กำลังโหลด...

×



HRM / HRD “ข้อมูลส่วนบุคคล” ที่ไม่ตรงปก กับข้อมูลที่ไม่มีวัน...

magazine image
HRM / HRD

“ข้อมูลส่วนบุคคล” ที่ไม่ตรงปก กับข้อมูลที่ไม่มีวันได้รับความคุ้มครอง

          ในตอนนี้จะแบ่งเป็น 2 ประเด็นครับ ได้แก่ ประเด็นของข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ตรงปก จะส่งผลกระทบต่อตัวเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร กับ ข้อมูลที่มองว่าส่วนบุคคลในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ทว่าไม่มีวันได้รับความคุ้มครองเลยนั้น เป็นอย่างไรกันแน่ จะขอว่ากันเป็นประเด็นๆ ไป โดยเริ่มจากประเด็นแรกก่อน ‘Not matched cover’ หรือ ‘ไม่ตรงปก’ จะเรียกว่าอะไรดีน้า... แล้วเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ วิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า คำว่าไม่ตรงปก ที่ถูกต้องต้องเรียกว่า Catfish ที่แปลว่า ‘ปลาดุก’ นั่นแหละ เพียงแต่มันเป็นคำสแลง ลองมาไล่เรียงตามรูปประโยคภาษาอังกฤษต่อไปนี้กันก่อน ตามนี้ครับ
        

         -เราเห็นรูปโปรไฟล์แล้วรู้สึกว่า สวยหรือหล่อเกินจริงหรือเปล่า รูปมันปลอมมั้ย? (We see their profile picture and we feel like “whoa, this is too good to be true”) 
         -รู้สึกว่าเค้าไร้ตัวตน (or we feel like they are not real.) 
        -เธอเป็นพวกใช้รูปโปรไฟล์ปลอม (She’s a catfish) 
        -เขาดูเหมือนใช้รูปปลอม (He looks like a catfish) 
        -มันคือฅนที่พยายามหลอกเรา (It’s the person that’s trying to trick us.)
        -หนูโดนหลอกด้วยรูปที่ไม่ตรงปก (I got catfished!!) 
        -คุณจะโดนหลอกด้วยรูปปลอมแน่ๆ (You’re gonna get catfished for sure!) 
 

        นี่เป็นรูปประโยคที่สแลง Catfish แปลความได้ว่า ไม่ตรงปก ปลอม นั่นเองครับ แล้วอย่างนี้รูปบุคคลซึ่งไม่ตรงปก จะเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลใน PDPATHAI หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือไม่? มาตรา 6 ว่าไว้เช่นนี้ครับ ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ (Personal Data : PD) หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ (“Personal Data” means any information relating to a Person, which enables the identification of such Person, whether directly or indirectly, but not including the information of the decceased Persons in particular,) + “บุคคล” หมายความว่า บุคคลธรรมดา (“Person” means a natureal person;)

        Key word อยู่ตรงที่ ‘ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม’ จึงจะเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” (Personal Data : PD) ดังนั้น ถ้ารูปบุคคลที่ ‘ไม่ตรงปก’ (Catfish) นั้น เป็นกรณีต่อไปนี้ล่ะ จะพิจารณาอย่างไร
       1. ถ้ารูปของบุคคลที่ถูกนำมาใช้นั้น (สมมติว่าเป็นนายแดง) ไม่ตรงปกกับบุคคลที่นำมาแอบอ้าง (สมมติว่าชื่อนายดำ) แต่นายแดงดันมีตัวตนอยู่จริงในโลก และยังมีชีวิตอยู่ด้วย กรณีนี้รูปนายแดงที่บอกว่าไม่ตรงปกนั้นเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” (Personal Data : PD) ครับ ตัวนายแดงจริงๆ นั้น ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีฅนไม่หวังดีนำรูปตนเองไปหาประโยชน์ โดยนายดำนำรูปนายแดงที่หลอกว่าตนเองไปป้อสาว (ส่วนตัวจริงของนายดำนั้น หน้าตาขี้เหร่และยับเยินมาก) โดยแสดงโปรไฟล์ผ่านไลน์ และสื่อโซเชียลอื่นๆ ต่อมาได้พูดคุยกับน้องอึ่งสาวบ้านนาที่มีเงิน จนสาวเจ้าตายใจ เป็นเวลานานถึงเกือบปี เพราะหลงรูปคิดว่านายดำหน้าตาจะเป็นอย่างนายแดงจึงตกหลุมรัก แถมตกลงปลงใจโอนเงินมาให้นายดำ 50,000 บาท ตามที่นายดำขอยืม 
 

      ต่อมาสาวเจ้ายอมแต่งงานด้วยทั้งๆ ที่ยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตาที่แท้จริง นายดำบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ด้วยความหลงก็เลยเชื่อ จัดพิธีแต่งงาน ใช้เงินสาวเจ้าทุกบาททุกสตางค์ รวมๆ ก็ราวๆ 230,000 บาท พอถึงวันงานนายดำหายเข้ากลีบเมฆไม่ปรากฏตัวอีกเลย ทำน้องอึ่งได้ลงคอ… ต่อมาภายหลังความแตกถูกจับได้
คำถาม : นายดำ ซึ่งเป็นบุคคลที่นำรูปฅนอื่น (นายแดง) มาแทนตนนั้น จะมีความผิดตาม PDPATHAI อย่างไรบ้าง จะเฉลยให้ฟังดังนี้ครับ
      มีความผิดตามมาตรา 84 + มาตรา 27 วรรคแรก (นายดำ อยู่ในสถานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล) ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5,000,000 บาท ได้รับโทษทางอาญา ตามมาตรา 79 วรรค 2 (แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะทำให้เจ้าของรูปเสียหาย ถ้าถูกนำไปสวมรอยใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดๆ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล จ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริง (ต้องให้นายแดงพิสูจน์และฟ้องเอา) ที่ศาลกำหนดได้ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 2 เท่าของค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงนั้น (มาตรา 78 วรรค 1)
 

      2. ถ้ารูปของบุคคลที่ถูกนำมาใช้และไม่ตรงปกกับบุคคลที่แอบอ้างนั้น (นายดำ) มันไม่มีตัวตนอยู่จริงในโลกใบนี้ พูดง่ายๆ คือ เป็นบุคคลในจินตนาการ หรือถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคนิคต่างๆ นานานั่นเอง นายดำไม่มีความผิดตาม PDPATHAI เลย เพราะรูปบุคคลดังกล่าว ‘ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล จึงไม่มีวันทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม’ ยังไงเล่า

       ประเด็นที่ 2 “หัวจื้อปิง” หญิงสาวชาวจีนกับข้อมูลส่วนบุคคล ที่นางไม่มีวันได้รับความคุ้มครอง จากรูปที่คุณเห็นอยู่นี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นางชื่อ “หัวจื้อปิง” เป็นหญิงสาวชาวจีน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา นางได้โพสต์ข้อความแรกบน Weibo แพลตฟอร์มคล้าย Twitter ของจีน เพื่อประกาศการลงทะเบียนเรียนภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยชิงหัว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา แต่ทว่าหัวจื้อปิงมิใช่หญิงสาววัยรุ่นวัยเรียนทั่วไป เพราะเธอคือนักศึกษาเสมือนจริง ที่กำเนิดจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขนานใหญ่คนแรกของจีน ใช่แล้วครับ นาง “ไม่ใช่ฅน”

      “ฉันหลงใหลในวรรณกรรมและศิลปะอย่างมากตั้งแต่เกิดมา” ข้อความของหัวจื้อปิงบน Weibo โดยรูปร่างหน้าตา เสียง เพลงประกอบ บัญชีผู้ใช้งาน และภาพวาดของหัวจื้อปิง ล้วนถูกพัฒนาโดย ‘อู้เต้า 2.0’ (Wudao 2.0) ระบบสร้างแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในการประชุมสถาบันปัญญาประดิษฐ์ปักกิ่ง (BAAI) ปี 2021 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ถังเจี๋ย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของ BAAI และศาสตราจารย์ภาควิชาข้างต้น หนึ่งในผู้พัฒนาหลักกล่าวว่า Wudao 2.0 ใช้ตัวแปร 1.75 ล้านล้านรายการ เพื่อจำลองบทสนทนา เขียนบทกวี และเข้าใจความหมายของภาพ ซึ่งทำลายสถิติก่อนหน้านี้ของสวิตช์ ทรานส์ฟอร์เมอร์ (Switch Transformer) จาก Google ที่ใช้ตัวแปร 1.6 ล้านล้านรายการ
 

     “Wudao 2.0 ถือเป็นระบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ขนาดล้านล้านรายการ ระบบแรกของจีน และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย” ถังเจี๋ย กล่าว ถังเจี๋ยกล่าวว่า Wudao 2.0 ปฏิบัติภารกิจ 9 อย่าง สำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในสนามจำลองก่อนการฝึก และเกือบเอาชนะการทดสอบทัวริง (Turing Test) ในการสร้างบทกวีและบทกลอน สรุปข้อความ ตอบคำถาม และวาดภาพ ซึ่งหากคอมพิวเตอร์สามารถทำให้มนุษย์จำนวนมากพอเชื่อว่า มันไม่ใช่คอมพิวเตอร์ได้ นั่นถือว่าสอบผ่าน BAAI เปิดตัว Wudao 1.0 ระบบจำลองอัจฉริยะขนานใหญ่ พัฒนาขึ้นเองในประเทศระบบแรกของจีน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่วนการวิจัยและพัฒนา Wudao 2.0 มีนักวิทยาศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์เข้าร่วมมากกว่า 100 คน ซึ่งทั้งหมดจัดอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมและสถาบันวิชาการปัญญาประดิษฐ์ของจีน
 

       อัลกอริทึมพื้นฐานของ Wudao 2.0 ฝึกระบบจำลองบนแพลตฟอร์มซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ โดยถังเจี๋ยกล่าวว่า Wudao 2.0 ถูกพัฒนาเพื่อทำให้เครื่องจักรคิดได้เหมือนมนุษย์ มุ่งสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นสากล และช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างระบบนิเวศการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ได้ ซึ่งนักวิจัยและผู้ประกอบการสามารถสมัครใช้ระบบนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถังเจี๋ยกล่าวว่า หัวจื้อปิงเป็นผลผลิตของ Wudao 2.0 ซึ่งหัวถูกฝึกฝนโดย BAAI ร่วมกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอย่างจื้อผู่ดอตเอไอ (Zhipu.AI) และเสี่ยวไอซ์ (Xiaoice) “ฉันเริ่มสนใจการเกิดของตนเองว่า ฉันเกิดมาได้อย่างไร และฉันสามารถเข้าใจตัวเองได้ไหม” ข้อความของหัวจื้อปิงบน Weibo พร้อมบอกว่า เธอจะเรียนภายใต้การอบรมสั่งสอนของถังเจี๋ย และกำลังแข่งกับเวลาเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเองทุกวันในหลายด้าน เช่น ศักยภาพการให้เหตุผลเชิงตรรกะ
 

      ถังเจี๋ยกล่าวว่า นักศึกษาเสมือนจริงรายนี้จะเติบโตและเรียนรู้ได้เร็วกว่านักศึกษาที่เป็นมนุษย์ทั่วไป หากหัวจื้อปิงเริ่มเรียนที่ระดับเด็ก 6 ขวบในปีนี้ เธอจะเรียนจนถึงระดับเด็ก 12 ขวบ ในอีก 1 ปีข้างหน้า
      ถังเจี๋ยทิ้งท้ายว่า ขณะนี้หัวจื้อปิงยังไม่สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ได้เหมือนนักศึกษาทั่วไป รวมถึงยังไม่มีปัญหาทางอารมณ์ โดยหวังว่าเธอจะเรียนรู้ทักษะเหล่านั้นจนเชี่ยวชาญก่อน จากนั้นจึงเรียนรู้การให้เหตุผลและปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์เป็นลำดับถัดไป ดังนั้น “หัวจื้อปิง” ไม่ใช่ “ฅน” ครับ ต่อให้นางมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับตัวนางเองก็เถอะ ก็ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็เพราะ Personal Data ใช้ได้กับมนุษย์ธรรมดาๆ อย่างคุณกับผมเท่านั้นครับ ดังนั้น หัวจื้อปิง จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั่นเอง แต่ที่น่าสนใจคือ “ฅน” อย่างคุณและผม ถ้าเราไม่พัฒนาให้เลยค่าเฉลี่ยความฉลาดของมนุษย์ทั่วๆ ไปในโลกใบนี้ เราอาจสู้ “หัวจื้อปิง” ไม่ได้ ฉะนั้น อนาคตปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับเรา อาจเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวก็ต่อเมื่อคุณกลัวมัน เพราะคุณไม่พัฒนาตัวเองซะมากกว่า
 

      ลองคิดดูดีๆ นะว่า เรากับ AI ต่างกันอย่างไร อย่างแรกเลย ฅนเรามีธรรมชาติพื้นฐานที่สำคัญยิ่งที่เครื่องจักรมันไม่มี นั่นคือความรู้สึกนึกคิดที่สะท้อนถึงความมีชีวิต ความรู้สึกนึกคิดนี้ปรากฏอยู่ในรูปของกรอบความคิด หรือจินตนาการที่สามารถคิดได้ด้วยตัวของมันเอง มนุษย์จึงพัฒนาความคิดได้เอง สามารถตัดสินใจได้เอง สามารถเลือกตอบสนองเองได้เมื่อมีอะไรมากระทบ สามารถระเบิดศักยภาพจากภายใน สร้างแรงบันดาลใจ แรงขับเคลื่อนภายในได้เอง ความมุ่งมั่น มนุษย์จึงสามารถสร้างการนำตนเองได้ คุณสมบัติเหล่านี้ไม่ว่าคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ใดๆ ที่มีความก้าวหน้าเพียงใด ก็ไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้เอง
อย่างที่สอง ด้วยคุณสมบัติที่ฅนสามารถคิดได้เอง จึงสร้างปัญญาได้เอง ต่างจากปัญญาประดิษฐ์และเครื่องจักรกลทั้งหลายที่ไม่ว่าจะมีประสิทธิภาพสูงเพียงใด แต่มันก็ทำได้เฉพาะในกรอบที่เรากำหนดให้มันทำเท่านั้น มันจึงมีแต่ความเร็ว มีความฉลาดในการคำนวณ แต่มันไม่มีปัญญาเพราะมันสร้างความคิดขึ้นมาเองไม่ได้หรอก แต่ฅนทำได้
      ธรรมชาติของการผุดขึ้นของปัญญา เราพบว่าปัญญาใดๆ มันเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงของประเด็นสำคัญต่างๆ ความลึกซึ้งของภูมิปัญญาจึงเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่างและฐานรากของกระบวนการคิดแบบนี้ก็คือ การคิดเชิงระบบและการมองภาพเชิงองค์รวม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องจักรที่เราบอกว่ามันฉลาดกว่านั้น ก็เพราะว่ามันสามารถสร้างความเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่างได้ คือมันประมวลผลได้อย่างที่ฅนเราไม่อาจเทียบกับมันได้เลย มันจึงทำงานได้ไวกว่า เราเลยคิดว่ามันฉลาดกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้วเราเหนือกว่า เพราะมันไร้จินตนาการที่จะคิดอะไรขึ้นมาได้เอง ซึ่งต่างจากมนุษย์เรา ที่มีคุณสมบัติพิเศษนี้อย่างไร้ขีดจำกัด นั่นคือ มนุษย์เรามีความสามารถในการนำตนเอง สร้างปัญญาขึ้นมาได้เอง
 

     ความท้าทายในมุมมองทางปัญญา จึงอยู่ที่ว่าฅนเราจะใช้ความสามารถในการนำตนเองได้ ในรูปของจินตนาการอย่างไร้ขีดจำกัดมาสร้างภูมิปัญญาและกระบวนการเรียนรู้ อีกทั้งพัฒนาความคิดที่แตกต่าง ที่แปลกใหม่ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่า เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดให้เหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลาย ให้ความมั่นคงยั่งยืนได้อย่างไรต่างหากเล่า ความท้าทายระหว่าง ฅน กับ ปัญญาประดิษฐ์อาจเป็นสงคราม สงครามที่ประลองปัญญาและฅนอย่างเราก็ยังคงเข้าควบคุมมันได้อยู่ดี หรือคุณว่ามันจะเป็นอย่างในหนัง Terminator ได้ล่ะ 
 

Top 5 Contents