
สัญญาฝึกอบรมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง กับปัญหาข้อสัญญาไม่เป็นธรรม
28 พฤษภาคม 2565
การทำงานในปัจจุบัน จำเป็นจะต้องอาศัยองค์ความรู้แบบบูรณาการ การพัฒนาความรู้และทักษะในการทำงานของบุคคลากรในบริษัท นับได้ว่าเป็นเรื่องที่นายจ้างจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายจ้างลงทุนส่งลูกจ้างไปฝึกอบรม นายจ้างก็ย่อมที่จะคาดหวังผลตอบแทนจากลูกจ้างในแง่ที่ว่า การทำงานของลูกจ้างก็ควรที่จะมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และลูกจ้างก็จะอยู่ทำงานกับนายจ้างต่อไประยะเวลาหนึ่ง
ในทางปฏิบัติ เมื่อนายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกอบรม นายจ้างก็จะตกลงทำข้อผูกมัดกับลูกจ้างเพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อลูกจ้างเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้ว ลูกจ้างจะนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมมาใช้เพื่อทำงานให้เกิดประโยชน์แก่นายจ้าง โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาไว้ด้วยว่า ลูกจ้างจะต้องอยู่ทำงานกับนายจ้างนานเท่าใด ซึ่งประเด็นนี้นำไปสู่ข้อถกเถียงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะฝ่ายนายจ้างก็ย่อมที่จะต้องการผูกมัดลูกจ้างให้ทำงานต่อไปให้ได้นานที่สุด ส่วนฝ่ายลูกจ้างก็อยากที่จะให้ข้อผูกมัดนี้มีระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนี้ เมื่อความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายสวนทางกัน ก็นำไปสู่คำถามที่ว่า ข้อกำหนดกรณีที่ลูกจ้างจะต้องกลับมาทำงานกับนายจ้างภายหลังจากการฝึกอบรมนั้น ควรกำหนดระยะเวลานานเท่าใด
การกำหนดระยะเวลาที่ลูกจ้างจะต้องกลับมาทำงานกับนายจ้างนั้น ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าควรเป็นเวลานานเท่าใด แต่อาศัยอ้างอิงจากกรณีข้อพิพาทที่นำขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาประเด็นดังกล่าว โดยเมื่อลูกจ้างไม่เห็นด้วยกับระยะเวลาที่นายจ้างกำหนดไว้ในสัญญาฝึกอบรม ลูกจ้างก็จะโต้แย้งว่า ข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งข้อกฎหมายในส่วนนี้ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยเรื่องแรงงาน แต่เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งชื่อว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โดยมีมาตราสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
มาตรา 3 : บทนิยามความหมาย
“ข้อสัญญา” หมายความว่า ข้อตกลง ความตกลง และความยินยอม รวมทั้งประกาศและคำแจ้งความเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด
มาตรา 4 : ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม
มาตรา 4 ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝาก ที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติ หรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น
(1) ข้อตกลงยกเว้น หรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญา
(2) ข้อตกลงให้ต้องรับผิด หรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
(3) ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ
(4) ข้อตกลงให้สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือปฏิบัติตามสัญญาในระยะเวลาที่ล่าช้าได้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(5) ข้อตกลงให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง หรือกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา
(6) ข้อตกลงในสัญญาขายฝาก ที่ผู้ซื้อกำหนดราคาสินไถ่สูงกว่าราคาขาย บวกอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี
(7) ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดราคาค่าเช่าซื้อ หรือกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่สมควร
(8) ข้อตกลงในสัญญาบัตรเครดิตที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าใช้จ่าย หรือประโยชน์อื่นใดสูงเกินกว่าที่ควรในกรณีที่ผิดนัด หรือที่เกี่ยวเนื่องกับการผิดนัดชำระหนี้
(9) ข้อตกลงที่กำหนดวิธีการคิดดอกเบี้ยทบต้น ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร
ในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสาม จะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ให้นำมาตรา 10 มาใช้โดยอนุโลม
มาตรา 5 : ข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ
มาตรา 5 ข้อตกลงจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ให้มีผลบังคับใช้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
มาตรา 10 : การวินิจฉัยผลบังคับของข้อสัญญา
มาตรา 10 ในการวินิจฉัยข้อสัญญา จะมีผลบังคับเพียงใดจึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ให้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวง รวมทั้ง
(1) ความสุจริต อำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ ความสันทัด จัดเจน ความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ ทางเลือกอย่างอื่น และทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง
(2) ปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น
(3) เวลาและสถานที่ในการทำสัญญา หรือในการปฏิบัติตามสัญญา
(4) การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
จากบทกฎหมายตามข้างต้นจะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อผูกมัดในสัญญาฝึกอบรมเป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ประกอบรวมเข้าด้วยกัน ดังนั้น การกำหนดข้อผูกมัดในสัญญาฝึกอบรมก็ควรเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล โดยจะต้องไม่ก่อภาระให้อีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป จนมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอย่างไรจึงจะถือว่าสมควรในแต่ละกรณี ก็อาจจำเป็นจะต้องอ้างอิงจากคำพิพากษาในอดีตมาพิจารณา และศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดข้อผูกมัดและเงื่อนไขในสัญญาฝึกอบรม ดังตัวอย่างคำพิพากษาดังต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 690/2552
ข้อตกลงในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ ที่กำหนดให้ลูกจ้างต้องกลับมาทำงานกับนายจ้างเป็นเวลา 3 ปี มิฉะนั้น ต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่าของจำนวนค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างจะต้องชดใช้คืน พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ลูกจ้างสามารถเลือกได้ว่าจะกลับมาทำงานกับนายจ้าง หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนนายจ้างพร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับ 3 เท่าของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืน ข้อกำหนดเบี้ยปรับ 3 เท่า จึงไม่เป็นข้อกำหนดที่ทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ แต่นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน (รวมวันเดินทาง 2 วัน) โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 300,000 บาท นายจ้างเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของลูกจ้างไป 223,871.70 บาท ข้อกำหนดที่ให้ลูกจ้างต้องกลับมาทำงานกับนายจ้างในตำแหน่งและหน้าที่ที่นายจ้างกำหนดเป็นเวลาถึง 3 ปี จึงทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5 ส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในขอบเขต ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติไว้ และศาลแรงงานกลางได้ลดอัตราให้เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว จึงไม่ทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ
จากคำพิพากษาฎีกาที่ผู้เขียนยกมาเป็นตัวอย่างนั้น ข้อกำหนดในสัญญาฝึกอบรมจะต้องไม่เป็นข้อกำหนดที่ทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้
1. การกำหนดระยะเวลาที่ลูกจ้างจะต้องอยู่ทำงานให้แก่นายจ้าง ภายหลังจากที่ลูกจ้างฝึกอบรมเสร็จสิ้น
การกำหนดกรอบเวลาของนายจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างกลับมาทำงานให้แก่นายจ้างไม่ควรยาวนานจนเกินไป โดยกรอบเวลาที่เหมาะสมนั้นสูงสุดไม่ควรเกิน 2 ปี แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า นายจ้างจะบังคับใช้กรอบเวลาสูงสุด 2 ปีได้ในทุกกรณีเสมอไป แต่นายจ้างจำเป็นจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบร่วมด้วย เช่น ลักษณะงานของลูกจ้าง ระยะเวลาที่ใช้ฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายของนายจ้างจากการให้ลูกจ้างไปฝึกอบรม เป็นต้น
2. การกำหนดอัตราเบี้ยปรับ หากลูกจ้างลาออกก่อนที่จะครบเวลาตามข้อผูกพันในสัญญาฝึกอบรม
การกำหนดเบี้ยปรับ หากลูกจ้างลาออกก่อนครบเวลาเป็นจำนวน 2 เท่า หรือ 3 เท่าของจำนวนค่าใช้จ่ายของนายจ้าง ก็อาจใช้บังคับแก่ลูกจ้างได้ แต่อัตราเบี้ยปรับนั้นหากสุดท้ายคู่ความนำคดีฟ้องต่อศาล ศาลก็สามารถมีดุลพินิจพิจารณาปรับลดจำนวนอัตราเบี้ยปรับได้ตามที่ศาลเห็นสมควร
3. การกำหนดข้อสัญญาให้ลูกจ้างสามารถชดใช้เป็นเงินคืนแก่นายจ้าง แทนการอยู่ทำงานตามสัญญาฝึกอบรม
ข้อสัญญาควรกำหนดทางเลือกให้แก่ลูกจ้าง กรณีหากลูกจ้างต้องการจะลาออกก่อนครบเวลาตามสัญญาฝึกอบรม ก็ให้ลูกจ้างสามารถชดใช้เป็นเงินคืนให้แก่นายจ้างแทน โดยจำนวนเงินที่นายจ้างจะเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้แทนการอยู่ทำงานกับนายจ้าง ควรเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแก่นายจ้างจากการส่งลูกจ้างไปฝึกอบรมดังกล่าวแล้วนำมาคำนวณตามส่วน โดยหักจำนวนเงินในส่วนวันที่ลูกจ้างได้กลับมาทำงานแล้วออกเสีย
สุดท้ายนี้ ก่อนที่นายจ้างจะกำหนดเงื่อนไขในสัญญาฝึกอบรม ก็ควรพิจารณาเพื่อมิให้เกิดภาระแก่ลูกจ้างเกินสมควร ฝ่ายลูกจ้างก็ควรคิดทบทวนให้ดีก่อนว่า ตนเองพร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาฝึกอบรมได้หรือไม่ และหากต่อมาเกิดเหตุจำเป็นใดๆ ที่ลูกจ้างจะต้องลาออกก่อนครบเวลา นายจ้างและลูกจ้างก็ควรที่จะหันหน้าพูดคุยกัน ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพื่อขอลดจำนวนค่าเสียหายและค่าปรับต่อกันเสีย ย่อมเป็นการดีกว่าที่ต่างฝ่ายต่างถือทิฐิ หรือใช้เงื่อนแง่ในสัญญามาต่อสู้กัน ซึ่งหากทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงกันได้ด้วยดี ก็ควรจัดทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานต่อไป
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ