กำลังโหลด...

×



HRM / HRD ติดกล้องในที่รโหฐาน ผิดหรือถูก ท่าจะดูเป็นการรบกว...

magazine image
HRM / HRD

ติดกล้องในที่รโหฐาน ผิดหรือถูก ท่าจะดูเป็นการรบกวน (ความเป็นส่วนตัว) สอดส่อง สอดแนม หรือสอดรู้สอดเห็น สอดเป็น สอดตาย

 

A picture containing graphical user interface

Description automatically generated            

ถ้าใช้กล้อง จะละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวขนาดไหน? สอดส่อง หรือสอดรู้สอดเห็น จับผิด จับถูก จับให้มั่นคั้นให้ตาย อย่างนั้นหรือ? บทความตอนนี้ อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ ได้ให้มุมมองทั้งแง่กฎหมายแรงงาน อาญา และ PDPATHAI กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไปพร้อมๆ กันนะครับ ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่งยวด

เอาที่เกี่ยวกับเรื่อง “Sexual harassment” ก่อน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 16 ได้มีการบัญญัติเอาไว้ว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกินคุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง” และมาตรา 147 บัญญัติโทษว่า “ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท” อีกทั้งเมื่อได้ไปดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ฯลฯ”

เราจะเห็นได้ครับว่า ความผิดฐานล่วงเกินทางเพศตามมาตรา 397 ที่พูดไว้นั้น ไม่ได้บัญญัติอยู่ในความผิดเกี่ยวกับเพศ เหมือนความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และความผิดฐานกระทำอนาจาร แต่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิบุคคลในเรื่องความเป็นส่วนตัว ที่ไม่ให้กระทำในที่รโหฐาน ซึ่งกฎหมายเดิมลงโทษเฉพาะก่อความเดือดร้อนรำคาญที่กระทำในที่สาธารณะเท่านั้น การคุกคามการกระทำที่ส่อไปในทางล่วงเกินทางเพศ ก็คือ คุ้มครองสิทธิของบุคคลในความเป็นอยู่ส่วนตัวด้วย อันจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 32 ซึ่งเป็นมาตราที่นำมาอ้างใช้กับเรื่อง Privacy Rights และนำมาอ้างอิงใช้ในกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) ของไทยเราในปัจจุบันด้วยเช่นเดียวกันครับ

เหตุผลที่นำความผิดฐานล่วงเกินทางเพศ ไปบัญญัติไว้ในเรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว ก็เพราะการล่วงเกินทางเพศไม่ได้เป็นการถูกเนื้อต้องตัว หรือลูบไล้ปาล์มโอลีฟกันโดยตรง หรือเหมือนอย่างข่มขืนหรืออนาจาร แต่มันเป็นเรื่องผลกระทบของการไปรบกวนทางจิตใจมากกว่า โดยมีวัตถุประสงค์ของทางเพศไปแจมด้วย เช่น พูดจาแทะโลม จงใจที่จะเดินตาม ยืนเบียดเสียดร่างกาย การส่งภาพข้อความเกี้ยวพาราสีเป็นประจำต่อเนื่อง การเล่าเรื่องลามกอนาจารให้ฟัง การจ้องมองสัดส่วนรูปร่าง หรือมองตรงส่วนอวัยวะเพศของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นหน้าอก ต่ำกว่าเอวลงมา จ้องกระโปรงสั้นรัดรูป เฝ้าหน้าบ้านหญิงตอนดึก สะกดรอยตาม ถ่ายภาพใต้กระโปรง แอบดูในห้องน้ำ ทำให้เกิดความรู้สึกวิตกจริต เสียสุขภาพจิต ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ในแต่ละวัน ซึ่งเรื่องแบบนี้ต่างประเทศฟ้องกันเนืองๆ บ้านเราก็เริ่มปรากฏคดีกันมากขึ้นตามลำดับ มีคำพิพากษาฎีกาหนึ่ง คือ

คำพิพากษาฎีกาที่ 12983 / 2558 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยแอบตั้งกล้องบันทึกภาพไว้ที่ใต้โต๊ะทำงานของหญิงสาวบันทึกสรีระร่างกาย ตั้งแต่ลิ้นปี่จนถึงอวัยวะช่วงขา น่อง เห็นกระโปรงที่สวมใส่ขาท่อนล่างและขาท่อนบน โดยกล้องมีแสงไฟสำหรับเพิ่มความสว่าง เพื่อให้มองเห็นภาพบริเวณใต้กระโปรงชัดเจนขึ้น การกระทำจึงส่อให้เห็นถึงความใคร่และกามารมณ์ โดยผู้เสียหายไม่ได้หรือยินยอม เป็นการกระทำไม่เหมาะสมทางเพศต่อผู้เสียหาย อยู่ในภาวะไม่สามารถขัดขืนได้ แม้มิได้สัมผัสเนื้อตัวร่างกายผู้เสียหายโดยตรง การกระทำของจำเลยถือเป็นกระทำผิดอนาจารผู้เสียหาย เป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น ทำให้เกิดความอับอาย เดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถาน มีความผิดตามมาตรา 397 พิพากษาจำคุก 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

มีข้อสังเกตว่า คดีนี้น่าจะกระทำผิดและฟ้องกัน ในขณะมาตรา 397 ยังไม่ได้ถูกแก้ไข เพิ่งมาแก้เพิ่มเติมเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งกฎหมายเดิมไม่พูดถึงความผิดล่วงเกินทางเพศเอาไว้ด้วยครับ หากมาฟ้องกันหลังจากนั้นแน่นอนทีเดียวว่า ย่อมฝ่าฝืนมาตรา 397 วรรคสอง เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดที่ชัดเจน และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายยิ่งกว่าฐานความผิดเดิมที่พิพากษาเอาไว้ด้วยซ้ำไป

คราวนี้เรามาพิจารณาเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่ง ที่โลกโซเชียลออกมาวิจารณ์ยับว่า ผับดังย่านบางแสน ติดกล้องวงจรปิดในห้องน้ำ ด้านเจ้าของร้านชี้แจง ติดมานานแต่ไม่มีเจตนาร้าย เป็นการป้องกันเหตุอาชญากรรม จะเข้าข่ายอะไรมั้ย?

จากกรณีโลกโซเชียลมีการแชร์ข้อความว่า “ผับดังแห่งหนึ่งในบางแสน มีวัยรุ่นและนักศึกษานิยมไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งมีน้องนักศึกษาหญิงเหลือบไปเห็นว่าผับแห่งนี้ติดกล้องวงจรปิดในห้องน้ำ บางทีสาวๆ เข้าห้องน้ำไปจัดทรงเสื้อผ้า ล้วงเสื้อ ล้วงกางเกง น้องจึงรู้สึกถูกละเมิดและไม่ปลอดภัย ต่อมาทางผับได้ออกมาชี้แจงผ่านเพจ แต่ล่าสุดก็ได้ลบโพสต์ไปแล้วครับ ทีนี้คนที่เคยไปผับนี้เขาก็ไม่สบายใจ คอมเมนต์บานตะไทเลย”

ว่ากันว่า กล้องที่ติดนั้น มีผู้เข้ามาคอมเมนต์ว่าไม่เหมาะสม และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่ขณะเดียวกันก็มีคนเห็นต่าง ซึ่งระบุว่าช่วยในเรื่องอาชญากรรม และช่วยเป็นหูเป็นตาเวลาเมาแล้วลืมของในห้องน้ำ เรื่องแบบนี้ใช้ความรู้สึกและวิจารณญาณของวิญญูชนคนทั่วไปมาตัดสินผิดถูกไม่ได้ครับ ต้องดูว่ากฎหมายว่ายังไง เป็นเกณฑ์นำมาตัดสิน

ร้าน H2M ตั้งอยู่ริมถนนบางแสนสาย 2 ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี นายสุเมธ อนันต์พิสิษฐ์โชติ อายุ 35 ปี เจ้าของร้าน ซึ่งได้พาไปชี้จุดที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในห้องน้ำหญิงและห้องน้ำชาย โดยมุมกล้องจะเห็นว่า ส่องมาทางหน้าประตู โดยเน้นมุมที่หน้ากระจกและอ่างล้างมือ ไม่เห็นภายในห้องน้ำแต่อย่างใด ทั้งห้องน้ำหญิงและห้องน้ำชาย และจากสายตาเดินเข้าห้องน้ำจะพบกับกล้องวงจรปิดขนาดใหญ่ชัดเจน ไม่มีการหลบหรือปิดบังซ่อนเร้น (เป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ ว่างั้นเถอะ)

เจ้าของร้านเปิดเผยว่า ปกติทางร้านได้ติดกล้องวงจรปิดมานานกว่า 10 ปี แต่ก็ให้เป็นงงว่า ทำไมเป็นประเด็นรุนแรงในโลกโซเชียล เพราะจุดประสงค์ของทางร้านคือติดไว้เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรม และป้องกันการค้ายาเสพติดในห้องน้ำ ขอยืนยันไม่มีเจตนาร้าย อยากให้ลูกค้าเข้าใจในส่วนนี้ หากผิดพลาดประการใด พร้อมจะแก้ไข อีกทั้งทางร้านติดกล้อง ก็สามารถช่วยลูกค้าที่ดื่มแล้วลืมกระเป๋าและโทรศัพท์มือถือในห้องน้ำ มีคนหยิบไป ลูกค้ามาขอดูกล้องก็ตามคืนมาได้หลายรายก็จริง แต่ก็อย่าลืมทฤษฎีเหรียญบาทไม่ได้มีด้านเดียวเอาไว้ด้วยล่ะ บางทีเราคิดว่ารู้เท่าถึงการณ์ แต่มองด้านตรงกันข้ามจะกลับตาลปัตรเป็นรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ ก็ออกจะมีให้เห็นกันบ่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ทางร้านอยากฝากขอโทษหากลูกค้าไม่พอใจกับกล้องวงจรปิด ทางร้านก็พร้อมจะแก้ไขทำการถอดออก เพื่อให้ลูกค้าที่มาใช้บริการได้สบายใจเช่นเดิม ประเด็นนี้หากนำ PDPA มาพิจารณา ถือว่าภาพบุคคลและพฤติการณ์ที่กล้องสอดส่องไว้นั้น เป็น GPD (General Personal Data) ชัดเจนครับ ซึ่งถ้าถามเจ้าของร้านว่า คุณติดกล้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ไปเที่ยวผับและเข้าห้องน้ำหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ได้ขอความยินยอมกันไว้ครับ ก็ต้องมาดูว่าเข้ามาตรา 19 ที่บอกไว้ว่า เว้นแต่ บทบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบอกให้ทำได้มีหรือเปล่า เมื่อเป็นข้อมูลส่วนบุคคลประเภททั่วไป ก็ต้องไปดูมาตรา 24 ครับว่า เข้าข้อยกเว้นไหนบ้างใน 6 ข้อยกเว้น ถ้าพอจะปรับได้ตามความเข้าใจของเจ้าของร้านที่ให้ความเห็น จะอยู่ในมาตรา 24 (5) ที่ว่า...

“เป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือของบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่ประโยชน์ดังกล่าวมีความสำคัญน้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล”

แล้วจะอ้างใช้ฐานประโยชน์อันชอบธรรม (LEGITIMATE INTERESTs : Li) ได้หรือไม่?

วิเคราะห์จากข้อเท็จจริงได้ว่า

1. กล้อง cctv ถูกติดตั้งในห้องน้ำหญิงและห้องน้ำชาย โดยมุมกล้องส่องมาทางหน้าประตู เน้นมุมที่หน้ากระจกและอ่างล้างมือ ไม่เห็นภายในห้องน้ำเมื่อทำกิจกรรมส่วนตัวแต่อย่างใด และจากสายตา Data Subject ที่เดินเข้าห้องน้ำ จะพบกับกล้องวงจรปิดขนาดใหญ่ชัดเจน ไม่มีการแอบ หลบ หรือปิดบังซ่อนเร้น

2. วัตถุประสงค์ป้องกันอาชญากรรม และช่วยเป็นหูเป็นตา เวลาที่มีใครเมาแล้วลืมของในห้องน้ำ สามารถช่วยลูกค้าที่ลืมกระเป๋าและโทรศัพท์มือถือในห้องน้ำ ซึ่งมีคนหยิบไป ลูกค้ามาขอดูกล้องก็ตามคืนมาได้หลายราย 

ถ้าเราใช้หลักการประเมินฐานประโยชน์อันชอบธรรม (LIA - Legitimate Interest Assessments) มาวิเคราะห์ อาจารย์เรียกว่า “SER” ได้แก่

S : Safeguard (มาตรการปกป้อง) ผับเองต้องมีนโยบายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Notice) ที่เป็นธรรม สุจริต มีข้อตกลง ธรรมาภิบาล จริยธรรม คุณธรรม เคารพความเป็นส่วนตัว เป็นต้น ตรงนี้ถ้ามีก็ปลอดภัยครับ ก็ว่าตามเจตนารมณ์เจ้าของผับแหละ ดูแล้วเจ้าของผับก็มีเจตนาที่ดีอยู่ในประเด็นนี้มิใช่น้อย

E : Expectation (ความคาดหมายของเจ้าของข้อมูล) ต้องคาดหมายได้ในระดับวิญญูชน ใครๆ ก็ทำกันเป็นจารีตประเพณี ซึ่งถ้าเช็กดูแล้วไม่ค่อยเจอกันว่าจะติดกล้องในห้องน้ำ เพราะแม้ว่าจะส่องตรงกระจก ประตูเข้า-ออก ทางเดินหน้าห้องน้ำย่อยๆ แต่ละห้องไม่เห็นถึงภายในตัวห้องน้ำขณะทำธุระส่วนตัวก็ตาม แต่ก็ถือว่าตัวลูกค้าไม่มีความเป็นอิสระ คือมีความเกร็ง มีความกังวล เพราะเหมือนมีคนจ้องมอง ต้องเข้าใจว่ากล้องที่ติดนั้นเสมือนกับนัยน์ตาของมนุษย์ที่แอบจ้อง แอบมอง และแถมดีกว่าในตามนุษย์ตรงที่มันสามารถบันทึกไว้ด้วยนี่สิครับ จึงทำให้ลูกค้าเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่อาจคาดหมายได้ครับว่า ทำอย่างนี้แล้วลูกค้าจะโอเค เพราะอย่างน้อยการระวัง วิตกจริต จะทำให้การใช้ชีวิตในความเป็นส่วนตัวให้ธรรมชาติก็จะหมดไป มีความรู้สึกอึดอัดเข้ามาแทนที่ เช่น บางคนอาจจะตกแต่งร่างกาย ดึงเสื้อผ้า เลิกเสื้อผ้า จัดทรง ล้วง ควักอวัยวะของสาวเจ้าเพื่อจัดระเบียบให้ตัวเอง หรือกระทำการใดๆ ต่อหน้ากระจกอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ระวังและรักษามารยาททางจริตอยู่ตลอดเวลา ยิ่งถ้าเมาด้วยแล้วภาพหลุดต้องมี ยิ่งเห็นเป็นเพศเดียวกันก็มักไม่อายกัน จัดกันเต็มที่ อาจเปิดเผยโดยไม่ต้องระวังมากกว่าการอยู่กับเพศตรงข้าม

แต่หากจังหวะนั้นกล้องมันมาจับภาพนั้นไว้ได้ อาจติดโป๊ๆ วับๆ แวมๆ ก็เป็นไปได้ครับ จะทำให้รู้สึกถูกคุกคาม ไม่กล้าทำอะไรที่เป็นส่วนตัว หรือทำไปตอนเมา พอหายเมาถ้ามาได้เห็น เอ๊ะ! นั่นมันเราเหรอ? ขยี้ตาดูหลังสร่างคิดว่าไม่ใช่ตัวเรา อดอายปนขำไม่ได้ ตรงนี้ถือว่าคาดหมายไม่ได้เอาเสียเลยครับ ว่าเป็นประโยชน์ของลูกค้าที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นๆ และเป็นเรื่องที่ยอมรับกันค่อนข้างยากในความเป็นวิญญูชนคนทั่วๆ ไปนะครับ มันทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานในข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้รับการปกป้อง ถือว่าไม่ผ่าน ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีๆ เพราะ “...ประโยชน์ดังกล่าวมีความสำคัญน้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล” นั่นเองครับ

R :Risk (ความเสี่ยง) มองผลกระทบและความเสี่ยง โอกาส แนวโน้มที่อาจทำให้เสียหาย หรือถูกนำไปใช้ในทางเสื่อมเสียต่อสิทธิ เสรีภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล แน่นอนว่าถ้ามีติดภาพไม่เหมาะสมของลูกค้าหน้ากระจก ยิ่งคนเมาด้วยแล้ว ทำอะไรขาดสติ เผลอไผล ไม่รู้สึกตัว ก็จะมีภาพที่ไม่เหมาะสม เสียหาย เสื่อมเสียตามมาได้ ติดไว้หน้าห้องน้ำดีกว่ามั้ยครับ PLEAsE หมดปัญหาดี

สรุปว่า ผับจะอ้างฐานประโยชน์อันชอบธรรม (LEGITIMATE INTERESTs : Li) ไม่ได้ ไม่อยู่ในข้อยกเว้นของมาตรา 24 (5) ระวางโทษปรับทางปกครอง ไม่เกิน 3 ล้านบาท (มาตรา 83) ส่วนความผิดทางอาญาไม่มีครับ โชคดีไป

เหตุผลคือว่า เมื่อนำมาชั่งน้ำหนักกับความหวังดีของเจ้าของผับแล้ว วัตถุประสงค์ป้องกันอาชญากรรม และช่วยเป็นหูเป็นตาเวลาเมาแล้วลืมของในห้องน้ำ ดูจะเบากว่าสิทธิเสรีภาพ การใช้ชีวิตของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามหลัก SER ครับ ต้องขอบคุณความหวังดี แต่ติดหน้าห้องน้ำดีกว่า แม้ไม่เห็นจะๆ ว่าใครขโมยของลูกค้าออกจากห้องน้ำ แต่ดูพฤติการณ์และพิรุธของคนเข้า-ออกห้องน้ำ เพื่อนำมาปะติดปะต่อเชื่อมโยงได้นี่ครับ ไว้สอดส่องดูแลความปลอดภัยได้เหมือนกัน แม้จะไม่จะๆ ก็เถอะ อย่าให้มองเป็นสอดรู้สอดเห็น ทำให้เจตนาที่ดีแปรเปลี่ยนเป็นด้านลบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเลยครับ

อีกเคสหนึ่ง ตามนี้ครับ…

ผู้จัดการสาวนางหนึ่ง เธอวิ่งโร่แจ้งตำรวจว่า เจ้าของหอพักในจังหวัดอุดรธานี ติดกล้องแอบมองในห้องน้ำ และห้องนอน อ้างว่าติดเพื่อดูพฤติกรรมนักเรียนชายมั่วสุมเมื่อ 2 ปีก่อน แล้วลืมเอาออก ตำรวจไม่ปักใจเชื่อ ยึดกล้องไว้เป็นหลักฐานดำเนินการสืบสวนต่อไป...

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา แล้วเหมือนกับ พ.ต.ท.สิงหราช แก้วเกิดมี สารวัตรเวร สภ.เมืองอุดรธานี พร้อมคณะผู้สื่อข่าวไทยรัฐ เข้าตรวจสอบหอพักแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครอุดรธานี หลังได้รับแจ้งว่า หอพักดังกล่าวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดขนาดเท่ารูเข็มไว้ในห้องนอน และห้องน้ำในห้องพักทุกห้อง จากการตรวจสอบพบว่า หอพักมีทั้งหมด 5 ห้อง ทุกห้องจะมีกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นกล้องรูเข็ม ติดอยู่กับปลั๊กไฟ ติดตั้งอยู่บนฝ้าเพดาน ในห้องน้ำ และห้องนอน ซึ่งกล้องทุกตัวจะมีสายต่อเชื่อมโยงมายังบ้านของเจ้าของ ที่อยู่ติดกันกับห้องเช่า และจากการตรวจสอบบนฝ้าเพดานภายในบ้านของนายวิญญู ยังพบสายเมลของกล้องวงจรปิด เดินสายพาดมายังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่วางอยู่บริเวณห้องโถง แต่สายเมลดังกล่าวมีร่องรอยถูกตัดขาดไปแล้ว ซึ่งเป็นรอยตัดใหม่ๆ ส่วนฮาร์ดดิสก์ ซึ่งเป็นกล่องเก็บข้อมูล ได้ถูกถอดออกไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์เช่นกัน

ด้านเจ้าของหอพักให้การว่า ตนยอมรับว่าได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดจริง เพื่อสอดส่องดูพฤติกรรมผู้มาเช่าพักอาศัย แต่ได้ตัดสายกล้องทิ้งไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะช่วงนั้นได้ให้เด็กนักเรียนชายมาเช่าพัก แต่พากันส่งเสียงดัง ต่อมาจึงได้หยุดรับผู้ชาย และเปิดรับเฉพาะผู้หญิงมาเช่าอยู่แทน และลืมถอดกล้องวงจรปิดออก จึงเกิดเรื่องเข้าใจผิดขึ้น เบื้องต้นตำรวจได้ตรวจยึดกล้องวงจรปิด จำนวน 4 ตัว เอาไว้เป็นหลักฐาน และจะเชิญเจ้าของหอพักไปให้ปากคำเพิ่มเติมที่โรงพัก หากเป็นกรณีข้อหาอนาจารหรือถ้ำมอง งานนี้จะเข้าข่ายการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 แถมด้วย PDPA มาตรา 83 ปรับทางปกครอง ไม่เกิน 3 ล้านบาท

ฉะนั้น ก็พึงระวังการล่วงเกินทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ ไม่ว่าเจตนาหรือไม่เจตนา แม้จะหวังดีอย่างไรก็ต้องพิจารณาสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเป็นพื้นฐานสำคัญให้จงหนักด้วยนะครับ

Top 5 Contents