กำลังโหลด...

×



HRM / HRD “อวตาร” กับ “อวทาร์” อยู่ใต้ PDPA ไหม? เมื่อแอปจาก...

magazine image
HRM / HRD

“อวตาร” กับ “อวทาร์” อยู่ใต้ PDPA ไหม? เมื่อแอปจากความคิดสร้างสรรค์ของคนกับปัญญาประดิษฐ์ เปลี่ยนเราให้เป็นตัวการ์ตูน แล้วเกี่ยวอะไรกับ Pokémon

สุจิพงศ์ จันทร์ธร

21 พฤศจิกายน 2565

“อวตาร” กับ “อวทาร์” อยู่ใต้ PDPA ไหม? เมื่อแอปจากความคิดสร้างสรรค์ของคนกับปัญญาประดิษฐ์ เปลี่ยนเราให้เป็นตัวการ์ตูน และเกี่ยวอะไรกับ Pokémon ล่ะ งานนี้ต้องอ่านเฉลยให้รู้ความนัยจากอาจารย์กฤษฎ์กันได้เลยครับ 

“อวตาร” (อ่านว่า อะวะตาน) เป็นคำกริยา หมายถึง แบ่งภาคมาเกิดในโลก, ใช้แก่พระนารายณ์ “พระนารายณ์อวตารมาเป็นเต่า” หรือขอเสริมเพิ่มให้อีกครับ เช่น พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นปลา เรียกว่า “มัตสยา” เพื่อช่วยพระมนูไววัสวัตจากน้ำท่วมใหญ่ และเพื่อปราบอสูรหอยสังข์ชื่อ “สังขอสูร”

ส่วนคำว่า “อวทาร์” (Avatar) มาจากชื่อหนังดังระเบิด มีแนวโน้มอาจแซงหน้า Avenger : Endgame ขึ้นเป็นหนังทำเงินทั่วโลกสูงสุดอีกครั้งในปี 2021 ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาของประเทศไทย ได้ให้ความหมายว่าหมายถึง รูปแทนตัวผู้ใช้ในโลกเสมือนหรือเกม ซึ่งอาจเป็น 2 มิติ หรือ 3 มิติก็ได้ (คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มติเมื่อ 28 มิถุนายน 2562)

“อวทาร์” อยู่ในรูปตัวสะกดโรมัน แต่ยังเป็นภาษาสันสกฤตอยู่ แต่ความหมายกลายไปไกลอยู่เหมือนกัน หมายถึง ภาพแทนในโลกเสมือนหรือเกม ไปซะนั่น

ถ้าไปดูพจนานุกรมภาษาอังกฤษ จะถูกเก็บไว้ทั้ง 2 ความหมาย คือ ทั้งภาพแทน และการแบ่งภาค คราวนี้ต้องละเอียดขึ้นในการสื่อสารล่ะ จะใช้แทนกันมั่วๆ มันคงไม่เหมาะ เพราะสื่อความมันจะเพี้ยนไปเลย ถึงแม้จะมีรากศัพท์เดียวกันก็เถอะ อย่างคำยืมบาลีสันสกฤตที่เข้ามาในประเทศไทย 2 คำ คือ อัจฉริยะ กับ อัศจรรย์ เดิมทั้งคู่แปลว่า แปลก, ประหลาด แต่เมื่อไทยเรารับเข้ามา อัจฉริยะได้กลายความหมายแปลว่า ผู้มีความรู้ความสามารถมากกว่าระดับปกติ เราจึงไม่สามารถใช้อัจฉริยะแทนอัศจรรย์ได้ เช่น เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นในโลก เป็น…เกิดเหตุอัจฉริยะขึ้นในโลก ไม่อย่างนั้นได้งงเป็นไก่ตาแตกกันเลยทีเดียว

กรณีเดียวกันกับ “อวตาร” กับ “อวทาร์” ครับ เราไม่สามารถใช้แทน เช่น เขาเปลี่ยนอวทาร์ในเกมที่เขากำลังเล่น เป็น… เขาเปลี่ยนอวตารในเกมที่เขากำลังเล่น เพราะในทางเกมเราใช้คำว่า Avatar มาก่อนที่จะรับรู้ว่ามันคือคำเดียวกันกับอวตาร ฉะนั้น เราอ่านคำนี้ไปแล้วว่า อะ-วะ-ท่า หรือ อะ-วะ-ต้า ด้วยซ้ำไป เรารับคำนี้มาใช้เพราะเห็นว่าเป็นศัพท์จาก “ภาษาอังกฤษ” ไม่ใช่ “ภาษาสันสกฤต” ยังไงล่ะ 

 

อีกคำ คือ Guru ภาษาอังกฤษยืมจากสันสกฤต คำว่า คุรุ หรือ ครู นั่นแหละ พอไทยรับเอา Guru มาใช้เป็นกูรู ในความหมายว่า ผู้เชี่ยวชาญ เช่น เขาเป็นกูรูเรื่องฟุตบอล ไม่สามารถใช้แทนกันเป็น เขาเป็นครูเรื่องฟุตบอล นี่แหละถึงต้องให้แยก “อวทาร์” ออกจาก “อวตาร” เพราะมันมีความเหมาะสมในแง่ศัพท์เทคนิค ที่เป็นคำยืมเขามาน่ะสิ ตรงนี้เห็นว่าถูกต้องตามจริตอาจารย์เลย

เมื่อมาดูความหลากหลายของ Avatar (“อวทาร์”) ในทางสังคมโลกจากเพื่อนกู หรือ Google ได้ให้ความหมายไว้เยอะ แต่ไทยเรามีศัพท์เฉพาะความเข้าใจในการสื่อความหมายในพจนานุกรมไว้ชัดๆ เราจะตามฝรั่งมันไม่ได้ เช่น 

1. ในศาสนาฮินดู Avatar หมายความว่า อวตาร ซึ่งก็คือ การแบ่งภาคมาเกิดบนโลกของพระเจ้าองค์หนึ่ง เช่น พระนารายณ์ ผู้คนสมัยนั้นเชื่อกันว่าเป็น Avatar คือ พระเจ้าที่แบ่งภาคมาเกิดใหม่บนโลก Avatar (“อวทาร์”) เข้ามาในภาษาอังกฤษและภาษาไทยจากภาษาสันสกฤต (Sanskrit) ตรงนี้ เวลาสื่อความต้องให้ตรงกันกับความหมาย “อวตาร” ข้างต้นจึงจะถูก Avatar (“อวทาร์”) เขาก็เลยเป็น “อวตาร” เมื่อใช้ในบ้านเรา

ตัวอย่าง The Buddha is considered an avatar of the god Vishnu. อธิบายหรือแปลว่า พระพุทธเจ้าได้รับการถือว่าเป็นอวตารของพระวิษณุ 

2. Avatar (“อวทาร์”) ยังใช้หมายความว่า ตัวแทน (ของความคิด หรือความดีงามอื่น) ซึ่งก็คือ ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นตัวแทนหรือศูนย์รวมของความคิดหนึ่ง หรือความดีงามหนึ่ง ซึ่งความหมายนี้ไม่ตรงกับความหมายของทั้ง “อวตาร” และ “อวทาร์” แต่ก็ยัดเยียดให้เป็นอวตารกันแบบงงๆ

ตัวอย่าง He was regarded as an avatar of charity and concern for the poor. อธิบายหรือแปลว่า เขาถูกมองว่าเป็นตัวแทนของการกุศลและความเป็นห่วงคนจน

3. เมื่อพูดถึงวิดีโอเกม Avatar จะหมายความว่า “อวทาร์” ซึ่งก็คือไอคอน สัญลักษณ์ หรือรูปลักษณ์ของตัวละครตัวหนึ่งในวิดีโอเกม ความหมายนี้ตรงๆ ถูกต้องเลย หรือหมายถึง กราฟิกที่ใช้แทนตน เช่น ภาพ 2 มิติ หรือ 3 มิติ ที่บุคคลคนหนึ่งใช้แทนตนเองในการเล่นเกมวิดีทัศน์ ในบัญชีสื่อสังคม หรือในลานประชาคมอินเทอร์เน็ต เอ่อ… อาจารย์ว่า ขยายความได้รู้เรื่องดีกว่า “อวทาร์” ที่ว่านี้ เอามาใช้ในเกมคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1979 นอกจากนี้ “อวทาร์” ประเภทที่เป็นรูป 2 มิตินั้น เดิมเรียกกันว่า “พิกคอน” (Picon, มาจาก “picture” + “icon”) แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้คำนี้กันแล้ว

อารัมภบทซะเนิ่นนาน มาเข้าเรื่องจากแอป Voilà AI Artist (“วอยลา เอไอ อาร์ทิสต์”) กันดีกว่า ซึ่งเป็นแอปแนวสนุกๆ ที่รวมเอาความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ บวกกับปัญญาประดิษฐ์ (AI*) เข้าด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนรูป / ถ่ายรูปภาพของเรา (อาจารย์เองและครอบครัวก็เล่น) ให้เป็นตัวการ์ตูนสนุกๆ และผลงานชิ้นเอกสุดตะลึง Voilà AI Artist แอปเล็กๆ สุดพิเศษนี้ ทำให้เราถูก “อวทาร์” เป็นตัวการ์ตูนที่สวยดี ชอบนะ มันได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูน Disney กับ Pixar รูปวาดยุคเรเนสซองส์ รูปล้อเลียนวาดมือก็ด้วย แล้วแต่จะเลือกตามจริตและความเตลิดเพลิดเพลิน โดยรวมเอาความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์กับความสามารถของปัญญาประดิษฐ์อย่างที่บอกไว้ตอนต้นเข้าด้วยกันครับ

NOTE* AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence คือ ปัญญาประดิษฐ์ โปรแกรมที่ถูกเขียนและพัฒนาให้มีความฉลาด มีความสามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจได้จากการประมวลผลของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และยังสามารถดัดแปลงการประมวลผล ประยุกต์ ให้เป็นไปตามสถานการณ์ต่างๆ 

“อวทาร์” ที่เป็นตัวตนเฉพาะส่วนที่เป็นและอยู่บนใบหน้าคนเราเท่านั้นนะครับ ทำให้เป็นรูปวาดตัวคุณในแบบของศตวรรษที่ 15 ศตวรรษที่ 18 และศตวรรษที่ 20 หรือเปลี่ยนรูปเซลฟีของคุณให้เป็นตัวการ์ตูนที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Pixar แบบ 3 มิติ จากภาพยนตร์แอนิเมชัน หรือวาดตัวคุณให้เป็นตัวการ์ตูนชาววัง หรืออาจเป็นตัวคุณในเวอร์ชันเด็กทารก หรือเอาฮาด้วยการจำแลงเป็นรูปวาดล้อเลียนสุดฟินก็ได้

หมู่เฮาชาวโซเชียลไทย ฮิตเล่นแอปนี้กันอย่างกว้างขวาง โพสต์รูปตัวเองเป็นการ์ตูนสุดคิวท์ ส่วนมากในเฟชบุ๊ก อินสตาแกรม โดยเหล่าดารา คนดังก็มาเล่นด้วย เหตุผลหนึ่งที่แอปนี้ฮิตอย่างรวดเร็วก็เพราะการออกแบบวิธีเล่นไม่ยาก เป็นมิตร สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบ Android และ iOS แต่มันติดตรงโฆษณาเยอะไปนิด ก็ต้องทำใจ ถ้าไม่อยากซื้อ ฮ่า ฮ่า 

ล่าสุด Voilà AI Artist กลายเป็นแอปพลิเคชันที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในหลายประเทศ ครองแชมป์อันดับ 1 ในกลุ่มผู้ใช้ iPhone และ Android ที่สหรัฐอเมริกา และติดท็อป 5 ในตารางฟิลิปปินส์ ส่วนพี่ไทยเรา สถิติประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ของบริษัทวิจัยแอปแอนนี่ (Appannie) ชี้ว่า Voilà AI Artist ครองตำแหน่งอันดับ 15 ในอันดับ Top Apps บน iOS แบบรวม 

แล้วที่เราเพลิน เล่น Voilà AI Artist “แอปอวทาร์” มันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลไหม? ยังไม่มีใครในโลกนี้วิเคราะห์กัน จึงขอวิเคราะห์เป็นคนแรก ถ้าว่ากันตาม PDPA หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ขอย่อว่า พคข. 2562/PDPA2019) พิจารณาดังนี้

1. อยากให้ดูนิยามก่อนครับ ใน พคข. 2562/PDPA2019) มาตรา 6 ในพระราชบัญญัตินี้ 

“ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ

“บุคคล” หมายความว่า บุคคลธรรมดา

            ดังนั้น Voilà AI Artist “แอปอวทาร์” มันเอารูปถ่าย รูปภาพของเรา ซึ่งเป็นคนธรรมดาๆ ในขั้นตอนการวินิจฉัยเบื้องต้นของอาจารย์ ต้องถือว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล (ตัวเราเอง) ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ว่าเป็นเราได้โดยทางตรงเลยครับ อันนี้ชัดเจนใน Step 1 และทาง wemagine.ai ต้นสังกัดผู้พัฒนาแอปที่ว่านี้ ได้ประกาศจุดยืนในเว็บไซต์ voilaaiartist.com ยืนยันว่า จะไม่เก็บภาพถ่ายของผู้ใช้งาน ภาพหลังประมวลผลแล้วจะถูกลบ และสิทธิในภาพให้ตกเป็นของผู้ใช้ คุณสามารถนำไปใช้งานเป็นส่วนตัวได้เลยครับ

            แต่ในกรณีที่เราใช้แอปเวอร์ชันฟรี ทางเจ้าของแอปเขามีการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรโฆษณา เพื่อแสดงโฆษณาในแอปได้ ถึงว่ามันมีมารบกวนทุกที ซึ่งโฆษณาเหล่านี้ให้บริการโดยพันธมิตรโฆษณาของแอป และอาจกำหนดเป้าหมายติดตามการใช้งานแอปของคุณ หรือกิจกรรมออนไลน์ของคุณในที่อื่นๆ แบบนี้ไม่ได้ ผิดกฎหมาย ถ้าเราไม่ยินยอมนะครับ เพราะถือว่าขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของเราประเภท GPD (General Personal Data) ไปตาม พคข. 2562/PDPA2019 มาตรา 19, มาตรา 21-24 และมาตรา 27 ให้ไปเช็กดูดีๆ อาจารย์พูดไว้บ่อยเหมือนกัน

เอาล่ะ! แล้วถ้าแปลงให้ข้อมูลส่วนบุคคลของเรากลายเป็น “ภาพอวทาร์” ใน Step 2 ที่ผ่านการประมวลผลจาก AI ล่ะ กรณีนี้เมื่อมันสามารถระบุตัวการ์ตูนและภาพนั้นได้ว่าเป็นเราโดยทางอ้อม คือ มองอย่างไรก็คือเรา เป็นการนำลักษณะเด่นทางกายภาพของบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ชี้บ่ง แล้วมันแทนเราได้ ทำให้สามารถยืนยันตัวตนของบุคคลนั้น ที่ไม่เหมือนกับบุคคลอื่นได้ มันก็เป็นข้อมูลส่วนบุคคลเช่นกันครับ จึงสำคัญที่การประมวลผลผ่าน AI นี่แหละที่ทำให้เหมือนอย่างกับแกะ แต่ถ้าจำแลงแปลงกายออกมาก็ยังไม่มีใครรู้ ตัวเรายังมองไม่เหมือน ผิดเพี้ยนไปกันใหญ่ จะทำให้ “ภาพอวทาร์” ที่มาจากคน (ย้ำว่า มนุษย์ ไม่ใช่ตัวของเรานะ คือ การเป็นข้อมูลส่วนบุคคลไม่จำเป็นต้องให้ใครรู้จักว่าเป็นเรา ขอให้เป็นคนก็เข้าข้อกฎหมายละ) หรือแปลงกลับมาเป็นคน ซึ่งชี้บ่งว่าเป็นตัวเราไม่ได้ อย่างนั้นก็ไม่มีทางเป็นข้อมูลส่วนบุคคลไปได้หรอกครับ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของ PDPA

เจ้า “แอปอวทาร์” นี้ AI มันรับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะส่วนใบหน้าของบุคคล ก็คือ คนเท่านั้น ฉะนั้น สัตว์ ตุ๊กตา หรือสิ่งของใดๆ ไม่สามารถแปลงเป็น “ภาพอวทาร์” ได้เด็ดขาดครับ ไม่เชื่อให้ลองดูเลย

2. มาเช็กข้อยกเว้นกันหน่อย ตาม พคข. 2562/PDPA2019 มาตรา 4 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ ไม่ใช้บังคับแก่... (3) บุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะ เพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรม อันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น…” (1 กิจการ : กิจการสื่อมวลชน กับอีก 2 งาน : งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรม) และ “การยกเว้นไม่ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วน มาใช้บังคับแก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะใด กิจการใด หรือหน่วยงานใด ทำนองเดียวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา” (มาตรา 4 วรรค 2)

ดังนั้น “ภาพอวทาร์” ที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ถ้านำไปใช้ในกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรมอันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น (อย่างใดอย่างหนึ่ง) จึงจะได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ตามกฎหมาย PDPA ครับ แต่ถ้าสื่อสารออกไปใน 1 กิจการ 2 งานข้างต้น โดยละเลยจริยธรรมหรือไม่ก็ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะที่แท้ทรู ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย PDPA ได้ครับ

3. มีคนถามอาจารย์ว่า แล้วอย่างนี้ “ภาพอวทาร์” จะสามารถเป็น “ข้อมูลชีวภาพ” หรือไม่ ก็ต้องไปดูนิยามที่จัดแยก ฉีกออกไปจากนิยามหลักใน พคข. 2562/PDPA2019 มาตรา 26 วรรค 2 กัน กฎหมายเขียนไว้แบบนี้ครับ “ข้อมูลชีวภาพตามวรรคหนึ่ง ให้หมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดจากการใช้เทคนิคหรือเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการนำลักษณะเด่นทางกายภาพ หรือทางพฤติกรรมของบุคคลมาใช้ ทำให้สามารถยืนยันตัวตนของบุคคลนั้น ที่ไม่เหมือนกับบุคคลอื่นได้ เช่น ข้อมูลภาพจำลองใบหน้า ข้อมูลจำลองม่านตา หรือข้อมูลจำลองลายนิ้วมือ” ครับ ได้คำตอบแล้วนะว่า “ภาพอวทาร์” ไม่เป็น “ข้อมูลชีวภาพ” เพราะมันไม่ใช่ข้อมูลจำลองเอาไว้ยืนยันตัวตนของคนที่เป็นเจ้าของรูปถ่าย หรือรูปภาพใน Step 1 ของ “แอปอวทาร์” อย่างไรล่ะครับ 

เล่า “อวทาร์” ไว้เยอะ คราวนี้มาเล่าในส่วนของ “อวตาร” บ้าง เอาจริงๆ ในเมื่อมันไม่มีอยู่จริง เป็นไปไม่ได้สักนิด ใครจะอวตารได้นั้นไม่มีหรอก บ้าชัดๆ และอาจถูกกล่าวหาว่าลวงโลกได้แบบโสสิๆ ศาสดาองค์ใหม่ “พระศรีอริยเมตไตรย” หรือเคี้ยวใบมะขามแล้วตัวต่อออกจากปากนั่นแหละ | การอวดอุตริมนุสธรรม หรืออวดอุตริมนุษยธรรม ฯลฯ ทำนองนั้น มันเรื่องเพ้อพก แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องขอตอบทิพย์ ตามสมมติก็แล้วกันครับ คือ โดยการพิจารณาจากร่างที่จำแลงแปลงกายมา ถ้าเป็น “ฅน” ถึงจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าไม่ใช่คน เช่น อวตารมาเป็นสุนัข ควาย ก็อตซิลลา หรือพญาแร้ง อย่างนี้ไม่ใช่ และร่างก่อนอวตารถ้าเป็นคน ก็เป็นข้อมูลส่วนบุคคลได้ แต่หากเป็นครุฑ พญานาค คนธรรพ์ อันนี้ก็ไม่ใช่ “ฅน” เพราะมันทำให้ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่อวตารมาได้โดยตรง ฉะนั้น เอาง่ายๆ “ฅน” อวตาร หรืออวตารมาเป็น “ฅน” เท่านั้น และมีข้อมูลส่วนบุคคลตามติดมาด้วย จึงจะได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฉะนั้น อย่าสนใจว่าถูกอวตารมาจากร่างอะไรเป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ “คน” ซะอย่าง ก็ไม่ต้องคิดให้เปลืองเนื้อที่สมองอีกต่อไปเลยครับ

ต่อมามีประเด็นที่อาจารย์ไปอ่านเจอจากคอลัมน์ The GDPR explained, Pat 1 : PII is not a Pokémon! แรกๆ ก็แปลกใจว่าจะเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปเชื่อมโยงกับ Pokémon ทำไม อ่านไปอ่านมาก็ถึงบางอ้อ (คุณจะถึงเหมือนอาจารย์ไหม ลองอ่านดูครับ) บทความนี้กำลังนำเสนอว่า สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวของคุณเมื่อเห็นคำว่า “PII” (ฝั่ง ISO เขาหมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลนั่นแหละ) คืออะไร? “PII-Pikachu!” (มันเป็นภาษาพิคาชู Pikachu Language) คือเป็นมุก ที่จะเอามาเรียกความสนใจและใช้ทำโฆษณาให้กับ GDPR เพื่อเอาใจคนรักอนิเมะ ซึ่งเราก็รู้ๆ กันว่าบ้านเรา รวมถึง GDPR ก็เรียกข้อมูลส่วนบุคคลว่า PD : Personal Data แต่สากลทั่วๆ ไป นอกจากนั้นเรียกว่า PII (Personally Identifiable Information) แปลว่า “ข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้” มันเลยทำให้ตัวย่อ PII ถูกเปิดประเด็นว่า มันคือ PII ที่มาจาก Pikachu นี่นา (พิคาชู (Pikachu ピカチュウ) เป็นสายพันธุ์ของ Pokémon) จึงงงๆ ว่า GDPR เอา PII มาเล่นใหญ่เนี่ย ถือว่ายอมรับให้ใช้แทน PD กลับไปกลับมาได้สินะ 

เจ้าบทความนี้ระบุถึงเหตุผลกลใดกันแน่ ที่นำพาแนวคิดที่เป็นคนละจำพวกมาโยงถึง 2 บริบทนี้ ว่าทำไมจึงใช้ว่า PII เหมือนกัน ไม่ว่าจะใช้ตัวพิมพ์ใหญ่หรือเล็กก็ตามที ด้วยความต่างกันมากราวฟ้ากับเหวนี่เอง ยังดันมีบุพเพสันนิวาส ให้โคจรมาเจอกันจนได้อย่างเหลือเชื่อ ฝรั่งมันก็ช่างคิดนะ เขียนเป็นเรื่องเป็นราวว่า… Pikachu ได้รับการออกแบบในปี ค.ศ. 1996 และตั้งแต่นั้นมา Pokémon ตัวเล็กตัวนี้ก็กลายเป็นชื่อที่รู้จักกันทุกครัวเรือน Pikachu ถือเป็นมิกกี้เมาส์ของญี่ปุ่น ผู้คนแต่งตัวเป็น Pikachu สำหรับงานปาร์ตี้และงานเฉลิมฉลองเป็นมาสคอตของทีมกีฬาญี่ปุ่นมากมาย และได้ปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์แอนิเมชัน วิดีโอเกม หนังสือ ฯลฯ มากมาย หากคุณไม่ใช่แฟนอนิเมะของวิดีโอเกม ก็พนันได้เลยว่าคุณต้องเคยได้ยินเกี่ยวกับ Pikachu ต่อมาคำว่า PII เป็นที่แพร่หลายเมื่ออินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้า คำคำนี้เลยก้าวข้ามภาษาสื่อสารของ Pikachu ให้เราค้นหาเจอ และรู้จักในแง่ของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น ไม่ว่าจากจำนวนการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ความจริงที่ว่าผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ และต้องการทราบว่าข้อมูลของพวกเขาถูกจัดเก็บและประมวลผลอย่างไร ด้วยเหตุนี้ PII ที่เป็นภาษาพิคาชู จึงได้กลายมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกฎระเบียบด้านการปกป้องข้อมูล 

เช่น GDPR (DSGVO) และ CCPA อ่านไปฉงนไปนะทีแรก อาจารย์มองว่าทำให้คนสับสน ว่าเกี่ยวอะไรกับ Pikachu นั่นแหละ มีคนไม่มากที่รู้ว่าชื่อ Pikachu สามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ ในภาษาญี่ปุ่น “Pika” หมายถึง “ไฟฟ้าแตก” และ “Chu” ย่อมาจาก “Mice” (เป็นพหูพจน์ของ Mouse หมายถึง หนูหลายตัว) ดังนั้น Pikachu จึงแปลว่า “เหล่าหนูไฟฟ้าแตก” และ “PII” คือ เสียงที่พวกมันเปล่งออกมา พอเอามาอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบกับเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ก็จะได้ความทำนองนี้ครับ ไปดูใน ISO/IEC 27701 : 2019 – คำว่า PII ย่อมาจาก ข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ อย่างที่บอกไว้ตอนต้น ก็เหมือน PD ของ GDPR และ PDPA ไทยเรานี่แหละ ฝรั่งเลยเอาภาษา Pikachu มาเล่นว่า พิคาชู (บ้างก็เรียกว่า ปิกาจู) เป็นหนูไฟฟ้า มหาอำนาจของมันคือไฟฟ้า และใช้ไฟฟ้าช็อตเพื่อสร้างความเสียหายให้กับศัตรู ส่วน PII ยังมีพลังพิเศษ คือ ช่วยให้สามารถระบุตัวบุคคลได้โดยตรง โดยใช้ตัวระบุ (ข้อมูล หนังสือเดินทาง ชื่อ และนามสกุล ฯลฯ) หรือโดยอ้อม หากคุณไม่สามารถปกป้อง PII ได้ การกระแทกจะรุนแรงพอๆ กัน และความเสียหายก็ร้ายแรงพอๆ กัน และในขณะที่ Pikachu เติมพลังให้กับการนอนหลับ PII ก็ต้องการการดูแลทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนกัน อืม เป็นไปได้เหมือนกันครับ เอามาเปรียบเทียบ เอามาให้เห็นมุมต่างเพื่อชักชวนคนมาให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เพื่อแก้ความอยากรู้เพิ่มเติมอีกหน่อยจากประเด็นที่กำลังพูดถึงเจ้า “พิคาชู” (Pikachu) อยู่นี้ “พิคาชู” ไม่ได้เป็นเพียงนักรบ แต่ยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของ Ash (ซาโตชิ (サトシ Satoshi) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า แอช เคตชัม (Ash Ketchum) เป็นตัวละครเอกของ Pokémon ฉบับอนิเมะ และฉบับมังงะ ที่ชื่อ “Electric Tale of Pikachu”) และเรามักจะเห็นเขาพิงอยู่บนไหล่ของ Ash ค่อนข้างตัวเล็ก สูงเพียง 1 ฟุต 4 นิ้ว (40.64 ซม.) และหนัก 13 ปอนด์ (5.9 กก.) ในทางกลับกันถ้าพูดถึง PII และจะมีน้ำหนักมากบนบ่าไหล่ของคุณที่ต้องแบกรับความล้มเหลวในการบริหารข้อมูลส่วนบุคคล และตรวจสอบระดับการป้องกัน PII ให้ถูกต้อง ซึ่งหากพลาดอาจส่งผลให้มีการปรับที่สูงเกินไป และความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อชื่อเสียงทางธุรกิจ หากทำถูกต้อง PII ก็สามารถเป็นเพื่อนกับคุณได้เช่นกัน และอาจเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของคุณจริงๆ หากคุณประมวลผล PII ในลักษณะที่เป็นมิตรต่อความเป็นส่วนตัว จะต้องทำให้บริษัทของคุณได้รับประโยชน์ที่จับต้องได้ เพิ่มความไว้วางใจ เพิ่มชื่อเสียงของบริษัทของคุณ และดึงดูดลูกค้าใหม่ หากยังไม่แน่ใจว่าจะรับรองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในบริษัทได้อย่างไร? อย่าลังเลที่จะติดต่อเรา เราจะแสดงให้คุณเห็นถึงวิธีใช้ GDPR และความปลอดภัย สำหรับ Jira และ Confluence (Atlassian บริษัทเจ้าของซอฟต์แวร์ด้านการทำงานเป็นทีม - การพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อดังๆ หลายตัว อย่างเช่น Jira, Confluence, Trello, Bitbucket ประกาศปรับแพ็กเกจบริการของตัวเองใหม่ โดยเพิ่ม Free Tier สำหรับบริการบางตัว อย่าง Jira และ Confluence ด้วย : Jira Software (issue trakcing), Confluence (document collaboration)) เพื่อให้สอดคล้องกับ GDPR อย่างรวดเร็วและง่ายดาย Ref. https://www.actonic.de/en/the-gdpr-explained-part-1-pii-is-not-a-pokemon/ ครับ! กลายเป็นโฆษณาเพื่อจูงใจอะไร อย่างไรนั้น เอาน่ะ คุณก็คงรู้ อาจารย์เห็นว่าแปลกดีที่เอาข้อมูลส่วนบุคคลไปโยงกับพิคาชู และอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบเทียบเคียงให้กลืนๆ ไป หรือแถๆ ไปก็ตัดสินใจกันเอาเองละกัน แค่รู้ไว้ใช่ว่า ขำๆ บ้างนะครับ หรือจะทำให้งงๆ ไปบ้างต้องกราบครับผม

Top 5 Contents