กำลังโหลด...

×



HRM / HRD การบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อต้องเลิกสัญญาจ้าง

magazine image
HRM / HRD

การบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อต้องเลิกสัญญาจ้าง

โดยทั่วไปแล้ว หากคู่สัญญาปฏิบัติผิดสัญญาข้อใด คู่สัญญาอีกฝ่ายย่อมอาศัยข้อตกลงในการบอกกล่าวเลิกสัญญา และให้มีผลได้ทันทีโดยไม่ต้องชำระค่าบอกกล่าวใดๆ แต่การเลิกสัญญาจ้างแรงงานนั้น กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ความคุ้มครองลูกจ้างได้มีโอกาสเตรียมตัวในการสมัครงานและหางานใหม่ อย่างน้อยค่าบอกกล่าวล่วงหน้า อาจทำให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกสัญญา มีโอกาสยังชีพได้ชั่วขณะที่ยังหางานใหม่ โดยได้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบอกกล่าวล่วงหน้าเสียใหม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เพิ่มเติมเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ได้มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

โดยเจตนารมณ์ในการเพิ่มเติมกฎหมายในเรื่องของการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าต่อลูกจ้าง โดยให้ลูกจ้างออกจากงานทันที หรือบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสัญญาจ้างต่อลูกจ้างไม่ถูกต้อง นายจ้างต้องจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับแต่วันที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผล และเพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงกำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างทันทีในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 และมาตรา 17/1 (เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562) ได้กำหนดเรื่องการบอกกล่าวล่วงหน้า กรณีการเลิกสัญญาจ้างไว้ ดังนี้

            มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

            ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเมื่อเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกิน 3 เดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย

            การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้

            การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

            มาตรา 17/1 ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ให้ลูกจ้างทราบตามมาตรา 17 วรรคสอง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน จนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลตามมาตรา 17 วรรคสอง โดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน”

            ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรา 17 (วรรคสอง) เป็นกรณีการบอกเลิกสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย 

            ผู้อ่านจะเห็นว่า กฎหมายได้วางหลักคุ้มครองลูกจ้างโดยให้นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกสัญญาจ้าง ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเอาไว้ ซึ่งสัญญาจ้างแรงงานนั้นมีทั้งสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน (Fixed Term Employment Contract) และสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน (Non Fixed Term Employment Contract) โดยสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอนนั้น จะมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาจ้างไว้ชัดเจน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา สัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างและลูกจ้างตกลงทำสัญญาจ้างกัน มีระยะเวลาการจ้าง 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2561 เช่นนี้ ถือเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างเป็นอันสิ้นสุดลง ส่วนสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน คือ สัญญาที่นายจ้างและลูกจ้างไม่ได้ตกลงกันกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ชัดเจนว่า จะจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใด ซึ่งลูกจ้างอาจทำงานไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกษียณอายุ หากนายจ้างไม่ได้เลิกสัญญาจ้าง หรือลูกจ้างลาออกไปเอง 

            อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาจ้างจะมีกำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน แต่ก็อาจไม่ใช่สัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอนเสมอไป หากในสัญญาจ้างนั้นมีการกำหนดข้อตกลงให้ต่างฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ ยกตัวอย่างเช่น สัญญาจ้างมีการกำหนดระยะเวลาการจ้าง 1 ปี โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้มีการทดลองงาน 3 เดือน หากไม่ผ่านทดลองงานบริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ หรือทำสัญญาจ้างมีกำหนดเวลาไว้อย่างต่ำ 1 ปี และไม่เกิน 2 ปี โดยมีข้อตกลงว่า บริษัทมีสิทธิเลิกจ้างพนักงานภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ เป็นต้น กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าสัญญาจ้างดังกล่าวกลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาไว้แน่นอนไปเสียแล้ว แม้จะกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาจ้างไว้ชัดเจนแน่นอนแล้วก็ตาม เพราะเนื่องจากลูกจ้างไม่อาจทราบได้เลยว่าสัญญาจ้างนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

            สำหรับกรณีหากนายจ้างจะเลิกสัญญาจ้าง ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินกว่า 3 เดือน ซึ่งการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบนั้นอาจทำเป็นหนังสือ หรือด้วยวาจาก็ได้ 

            ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า (ให้ลูกจ้างออกจากงานทันที) หรือบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เลิกจ้างโดยไม่ได้บอกในวันที่ถึง หรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในคราวนั้น เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่า“สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” ตามมาตรา 17/1 ให้แก่ลูกจ้าง โดยจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับนับแต่วันที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน จนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างได้ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท นายจ้างจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของทุกเดือน นายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้างและให้ลูกจ้างออกจากงานทันที ในตอนเลิกสัญญาจ้างวันที่ 20 สิงหาคม กรณีนี้ถือว่านายจ้างเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างโดยจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับแต่วันที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่เลิกสัญญาจ้างมีผลเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป คือ นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม จนถึงวันที่ 30 กันยายน อันเป็นวันจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างทันที ในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน หากนายจ้างไม่จ่ายเงินตามจำนวนที่ต้องจ่าย นับแต่วันบอกเลิกสัญญาจ้างจนถึงวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในคราวถัดไป นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัด ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2545

         นายจ้างตกลงจ้างและรับลูกจ้างทำงาน โดยมีระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2543 เมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ซึ่งครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง ผลคือ สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้น ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8800/2547

ตามสัญญาจ้างข้อ 2 ที่กำหนดว่า “ทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดระยะเวลาในการทดลองงานเป็นเวลา 120 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาทดลองงานแล้ว นายจ้างมีสิทธิให้พนักงานทดลองงานต่อไปตามระยะเวลาที่นายจ้างกำหนด หรือมีสิทธิบรรจุลูกจ้างเป็นพนักงาน โดยอยู่ในดุลพินิจของนายจ้าง” หมายถึง นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างให้ทำงาน โดยมีเวลาทดลองงาน 120 วัน หากผ่านการทดลองงาน นายจ้างจะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงาน นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ หรืออาจให้ลูกจ้างทดลองงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาทดลองงาน 120 วันแล้ว นายจ้างยังให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอีก 20 วัน และต่อมานายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ด้วยสาเหตุไม่ผ่านการทดลองงาน เท่ากับนายจ้างให้ลูกจ้างทดลองงานต่ออีก 20 วัน ตามสัญญาจ้างข้อ 2 นั่นเอง นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างทดลองงาน อันเนื่องมาจากลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน นายจ้างจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป การที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2545 บอกเลิกจ้างลูกจ้างโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้าง ในวันที่ 25 ตุลาคม 2545 จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว นายจ้างจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายได้กำหนดให้นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบก่อนการเลิกสัญญาจ้าง ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น แต่กฎหมายก็ยังได้กำหนดข้อยกเว้นกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ ซึ่งจะบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

  1. ลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง
  2. ลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างเป็นอาจิณ
  3. ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่การงาน
  4. ลูกจ้างทำความผิดอย่างร้ายแรง
  5. ลูกจ้างกระทำการอันไม่สมควร แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต

 

และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

  1. ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  3. ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน 

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

  1. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  2. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 

ในกรณีข้อ 6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม กรณีหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างอันเนื่องด้วยเหตุอื่นใดที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายกำหนดไว้ เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจตกต่ำ การปรับโครงสร้างองค์กร ยุบหน่วยงานหรือตำแหน่งงาน เหล่านี้เป็นต้น นายจ้างจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบก่อนการเลิกสัญญาจ้างตามกฎหมายกำหนด

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายจ้างจะได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบ ก่อนการเลิกสัญญาจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนตามหลักทั่วไปของการเลิกสัญญากับการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ที่กำหนดการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ด้วย และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดข้อพิพาทกับลูกจ้างต่อไปนั่นเอง  

อ้างอิง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, คำชี้แจงกระทรวงแรงงาน เรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่องที่ 3 ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

Top 5 Contents