กำลังโหลด...

×



HRM / HRD เงินค่าบริการ เงินค่าทิป จะถือเป็นค่าจ้างหรือไม่?

magazine image
HRM / HRD

เงินค่าบริการ เงินค่าทิป จะถือเป็นค่าจ้างหรือไม่?

ตามที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จากการมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจ ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรี ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม รีสอร์ตที่ยอดเยี่ยม และขาดไม่ได้ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวก็คือ ธุรกิจบริการ

ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในประเทศไทยนั้น จัดเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ เมื่อธุรกิจดังกล่าวมีขนาดใหญ่ก็ย่อมต้องการแรงงานจำนวนมากตามไปด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีคนทำงานอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการหลายล้านคน อย่างไรก็ตาม ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 3 ปีนั้น ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก และส่งผลต่อลูกจ้างแรงงานให้ต้องตกงานและขาดรายได้จำนวนมาก จนเมื่อสถานการณ์ความรุนแรงของเชื้อโควิด-19 เริ่มทุเลาลง ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการจึงเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น และทำให้เกิดการจ้างงานอีกครั้ง

สิ่งที่ผู้เขียนขอหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในคราวนี้ คือ เงินค่าบริการ (Service Charge) และเงินทิป โดยเงินทั้ง 2 ประเภท มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เงินค่าบริการ เงินค่าทิป หรือเงินทิป ถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ เหตุผลก็เพื่อจะทราบว่านายจ้างจะต้องนำจำนวนเงินค่าบริการกับค่าทิปมารวมคำนวณสำหรับใช้เป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดด้วยหรือไม่ 

เพื่อที่จะหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว ก็ควรย้อนกลับมาดูหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัตินิยามคำว่า “ค่าจ้าง” คือ เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดวันและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

ดังนั้น จากคำนิยาม ค่าจ้างก็คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงาน เมื่อทราบความหมายของค่าจ้างแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ เงินค่าบริการ กับเงินค่าทิป มีลักษณะหรือที่มาอย่างไร

เงินค่าบริการ (Service Charge) 

เงินค่าบริการ (Service Charge) เป็นเงินค่าบริการที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บจากลูกค้า หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเงินทิปแบบบังคับจ่าย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ให้บริการจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 10 จากยอดค่าบริการ หรือจากยอดค่าสินค้าที่มีงานบริการรวมอยู่ด้วย เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น และหลังจากผู้ให้บริการซึ่งเป็นนายจ้าง ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ก็จะนำมาแบ่งบางสัดส่วนให้แก่ลูกจ้างตามที่ได้ตกลงกันไว้ 

ค่าบริการ จะมีจำนวนไม่แน่นอน โดยจะขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าและยอดค่าสินค้าหรือบริการ ดังนั้น หากพิจารณาจากความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ก็จะเห็นได้ว่า เงินค่าบริการนั้น โดยปกติแล้วไม่ใช่เงินของนายจ้าง แต่เป็นเงินของลูกค้าที่นายจ้างนำมาจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงไม่เป็นค่าจ้าง โดยผู้เขียนได้นำตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกามาให้ผู้อ่านได้ศึกษาเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738/2548

เงินค่าบริการ เป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยนายจ้างหักบางส่วนไว้เป็นเงินสวัสดิการแก่พนักงาน ส่วนที่เหลือนำมาแบ่งให้พนักงาน เงินค่าบริการ จึงเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่ใช่เงินที่บริษัทจ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงานผู้เป็นลูกจ้าง แม้บริษัทจะหักเงินค่าบริการบางส่วนไว้เป็นสวัสดิการพนักงาน ก็ไม่ทำให้เงินค่าบริการกลายเป็นเงินที่บริษัทจ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงาน เงินค่าบริการ จึงไม่ใช่ค่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6349/2541

ค่าบริการ เป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 แล้วนายจ้างรวบรวมไว้เพื่อแบ่งเฉลี่ยให้แก่ลูกจ้างทุกคนจำนวนเท่าๆ กันเป็นประจำทุกเดือน โดยนายจ้างตกลงด้วยว่าลูกจ้างทุกคนจะได้ค่าบริการไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,250 บาท หากแบ่งเฉลี่ยแล้วลูกจ้างแต่ละคนได้รับต่ำกว่า 1,250 บาท นายจ้างจะจ่ายส่วนที่ขาดให้ครบ เมื่อค่าบริการมิใช่เป็นเงินเฉพาะที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายให้แก่ลูกจ้างรวมอยู่ด้วย โดยมีจำนวนขั้นต่ำที่แน่นอนและจ่ายเป็นประจำทุกเดือน ถือได้ว่าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ค่าบริการดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7287/2537

เงินค่าบริการ ที่นายจ้างได้มาโดยวิธีเรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการของนายจ้าง แล้วนำเงินดังกล่าวเก็บรวบรวมไว้ ถือได้ว่าเป็นเงินของนายจ้างเอง ถึงวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจึงนำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนไป ทั้งมีคำรับรองว่าต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 550 บาท หากน้อยกว่า นายจ้างจะจ่ายให้ครบ การที่มีการหักเงินค่าบริการตามวันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน เดือนใดวันทำงานไม่ครบตามกำหนดเวลาทำงาน นายจ้างก็จะหักค่าบริการบางส่วนออกนั้น ก็เป็นเช่นเดียวกับค่าจ้างทั่วไป ถือได้ว่าเป็นการจ่ายเป็นประจำและเงินที่จ่ายมีจำนวนแน่นอน เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงาน ค่าบริการดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้าง

จากคำพิพากษาฎีกาข้างต้น ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า เงินค่าบริการไม่เป็นค่าจ้าง เพราะมีลักษณะเป็นเงินที่ลูกค้าเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่นายจ้าง แต่หากเมื่อใดก็ตามมีข้อเท็จจริงว่า เป็นกรณีที่นายจ้างจ่ายสมทบในเงินค่าบริการดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างด้วย จึงจะถือเป็นค่าจ้าง

เงินค่าทิป หรือเงินทิป (Tip) 

หากจะพิจารณาว่า เงินค่าทิปจะถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ ก็จำต้องพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงของเงินทิปดังกล่าว โดยอาศัยข้อกฎหมายเช่นเดียวกันกับการพิจารณาเงินค่าบริการ ซึ่งโดยทั่วๆ ไป เงินค่าทิปจะเป็นเงินพิเศษที่ลูกค้าให้แก่ผู้ให้บริการ เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนการให้บริการนอกเหนือจากการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการ ซึ่งเงินทิปก็จะมีจำนวนที่ไม่แน่นอน โดยจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้าและจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ในบางครั้งเงินค่าทิปอาจมีจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่มาของการจ้างงานบางประเภทที่นายจ้างอาจให้เงินเดือนแก่ลูกจ้างในอัตราไม่สูงนัก แต่หากเมื่อนับรวมเข้ากับเงินค่าทิปแล้วก็จะพบว่า ลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนในจำนวนที่ลูกจ้างพอใจ และสาเหตุสำคัญที่นายจ้างส่วนใหญ่วางโครงสร้างค่าตอบแทนไว้เช่นนี้ ก็เพื่อเป็นแรงจูงใจแก่ลูกจ้างให้ตั้งใจทำงาน บริการให้ดี เพื่อตอบสนองความพึงพอใจแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ ทำให้เงินที่ลูกจ้างจะได้รับก็คือ รายได้จากเงินเดือนประจำเป็นจำนวนแน่นอนส่วนหนึ่ง และเงินรายได้จากค่าทิป ซึ่งเป็นจำนวนไม่แน่นอนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งในกรณีหากเงินค่าทิปเป็นเงินที่นายจ้างไม่ได้เป็นผู้จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน แต่เป็นเงินที่ได้รับมาจากลูกค้า แล้วนายจ้างนำมาให้แก่ลูกจ้างอีกทีหนึ่ง จะไม่ถือเป็นค่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม นายจ้างบางรายมีการการันตีทิปขั้นต่ำแก่ลูกจ้าง ซึ่งหมายความว่า นายจ้างได้มีการตกลงกำหนดค่าทิปขั้นต่ำแก่ลูกจ้างเป็นจำนวนแน่นอน โดยค่าทิปส่วนหนึ่งมาจากเงินของลูกค้าที่เข้ามาให้บริการ แต่หากยังมีจำนวนไม่พอ นายจ้างก็จะเป็นผู้จ่ายเงินส่วนต่างให้จนครบจำนวนทิปขั้นต่ำ เช่นนี้ ข้อเท็จจริงก็คล้ายคลึงกับกรณีค่าบริการที่นายจ้างนำเงินของตนมาจ่ายสมทบด้วย จึงเท่ากับว่าเงินค่าทิปไม่ได้เป็นเฉพาะเงินที่ได้รับจากลูกค้าเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างรวมอยู่ด้วย ซึ่งมีขั้นต่ำที่แน่นอน และจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นประจำ จึงเป็นค่าจ้าง

จากที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำตอบเรื่องเงินค่าบริการกับเงินค่าทิปว่าจะเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเสียก่อน กล่าวคือ หากเงินค่าบริการ หรือเงินค่าทิปเหล่านั้นเป็นเงินที่นายจ้างได้มาจากลูกค้า เช่นนี้จะไม่ถือเป็นค่าจ้าง แต่หากเงินเหล่านั้นมีเงินของนายจ้างจ่ายสมทบรวมอยู่ด้วย ก็ทำให้เงินค่าบริการ หรือค่าทิปดังกล่าวนั้น เป็นค่าจ้าง

 

Top 5 Contents