระทบต่อธุรกิจ หรือกิจการของนายจ้าง ก็จะไม่เข้ามาตรา75 ที่ว่าไว้เลย คือ คุณก็ต้องจ่าย100% อยู่ดี เว้นแต่ถ้าเป็นกิจการโรงพยาบาล (เป็นนายจ้าง) ถ้าหมอ พยาบาลติดเชื้อ ใครจะมารักษาอย่างนี้ กระเทือนเห็น ๆ หรือธุรกิจของนายจ้างมีผลกระทบในช่วงของการระบาด จนไม่สามารถที่จะขายของได้ ผลิต หรือให้บริการไม่ได้บางส่วนหรือทั้งหมด อย่างนี้ถือว่าชัดเจนครับ ใช้มาตรา 75 ได้เลย คือต้องจ่าย75% และถ้าพิสูจน์ให้ได้ว่าโควิด-19 พ่นพิษ ทำให้พนักงานติดงอมแงม จนเป็น Covid land ไม่มีใครสามารถมาทำงานได้ เป็นสถานที่ระบาดของโรคไปแล้ว จะกลายเป็น “เหตุสุดวิสัย” ขึ้นได้ทันที ไม่ต้องจ่ายสักบาทได้เลยทีเดียวครับ
            เอาล่ะ! ให้ตามติดดี ๆ เพราะประกันสังคมแก้มาตรา 79/1 (สิทธิเฉพาะลูกจ้างผู้อยู่ในระบบ ประกันสังคม ตามมาตรา 33 นะ) เรื่อง กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ... เราก็นำมาอ้างอิงลิงค์เข้ากับ พคร. มาตรา 75 ได้ครับ ถือได้ว่าพัวพันกัน แต่ต้องเขียน “เหตุสุดวิสัย” ให้เป็น ให้ดี ต้องสุดวิสัยจริง ๆ ด้วยครับ ตรงนี้สิยากมาก ต้องเป็นแนวยกตัวอย่างเหมือนเดิม ๆ ที่กฎหมายประกันสังคมเคยเขียนไว้ แต่ขยายขอบเขตของตัวอย่างนั้นออกไปอีก ซึ่งต้องเขียนแล้วไม่ถูกต่อต้านว่า ทำให้นิยามเพี้ยนได้นะครับ เดี๋ยวหลักกฎหมายจะเสื่อมเสีย สั่นคลอนได้ เดี๋ยวจะเล่าและวิเคราะห์ให้ฟังในลำดับถัดไปครับ
            ถ้าเราดูจากสถานการณ์จริง ๆ อย่างตอนนี้ แม้ว่ามีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังเอามาอ้างว่าสุดวิสัยยังไม่ได้ ถ้าระบาดนั้นไม่เข้าไปวุ่นวายโกลาหลในสถานประกอบการ ดังนั้น ต้องระบาดเข้าไปก่อน (โหดพอควร คือป้องกันไม่ไหวแล้ว กรุงแตกแล้ว เอาไม่อยู่ทำนองนั้น) จึงจะเข้าข่าย “เหตุสุดวิสัย” ได้ทำให้นายจ้างต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่ให้ระวังว่าต้องไม่ใช่ทำเพื่อลดความเสี่ยงการติดโรค ลดค่าใช้จ่าย อย่างนั้นไม่ใช่เหตุสุดวิสัยนะครับ นี่แหละความยากของการตีความ “เหตุสุดวิสัย” ล่ะ
            “เหตุสุดวิสัย” จึงต้องตีความละเอียดละออตามข้อเท็จจริงและสถานการณ์ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของฅนอื่นในแบบกะทันหัน หรือมีเหตุการณ์ฉับพลันซึ่งไม่อาจป้องกัน หรือโดยไม่อาจบังคับมิให้เกิดเหตุขึ้นได้ หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงมิให้พบเจอเหตุดังกล่าวได้ อย่างการแพร่ระบาดที่ถึงตัว ถึงสถานประกอบการ แต่ระบาดจริง หากยังไม่ถึงสถานประกอบการ เรายังป้องกันได้ เลี่ยงได้ อย่าง “โควิด-19” เนี่ย จริง ๆ เราป้องกันได้นี่ เช่น กินร้อน ช้อนกู แยกหมู่ ดูอาการ หมั่นเช็ดล้าง ร้าง 1-2 เมตร เข็ดดราม่า หาความจริง ฉะนั้น ต่อให้เป็นโรคระบาดให้ตาย ก็ยังไม่เป็น “เหตุสุดวิสัย” ไปได้ ทุกกรณีจะเหมาไม่ได้ครับ
            ส่วนเหตุพฤติการณ์พิเศษ คือเหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้ไม่อาจทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งได้ในระยะเวลาที่กำหนด หรือจำเป็นต้องรีบดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว ไม่อย่างนั้นเสียหายแก่ตนเอง แบบนี้เป็น “เหตุสุดวิสัย” ยังไม่ถึงขนาดที่จะเป็น “เหตุสุดวิสัย” ไปได้ครับผม 
            ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม มาตรา 79/1 เขียนว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากมี “เหตุสุดวิสัย” หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากมี “เหตุสุดวิสัย” ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง”
            ทั้งนี้ กฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 มีการแก้ไขคำนิยาม “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ธรณีพิบัติ หรือภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ (หมายถึงเจ้าไวรัสไร้เงา “โควิด-19” ในขณะนี้ หรือทำนองแบบนี้ในอนาคต) ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ (แต่ถ้าระบาดของ “โควิด-19” หรือเหตุที่ว่าไว้นั้น นายจ้างยันเอาไว้ได้อยู่ สู้โว้ย ไม่ยอมแพ้ ถือว่านายจ้างยังสามารถประกอบกิจการได้ตามปกตินะ ก็ไม่มีทางเป็น “เหตุสุดวิสัย” นะจ๊ะ
          เห็นยังว่า มีความพัวพันเชื่อมโยงกันถึง 3 กฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (พคร.) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (พปส.) และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (พรต.) กันเลยทีเดียว

          ครับก็ว่ากันโดยสรุป อย่างนี้เลยดีกว่า... 
          1. ถ้านายจ้างยังทำมาหากินได้ แม้ขายไม่ได้ วัตถุดิบไม่มา ก็ย่อมมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการล่ะ ถือว่า เป็น “เหตุในวิสัย” ต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างไป ถ้าให้หยุดทำงาน 75% ตาม พคร. มาตรา 75
          2. ถ้า “โควิด-19” โจมตีจนหมดสภาพ ไม่มีใครมาผลิต มาให้บริการได้อีก ระบาดไปทั่วสถานประกอบการ ถือว่าทำมาหากินไม่ได้ล่ะ ต้องเผ่น ถือว่าเป็น “เหตุสุดวิสัย” นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว ตาม พคร. มาตรา 75 ที่เป็นข้อยกเว้นครับ แต่ลูกจ้างเดือดร้อนไง ก็น่าเห็นใจ กรณีนี้จะได้รับการเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม เป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตรา 62% *ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกิน 180 วัน (~6 เดือน) ตาม พปส. มาตรา 79/1 
          3. ถ้านายจ้างถูกคำสั่งให้หยุดประกอบการ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว อันนี้ตามหลักสัญญาต่างตอบแทน no work no pay แต่ลูกจ้างจะได้รับการเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคมแทนครับ โดยได้รับเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกิน 90 วัน (~3 เดือน) ตาม พปส. มาตรา 79/1 ครับผม

Top 5 Contents