
วิธียื่นภาษีเงินได้ประจำปี สำหรับมนุษย์เงินเดือน ผ่านระบบ New e-Filing ของกรมสรรพากร
14 มีนาคม 2565
มนุษย์เงินเดือนมือใหม่ ยื่นภาษีอย่างไร? หลายคนคงจะมีคำถามแบบนี้สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องยื่นภาษีออนไลน์หลายคน โดยเฉพาะปีนี้ เป็นการยื่นภาษีผ่านระบบ New e-Filing ของกรมสรรพากร ที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ (อีกแล้ว) สำหรับการยื่นภาษีในปี 2564 เป็นต้นไป
บทความประจำเดือนนี้ ขอสรุปสิ่งที่ต้องรู้ และวิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากเงินเดือนทางเดียว (ภ.ง.ด.91) ไปทีละขั้นตอนครับ
3 ข้อต้องรู้สำหรับมนุษย์เงินเดือนก่อนยื่นภาษี
ก่อนที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนจะยื่นภาษี ผมคิดว่ามีข้อควรรู้ต่อไปนี้ทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้ครับ
ข้อแรก : รายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นภาษี แม้ว่าจะไม่มีหน้าที่เสียภาษี
กรณีที่มีรายได้เกินกว่า 120,000 บาทต่อปี มนุษย์เงินเดือนทุกคนย่อมมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีทุกกรณี แม้ว่าจะไม่เสียภาษีก็ตาม เพราะเป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายครับ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเรื่องของเงินได้สุทธิจำนวน 150,000 บาท ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ออกจากงานระหว่างปี เปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพ ก็ต้องยื่นภาษี
ข้อสอง : ออกจากงานระหว่างปี เปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพ หากมีรายได้ที่เกิดขึ้นมาในระหว่างปี ก็ต้องนำมายื่นภาษีให้ถูกต้องครับ
เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น มีการคำนวณจากรายได้ทั้งปี ซึ่งนี่ถือว่าเป็นหน้าที่ของมนุษย์เงินเดือนทุกคนครับ ไม่ว่าจะมีงานใหม่ กลายเป็นฟรีแลนซ์ ตกงาน หรือหนีไปทำธุรกิจส่วนตัว เราต้องเอารายได้ทั้งหมดมายื่นภาษีให้ถูกต้อง โดยเงินเดือนที่เราได้รับจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมายครับ
ส่วนในกรณีที่ออกจากงานแล้วได้รับเงินชดเชยมา แนะนำว่าให้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของ ‘ออกจากงาน ยื่นภาษีอย่างไร’ ซึ่งจะทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
ข้อสาม : รายได้หลายทาง ก็ต้องยื่นทุกทาง
นอกจากเงินเดือนที่เราได้รับ (รวมโบนัสและอื่นๆ ที่ได้จากการทำงาน) การที่มีงานเสริม งานนอก ฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ หรือมีรายได้ประเภทอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็ยังมีหน้าที่นำรายได้อื่นๆ เหล่านี้มายื่นเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องด้วยครับ
ข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี
การยื่นภาษีของมนุษย์เงินเดือนในกรณีที่มีรายได้ (เงินเดือน) เพียงอย่างเดียวนั้น มักจะมีข้อมูลที่เราต้องการอยู่ประมาณ 3 ส่วน นั่นคือ รายได้ที่เราได้รับทั้งปี ประกันสังคมที่สะสมเข้ากองทุน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) (ในกรณีที่นายจ้างมีให้) ซึ่งแต่ละส่วนมักจะอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายครับ
•เงินได้ทั้งปี คือ ยอดรายได้ที่เราต้องเอามายื่นภาษี หากใครมีนายจ้างหลายราย หรือมีการเปลี่ยนงาน จะใช้วิธีการกรอกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของนายจ้างคนที่จ่ายเงินได้ให้เยอะที่สุดในปีนั้นครับ
•ประกันสังคม (ถ้ามี) คือ ยอดที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ครับ โดยเราจะเอามายื่นในรายการลดหย่อนที่ชื่อว่า กองทุนประกันสังคม
•กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) คือ ยอดที่เราสะสม นำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปี โดยเราสามารถเอามาลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกันครับ
ในกรณีที่ใครมีรายละเอียดค่าลดหย่อนต่างๆ มากกว่านี้ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน / คอนโด กองทุนต่างๆ SSF หรือ RMF และอื่นๆ อีกมากมาย ตรงนี้ก็ต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษีด้วยนะครับ
เอาล่ะครับ ถ้าหากใครมีข้อมูลครบแล้ว เรามายื่นภาษีออนไลน์กันต่อเลยดีกว่า… เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอยกตัวอย่างดังนี้
สมมติในปี 2564 นายบักหนอมมีเงินเดือนระหว่างปี (รวมทั้งหมด) คือ 1,200,000 บาท และมีรายการลดหย่อนภาษี คือ ประกันสังคม จำนวน 5,100 บาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 60,000 บาท อีกทั้งยังถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ 100,000 บาท
หลังจากนั้นให้เข้าไปที่เว็บไซต์กรมสรรพากร เพื่อเข้าสู่ระบบการยื่นภาษีได้เลยครับ โดยคนที่เคยยื่นภาษีด้วยตัวเองแล้ว ให้เลือกเมนู “ยื่นแบบออนไลน์” หรือ “เข้าสู่ระบบ” แต่ถ้าไม่เคยยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเทอร์เน็ตมาก่อน ให้เลือกเมนู “สมัครสมาชิกใหม่” ครับ และถ้าหากเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเข้าสู่ระบบการยื่นแบบตรง ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ได้เลยครับ
หลังจากนั้นกรอกข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ โดยกรอกที่หน้ารายได้จากเงินเดือนที่เราได้รับ แล้วระบุรายละเอียดรายได้ให้ครบถ้วน ตั้งแต่ประเภทของเงินได้ และกรอกข้อมูลเงินได้ทั้งปี พร้อมกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ถูกนายจ้างหักไว้ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคนที่จ่ายเงินได้ให้กับเราได้เลยครับ
เมื่อกรอกข้อมูลรายได้ครบถ้วนแล้ว เราจะมาดูที่ข้อมูลการลดหย่อนภาษีเงินได้ ในที่นี้ คือ ประกันสังคม จำนวน 5,100 บาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 60,000 บาท ซึ่งตรงนี้ถ้าหากใครมีรายการลดหย่อนภาษีมากกว่ารายการตามตัวอย่างที่ว่ามานี้ ก็เลือกกรอกข้อมูลทั้งหมดให้ครบถ้วนได้ที่นี่เลยครับ
เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ก็ให้มาที่หน้าตรวจสอบ เพื่อเช็กข้อมูลการยื่นภาษีออนไลน์อีกทีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลเงินได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน ข้อมูลการคำนวณภาษี และยอดที่ชำระ (ขอคืน) รวมถึงเมนูอื่นๆ อย่างการขอคืนและเลือกผ่อนชำระภาษี (กรณีจ่ายตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป) และการบริจาคเงินอุดหนุนให้กับพรรคการเมือง
โดยในปัจจุบัน กรมสรรพากรมีนโยบายคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ (ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน) ซึ่งถ้าใครต้องการขอคืนภาษี ก็อย่าลืมผูกเลขบัตรประจำตัวประชาชนกับเลขบัญชีธนาคาร ในระบบพร้อมเพย์ให้เรียบร้อยด้วยนะครับ
หลังจากที่เช็กข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถกดปุ่มยื่นแบบได้เลย เป็นอันจบการยื่นภาษีด้วยตัวเองครับผม
และทั้งหมดนี้ คือวิธีการยื่นภาษีที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรรู้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านที่ต้องการยื่นภาษีประจำปี 2564 ไม่มากก็น้อยนะครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า… สวัสดีครับ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ