
He who wills the end, wills the means. ผู้ปรารถนาเป้าหมายปลายทาง ย่อมพยายามทุกวิถีทาง
24 กุมภาพันธ์ 2565
ประชากรโลก 7,000 ล้านคนทุกวันนี้ กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายของดาวนพเคราะห์ที่ชื่อว่า “โลก” อันเนื่องมาจากน้ำมือมนุษย์หรือชาวโลกเอง นั่นคือ ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ที่ขาดความสมดุลมานานร่วมร้อยปี จนกระทั่งอุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยที่มีค่าประมาณ 15 องศาเซลเซียสต้องเพิ่มขึ้นทุกปี จนเป็นเหตุให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปะการังถูกทำลายมากขึ้น ความแห้งแล้งและไฟป่ามากขึ้น พายุฝนและคลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น ความแปรปรวนในตอนกลางวันที่ร้อนจัดขึ้น ในตอนกลางคืนหนาวจัดขึ้น ซึ่งล้วนส่งผลให้ระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึงจุดอันตราย
ในที่สุด เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เราต้องขอบคุณนักวิทยาศาสตร์กว่าหมื่นคน ที่รวมพลังกันและประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ (Climate Emergency) ว่าหากมนุษย์เรายังคงปล่อยหรือไม่ลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ซึ่งได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ฯลฯ โลกจะต้องเผชิญกับความหายนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นทำให้เกิดข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาคมโลกต้องควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
....และล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมศกนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอีกครั้งที่เกิด “การประชุม COP 26” ขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ มีการปลุกกระแสจิตสำนึกให้ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจร่วมมือกันแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกให้จริงจังขึ้น โดยหวังว่าประชาคมโลกจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และร่วมกันทุกวิถีทางคลี่คลายปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปด้วยดี ดังคำคมข้างต้นที่ว่า “ผู้ปรารถนาเป้าหมายปลายทางย่อมพยายามทุกวิถีทาง”
เรากลับมาที่คำถามของท่านผู้อ่านที่ส่งเข้ามาถามกันเถิด
คำถามแรก
ลูกน้องอาวุโสกว่า
“ผมชื่อพิเชษฐ์ครับ เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ในธุรกิจบริการแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มากว่า 3 ปี บริษัทมีสาขากว่า 10 แห่ง เป็นธุรกิจที่มั่นคงมายาวนานกว่า 30 ปี ผมมีลูกน้อง 50 คน กระจายอยู่ในสาขาต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ พนักงานมีความจงรักภักดีค่อนข้างสูงต่อเจ้าของกิจการ ปัญหาที่ผมกำลังประสบ คือ สิ่งที่ผมตัดสินใจสั่งการไปแล้ว หากเจ้าของไม่เห็นด้วย เขาจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งของผมโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ผมทราบล่วงหน้า มันทำให้ผมดูขาดความน่าเชื่อถือ หรือกลายเป็นตัวตลกในสายตาของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่นานและอายุมากกว่าผม เริ่มแสดงท่าทีแข็งข้อกับผมมากขึ้น ผมรู้สึกหนักใจและครุ่นคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ตรงจุด ไม่ปะทะกับเจ้าของกิจการมากเกินไป หากอาจารย์พอจะอนุเคราะห์ช่วยชี้แนะทางออกให้ได้ ผมจะขอบพระคุณยิ่ง”
คำตอบ
ผมขอให้กำลังใจและขอให้คุณพิเชษฐ์ค่อย ๆ แก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนครับ... ผมขอแยกปัญหาที่คุณรู้สึกหนักใจออกเป็น 2 ประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก ปัญหาที่เจ้าของเปลี่ยนแปลงคำสั่งของคุณโดยไม่บอกกล่าวคุณ ผมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่คุณจะต้องพูดคุยกับเขาเพื่อปรับวิธีการทำงานร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยดังนี้
ก) รวบรวมประเด็น หรือเรื่องที่เจ้าของเปลี่ยนแปลงและขอความเห็นจากลูกน้อง ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเพียงใด พร้อมเหตุผล
ข) นัดหมายขอพูดคุยกับเจ้าของ เพื่อเคลียร์วิธีการทำงานร่วมกัน
ค) ชี้แจงและยกตัวอย่างแต่ละเรื่องที่เป็นปัญหา พร้อมอ้างอิงความเห็นของพนักงานที่ได้รวบรวมมา
ง) พูดคุยและแสดงความเห็นด้วยความสุภาพ และนอบน้อมกับเจ้าของ
จ) กรณีที่เห็นด้วยกับเจ้าของ ให้กล่าวคำขอโทษพร้อมกับขอบคุณที่เขาเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ที่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
ฉ) กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับเจ้าของ พยายามชี้แจงเหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนั้น พร้อมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงโดยอ้างอิงความเห็นของลูกน้องที่สนับสนุนวิธีการของคุณ หลังชี้แจง ควรตบท้ายด้วยคำว่า “ผมขอให้พี่ชี้แนะอีกครั้ง ว่าผมควรจะทำอย่างไร” ถ้าเขายอมเปลี่ยนแปลง คุณต้องนอบน้อมขอบคุณ แต่ถ้าเขายังยืนกรานความเห็นของเขาพร้อมย้ำเหตุผลเดิม คุณจะต้องน้อมรับตามทิศทางของเขาโดยดุษฎี
ประเด็นที่สอง ลูกน้องเริ่มขาดศรัทธาในตัวคุณ คุณควรแก้ไขเป็นขั้นเป็นตอนดังนี้
ก) ขอเรียกประชุมพนักงานทั้งหมดกับเจ้าของ และขอให้เจ้าของพูดถึงสิ่งที่ได้เคลียร์กันไปแล้ว เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน หากเจ้าของกล่าวชื่นชมคุณ มันจะเป็นผลดีต่อคุณในการสร้างการยอมรับจากพนักงานมากขึ้น
ข) แสดงความขอบคุณเจ้าของและลูกน้อง ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงใจ
ค) ฝึกฝนภาวะผู้นำให้มากขึ้น เช่น เรียกประชุมเป็นทางการกับลูกน้องทุกสัปดาห์ พัฒนาการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ เป็นบุคคลต้นแบบในทุกด้าน (เช่น การตรงต่อเวลา การรักษาคำพูด) เป็นต้น
ง) พัฒนาทักษะผู้จัดการในหลาย ๆ ด้าน เช่น ฝึกฝน POSCORB ของ Luther Gulick และ Lymdall Urwick ดังนี้
P = Planning การวางแผน O = Organizing การจัดองค์การ
S = Staffing การจัดกำลังคน D = Directing การอำนวยการ
CO = Co-ordinating การประสานงาน R = Reporting การรายงาน
B = Budgeting งบประมาณ
นอกจากนี้ ผมมีเรื่องเล่าสั้น ๆ ของปีเตอร์ ดรักเกอร์ เจ้าพ่อด้านการบริหารมาฝากท้ายดังนี้
ขณะที่ชาย 3 คน กำลังขมักเขม้นอยู่กับการตัดก้อนหินขนาดใหญ่ ก็มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งเดินเข้ามาหาแล้วถามว่า “พวกคุณกำลังทำอะไรกันอยู่?”
ชายทั้งสามเงยหน้า แล้วให้คำตอบที่แตกต่างกัน ดังนี้
* ชายคนแรก : ฉันกำลังทำมาหาเลี้ยงชีพ
* ชายคนที่สอง : ฉันกำลังทำงานตัดหินที่ดีที่สุดในเมืองนี้
* ชายคนที่สาม : ฉันกำลังสร้างโบสถ์ที่งดงามและยิ่งใหญ่
คำพูดของชายทั้งสามสะท้อนได้ว่า ชายคนที่ 1 คือ ผู้ใช้แรงงาน ชายคนที่ 2 คือ หัวหน้างาน ส่วนชายคนที่ 3 คือ ผู้จัดการตัวจริง ที่สามารถมองภาพใหญ่ของงานได้ชัดเจน
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณพิเชษฐ์จะนำข้อมูลข้างต้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นแง่คิดไปปรับปรุงตนเองให้มีทักษะและมีลูกล่อลูกชนในฐานะผู้จัดการมืออาชีพ ที่ประสบความสำเร็จในที่สุด
คำถามที่สอง
ข้อเท็จจริงกับความจริง
“ดิฉันชื่อสุจิราค่ะ เป็นหัวหน้างานทรัพยากรบุคคล ในบริษัทขนาดกลางแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก ดิฉันกำลังเรียนรู้จากผู้จัดการทรัพยากรบุคคลในแง่หลักคิดและการปฏิบัติจริง ดิฉันมีประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงกับผู้จัดการฯ ว่า ‘ระหว่างข้อเท็จจริงกับความจริง อะไรจะจริงกว่ากัน?’ ผู้จัดการฯ ยืนยันว่าความจริงเป็นสิ่งที่แท้จริงและยั่งยืนกว่าข้อเท็จจริง ในขณะที่ดิฉันเชื่อมั่นว่าเรื่องจริงเป็นรูปธรรมกว่า และสามารถสัมผัสได้ ยกตัวอย่างเช่น มันเป็นข้อเท็จจริงว่าเราสัมผัสได้ ว่าเปลวไฟมันร้อนจริง เป็นเหตุการณ์จริงและพิสูจน์ได้ ในขณะที่ความจริงเป็นเพียงนามธรรมหรือความคิดที่เชื่อว่าเปลวไฟมันร้อน ดิฉันขอรบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้กระจ่างด้วยค่ะ”
คำตอบ
ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของแต่ละคำกันก่อน
ข้อเท็จจริง คือ ข้อมูล ข้อความ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือที่เป็นอยู่ตามจริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่วินิจฉัยแล้วว่าเป็นจริง
ความจริง คือ สภาวะหรือคุณภาพที่เป็นจริง เช่น ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ
ดูเหมือนว่า คำว่า “ข้อเท็จงจริง” หรือ “ความจริง” เกือบจะเป็นเรื่องเดียวกัน เรามาลองพิจารณาตัวอย่างข้างท้ายนี้
ก) ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ภรรยาฟ้องแม่สามีว่าขณะที่เธอกำลังนั่งดื่มกาแฟกับเพื่อน ๆ ในร้านคาเฟ่แห่งหนึ่ง เธอเหลือบไปเห็นสามีของเธอเดินคลอเคลียมากับหญิงสาวคนหนึ่งด้วยท่าทีที่สนิทสนม และเดินผ่านร้านที่เธอนั่งอยู่เมื่อประมาณ 5 โมงเย็นที่ผ่านมา สามีโต้แย้งว่ามันไม่ใช่ “ความจริง” ที่ว่าคลอเคลียกัน เพราะผู้หญิงที่เห็นนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องที่ไม่ได้พบกันมานาน เขาเผอิญพบกันบริเวณหน้าศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง เขาจึงชวนเธอไปที่ร้านอาหารใกล้ ๆ ร้านคาเฟ่ที่ภรรยานั่งอยู่... เช่นที่ว่ามานี้ ท่านคิดว่าอะไรจะจริงกว่ากัน ระหว่าง “ข้อเท็จจริง” กับ “ความจริง”?
ข) ศาลได้พิพากษาตามข้อเท็จจริง ตามที่ทนายความยื่นมา แต่ในที่สุดศาลได้กลับคำพิพากษาเดิมภายหลังความจริงได้ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา
ค) ความจริงก็คือ ข้อเท็จจริงที่ได้มานั้นไม่เป็นความจริง และทำให้ภรรยาของเขาเข้าใจผิด
โดยสรุป จากตัวอย่างข้างต้น ข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะความเข้าใจหรือบริบทที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ความจริงนั้นเป็นจริงกว่า เพราะเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ขึ้นกับกาลเวลา หรืออีกนัยหนึ่ง ความจริงย่อมเป็นอมตะนั่นเอง
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณสุจิราจะเข้าใจในสิ่งที่ผมอธิบายข้างต้น และสามารถนำไปเปรียบเทียบกับเหตุผลของผู้จัดการฯ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
คำถามสุดท้าย
หัวหน้าใจดี
“ผมชื่อศิริครับ เป็นบัณฑิตจบใหม่ ที่เพิ่งใช้ชีวิตการทำงานในแผนกทรัพยากรบุคคล ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ไม่ถึงหนึ่งปี ที่นี่เป็นสำนักงานที่มีพนักงานเก่าแก่จำนวนหนึ่งที่วางตัวเป็นพี่ใหญ่ ทำงานแบบสบาย ๆ ไม่ค่อยมีผลงาน และทำตนไม่ค่อยน่านับถือ ตัวอย่างเช่น ชอบโยนงานให้น้อง ทำตัวเอาหน้า ไม่ค่อยพัฒนา ชอบนินทาว่าร้าย เห็นแก่ตัว เป็นต้น ผมสังเกตว่ากรรมการผู้จัดการใจดีมาก และให้เกียรติลูกน้องรวมทั้งตัวผม ผมไม่แน่ใจว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเกินไปหรือไม่ ผมขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำให้ผมปรับตัวด้วยครับ”
คำตอบ
ก่อนอื่นผมขอแสดงความยินดีกับคุณศิริ ที่ได้งานทำในช่วงโควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่ ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งยังตกงานและต้องหันเหไปทำงานอื่นที่ไม่ตรงกับสาขาที่จบมา ผมขอชื่นชมที่คุณเป็นคนช่างสังเกต และสามารถสรุปพฤติกรรมของพี่ ๆ ได้ชัดเจนระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนทำงานจะต้องปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น ให้ความร่วมมือเพื่อการทำงานร่วมกัน แสดงน้ำใจต่อกัน แม้จะมีปัญหาก็ยังยิ้มได้ ที่สำคัญ หากคุณศิริสามารถฝึกมองโลกในแง่บวกให้มากขึ้น คุณก็จะเป็นขวัญใจของพี่ ๆ และประสบความสำเร็จได้ในที่สุด ...ผมขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผู้คนมีน้ำใจต่อกันดังนี้
วันนั้นฝนตกพรำ ๆ น้องนักเรียนคนหนึ่งจึงนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านตามที่แม่ของเขาแนะนำ เขานั่งไปเล่นมือถือไปตลอดทาง ปรากฏว่าลุงโชเฟอร์ขับไปผิดที่และต้องอ้อมกลับ นอกจากจะเสียเวลาแล้ว น้องยังต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น น้องทำหน้าผิดหวังใส่ลุงโชเฟอร์ขณะนั่งย้อนกลับ เมื่อถึงบ้าน ลุงโชเฟอร์คิดเงินน้องเพียงครึ่งหนึ่งของราคาตามมิเตอร์ พร้อมกับกล่าวขอโทษอย่างจริงจังว่าไม่ได้ตั้งใจที่พาไปผิดทาง และรู้สึกเสียใจที่ทำให้น้องหงุดหงิดและเสียเวลา ปรากฏว่าน้องนักเรียนกลับเพิ่มเงินเต็มค่าโดยสารให้ด้วยความเต็มใจ และเห็นใจลุงโชเฟอร์ ลุงยิ้มอย่างมีความสุขและขอบคุณจากใจจริงอีกครั้ง
……….กรณีข้างต้น เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า หากเรารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นอกเห็นใจกัน บรรยากาศแห่งมิตรภาพก็จะแบ่งบาน การทำงานร่วมกันด้วยใจก็จะตามมาอย่างแน่นอน ยิ่งกรรมการผู้จัดการใจดีมาก ผมว่าพนักงานโชคดีมาก ๆ ขอให้คุณศิริน้องใหม่พยายามปรับตัวให้ได้ แล้วคุณจะทำงานอย่างมีความสุขและสนุกกับการทำงานมากขึ้น... ขอลงท้ายด้วยบทกลอนน้ำใจเพื่อเป็นกำลังใจแก่คุณศิริอีกครั้ง
อันน้ำใจไมตรีมีต่อกัน เป็นพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่
ขอความดีความงามความจริงใจ เป็นความสุขแก่ศิริยั่งยืนเทอญ
เรื่องคนใครว่ายาก ท่านว่า “เมื่อปรารถนาอย่ามักง่าย เมื่อทำการอย่าถดถอย” กล่าวคือ เมื่ออยากได้ใคร่มี หรือปรารถนาใด ๆ จงอย่าสักแต่มุ่งมั่นแสวงหาตามอำเภอใจ มักง่าย หรือเห็นแก่ตัว มิฉะนั้น เราจะจมปรักและถลำลึกลงเหว ...และเมื่อคิดอ่านจะทำการสิ่งใด จงมุ่งมั่นและจริงจัง อย่าหดหู่ ท้อถอย หรือกลัวความยากลำบาก มิฉะนั้น มันจะเป็นเหตุให้เรายิ่งห่างไกลจากความสำเร็จนั้น
ข้อคิดส่งท้าย
The eyes are the window of the soul.
ดวงตา คือหน้าต่างของหัวใจ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ