
การเปลี่ยนแปลงสังคมแบบระลอกคลื่น (The Social Ripple Effect)
1 เมษายน 2565
‘กำแพงเบอร์ลิน’ มีความยาว 155 กิโลเมตร สูง 3.6 เมตร เริ่มก่อสร้างในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1961 เพื่อแบ่งแยกเมืองเบอร์ลินในเยอรมันตะวันออก เป็นส่วนตะวันตกและตะวันออก ในช่วงสงครามเย็น ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมในการแบ่งขั้วระหว่าง ‘โลกเสรี’ และ ‘โลกคอมมิวนิสต์’ ในระหว่างที่กำแพงยังตั้งอยู่ มีความพยายามหลบหนีข้ามแดนราว 5,000 ครั้ง และมีผู้เสียระหว่าง 100-200 คน แม้จะดูมั่นคง แต่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินกลับเป็นไปอย่างฉับพลัน จนถูกเรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์ทางประวัติศาสตร์
เรื่องเกิดขึ้นในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 เมื่อกินเทอร์ ชาบ็อฟสกี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ ของเยอรมันตะวันออก ได้แถลงข่าวว่า รัฐบาลจะผ่อนปรนข้อจำกัดในการเดินทางข้ามพรมแดนให้ชาวเยอรมันสามารถเดินทางผ่านแดนได้อย่างอิสระ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ‘เมื่อไหร่’ ชาบ็อฟสกีก็ตอบว่า “เท่าที่ผมทราบ ทำเลยในทันที” (ซึ่งภายหลังพบว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเขาเอง) เมื่อข่าวกระจายออกไป ทำให้ผู้คนนับหมื่นมุ่งไปที่กำแพง รวมตัวกันที่จุดตรวจหกแห่ง และเริ่มต้นทุบทำลายบางส่วนของกำแพงด้วยค้อนและสิ่วจนเกิดความโกลาหล เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยังไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากทางการ ในที่สุดเวลา 22.45 น. ผู้บัญชาการของจุดผ่านแดนก็ยอมอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เปิดด่าน และปล่อยให้ผู้คนผ่านโดยมีการตรวจสอบตัวตนเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในคืนนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญลักษณ์ในการรวมชาติเยอรมันในเวลาต่อมาชีวิต
จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล นักปรัชญาชาวเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมว่า เป็นพลวัตของความขัดแย้ง กล่าวคือ สภาวะหนึ่งใดที่ดำรงเป็นหลักอยู่ เรียกว่า กระแสหลัก (Mainstream) ย่อมถูกท้าทายด้วยอีกสภาวะหนึ่งซึ่งมีลักษณะตรงกันข้าม ที่เรียกว่า ทวนกระแส (Radical) การปะทะต่อสู้กันระหว่างสองสภาวะนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ถ้าถูกเร่งเข้าสู่จุดวิกฤตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะใหม่ ซึ่งถ้าองค์ประกอบลงตัวจะส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นปรากฏการณ์ ‘Amplifier Effect’ เปลี่ยนไปสู่สภาวะใหม่แบบฉับพลัน เช่น กรณีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมสาธารณะ (Public Mood) ที่คนจำนวนมากรวมตัวทำในสิ่งเดียวกันจนขยายตัวไปสู่การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในชั่วข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสังคมแบบฉับพลันทันใดไปสู่สภาวะใหม่โดยปราศจากความรุนแรง มีโอกาสสำเร็จได้ยาก ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงแบบสันติจะเกิดจากการสะสมความเปราะบางของกระแสหลัก และการยอมรับกระแสรองจากสถานการณ์เล็กๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ดังเช่นที่ แม่ชีเทซา เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อคนยากไร้ ได้เคยกล่าวไว้ว่า ‘ฉันคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่ฉันสามารถโยนหินลงไปในน้ำเพื่อสร้างระลอกคลื่น และแต่ละระลอกคลื่นก็จะสร้างระลอกคลื่นอีกจํานวนมาก’ การเปลี่ยนแปลงสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นเดียวกับการแผ่ขยายของระลอกคลื่น (Ripple Effect) แม้จะใช้เวลานานแต่ในที่สุดก็สามารถสร้างพลังมากพอที่จะนําไปสู่การทำลายความมั่นคงของกระแสหลักโดยปราศจากความรุนแรงได้
การเปลี่ยนแปลงสังคมแบบระลอกคลื่น ต้องอาศัยการสร้างความต่อเนื่องของสถานการณ์ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ‘คอยเขย่าไว้อย่าให้นอนก้น’ ในช่วงแรกผู้ที่ได้ประโยชน์ในสังคมเดิมที่เป็นกระแสหลัก ย่อมจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ การแผ่ขยายของระลอกคลื่นกระแสรองอย่างต่อเนื่อง คือ การใช้เวลาสะสมข้อมูลความรู้ วิเคราะห์ที่มาของปัญหา สร้างความเข้าใจ และแสวงหาทางออกที่เป็นไปได้ จนเกิดทัศนคติที่สอดคล้องกัน กลายเป็น ‘ความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน’ และถ้าผ่านกระบวนการลงประชามติ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็น ‘มติมหาชน’ กลายเป็นกฏหมาย หรือบรรทัดฐานใหม่ของสังคมในที่สุด
ในยุคดิจิทัล การใช้ดัชนีถ้อยคำ # หรือ ‘Hashtag’ ช่วยแพร่กระจายการสื่อสาร (Viral) ที่ท้าทายทัศนคติและความเชื่อกระแสหลักที่เคยเป็นความเห็นส่วนใหญ่เดิมได้อย่างรวดเร็ว ถ้าได้ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) เข้ามาร่วมด้วย จะยิ่งช่วยขยายแรงกระเพื่อมให้กว้างและเร็วขึ้น จนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนทำให้ทัศนคติ และความเชื่อเดิมขาดเสถียรภาพ ซึ่งอาจกระทบลงไปถึงค่านิยมของสังคม เกิดเป็นกระแสการเคลื่อนไหวที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ผู้ใช้ Twitter และผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ช่วยกันส่งต่อ #MeToo หรือ “ฉันด้วย” เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปทั่วโลก เพื่อประณามการยอมรับพฤติกรรมคุกคาม และการประทุษร้ายทางเพศ หลังจากฮาร์วีย์ ไวน์สตีน อดีตผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลในฮอลลีวูด วัย 67 ปี ถูกกล่าวหาว่า ประพฤติมิชอบทางเพศมายาวนานกับดารานักแสดงหญิงจำนวนมาก และในที่สุดคณะลูกขุนแห่งศาลนครนิวยอร์กได้ตัดสินให้ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน มีความผิดจริง และต้องโทษจำคุกถึง 23 ปี # ไม่ได้สร้าง ‘Amplifier Effect’ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน แต่เป็นเสมือนระลอกคลื่นที่สร้างปรากฏการณ์สังคมแบบ ‘Ripple Effect’ ช่วยขยายความเข้าใจและสร้างอารมณ์ร่วมสาธารณะ นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคม จนนิตยสาร TIME ยกให้ #MeToo เป็นบุคคลแห่งปี ประจำ ค.ศ. 2017
ในอดีต การสร้างระลอกคลื่นของการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการส่งต่อข้อมูลในรูปแบบการสอน การสนทนา บอกเล่า เขียนบันทึก หรือการปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง เนื่องจากการเดินทางติดต่อระหว่างกัน ใช้เวลานานและทำได้ไม่สะดวกเช่นในปัจจุบัน จึงมีข้อจำกัดในเรื่องการกระจายการรับรู้ออกไปให้ต่อเนื่องเป็นวงกว้าง รวมทั้งประเด็นสำคัญของเนื้อหาที่ส่งต่อกันหลายทอด อาจแตกต่างไปจากเจตจำนงของเนื้อหาในเบื้องต้น ขณะเดียวกันในระหว่างการกระจายการสื่อสารออกไป ก็อาจถูกตัดทอน หรือบิดเบือนข้อมูลจากฝ่ายแนวคิดกระแสหลักที่ไม่เห็นด้วยได้โดยง่าย ปัจจุบันเครือข่ายเส้นการเดินทางและเทคโนโลยีดิจิทัลได้เปิดพรมแดนการติดต่อสื่อสารแบบไร้สาย ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายในทุกที่และทุกเวลา ผู้ที่ใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์มาจากคนทั่วไปได้เข้าสู่วีถี ‘พลเมืองเครือข่าย’ หรือ Netizen มีช่องทางที่เปิดกว้างสำหรับแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ในที่สาธารณะ ทั้งในรูปแบบการเขียน การส่งภาพและเสียง การกระจายระลอกคลื่นของการเปลี่ยนแปลง สามารถทำได้บนพื้นน้ำเดียวกัน ซึ่งในยุคดิจิทัล พื้นน้ำดังกล่าว ก็คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็นแหล่งรวมผู้ใช้งานเข้ามาติดต่อสื่อสารเป็นชุมชนออนไลน์ เช่น Facebook, Twitter, YouTube, WhatsApp, Line และ Telegram เป็นต้น ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ง่าย เช่น Twitter ที่ไม่เพียงแค่ทวีตข้อความ แต่ยังสามารถรีทวีต (Retweet) ส่งต่อข่าวสารที่มีเนื้อหาตั้งต้นได้สะดวก โดยไม่สูญเสียเจตจำนงเดิม นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดการเข้าร่วมกลุ่มตามเนื้อหาที่สนใจได้ด้วย ยิ่งทำให้การแสดงความเห็นถูกกระจายออกไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึงและรวดเร็วขึ้น
การเปลี่ยนแปลงแบบระลอกคลื่น ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ ดังเช่น สำนวน ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันเพียงเล็กน้อยเกินกว่าจะน่าสนใจหรือสังเกตเห็นได้ เช่นการเด็ดดอกไม้ในสนามหญ้า อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับวงจรชีวิตของแมลง ต่อเนื่องเป็นระลอกมาสู่มนุษย์ แผ่ขยายกว้างไกลไปสู่ระดับมหภาค จนถึงขนาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแรงดึงดูดระหว่างโลกและดวงดาว ในทางวิทยาศาสตร์ปรากฏการณ์ ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ ได้รับการอธิบายตั้งแต่เกือบ 60 ปีที่แล้ว โดย ดร. เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ นักคณิตศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยาที่ MIT
คืนหนึ่งขณะทำงาน ดร.ลอเรนซ์ พบว่า การป้อนตัวเลขปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับกระแสลมเข้าแบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยการปัดตัวเลขในระดับ 1 : 1,000 ตั้งแต่หลักที่สี่หลังจุดทศนิยมออก ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เช่น ใส่ตัวเลข 0.506 แทนที่จะเป็น 0.506127 แต่กลับพบว่า สภาพอากาศที่จำลองขึ้นมีความแตกต่างออกไปคนละทิศทาง เมื่อเทียบกับการใส่ตัวเลขหลังจุดทศนิยมทั้งหมด เนื่องจากแนวโคจรของตัวดึงดูดลอเรนซ์ในแบบจำลองคณิตศาสตร์มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อกระพือปีก ดร.ลอเรนซ์ จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘The Butterfly Effect’ หรือ ‘ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก’ ภายหลังการบรรยายในปี ค.ศ. 1972 ในหัวข้อ ‘Does the Flap of a Butterfly’s Wings in Brazil Set Off a Tornado in Texas?’ ทำให้แนวคิด ‘ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก’ ของ ดร.ลอเรนซ์ ที่หมายถึง การเปลี่ยนแปลงตัวแปรเล็กน้อยที่เป็นเงื่อนไขแรกของระบบที่เชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ สามารถส่งผลต่อตัวแปรขนาดใหญ่ในพฤติกรรมระยะยาวของระบบได้ กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ในปี ค.ศ. 1955 โรซ่า ปาร์ค แม่บ้านผิวสี คนหนึ่งที่เมืองมองโกเมอรี รัฐอลามามา สหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นรถเมล์และถูกสั่งลุกให้ชายผิวขาวนั่งแทน เมื่อเธอปฏิเสธจึงถูกไล่ลงจากรถเมล์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก (Butterfly Effect)’ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากจุดเล็กๆ เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า Montgomery Bus Boycott เป็นเหตุการณ์ขัดแย้งในชีวิตประจำวันที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญ แต่ได้ส่งผลให้เกิดการประท้วงสิทธิเท่าเทียมกันอย่างสันติ จนเกิดปรากฏการณ์ Long March ไปสู่ทำเนียบขาว นำโดยผู้มีชื่อเสียง สาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่ภายหลังกระตุ้นรัฐบาลให้มีการทบทวนเปลี่ยนแปลงกฏหมายสำคัญหลายเรื่อง อันนำไปสู่สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันในปัจจุบันของคนผิวขาวและผิวสีในประเทศสหรัฐอเมริกา
ในความเป็นจริง ทุกครั้งที่ผีเสื้อกระพือปีก ไม่ได้สร้างระลอกคลื่นที่นำไปสู่การเกิดพายุ หรือการเปลี่ยนแปลงเสมอไป แม้แต่การเคลื่อนที่ที่แรงกว่าการกระพือปีกของผีเสื้อก็อาจไม่ได้ทำให้เกิดลมแรงแต่อย่างใด ยิ่งในบริบทของสังคมขนาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมที่สถานการณ์รอบด้านมีความเปราะบาง และอ่อนไหวต่อเงื่อนไขตั้งต้น พลังของคนเล็กๆ ต่อยอดด้วยกระบวนการที่มีแบบแผนบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพรองรับ และการเข้าร่วมของผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม จึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นระลอกคลื่น (Ripple Effect) ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก (Butterfly Effect) ในที่สุด
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า เมื่อค่านิยม ความเชื่อ รวมทั้งบรรทัดฐานเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสังคมเริ่มเปลี่ยนไป ตอนแรกยังมีผู้คนจำนวนน้อยที่ยอมรับความเชื่อใหม่ๆ ต่อเมื่อมีการริเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน สมาชิกพวกทวนกระแสจะเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ คล้ายการกระจายของระลอกคลื่น พฤติกรรมกระแสหลักเดิมก็จะทยอยเปลี่ยนค่านิยมหรือความเชื่อ แนวคิดที่ทวนกระแสก็จะกลับกลายเป็นกระแสหลักของสังคมต่อไป เทคโนโลยี และพฤติกรรมของคนในยุคดิจิทัล มีส่วนสำคัญในการเร่งให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดเร็วขึ้น สิ่งที่น่าคิดต่อไปก็คือ เมื่อต้องเผชิญกับสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่พัดเข้ามาเป็นระลอกอย่างต่อเนื่อง ผู้นำในสังคมมีทางเลือกที่จะสร้างกำแพงเพื่อต้านแรงลมไม่ให้พัดเข้ามา หรือควรจะปรับความคิดใหม่โดยหันไปสร้างกังหันลมเพื่อนำแรงลมนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แทนการพยายามรักษาสถานภาพเดิม (Status Quo) ซึ่งต้องลงทุนต่อเติมสร้างกำแพงให้หนาขึ้นเรื่อยๆ ก่อนในที่สุดจะพังทลายลงในชั่วข้ามคืนเช่นเดียวกับกำแพงเบอร์ลิน
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ