กำลังโหลด...

×



HRM / HRD อยู่รอดทุกวิกฤต ด้วยกรอบคิดแบบเติบโต (Growth Minds...

magazine image
HRM / HRD

อยู่รอดทุกวิกฤต ด้วยกรอบคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

            สวัสดีปีใหม่ครับผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน สำหรับบทความในตอนที่แล้วเราได้เรียนรู้เรื่องราวของการเปลี่ยนคนล้มเหลวให้ประสบความสำเร็จ ด้วยการลงมือทำกันไปแล้วนะครับ สำหรับบทความในตอนนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการปรับตัวของคนในยุค Next Normal เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เรามาอ่านกันเลยนะครับ 
 

            ณ ห้องประชุมของบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์แห่งหนึ่ง เวลาเกือบๆ จะบ่ายสอง ซึ่งเป็นเวลานัดประชุมประจำสัปดาห์ของบริษัท สำหรับหัวข้อการประชุมในวันนี้ก็คือ การปรับระบบงานใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ Next Normal เมื่อทุกคนที่เกี่ยวข้องมาตามนัดเรียบร้อยแล้ว ผู้จัดการโรงงานก็เริ่มประชุมทันที  
           “สวัสดีครับทุกคน ขอขอบคุณผู้จัดการทุกท่านที่เข้ามาร่วมประชุมในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการประชุมวันนี้ คือ การเตรียมรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่ แบบที่เขาเรียกกันว่า New Normal หรือ Next Normal อะไรนี่ล่ะ พวกเราทุกคนคงได้เห็นข่าวผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินธุรกิจ โลกในยุค Globolization ซึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ผนวกกับการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้เกิดวิกฤตมากเข้าไปอีก ส่งผลกระทบมากมายไปทั้งโลก ซึ่งหนีไม่พ้นทั้งลูกค้าและบริษัทของเรา ดังนั้น ผมได้รับนโยบายมาจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ให้พวกเราปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ 
 

            เอาล่ะ เรื่องสำคัญสองเรื่องที่ผมจะพูดก็คือ เรื่องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ และสอง เรื่องของการปรับระบบการทำงานเข้าสู่รูปแบบใหม่ มาพูดเรื่องแรกก่อนละกัน ตอนนี้บริษัทของเราเริ่มนำ IOT หรือ Internet Of Thing ได้แก่ การใช้อุปกรณ์ตรวจ ติดตามการทำงาน ทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพงาน ซึ่งจะส่งผลทำให้เราสามารถรู้สถานะการทำงานได้ทันเวลา เรียกว่าแบบ Real Time เลย คราวนี้เมื่อเกิดปัญหาอะไร? หรือเกิดความผิดปกติที่ไหนแล้วล่ะก็ เราจะเข้าไปจัดการได้อย่างทันท่วงที ซึ่งผลที่ได้ก็คือ ความเสียหายก็อาจจะเกิดน้อยลงนั่นเอง
           สำหรับข้อที่สอง คือ เราจะทำงานข้าม Cross Functional สายงานมากยิ่งขึ้น โดยการทำงานข้ามสายงานนี้ไม่ได้หมายถึงการที่เราไปก้าวก่ายงานของอีกคนหนึ่งนะ แต่จะเป็นการทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยเราอาจจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน เข้าไปร่วมแก้ไข หรือปรับปรุงงานกับแผนกอื่นๆ มากกว่าเดิม จะไม่ใช่เป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ หรือทำงานแบบแผนกใครแผนกมัน จะไม่มีอีกแล้ว ดังนั้น พวกเราต้องมีความสามัคคีกัน ต้องช่วยเหลือกันมากยิ่งขึ้นนะ ซึ่งรายละเอียดของการทำงาน ผมจะส่งไปทางอีเมล เพื่อพวกเราทุกคนได้ศึกษากันอีกรอบ 
 

           หวังว่าทุกคนคงเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้นะครับ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะได้รับความร่วมมือจากพวกเราทุกคนเป็นอย่างดี โดยผมจะคอยสนับสนุนอย่างเต็มที่ ใครติดขัดอะไร หรือต้องการสิ่งใดเพิ่มเติม บอกผมได้ตลอดเวลา ผมยินดีสนับสนุนเต็มที่” พูดจบ ผู้จัดการโรงงานก็เริ่มอธิบายแผนการดำเนินงานและรายละเอียด รวมไปถึงขั้นตอนการปฏิบัติ จากนั้นทุกคนก็แยกย้ายกันกลับไปทำงาน 
           หลังจากที่ประชุมกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทก็เริ่มทยอยนำอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมไปถึงระบบการปฏิบัติงานใหม่ๆ เข้ามาใช้ในบริษัท โดยเริ่มตั้งแต่แผนกคลังสินค้า ฝ่ายผลิต ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายซ่อมบำรุง ฝ่ายตรวจสอบและประกันคุณภาพ ฝ่ายความปลอดภัย ฝ่ายวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่าย IT และในสำนักงาน ได้แก่ ฝ่ายบุคคล บัญชี จัดซื้อ การเงิน เรียกได้ว่าหมดทุกแผนกนั่นละครับ
 

          หลังจากที่นำระบบต่างๆ เข้ามาใช้แล้ว รูปแบบการทำงานก็เริ่มเปลี่ยนไป คือ พนักงานต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหากับแผนกอื่น ซึ่งโดยปกติแล้วพวกเขาไม่เคยทำมาก่อน ทำให้ความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น พนักงานแต่ละแผนกเริ่มมีการเกี่ยงกันทำงาน การทำงานเริ่มไม่ไหลลื่น ความสัมพันธ์ที่ดีของพนักงานเหมือนก่อนก็ค่อยๆ ลดลง แต่สิ่งที่กลับเพิ่มสูงขึ้น คือ ความขัดแย้งในการทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผู้จัดการโรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ เขาได้ติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานทุกคนแบบเงียบๆ อย่างใกล้ชิด เขาตระหนักดีว่าถ้าไม่ทำอะไรในตอนนี้ ความเสียหายใหญ่อาจจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพื่อยุติปัญหาเหล่านั้น ผู้จัดการโรงานจึงเรียกประชุมกับทีมที่รับผิดชอบในการปรับปรุงงาน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้จัดการ และหัวหน้าแผนกทั้งหมดในโรงงาน โดยในครั้งนี้เขาได้จัดเตรียมการประชุมมาเป็นอย่างดี
แล้ววันประชุมก็มาถึง เมื่อทุกคนมาและนั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว ผู้จัดการโรงงานก็ไม่รอช้า กล่าวเปิดประชุมทันที จากนั้นก็ถามด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า
 

         “เป็นไงบ้างพวกเรา ช่วงนี้หน้าเครียดๆ กันเนอะ สงสัยงานจะยุ่งน่าดูใช่ไหม?” ซึ่งเสียงตอบกลับมาจากพนักงานบางท่าน “เครียดจังครับ” “เหนื่อยมากค่ะ” “ก็พอได้ครับ” “โห!! งานไม่เครียดหรอกครับ แต่เครียดกับระบบใหม่นั่นแหละ” “ถามจริงๆ นี่ระบบจะมาช่วยทำให้เราทำงานเร็วขึ้น หรือทำให้ช้าลง” ซึ่งคำพูดสุดท้ายนี้ทำให้ทุกคนในห้องหัวเราะครืนเลยทีเดียว 
         เมื่อฟังความคิดเห็นของทุกคนแล้ว ผู้จัดการโรงงานก็นำกระดาษที่เตรียมมาแจกให้กับพนักงานคนละ 5 ใบ จากนั้นก็เดินออกไปที่หน้าห้องประชุม แล้วก็เขียนบนกระดานไวท์บอร์ดว่า 
“การทำงานของเราจะมีประสิทธิผลสูงขึ้นเมื่อทำสิ่งนี้ ....................”


         จากนั้น เขาก็อธิบายว่า “ขอเชิญทุกท่านช่วยกันเติมคำในช่องว่างบนกระดาษที่ผมเตรียมมาให้ โดย 1 ใบ ให้เขียนได้ 1 หัวข้อ เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็นำมาส่งให้ผม แล้วก็เชิญกลับไปทำงานต่อได้ โดยผมจะขอนำแนวคิดอันมีคุณค่า และมีประโยชน์ของทุกท่านทั้งหมดไปวิเคราะห์ แล้วขอเวลาผมสักชั่วโมง เดี๋ยวเราค่อยมาคุยกันต่อนะครับ มีใครสงสัยอะไรไหม?” ทุกคนไม่ส่งเสียงอะไร? ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความงง หรือตกใจอะไรก็ไม่ทราบได้ ทุกคนต่างนิ่งเงียบ แล้วก็เขียนสิ่งที่ตนเองคิดเอาไว้ลงบนกระดาษ จากนั้นก็ค่อยๆ ทยอยกันเดินออกจากห้องจนครบทุกคน 
         เมื่อคนสุดท้ายออกจากห้องไปแล้ว ผู้จัดการก็นำกระดาษคำตอบที่ได้รับมาจัดกลุ่มเพื่อหาประเด็นปัญหา และทำการวิเคราะห์หาแนวทางป้องกัน หนึ่งชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผู้จัดการโรงงานก็ขอให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ช่วยประกาศเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาในห้องประชุมอีกครั้ง 
เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมกลับเข้ามาพร้อมหน้าพร้อมตากันแล้ว ผู้จัดการก็ลุกขึ้นเดิน จากนั้นก็วาดรูปบนกระดานไวท์บอรด์อีกครั้ง รูปที่เขาวาดก็คือภาพข้างล่างนี้ครับ
 

          เมื่อทุกคนเห็นภาพที่ผู้จัดการโรงงานวาด ก็หัวเราะกันคิกคัก บางคนก็อมยิ้ม บางคนก็ยักคิ้ว 
         ผู้จัดการเห็นดังนั้นก็เริ่มอธิบายเพื่อขยายความต่อทันทีว่า 
         “เรามาฟังเรื่องเล่ากันสักเรื่องนะ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเพื่อนรักกันมากถึงมากที่สุด 4 คน ตัดสินใจเดินทางไปเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้ที่แสนจะสวยงาม จึงตัดสินใจลงเรือสำราญขนาดยักษ์เพื่อไปเยี่ยมชมเกาะในฝันนั้น เมื่อเรือออกเดินทางมาไม่นานก็เกิดพายุมรสุมถาโถมจนเรือแตก เหลือผู้รอดชีวิตอยู่แค่ 4 คนก็คือ เพื่อนรักทั้งสี่ที่ตะเกียกตะกายเกาะเศษไม้ที่หลุดลอยมาจากเรือ เมื่อทั้งสี่มาถึงเกาะ ก็พยายามเอาตัวรอดด้วยวิถีธรรมชาติ หาจับปลา กินหัวเผือกหัวมันเท่าที่จะหาได้เพื่อประทังชีวิต แต่ด้วยความที่ทั้ง 4 คน เป็นคนมีความรู้ จึงช่วยกันเก็บเศษวัสดุต่างๆ ที่พวกเขาเก็บได้จากชายหาดมาต่อเป็นเรือ เมื่อเรือแห่งความหวังเสร็จสมบูรณ์ก็ช่วยกันจัดเตรียมเสบียงอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของเท่าที่จะเตรียมได้ขึ้นไว้บนเรือ แล้วการเดินทางก็เริ่มขึ้น ชายทั้งสี่ช่วยกันพายเรืออย่างไม่ลดละ จนเรือค่อยๆ ห่างฝั่งไปเรื่อยๆ จนมองไม่เห็นแผ่นดิน เวลาผ่านไป 7 วัน เขาทั้งสี่ยังคงมุ่งมั่นช่วยกันพายไปด้วยความรักและความหวัง ไม่นานพวกเขาก็ต้องตกใจสุดขีดเมื่อพบรูรั่วจนมีน้ำซึมเข้ามาในเรือ แต่ที่ต้องตกใจมากกว่านั้น คือ พวกเขาลืมที่จะจัดเตรียมวัสดุที่จะนำมาอุดรูรั่วนั้นด้วย เมื่อพูดมาถึงจุดนี้ ผู้จัดการโรงงานก็หยุดพูด จากนั้นก็ถามผู้เข้าร่วมประชุมในห้องว่า “รูรั่วพร้อมกันทีเดียว 4 จุด ท่านคิดว่าพวกเขาจะทำยังไงต่อดี เพื่อทำให้ชีวิตรอดไปได้” 
เมื่อถามคำถามจบ ผู้จัดการก็พูดต่อว่า ใครจะตอบดี เวลาผ่านไป 1 นาที มีผู้กล้าอาสาตอบออกมาว่า 
 

        “หนูว่าให้แต่ละคนรับผิดชอบโดยการอุดรูรั่วกันคนละรู แค่นั้นก็จบ” 
        เสียงปรบมือดังรัวๆ หลังจากที่เธอตอบคำถาม 
        “ขอบคุณมากครับ” ผู้จัดการโรงงานตอบรับ จากนั้นเล่าต่อไปว่า “ทั้ง 4 คน ตัดสินใจรับผิดชอบรูรั่วกันคนละรูตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ แต่เจ้ากรรมพี่น้องครับ เกิดปัญหาใหญ่แล้วละครับ เสากระโดงที่ตั้งตรงกลางลำเรือเกิดเอียงตัว โยกไปก็โยกมา คราวนี้จะทำอย่างไรดีล่ะครับ แถมเคราะห์ซ้ำกรรมซัด พายุก็เริ่มก่อตัวไม่ไกล และก็ค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาใกล้พวกเขาแล้วด้วย ผู้จัดการโรงงานหยุด แล้วก็ถามอีกครั้งว่า  
 

         “เรือก็มีรูรั่ว 4 รู แถมเสากระโดงเรือก็เอนไปเอนมา เราจะทำอย่างไรเพื่อทำให้มีชีวิตรอดปลอดภัย ไม่เอาชีวิตมาทิ้งไว้กลางทะเล” 
         หลังจากตั้งคำถามเสร็จแล้ว ผู้จัดการโรงงานก็ทิ้งเวลาไว้ประมาณเกือบ 5 นาที เพื่อให้ทุกคนได้คิด ไม่นานนักก็เริ่มมีคนตอบมา หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนใช้เวลาไปพักใหญ่ ผู้จัดการก็พูดขึ้นว่า
         “ขอบคุณครับทุกๆ ท่าน ขอบคุณจริงๆ ผมรู้สึกดีใจนะที่ได้เห็นพวกเราทุกคนร่วมมือร่วมใจช่วยกันหาทางออกให้กับชาย 4 คนนี้ แหม! น่าประทับใจจริงๆ เลย เอาล่ะ สุดยอดมากๆ สรุปก็คือ เพื่อความอยู่รอดของทุกคน เราต้องเสียสละ และในการเสียสละนั้นก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดี แล้วก็ต้องไปช่วยทำหน้าที่ของคนอื่นให้เต็มความสามารถอีกด้วย สุดยอดๆ ขอคารวะครับ คราวนี้ผมขอเวลาอีกนิดนะ ลองย้อนกลับมาที่องค์กรของเราดูบ้าง ถ้าเรือในเรื่องเล่าเปรียบเสมือนกับบริษัท และคนทั้งสี่ก็คือพวกเราทุกคนในองค์กร ซึ่งเราทุกคนต่างเป็นเพื่อนรัก มีความสนิทสนมชิดเชื้อกันเป็นอย่างดี อยู่มาวันหนึ่งเกิดวิกฤตกับองค์กรของเรา ส่งผลให้เราต้องรีบปรับตัว เราจะมาทำตัวสบายๆ เหมือนเดิมอีกก็คงไม่ได้แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็น Globalization แถมด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีก คราวนี้เจอข้าศึกมาประชิดกันเลย ถ้าให้เปรียบก็คือ Globalization คือ ปัญหารูรั่ว ส่วนปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ เสาเรือเอียงไปเอียงมา จะล้มไม่ล้ม อย่างนี้แล้วเราก็ต้องผนึกพลังช่วยกันทำงานให้เต็มที่มากกว่าเดิม เราจะมาเกี่ยงกันไม่ได้อีกแล้ว เพราะคนเราก็มีกันอยู่แค่นี้ จะไปเอาใครมาเพิ่มอีกคงไม่ได้ เราลงเรือลำเดียวกันแล้ว ต้องร่วมมือร่วมใจ เรือของเราก็จะไปถึงฝั่ง องค์กรของเราก็ก้าวหน้า เติบโต และเดินหน้าต่อไปได้ เอาล่ะ ผมมีนิทานเซนเรื่องหนึ่งอยากจะเล่าให้คุณฟัง ชื่อเรื่องก็คือ “ชายตาบอดกับคบไฟ” นิทานเรื่องนี้หลายคนอาจเคยฟังมาบ้างแล้ว แต่ผมขอให้ตั้งใจฟังให้ดีๆ อีกครั้ง ส่วนใครที่ไม่เคยฟัง ก็ตั้งใจฟังให้ดีๆ เลยนะ สมัยโบราณหลายร้อยปีเห็นจะได้ สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ดังนั้น ถ้าหากต้องการแสงสว่างในยามค่ำคืน ถ้าอยากจะได้แสงสว่างก็ต้องพึ่งแสงจันทร์ เทียนไข หรือไม่ก็โคมไฟ ณ ชนบทแห่งหนึ่งมีตรอกเล็กๆ ที่ชาวบ้านมักจะใช้สัญจรไปมา มีผู้คนเดินไปมาขวักไขว่ไม่ขาดสายคืนวันหนึ่ง ณ ตรอกนั้น ได้มีภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้ามาในตรอกพอดี โดยภิกษุรูปนั้นได้ยินชาวบ้านร่ำลือกันว่า ตรอกแห่งนี้มีเรื่องแปลก คือ ตอนกลางคืนจะมีชายตาบอดเดินถือคบไฟเสมอ ด้วยความสงสัย ภิกษุรูปนั้นจึงเดินเข้าไปในตรอกทันที ไม่นานภาพที่เขาเห็นก็คือ ชายชราผมหงอก หลังงอ มือข้างหนึ่งถือคบไฟ ส่วนมืออีกข้างก็ถือไม้เท้ากำลังเดินตรงมาหาเขา เมื่อภิกษุเดินเข้ามาถึงตัวชายชรา เขาจึงถามด้วยความสงสัยว่า 


          “อาตมาขออภัยอย่างสูงที่จะขอถามว่า ท่านตาบอดจริง หรือว่าแกล้งตาบอด?” 
           ชายชรายิ้ม แล้วหันหน้าไปทางเจ้าของเสียงพร้อมตอบกลับไปอย่างสุภาพว่า “ข้าตาบอดตั้งแต่กำเนิด กลางวัน กลางคืน ล้วนเห็นเหมือนกัน” 

          ภิกษุได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสงสัย จึงถามกลับไปอีกครั้งว่า “ถ้าท่านตาบอดจริง แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่ท่านถือคบไฟแบบนี้ ท่านไม่รู้สึกเป็นภาระ รู้สึกลำบาก รู้สึกเมื่อย หรือเหนื่อยบ้างหรือที่ต้องถือคบไฟแบบนี้ทุกครั้ง เมื่อเดินทางในเวลากลางคืนเช่นนี้ ” 
          ชายชรายิ้มแล้วตอบกลับไปอย่างสุภาพด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่า “ที่ข้าถือโคมไฟแบบนี้ ก็เพื่อนำทางให้กับคนตาดีในเวลากลางคืน เขาจะได้เห็นทางอย่างชัดเจน” 
          ภิกษุฟังดังนั้นก็เกิดความศรัทธาและเลื่อมใสในความคิดของชายชรายิ่งนัก เขาจึงตอบกลับไปว่า “ข้าขอชื่นชมในความเป็นคนดี มีความเสียสละ มีน้ำใจ และเป็นห่วงเป็นใยแม้กระทั่งคนตาดี” 
          ชายชรายิ้มแล้วตอบกลับไปอีกครั้งว่า “ท่านเข้าใจผิดแล้ว ที่ข้าพูดว่าข้าถือคบไฟเพื่อนำทางให้กับคนตาดีนั้น ข้าหมายถึงแสงสว่างจากคบไฟที่ข้าถืออยู่ในมือนี้ จะช่วยนำทางให้คนตาดี ไม่เดินมาชนข้าต่างหาก” 


          ภิกษุฟังแล้วก็โน้มตัวแสดงความเคารพผู้เฒ่าด้วยความเลื่อมใสในการทำความดี แถมยังถ่อมตนอีกด้วย สรุปเรื่องชายตาบอดกับคบไฟสอนให้เรารู้ว่า การที่เราทำดีเพื่อผู้อื่น สุดท้ายประโยชน์ก็จะย้อนกลับมาที่ตัวเรานั่นเอง ถ้าหากมองย้อนกลับมาที่โรงงานของเราก็จะพบว่า ถ้าหากเราทำงานของเราให้ดีที่สุด และเมื่อมีโอกาสเราก็ต้องไปช่วยคนอื่น โดยที่ไม่ควรคิดว่า “ถ้าเราไปช่วยเขาก่อน แล้วคนที่เราไปช่วยเขา ไม่กลับมาช่วยเรา เราก็จะเสียเปรียบเขา หรือเราก็จะเป็นคนโง่” หรือ “รอให้คนอื่นมาช่วยเราก่อน แล้วเราค่อยไปช่วยเขาจะดีกว่า” ทั้งสองอย่างนี้เป็นความคิดที่ผิดมากๆ เลย ลองมองย้อนกลับมาที่การทำงานของเราอีกครั้งนะ ถ้าเราไปช่วยเพื่อนคนอื่น หรือแผนกอื่น สิ่งที่เราได้รับแน่ๆ คือ ความรู้ ประสบการณ์ เราได้เรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ๆ ได้ทักษะใหม่ๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ หรือถ้าเราทำงานล่วงเวลา เราก็ได้ค่าจ้างด้วย เราต้องคิดแบบนี้นะ เพราะถ้าคิดแบบนี้เราก็จะเกิด Growth Mindset หรือกรอบคิดของการเติบโต ซึ่งถ้าเรามีกรอบคิดแบบนี้ ก็จะทำให้เราพร้อมและอยากที่จะเรียนรู้ เมื่อเปิดใจพร้อมและอยากเรียนรู้แล้ว ก็เท่ากับเราเปิดโอกาสให้กับตัวเองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือได้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆ แล้วล่ะก็ สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต เอาล่ะ นี่ก็ใช้เวลาประชุมมานานมากแล้ว ผมขอสรุปการประชุมในครั้งนี้ว่า เราต้องช่วยกันทำงาน เราต้องมีความสามัคคีกัน และที่สำคัญเราต้องมี Growth Mindset หรือกรอบคิดของการเติบโต ไปกลับไปสู้ กลับไปทำงานกัน 

 

          พูดจบ ผู้จัดการโรงงานก็สั่งให้ทุกคนแยกย้ายกลับไปทำงาน ซึ่งผลของการประชุมในวันนั้นทำให้พนักงานเปลี่ยนกรอบคิด และเปลี่ยนพฤติกรรม โดยทุกคนเริ่มช่วยกันทำงานมากยิ่งขึ้น และการทำงานก็ค่อยๆ ลื่นไหล ประสิทธิผลของบริษัทก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามมา 
เรื่องราวที่เราได้เรียนรู้มานี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยกระตุ้นเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนในการทำงานให้กับท่านผู้อ่านนะครับ ซึ่งจากเรื่องราวในบทความตอนนี้สรุปสั้นๆ ได้ว่า 
          “โลกการเปลี่ยนแปลง Globolization และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เราต้องใช้ชีวิตวิถีใหม่ New Normal หรือ Next Normal ซึ่งจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตก็คือ การเปลี่ยนกรอบคิดในปัจจุบันให้เป็นกรอบคิดเพื่อการเจริญเติบโตและก้าวหน้า Growth Mindset
เมื่อเรามีกรอบคิดแบบ Growth Mindset แล้ว เราก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการกระทำไปในแนวทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการกระทำไปในแนวทางที่ดีกว่าเดิม นิสัยของเราก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วย และเมื่อนิสัยของเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีแล้ว วิถีชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้อย่างแน่นอนครับ
สุดท้ายขอฝากคมคิดสะกิดใจที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงเราทำได้ และทำได้ดีด้วย” 

 

          โชคดีนะครับ 

Top 5 Contents