กำลังโหลด...

×



HRM / HRD วิธีจัดการกับคนที่ชอบบูลลี่ (Bully) ให้อยู่หมัด

magazine image
HRM / HRD

วิธีจัดการกับคนที่ชอบบูลลี่ (Bully) ให้อยู่หมัด

              สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกๆ ท่าน บทความในตอนที่แล้วเราได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น สำหรับบทความในตอนนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องราวของความสุขที่แท้จริง ถ้าพร้อมแล้ว มาเรียนรู้ร่วมกันเลยนะครับ ณ ห้องประชุมในแผนกวิศวกรรม วันนี้เป็นการประชุมประจำสัปดาห์เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารและเป็นการติดตามงานต่างๆ หลังจากที่แต่ละคนรายงานเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็ถึงคิวของรชฏ เขาเดินไปหน้าห้องแล้วก็เริ่มนำเสนอ “เอ่อ…” สวัส... ดะๆ รชฏพูดยังไม่ทันจบคำสนธยาก็ตะโกนสวนขึ้นมาทันทีว่า “ไอ้อ่าง!” ทำให้เพื่อนร่วมห้องหัวเราะกันท้องแข็ง “ใช่ๆ ประชุมคราวที่แล้วก็กว่าจะพูดจบ ใช้เวลาไปเกือบ 15 นาที ทำให้ข้าแทบไม่ได้พูดอะไรเลย” “เออๆ ข้าจำได้ ตอนนั้นข้าก็แทบไม่ได้พูดเหมือนกัน” กวีพูดเสริม “เฮ้ย! เบาๆ หน่อย นี่ห้องประชุมนะโว้ย!” พิชัย ผู้จัดการเห็นลูกน้องหัวเราะกันแบบนี้ก็รีบตวาดให้ลูกน้องหยุดบรรยากาศในห้องจึงกลับมาสงบอีกครั้ง “สำหรับสัปดาห์นี้ผมมีงานที่ทำสำเร็จไปแล้ว ดังนี้ครับ หนึ่ง…การซ่อมปั๊มที่ห้องเครื่อง สอง…ติดตั้งพัดลมที่ห้องอบและสาม…ปรับตั้งโซ่ที่เครื่อง ATH ครับ” “โธ่! มีแต่งานง่ายๆ ทำไมไม่หางานยากๆ ทำบ้างล่ะครับผม” กวีพูดแซว “ใช่ๆ น่าจะหางานที่มันท้าทายความสามารถกันหน่อย ไม่ใช่ทำแต่งานเด็กๆ แบบนี้” สนธยาเสริมแล้วทั้งคู่ก็หัวเราะด้วยความชอบใจ “เงียบ!! หยุดแซวเพื่อนได้แล้ว” พิชัยตวาดด้วยความโมโห ทำให้ทั้ง 2 คน หยุดหัวเราะในทันที…

             จากนั้นรชฏก็พูดต่อว่า “สำหรับงานที่จะทำในสัปดาห์นี้ คือ จะติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจนับจำนวนชิ้นงานที่ท้ายไลน์การผลิต ซึ่งจะเสร็จภายในวันศุกร์นี้ครับ ดังนั้น ผมต้องขอผู้ช่วยอีก 2 คน เพื่อติดตั้งและตรวจสอบระบบครับ” “ว่าแล้ว สงสัยจะทำเองไม่เป็น ก็คนมันเรียนรู้ช้า ข้าเข้าใจสงสัยจะเรียนมาไม่ตรงสาขา แถมด้วยหน้าตาไม่ดี การพัฒนาถึงได้เหมือนเต่าหัดเดิน” สนธยาแซวอีกครั้ง “ถูกต้องนะครับ เอาไปเต็ม 10 เลย” กวีพูดเสริม จากนั้นทั้ง 2 คนก็หัวเราะจนเสียงดังลั่นห้อง “ปัง!!” พิชัยยกสมุดบันทึกที่วางอยู่ตรงหน้าฟาดกับโต๊ะ จากนั้นก็ตะโกนลั่นห้องว่า…“เงียบเดี๋ยวนี้!! ไอ้ 2 ตัว เอ็งหุบปากได้แล้ว!! ข้าทนฟังเอ็ง 2 คนมาตั้งนาน พยายามจะห้ามปราม ก็ยังจะรั้นตะแบงพูดพล่ามอยู่ได้ เอ็ง 2 ตัวนี่โคตรแย่เลย!! ข้าผิดหวังในตัวเอ็ง 2 คนจริงๆ” สนธยาและกวี สะดุ้งโหยง ขนหัวลุกซู่ด้วยความตกใจ บรรยากาศในห้องอึมครึมมาก ทั้งห้องเงียบกริบ ณ ตอนนั้นทุกคนในห้องตกใจเพราะไม่คิดว่าผู้จัดการจะแสดงอาการจนหน้าแดง นัยน์ตาแดงหูแดงด้วยความยั๊วะขนาดนั้น ซึ่งลูกน้องไม่เคยเห็นผู้จัดการเป็นแบบนี้มาก่อน ตั้งแต่ร่วมงานกันมาเกือบ 5 ปี หลังจากเวลาผ่านไปไม่กี่อึดใจ พิชัยก็พูดเสียงดังว่า “เมื่อไหร่เราจะหยุดพฤติกรรมดูถูก เหยียดหยามผู้อื่นเสียที พวกเอ็งรู้ไหมว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมันน่ารังเกียจมากๆ พวกคนพูดอาจจะสนุกสนาน พอใจ และมีความสุข แต่สำหรับคนที่เขาโดนกระทำ โดนดูถูก เอ็งคิดว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร?” “เฮ้ย! ไอ้สนธยา ถ้ามีคนคอยซ้ำเติมเอ็ง ว่าเอ็งตัวเตี้ย ทำงานผิดพลาดเป็นประจำ ตัวเหม็นกลิ่นเหล้าและคอยล้อเลียนท่าเดินของเอ็ง เอ็งจะรู้สึกยังไงวะ!!”สนธยาก้มหน้ามองโต๊ะแต่ไม่ตอบ…“ไอ้กวี ถ้ามีคนมาแซวเอ็งว่า ไอ้ตัวดำ หัวหยิกอย่างกับฝอยขัดหม้อพูดจากับคนไม่รู้เรื่อง แถมชอบเกี่ยงงานให้คนอื่นทำตลอด เอ็งจะรู้สึกยังไง?” กวีก้มหน้ามองโต๊ะ แล้วก็ไม่ตอบเช่นกัน

             ในห้องตอนนั้นร้อนระอุเหมือนอยู่กลางทะเลทรายตอนกลางวัน ทั้งๆที่เปิดแอร์อุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส ถ้าเอ็ง 2 คนไม่ตอบ ข้าก็มีเรื่องจะเล่าให้เอ็ง 2 คนฟังและเมื่อเล่าจบแล้วจะมีคำถามให้เอ็ง 2 คนตอบ เอ็งตั้งใจฟังกันให้ดีๆ เรื่องก็มีดังนี้ ที่โรงงานเราเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นข้ายังเป็นหัวหน้างานอยู่ โรงงานของเราก็เล็กๆ มีพนักงานประมาณร้อยกว่าคน ตอนนั้นยังไม่มีตำแหน่งผู้จัดการเสียด้วยซ้ำ ข้านี่แหละเป็นหัวหน้างานที่ใหญ่ที่สุดในโรงงานนั้น เรื่องก็มีอยู่ว่า…มีพนักงานหญิงคนหนึ่งชื่อต่าย เป็นคนหน้าตาน่ารัก นิสัยดี สุภาพ เรียบร้อย พูดจาอ่อนโยน ทำงานเรียบร้อย แต่เธอมันจะทำงานช้ากว่าเพื่อนร่วมงานที่เข้างานมาในวันเดียวกัน
หลังจากต่ายทำงานที่โรงงานของเราได้ประมาณเกือบๆ 4 เดือน ซึ่งก็เป็นเวลาที่จะประเมินการทดลองงาน คืนวันหนึ่งประมาณตี 1 ข้าก็ได้รับโทรศัพท์จาก รปภ. ที่บริษัท เขาบอกว่าตอนนี้ “มีพนักงานกินยาฆ่าตัวตายในห้องน้ำ”
คำถามข้อแรก ข้าขอถามเอ็ง 2 คน ไอ้สนธยา ไอ้กวี ถ้าเอ็งเป็นข้าแล้วเอ็งรับโทรศัพท์แบบนี้ “เอ็งจะมีความรู้สึกอย่างไร?” “ตกใจมากๆ ครับ” สนธยาตอบอย่างรวดเร็ว “ผมก็กลัวจนทำอะไรไม่ถูกเหมือนกันครับ” กวีพูดเสริม
“ดี! ขอบใจมาก” พิชัยตอบกลับ แล้วเล่าต่อว่า…“ใช่… ข้าก็รู้สึกอย่างเอ็ง 2 คนเหมือนกัน หลังจากที่ข้าตั้งสติได้ ข้าก็รีบโทรศัพท์ไปสั่งการให้ลูกน้องที่เป็นหัวหน้ากะกลางคืนให้พาน้องเขาออกมาจากห้องน้ำ จากนั้นข้าก็โทรประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท ซึ่งเขาก็ช่วยกันประสานงานติดต่อรถพยาบาลแล้วข้าก็รีบขับรถมาที่โรงงานทันที เอ็ง 2 คนคิดดูนะ ตอนนั้นข้าสวมเสื้อยืดและกางเกงขาสั้น กางเกงในยังไม่ได้สวมเลย เพราะรีบ สวมรองเท้าแตะ รีบตะบึงตะบันขับรถตอนตี 1 ตี 2 เพื่อเข้ามาโรงงานให้เร็วที่สุด”ข้าขอถามเอ็งว่า “ถ้าเอ็ง 2 คนเป็นข้าในตอนนั้น เอ็งจะมีความรู้สึกอย่างไร?” “ผมก็กลัว เสียขวัญ กังวลครับ” สนธยาตอบ “ผมก็มือสั่นกลัวน้องเขาจะเป็นอะไรมาก” กวีตอบเสริม “ดี! ขอบใจมาก” พิชัยตอบกลับ แล้วเล่าต่อว่า…

          “ใช่ ข้าก็รู้สึกเหมือนกับเอ็ง โชคดีที่บ้านของข้าห่างจากโรงงานไม่มาก ขับรถประมาณ 10 นาทีก็ถึง ด้วยเพราะเวลานั้นถนนก็โล่งแทบนับรถได้เลย ทั้งถนนมีรถไม่ถึง 10 คัน แต่เอ็งเชื่อไหม ความรู้สึกของข้าในตอนนั้น 10 นาที แต่เหมือนกับเวลาเดินช้าเป็นชั่วโมงเลย หลังจากที่ข้ามาถึงโรงงานแล้ว ข้าก็เห็นน้องเขานอนพักในห้องพยาบาล มีเพื่อนมาช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น 2-3 คน และไม่นานรถพยาบาลก็มาถึงตอนนั้นข้าจำได้แม่นยำ เสียงไซเรนของรถพยาบาลดังลั่นสนั่นนิคมฯเลยเอ็งเอ้ย! พนักงานในโรงงานต่างๆ ที่เขาทำงานกะกลางคืน ก็แห่ออกมาดูที่รั้วของโรงงานเพียบ!! หลังจากเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วเขาก็นำตัวน้องต่ายขึ้นรถเข็นผู้ป่วยออกจากห้องพยาบาลไปที่รถแล้วก็พาน้องเขาไปส่งที่โรงพยาบาล ซึ่งก็ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ตอนนั้นเวลาผ่านไปเร็วมากๆ หลังจากที่น้องเขาขึ้นรถพยาบาลแล้ว ข้าก็สั่งให้น้องๆ กลับไปทำงานแล้วข้าก็ขับรถตามไปที่โรงพยาบาลต่อ เมื่อถึงโรงพยาบาลน้องเขาก็เริ่มมีสติมากขึ้น พูดคุยได้พยาบาลก็รักษาตามขั้นตอนจนน้องเขาดีขึ้นตามลำดับน้องต่ายอยู่โรงพยาบาล 1-2 วัน แล้วก็กลับมาพักฟื้นที่บ้านอีก 2 วันก็หายป่วย ร่างกายกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
เมื่อน้องเขากลับมาทำงานแล้ว เราก็มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง (Fact Finding) ทำให้รู้ว่า น้องเขาดื่มน้ำยาล้างห้องน้ำเข้าไปและสาเหตุที่ตัดสินใจดื่มน้ำยาล้างห้องน้ำก็เพราะว่าโดนเพื่อนร่วมงานพูดดูถูก หาว่าเธออ่อยเหยื่อ ให้ท่าผู้ชายคนโน้นที คนนี้ทีหรือไม่ก็ดีแต่ใช้ปากทำงาน ใช้มือทำงานไม่เป็น หรือที่ร้ายสุด คือ หาว่าเธอไปแย่งสามีชาวบ้าน ทำให้เธอน้อยใจ เธอบอกว่าเธอไม่ได้เป็นคนแบบนั้น เธอพยายามอธิบายแต่ก็ไม่มีใครฟัง มีคนนินทาว่าร้าย แถมใส่ร้ายเธอ ซึ่งตอนแรกเธอก็ไม่คิดอะไร แต่วันที่เธอตัดสินใจดื่มน้ำยาล้างห้องน้ำเป็นเพราะว่า เธอมีปัญหากับแฟน เพราะมีคนแอบไปหาแฟนของเธอแล้วกล่าวหาว่าเธอเป็นคนไม่ดี ไปมีอะไรกับผู้ชายในโรงงาน ซึ่งแฟนเธอก็หูเบา ไปเชื่อลมปากของคนอื่น จึงทำให้ทะเลาะกันอย่างรุนแรง ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เธอจึงตัดสินใจทำอย่างนั้นลงไป

          และเธอก็ขอโทษกับผู้ที่เดือดร้อนทั้งหมดด้วย จากนั้นเธอก็ตัดสินใจลาออก เพราะไม่สามารถทนทำงานที่นี่ได้อีกต่อไป” คราวนี้ข้าขอถามคำถาม 7 ข้อ ขอให้พวกเราช่วยกันตอบดังนี้ ข้อแรก “เมื่อเกิดเหตุการณ์พนักงานกินยาฆ่าตัวตายในโรงงานจะเกิดปัญหาและความสูญเสียอะไรบ้าง?” “เสียเวลาการทำงาน เสียชื่อเสียงของพนักงานและบริษัทพนักงานเสียขวัญ เสียกำลังใจ เสียปริมาณการผลิต เสียประวัติ อาจทำให้ส่งสินค้าไม่ทัน และบริษัทต้องโดนปรับเงิน พนักงานกลัวผีถ้ามีคนตายจริงๆ ในโรงงาน” สนธยาและกวี ช่วยกันตอบ ข้อที่สอง “เราจะมีความรู้สึกอย่างไร? เมื่อโดนเพื่อนร่วมงานล้อเลียน หรือพูดดูถูกดูแคลน ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือใส่ร้ายป้ายสีแบบนี้” “เสียใจครับ ไม่อยากทำงานต่อ” สนธยาตอบ “ผิดหวัง และหมดกำลังใจครับ” กวีตอบเพิ่มเอาล่ะ คราวนี้ข้าขอถามพวกเราทุกคนต่อเลยนะว่า ข้อที่สาม “ทำไมเพื่อนร่วมงานบางคนจึงชอบไปล้อเลียน พูดดูถูกดูแคลน
ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น” “สนุกดีครับ อยากให้คนอื่นหัวเราะ อยากสร้างบรรยากาศไม่เครียดในที่ทำงาน เขาไม่คิดถึงผลที่จะตามมามั้งครับ” ทุกคนช่วยกันตอบ ข้อที่สี่ “ทำอย่างไร? เราจึงจะไม่เป็นคนที่ชอบล้อเลียน พูดดูถูกดูแคลนดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น” “เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา มีสติ คิดก่อนพูด” พนักงานแต่ละคนช่วยกันตอบ ข้อที่ห้า “เราจะทำอย่างไร? กับพนักงานที่มีนิสัยชอบล้อเลียน พูดดูถูกดูแคลน ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น” “ตักเตือน ด่าคนที่พูดทันที สั่งไม่ให้พูดเด็ดขาด รีบตัดบททันที” พนักงานแต่ละคนช่วยกันตอบ ข้อที่หก “เราจะทำอย่างไรกับพนักงานที่โดนกระทำ คือ โดนล้อเลียน พูดดูถูกดูแคลน โดนดูหมิ่น โดนเหยียดหยาม หรือโดนใส่ร้ายป้ายสี”

         “พูดให้กำลังใจ เป็นพี่เลี้ยงให้ คอยอยู่ใกล้ๆ ให้คำแนะนำหรือชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิต ช่วยพิสูจน์ความจริง ไปกินข้าวด้วย” ทุกคนช่วยกันตอบ ข้อที่เจ็ด “พนักงานในแผนกของเราทุกคน จะไม่พูดล้อเลียน ดูถูกดูแคลนใส่ร้ายป้ายสี หรือแสดงท่าทางที่แสดงออกถึงการดูหมิ่นเหยียดหยามเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้อื่นได้หรือไม่?” “ได้ครับผม” พนักงานทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน จากนั้นก็ปรบมือพร้อมกันจนเสียงดังลอดออกไปนอกห้องประชุมสนธยาและกวี ยืนขึ้น ยกมือไหว้ขอโทษพิชัย แล้วก็ยื่นมือไปหารชฏ ขอจับมือเพื่อขอโทษในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นและสัญญาว่าจะไม่ล้อเลียน ดูถูกดูแคลน หรือแสดงท่าทางถึงการดูหมิ่น
เหยียดหยามเกียรติและศักดิ์ศรีของรชฏอีก ซึ่งรชฏก็ให้อภัยเพื่อนทั้งสองหลังจากปรับความเข้าใจกันพนักงานภายใต้การบริหารของพิชัยก็มีความสมัครสมานสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การทำงานก็ราบรื่นและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จากเรื่องราวที่เราได้เรียนรู้มานี้ จะพบว่าสอดคล้องกับพฤติกรรมที่เรียกว่า บูลลี่ (Bully) คือ การใช้กำลังที่เหนือกว่าเพื่อข่มขู่ การกลั่นแกล้ง การล้อเลียน การดูถูกเหยียดหยาม การทำให้เสียเกียรติ ทำให้ผู้อื่นเสียใจ ทำให้อับอาย เสียหน้าหรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกายเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นและยังคงมีอยู่ในหลายองค์กร ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ไม่สมควรประพฤติโดยเด็ดขาดนะครับ
แม้ผู้ที่เป็นคนกระทำอาจจะเกิดความสนุก สะใจ มีความสุข แต่ผู้ที่ถูกกระทำนั้นอาจจะแย่ทั้งร่างกายและจิตใจไปทั้งชีวิต ก็เป็นได้นะครับ จากบทความนี้ถ้าเรานำมาถอดเป็นข้อๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อลด
หรือกำจัดพฤติกรรมการบูลลี่ในองค์กรได้ดังนี้ แนวทางการลดการบูลลี่ในองค์กร

         1. ผู้บริหารให้ความสำคัญกับการลดพฤติกรรมการบูลลี่

        2. ออกกฎเพื่อควบคุมพฤติกรรมการบูลลี่ เช่น ถ้าใครบูลลี่ผู้อื่นจะต้องโดนทำโทษ

        3. กำหนดช่องทางให้มีการสื่อสารเรื่องการโดนบูลลี่ถึงผู้บริหารระดับสูงโดยตรง

       4. สร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการบูลลี่ เช่น ภาพวาด ข้อความคำขวัญต่อต้านความรุนแรง เป็นต้น

       5. สร้างให้พนักงานเกิดความตระหนักในการ
                     5.1 ตั้งสติ คิดก่อนพูด และคิดก่อนทำ
                     5.2 เอาใจเขามาใส่ใจเรา
                     5.3 คิดถึงผลกระทบด้านลบจากผู้ที่โดนกระทำ
                     5.4 กรณีที่พบการบูลลี่ ให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องรีบหยุดพฤติกรรมนั้นทันที
                     5.5 ให้กำลังใจผู้ที่โดนกระทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความรุนแรงและลดพฤติกรรมการบูลลี่ในองค์กรได้นะครับ สุดท้าย
 

         ขอฝากคมคิดสะกิดใจเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานที่ว่า…“เอาใจเขามาใส่ใจของเรา คิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นก่อนที่เราจะพูดหรือแสดงพฤติกรรมอะไรออกไป ทำได้อย่างนี้เราก็จะพบกับความสงบสุขอย่างยั่งยืนได้อย่างแน่นอน”

         โชคดีนะครับ

Top 5 Contents