
นายจ้างต้องทำอย่างไร เมื่อจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว
21 กุมภาพันธ์ 2565
จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เรียกได้ว่าเป็นมหาวิกฤตของโลกเลย ก็ว่าได้ ซึ่งเราทุกคนยังคงต้องเผชิญและไม่รู้เลยว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องใช้มาตรการต่างๆ รวมถึงมาตรการการล็อกดาวน์กันครั้งใหญ่ เพื่อจำกัดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน และทำให้สถานประกอบกิจการหลายประเภททั้งในและต่างประเทศต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และอีกหลายประเภทต้องเลิกกิจการไป ซึ่งไม่ว่าสถานประกอบกิจการประเภทใดจะหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว หรือเลิกกิจการไป แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ
สำหรับประเทศไทยแล้ว สถานประกอบกิจการเกือบทุกประเภทและทุกแห่งที่ได้รับผลกระทบมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวนั้น ต่างมีวิธีการคิดและการปฏิบัติที่ผิดแผกแตกต่างกันไป นายจ้างบางรายหยุดกิจการชั่วคราวและไม่ได้ให้ลูกจ้างมาทำงาน แต่ก็ยังจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามปกติ บางรายจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างบางส่วน เช่น ร้อยละ 75 หรือร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานปกติ บางรายให้ลูกจ้างลางานโดยไม่ขอรับค่าจ้าง (Leave without Pay) แต่นายจ้างบางรายก็ให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้เลยก็มี
ไม่ว่านายจ้างจะดำเนินการหรือปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไรก็ตาม มักจะมีคำถามหรือปัญหาในทางกฎหมายแรงงานเกิดขึ้นเสมอว่า ในกรณีที่นายจ้างจะต้องหยุดกิจการชั่วคราวและไม่ให้ลูกจ้างทำงานนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ต้องหยุดงานนั้นหรือไม่ ถ้าหากต้องจ่ายจะต้องจ่ายเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ตามปกติหรือจ่ายเงินให้เพียงบางส่วน และถ้าจ่ายเพียงบางส่วนจะต้องจ่ายให้เป็นร้อยละเท่าใดของอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ต้องจ่ายเป็นระยะเวลานานเท่าใด และจะหยุดกิจการได้นานแค่ไหน
ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตดังกล่าวนั้น มีทั้งนายจ้าง ผู้ประกอบการและลูกจ้างสอบถามในประเด็นดังกล่าวมายังผู้เขียนเป็นจำนวนมาก จึงขออธิบายดังนี้ สำหรับการหยุดกิจการชั่วคราวนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 บัญญัติว่า
“ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ”
ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และออกพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 75 บัญญัติว่า
“ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่จ่ายเงินตามมาตรา 55 และภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินตามมาตรา 70 (1)
ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ”
เจตนารมณ์ของการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้การจ่ายเงินกรณีนายจ้างที่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวนั้นมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรา 75 (วรรคหนึ่ง) เดิมกำหนดให้นายจ้างที่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับ ก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงาน โดยมิได้กำหนดสถานที่จ่ายเงินและกำหนดเวลาในการจ่ายเงินดังกล่าวไว้ชัดเจน จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 75 สองประการ ดังนี้
ประการแรก กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินตามมาตรา 75 ณ สถานที่จ่ายเงินตามมาตรา 55 กล่าวคือ กรณีนายจ้างความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง แต่ถ้านายจ้างจะจ่ายเงินดังกล่าว ณ สถานที่อื่น หรือด้วยวิธีการอื่นจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และความยินยอมนั้นนายจ้างต้องทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอม หรือนายจ้างและลูกจ้างมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ
ประการที่สอง กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินตามมาตรา 75 ภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินตามมาตรา 70 (1) กล่าวคือ ต้องจ่ายไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง หรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง
การหยุดกิจการตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จึงมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
การหยุดกิจการตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นการหยุดกิจการโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างเป็นอย่างมากจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ หากเป็นความจำเป็นที่กระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างบ้างเพียงเล็กน้อย อาจไม่เข้าข่ายที่นายจ้างผู้ประกอบกิจการจะหยุดกิจการชั่วคราวตามบทบัญญัตินี้ได้ และต้องไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ตามนัยความหมายของเหตุสุดวิสัยตามกฎหมายนั้นได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 “เหตุสุดวิสัยหมายความว่า เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”
ตัวอย่างกรณีเหตุจำเป็นที่ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เช่น เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตที่สำคัญชำรุดต้องซ่อมแซม สถานประกอบการถูกเพลิงไหม้จากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้าง หรือกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพราะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ กรณีที่นายจ้างประสบปัญหาการประกอบกิจการในสภาวะของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ยอดสั่งซื้อลดลง ลูกค้าลดลงเป็นจำนวนมาก ไม่มีงานให้ลูกจ้างทำ ทำให้นายจ้างเลือกตัดสินใจที่จะหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 เพื่อประคับประคองและรักษากิจการของนายจ้างให้ดำรงอยู่ต่อไป และทำให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว การหยุดกิจการลักษณะนี้ย่อมเป็นการหยุดกิจการโดยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ใดๆ ที่เป็นลักษณะที่นายจ้างไม่สามารถจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่เป็นความประสงค์ของนายจ้างเอง กรณีนี้จึงเป็นการหยุดกิจการชั่วคราวของนายจ้างเพราะเหตุที่ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย นายจ้างต้องจ่ายเงินกรณีหยุดกิจการให้แก่ลูกจ้างที่นายจ้างไม่ได้ให้ทำงานไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานจนกว่านายจ้างจะเลิกหยุดกิจการและให้ลูกจ้างได้ทำงานตามปกติ
สำหรับกรณีที่นายจ้าง ผู้ประกอบการหลายสถานประกอบกิจการที่ต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเหตุเพราะคำสั่งของรัฐบาลโดยเฉพาะ เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สถานบันเทิง ผับ บาร์ สนามมวย เป็นต้น โดยรัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ประเมินสถานการณ์และมีข้อกำหนดมาตราให้ผ่อนคลายต่อไป กรณีที่รัฐบาลมีคำสั่งโดยเฉพาะเจาะจงเช่นนี้ ย่อมถือว่านายจ้างไม่สามารถที่จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการหยุดกิจการได้โดยสิ้นเชิง การหยุดกิจการชั่วคราวในกรณีดังกล่าว อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายจ้างต้องหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องด้วยเหตุสุดวิสัย นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินกรณีหยุดกิจการตามมาตรา 75 และไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างด้วย เพราะนายจ้างต้องหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย ก็ต้องถือว่าการชำระหนี้ตกเป็นการพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายนายจ้าง หรือลูกจ้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ อีกทั้ง เนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนเมื่อนายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างทำงานได้ และลูกจ้างก็ไม่สามารถทำงานให้แก่นายจ้างได้เช่นเดียวกัน นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแต่อย่างใด
แต่กรณีหากนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการที่อาจจะเกิดขึ้นได้ กรณีนี้อาจถือว่าเป็นการหยุดกิจการโดยที่ยังไม่ได้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่นายจ้างไม่อาจป้องกันหรือหลีกเลี่ยงด้วยความระมัดระวังได้เกิดขึ้น แต่เป็นการหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันเกิดจากความต้องการของนายจ้างเองและไม่ใช่เหตุสุดวิสัย การหยุดกิจการชั่วคราวของนายจ้างดังกล่าวจึงอาจไม่เข้าข่ายการหยุดกิจการตามมาตรา 75 ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการตามมาตราดังกล่าว แต่กรณีนี้นายจ้างยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างที่นายจ้างไม่ได้ให้ทำงานนั้นเสมือนหนึ่งว่าลูกจ้างมาทำงานตามปกติ
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือว่านายจ้างมีความจำเป็นอย่างสำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2559
“นายจ้างมีโรงงานผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ที่ชลบุรี โดยต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนจากโรงงานซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานี แต่นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวเกิดอุทกภัยน้ำท่วมจนไม่สามารถประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนส่งนายจ้างได้ นายจ้างจึงต้องหยุดกิจการชั่วคราวบางส่วนเฉพาะลูกจ้างในแผนกผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ
ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้บัญญัติว่าเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้นายจ้างต้องหยุดกิจการนั้นจักต้องรุนแรงถึงขนาดให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้นแต่อย่างใด เพียงแต่บัญญัติไว้ว่าหากมีความจำเป็นโดยเหตุสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกตินั้น นายจ้างก็อาจหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ เมื่อปรากฏว่านายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราวกับลูกจ้างบางส่วนเฉพาะในแผนกผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ โดยเหตุดังกล่าว ซึ่งเหตุดังกล่าวนั้นย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในกิจการของนายจ้าง การที่นายจ้างหยุดกิจการผลิตบางส่วนชั่วคราวถือได้ว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นตามมาตรา 75 แล้ว”
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือว่านายจ้างไม่มีความจำเป็นอย่างสำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2556
“ความจำเป็นของนายจ้าง จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก มิใช่แต่เพียงความจำเป็นทั่วไปเล็กน้อยซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการของนายจ้างมากนัก ดังนั้น การที่นายจ้างอ้างว่าประสบปัญหาการสั่งซื้อและนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศล่าช้านั้นเป็นปัญหาในการบริหารจัดการของนายจ้างเอง นายจ้างควรวางแผนการบริหารกิจการให้ลูกจ้างได้ทำงานต่อเนื่อง มิใช่การเร่งทำงานล่วงเวลาแล้วหยุดกิจการในเวลาต่อมาเนื่องจากไม่มีงานทำ ซึ่งหากนายจ้างบริหารจัดการธุรกิจได้ดีแล้วย่อมไม่ต้องหยุดกิจการ กรณีนี้ไม่เข้าข่ายหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75
2. นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หรือสถานที่อื่น หรือวิธีการอื่นตามที่ตกลงกันและภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินโดยต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง หรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง
กรณีนายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานนั้น ซึ่งเราจะเห็นว่ากฎหมายใช้คำว่า “เงินกรณีหยุดกิจการ” ซึ่งไม่ได้เรียกว่า “ค่าจ้าง” เพราะเนื่องจากไม่ได้ตอบแทนการทำงาน ตามความหมายของค่าจ้างดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังนั้นการหยุดกิจการตามมาตรา 75 ต้องเป็นการหยุดกิจการโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติเท่านั้น นายจ้างจึงจะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 75 ได้ หากนายจ้างไม่มีเหตุที่สำคัญดังกล่าวแล้วจะหยุดกิจการ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเสมือนหนึ่งลูกจ้างมาทำงานตามปกติ ไม่ใช่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการตามาตรา 75 นี้ ดังเช่นตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น
3. นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
สำหรับกรณีหากนายจ้างไม่จ่ายเงินตามมาตรา 75 ภายในกำหนดเวลา นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และมีโทษทางอาญาตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้การหยุดกิจการชั่วคราวกฎหมายคุ้มครองแรงงานจะให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวได้และอาจเป็นทางออกหนึ่งและของนายจ้างที่ประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวโดยไม่ต้องการเลิกประกอบกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง เพื่อแก้ไขวิกฤตดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างไม่ต้องตกงาน ขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อนในช่วงที่หยุดงานเพราะเหตุดังกล่าว กฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้นายจ้างกระทำได้ตามอำเภอใจ แต่กำหนดบทบัญญัติตามมาตรา 75 ควบคุมไว้ให้นายจ้างต้องปฏิบัติตาม
ดังนั้นก่อนที่นายจ้างจะตัดสินใจใช้มาตรการหยุดกิจการชั่วคราว จะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลและภาวะความจำเป็นของนายจ้างเสียก่อนว่า กรณีที่นายจ้างหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวนั้นมีความจำเป็นถึงขนาดหรือสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือไม่ รวมทั้งต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกันและอาจมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานเข้าไปร่วมในการให้คำแนะนำ กำหนดแนวทาง การวางแผนที่ดี และที่สำคัญนายจ้างจะต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างทุกคนด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วนายจ้างและลูกจ้างอาจเกิดข้อพิพาทระหว่างกันและ/ หรือนายจ้างอาจโดนลูกจ้างฟ้องร้องต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่นายจ้างตกลงไว้กับลูกจ้างอันเกิดจากการหยุดกิจการชั่วคราวโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้
อ้างอิง
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, คำชี้แจงกระทรวงแรงงาน เรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่องที่ 8 กำหนดเวลาการจ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว มาตรา 75 (วรรคหนึ่ง)
เกษมสันต์ วิลาวรรณ, คำอธิบายกฎหมายแรงงาน, พิมพ์ครั้งที่ 24 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2560)
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ