กำลังโหลด...

×



HRM / HRD พื้นฐาน 2 ข้อ ที่ทำให้คนในองค์กรมีความสุข

magazine image
HRM / HRD

พื้นฐาน 2 ข้อ ที่ทำให้คนในองค์กรมีความสุข

สวัสดีครับทุกท่าน บทความตอนที่แล้วเราได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานให้ประสบความสำเร็จ โดยต้องไม่ทิ้งงานกันไปแล้ว สำหรับบทความในตอนนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างมารยาทที่แท้จริง พร้อมแล้วเรามาเริ่มอ่านกันเลยนะครับ 

“เฮ่อ!” เสียงถอนหายใจของอรพิณท์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล

“เป็นอะไรล่ะ ถอนหายใจเหมือนคนหมดแรง” บดินทร์ ผู้จัดการโรงงาน ถามด้วยความเป็นห่วง

“มีเรื่องไม่ค่อยสบายใจนิดหน่อยค่ะ” อรพิณท์ตอบเสียงอ่อยๆ

“มีอะไรที่ผมพอช่วยได้ ผมยินดีรับฟังนะ วันนี้ 4 โมงเย็น ผมว่างพอดี ถ้าคุณต้องการคำแนะนำ ผมยินดีครับ” ผู้จัดการโรงงานพูด จากนั้นก็รีบเดินไปประชุมต่อ 

ประมาณ 4 โมงเย็น… ที่โต๊ะทำงานของผู้จัดการโรงงาน

“ผู้จัดการคะ ดิฉันมีเรื่องไม่สบายใจอยากจะขอคำแนะนำค่ะ” อรพิณท์ เริ่มสนทนาทันที

ผู้จัดการโรงงานยิ้ม จากนั้นก็พยักหน้าแล้วตอบกลับด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่า “ยินดีครับ” 

เมื่อผู้จัดการเปิดทางให้แบบนี้ อรพิณท์ก็เริ่มอธิบายทันที 

“ที่บริษัทของเราในตอนนี้ มีเรื่องน่าหนักใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ การเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตอนนี้ถือว่ามีน้อยมากๆ จนแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ ดิฉันคิดว่าผู้จัดการคงเคยเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น พนักงานคุยโทรศัพท์เสียงดังลั่นโรงอาหารแบบไม่เกรงใจใคร มีพนักงานยืนขวางทางเดินโดยไม่หลบให้ผู้อื่นเดิน พนักงานใช้เท้าเตะกล่องงาน พนักงานพูดคุยเสียงดังระหว่างที่มีการประชุม พนักงานกินข้าวไม่หมดจาน ทั้งๆ ที่เรารณรงค์ให้พนักงานกินข้าวให้หมด เป็นต้น 

นอกจากนี้ ดิฉันยังได้รับการร้องเรียนจากพนักงานรุ่นเก่าๆ ว่า พนักงานรุ่นใหม่ อายุน้อยๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานไม่นาน มักจะพูดจาไม่ให้เกียรติผู้อื่น บางคนชอบพูดดูถูกความคิดคนอื่น บางคนพูดกระโชกโฮกฮาก ดิฉันคิดว่าถ้าเราปล่อยให้การทำงานภายในบริษัทอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ต่อไป อีกไม่นานจะต้องมีปัญหาความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันแน่นอน ดิฉันล่ะปวดหัวจริงๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ไขอย่างไรดี รบกวนผู้จัดการช่วยแนะนำหน่อยนะคะ” 

“ผมเห็นด้วยครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ผมก็เห็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยเหมาะสมเหมือนกัน ผมคิดว่าเราจะต้องรีบแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่างแล้วล่ะ แต่ตอนนี้ผมยังคิดไม่ออก เอาเป็นว่าพรุ่งนี้ 10 โมง เรามาประชุมกันใหม่นะ ตอนนี้ผมมึนตึ้บเลย”  

หลังจากผู้จัดการพูดจบ ทั้งสองคนก็นั่งคุยเรื่องปัญหาอื่นๆ กันต่อครู่หนึ่ง จากนั้นอรพิณท์ก็ขอตัวกลับบ้าน 

วันรุ่งขึ้นเวลา 10 โมงเช้า อรพิณท์เดินมาที่โต๊ะทำงานของผู้จัดการโรงงานตามนัด เมื่อมาถึงผู้จัดการก็ยื่นหนังสือที่มีชื่อว่า “สมบัติผู้ดี” เมื่ออรพิณท์เห็นชื่อหนังสือถึงกับอุทานว่า “โอ้โห! นี่เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราไร้มารยาทขนาดนี้เลยหรือ” 

ผู้จัดการโรงงานยิ้มแล้วตอบไปว่า “อย่าเพิ่งตกใจครับ เราอาจไม่ถึงขั้นไร้มารยาท เราแค่นำบางส่วนของหนังสือเล่มนี้มาสอนพนักงานเท่านั้น” 

“เฮ่อ!” อรพิณท์ถอนหายใจ จากนั้นก็พูดต่อว่า “ โล่งอกไปที ว่าแต่ผู้จัดการช่วยแนะนำหน่อยได้ไหมคะว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยแก้ปัญหาของบริษัทเราได้อย่างไร และหัวข้ออะไรที่ผู้จัดการคิดว่า เบื้องต้นเราควรจะแก้ก่อนเป็นอันดับแรก?” 

ผู้จัดการโรงงานยิ้ม จากนั้นก็เริ่มอธิบาย…

“หนังสือสมบัติผู้ดี เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผู้จัดการโรงงานคนที่เพิ่งเกษียณเมื่อต้นปี ท่านมอบให้กับผม ท่านบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือดี เหมาะจะนำมาสอนพนักงานในยุคดิจิทัลอย่างยิ่ง เพราะเป็นยุคที่มีการพัฒนาทางด้านวัตถุ แต่ขาดการพัฒนาด้านจิตใจ หนังสือเล่มนี้ท่านเจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราธิบดี หรือหม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล เรียบเรียงไว้ โดยอธิบายคุณสมบัติของผู้ดี 10 ข้อ ประกอบด้วย 1) ผู้ดีต้องรู้จักทำตัวให้เรียบร้อย 2) ผู้ดีต้องไม่ทำอุจาดลามก 3) ผู้ดีต้องมีสัมมาคารวะ 4) ผู้ดีต้องมีกริยาเป็นที่น่ารัก 5) ผู้ดีต้องเป็นผู้ที่มีสง่า 6) ผู้ดีต้องปฏิบัติการงานดี 7) ผู้ดีต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจดี 8) ผู้ดีต้องไม่เห็นแก่ตัว 9) ผู้ดีต้องรักษาความสุจริต ซื่อตรง และ 10) ผู้ดีต้องไม่ประพฤติชั่ว

สำหรับช่วงแรกผมคิดว่าเราน่าจะนำข้อแรก คือ ผู้ดีต้องรู้จักทำตัวให้เรียบร้อย มาสอนในระดับผู้จัดการ และหัวหน้างานทุกระดับก่อน น่าจะดีที่สุด ซึ่งผมจะเป็นคนสอนและติดตามพฤติกรรมของน้องๆ พวกนี้เอง” 

“ชัดเจนมากๆ ยอดเยี่ยมค่ะ ถ้าอย่างนั้นดิฉันรบกวนผู้จัดการด้วยนะคะ ถ้าหากผู้จัดการมีสิ่งใดที่ให้ดิฉันช่วย ดิฉันยินดีค่ะ ว่าแต่ผู้จัดการจะเริ่มสอนน้องๆ เมื่อไรคะ” 

ผู้จัดการโรงงานยิ้ม แล้วตอบกลับว่า “วันศุกร์หน้า เวลา 16.00-17.00 น. ชั่วโมงเดียวก็พอ จากนั้นเราจะมาติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของน้องๆ กันอีกครั้งนะครับ” 

“ขอบคุณในความเสียสละของผู้จัดการโรงงานนะคะ” อรพิณท์ยิ้ม แล้วกล่าวขอบคุณ จากนั้นก็ขอตัวกลับไปทำงานต่อ 

วันศุกร์เวลา 16.00 น. ในสัปดาห์ต่อมา เมื่อเหล่าผู้จัดการและหัวหน้างานทุกคนพร้อมหน้ากันแล้ว ผู้จัดการโรงงานก็เริ่มพูดขึ้นทันที 

“สวัสดีครับทุกคน ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณทุกคนที่เสียสละเวลามาประชุมกันในวันนี้ ผมจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง มี 2 เรื่องที่อยากพูด คือ เรื่องแรก เป็นเรื่องของมารยาทพื้นฐาน ที่ทำให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข และเรื่องที่สอง คือ นิทานเรื่องบะหมี่ 2 ชาม ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี เพราะในตอนท้ายผมมีคำถามที่จะถามพวกเราทุกคน ผมขอเริ่มเลยนะ” พูดจบ ผู้จัดการโรงงานก็เริ่มอธิบายทันที

“ในตอนนี้บริษัทเรามีพนักงานหลายรุ่น ทั้งรุ่นเก่า รุ่นเก๋า และรุ่นใหม่ แน่นอนว่าคนแต่ละรุ่นจะมีความคิด ความอ่าน และความรู้สึกแตกต่างกัน ดังนั้น การที่จะทำให้พนักงานแต่ละรุ่นทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข ก็ต้องเรียนรู้และรู้จักมารยาทในการทำงาน สำหรับบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นผู้ดีและมีมารยาท ต้องประกอบด้วย 3 สิ่งนี้ พูดจบ ผู้จัดการโรงงานก็วาดรูปวงกลม 3วง ตามภาพ 

 

รูปแสดงองค์ประกอบของคนดี

จากนั้นก็เริ่มอธิบาย… 1. มีความคิดที่ดี 2. มีความประพฤติดี และ 3. พูดจาดี สำหรับมารยาทพื้นฐานในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น 10 ประการ ที่พนักงานในองค์กรควรมี ดังนี้ 

1. ไม่ยืนขวางผู้อื่น ต้องรู้จักหลบหลีกให้ผู้อื่นเดิน หรือทำงานได้สะดวก 

2. ไม่ยกมือ ยกของข้ามตัว หรือข้ามศีรษะผู้อื่น 

3. ไม่หยิบของข้ามศีรษะที่วางสูงกว่าหัวของผู้อื่น เช่น หยิบชิ้นงาน หยิบเอกสาร ถ้าจะหยิบของในบริเวณนั้นต้องกล่าวคำขอโทษผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นก่อนเสมอ 

4. ไม่หยอกล้อเล่นกันในที่ทำงานจนเสียงดัง

5. ไม่ตีสนิทผู้อื่นมากเกินไป รู้จักการเคารพผู้อื่น ไม่ว่าผู้นั้นจะมีอายุน้อยหรือมากกว่าเรา ต้องรู้จักให้เกียรติผู้อื่นให้มากๆ 

6. รู้จักสำรวม เวลาจะเดิน จะลุก จะนั่ง ต้องค่อยๆ ทำ อย่ารีบร้อนจนเกิดเสียงดัง หรือไปชน ไปกระแทกผู้อื่น เพราะจะทำให้ผู้อื่นเกิดความรำคาญและอาจได้รับบาดเจ็บ 

7. ไม่กีดขวางหรือบดบังผู้อื่น เวลาที่ผู้อื่นกำลังยืนดู หรือนั่งทำสิ่งใดอยู่ จนทำให้เขามองไม่เห็น 

8. ไม่พูดแทรก หรือพูดคุยกันขณะที่ผู้อื่นกำลังพูด โดยเฉพาะเวลาประชุม ต้องรอให้ผู้พูดพูดจบก่อนเราจึงยกมือเพื่อขอพูดบ้าง อย่าขัดจังหวะขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดเด็ดขาด 

9. ไม่ควรพูดกระโชกโฮกฮาก ต้องพูดมีหางเสียง พูดตามปกติของเราอย่างสุภาพ พูดให้น่าฟัง 

10. ไม่พูดถ้อยคำหยาบคาย แสดงกริยาก้าวร้าวใส่ผู้อื่น 

หลังจากผู้จัดการโรงงานพูดจบ ก็ทิ้งเวลาครู่หนึ่งเพื่อให้ทุกคนในห้องได้คิดทบทวนตนเอง ระหว่างนั้นพนักงานหลายคนก็หันซ้ายหันขวา มองหน้ากันแล้วทำท่าทางงงๆ บางคนพฤติกรรมไม่ค่อยดีก็เริ่มรู้สึกตัว บางคนก็รู้สึกเหมือนโดนตำหนิ 

เวลาผ่านไปเกือบ 5 นาที ผู้จัดการโรงงานก็พูดต่อว่า สำหรับเรื่องมารยาทพื้นฐานในการทำงาน 10 ประการ จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งนี้ เอาล่ะ เรามาฟังเรื่องเล่ากันต่อเลยนะ

เรื่องนี้เกิดขึ้น ณ เมืองใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศจีน มีเพื่อนสนิทวัยไล่เลี่ยกัน 2 คน นับถือกันเพราะมีนิสัยใจคอคล้ายกัน ทั้งคู่คบหามาหลายเดือน จนวันหนึ่งเพื่อนสนิทที่มีอายุมากกว่าก็เชิญสหายที่อายุน้อยกว่าไปเที่ยวบ้านของเขา หลังจากที่พาเยี่ยมชมมุมต่างๆ ของบ้านเรียบร้อย ทั้ง 2 คน ก็มานั่งสนทนากันอีกครู่ใหญ่ จนถึงเวลาอาหาร สหายเจ้าของบ้านจึงสั่งให้พ่อบ้านนำอาหารมาเสิร์ฟ 

วันนั้นพ่อบ้านตั้งใจทำบะหมี่น้ำอย่างสุดฝีมือ แต่บังเอิญชามหมดเพราะล้างไม่ทัน ทำให้เหลือเพียงแค่ชามใหญ่กับชามเล็กอย่างละ 1 ชามเท่านั้น ด้วยความรีบร้อน พ่อบ้านจึงรีบนำบะหมี่ใส่ชามที่เหลือทั้ง 2 ใบ มาเสิร์ฟอย่างรวดเร็ว เมื่อสหายเจ้าของบ้านเห็นชามบะหมี่ที่มีขนาดต่างกัน จึงรีบผลักชามบะหมี่ที่มีขนาดใหญ่กว่าให้กับสหายผู้มาเยือนทันที สหายผู้มาเยือนมีอายุน้อยกว่าก็รีบรับไว้ แล้วหยิบตะเกียบกินบะหมี่ทันที 

เมื่อสหายผู้มาเยือนกินบะหมี่ไปได้ครึ่งชาม ก็เงยหน้ามองสหายเจ้าของบ้าน ภาพที่เขาเห็น คือ สหายเจ้าของบ้านหน้าบึ้ง นั่งนิ่งเป็นหุ่นดินเผา ไม่ยอมแตะบะหมี่ชามเล็กนั้นแม้แต่น้อย เมื่อเห็นดังนั้นสหายผู้มาเยือนก็รู้ทันทีว่า สหายเจ้าของบ้านไม่พอใจ เขาจึงถามว่า…

“สหายของข้า ทำไมท่านถึงไม่กินบะหมี่ล่ะ หรือว่าท่านไม่พอใจที่ข้าไม่ยอมผลักบะหมี่ชามใหญ่นี้กลับคืนให้ท่าน” 

สหายเจ้าของบ้านยังคงนั่งนิ่ง ไม่ปริปากตอบอะไรแม้แต่น้อย 

สหายผู้มาเยือนเห็นดังนั้นจึงถามกลับไปอีกว่า “เพราะเหตุใด ท่านจึงผลักบะหมี่ชามใหญ่ให้กับข้า” 

“เพราะข้าต้องการให้ท่านกินบะหมี่ชามใหญ่นั้น” สหายเจ้าของบ้านตอบกลับด้วยน้ำเสียงไม่ค่อยพอใจ 

สหายผู้มาเยือนได้ยินคำตอบ ก็รีบถามกลับทันทีว่า “ท่านคิดว่าตามมารยาทแล้ว เมื่อท่านผลักบะหมี่มาให้กับข้า ข้าก็สมควรผลักบะหมี่ชามนั้นคืนให้กับท่านใช่ไหม?” 

“ตามมารยาท ก็สมควรเป็นเช่นนั้น” สหายเจ้าของบ้านตอบกลับ

สหายผู้มาเยือนยิ้ม จากนั้นก็พูดกลับไปว่า “ถ้าข้าผลักบะหมี่ชามใหญ่คืนให้กับท่าน ท่านก็คงจะผลักบะหมี่กลับมาให้ข้าเป็นครั้งที่ 2 อีก ใช่หรือไม่?” 

เมื่อสหายเจ้าของบ้านได้ยินคำถามก็นั่งนิ่ง ไม่ตอบอะไรแม้แต่น้อย 

ครู่หนึ่ง สหายหนุ่มก็ยิ้มแล้วพูดว่า “การที่ท่านผลักบะหมี่ชามใหญ่ให้ข้า ถือว่าท่านเป็นผู้มีน้ำใจ และมีมารยาทน่ายกย่อง ซึ่งถ้ามีความจริงใจและเต็มใจที่จะมอบบะหมี่ชามใหญ่นี้ให้กับข้าจริงๆ แล้วล่ะก็ ข้าว่าท่านไม่น่าจะมาโกรธเคืองข้าเลยใช่ไหม?” 

เมื่อสหายเจ้าของบ้านได้ยิน ก็รู้สึกผิด และละอายที่ทำพฤติกรรมแบบนั้น จึงพยักหน้าแล้วกินบะหมี่ชามเล็กที่อยู่ตรงหน้าทันที

ถ้าหากเรานำนิทานเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อแบ่งแยกมารยาทของคน จะสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังนี้ 

1. คนไร้มารยาท คือ มีความคิด ความประพฤติ และคำพูดที่ไม่เหมาะสม ไม่รู้จักกาลเทศะ คนแบบนี้เป็นคนน่ารังเกียจในสังคม 

2. คนมีมารยาท แต่ขาดความจริงใจ คือ คนที่มีความคิด ความประพฤติ และการกระทำ ตามกาลเทศะ แต่ที่ทำเพราะจำเป็นต้องทำ หรือทำเพราะเกรงว่าคนอื่นจะหาว่าไร้มารยาท แต่ไม่ได้ทำเพราะเกิดจากความจริงใจที่จะทำ

3. คนมีมารยาทดี และความจริงใจ คือ คนที่มีความคิด ความประพฤติ และการกระทำที่เหมาะสมกับกาลเทศะ คนกลุ่มนี้มีความจริงใจที่จะแสดงความรู้สึกและพฤติกรรมที่มีมารยาทออกมาเองโดยอัตโนมัติ ไม่เสแสร้ง 

คุณเป็นใคร ไปคิดดูนะ และคุณคิดว่าสังคมการทำงานต้องการคนประเภทไหนมากที่สุด ยังไม่สายที่เราจะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น ถ้าทุกคนเปิดใจ รับฟัง เรียนรู้ แล้วนำมาฝึกฝนตนเองวันละนิดวันละหน่อย เราก็จะกลายเป็นคนที่มีมารยาท เป็นคนที่สังคมต้องการ ไม่ว่าคุณจะไปทำอะไร ทำงานที่ไหน ก็จะมีแต่คนรัก ตรงกันข้าม หากเราเป็นคนที่ไร้มารยาท ไม่รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่นแล้วล่ะก็ ไม่ว่าจะไปทำอะไร ที่ไหน ก็ไม่มีวันเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน จริงไหม? 

เอาล่ะ ผมขอจบการประชุมเพียงเท่านี้ ขอฝากให้พวกเราทุกคนไปคิดนะ ผมเชื่อมั่นว่า 10 มารยาทที่องค์กรต้องการนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอะไร พวกเราทำได้แน่นอน ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมประชุมในวันนี้ ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราทุกคนเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น โรงงานของเราจะเป็นสถานที่ทำงานที่น่าทำงานด้วยที่สุดแห่งหนึ่งเลย ขอบคุณอีกครั้งนะครับ 

หลังจากที่ผู้จัดการพูดจบ พนักงานก็แยกย้ายกันไปทำงาน

เวลาผ่านไปเดือนกว่า ขณะที่ผู้จัดการโรงงานกำลังอ่านเอกสารบนโต๊ะทำงานอยู่นั้น อรพิณท์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ก็เดินเข้ามาคุยด้วย 

หลังจากอรพิณท์นั่งเรียบร้อยแล้ว เธอก็พูดว่า “ขอบคุณมากๆ นะคะผู้จัดการ ตอนนี้ดิฉันเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้นของพนักงานหลายคนค่ะ แม้จะไม่ใช่พนักงานทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ขอบคุณผู้จัดการโรงงานมากๆ นะคะ” 

ผู้จัดการโรงงานยิ้มแล้วตอบกลับไปว่า “ด้วยความยินดีครับ”

เวลาผ่านไป พนักงานหลายคนมีมารยาทที่ดีขึ้น แต่ก็มีส่วนน้อยที่ยังคงทำงานแบบไม่ค่อยมีมารยาทเหมือนเดิม 

จากกรณีศึกษานี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า มารยาทและความจริงใจ เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยทำให้คนที่มีอายุ มีความคิดความอ่าน มีพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างกัน สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข และเกิดความรัก ความสามัคคี องค์กรก็จะเติบโตอย่างยั่งยืน ตรงกันข้าม ถ้าองค์กรใดพนักงานส่วนใหญ่มีมารยาทน้อย ไร้ซึ่งความจริงใจต่อกันแล้วล่ะก็ องค์กรนั้นจะเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และรอวันล่มสลายอย่างแน่นอน 

สุดท้ายขอฝากคมคิดสะกิดใจที่ว่า “มารยาทและความจริงใจ คือปัจจัยสู่ความสำเร็จ” ขอส่งกำลังใจ โชคดีนะครับ 

Top 5 Contents