กำลังโหลด...

×



HRM / HRD ขาดทุนทิพย์ ไม่บอกว่าแบบไหนสมควรเลิกจ้างได้ จะเป็...

magazine image
HRM / HRD

ขาดทุนทิพย์ ไม่บอกว่าแบบไหนสมควรเลิกจ้างได้ จะเป็นเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่

ถ้ารายได้-รายรับยังมีให้เห็น จะอ้างว่าข้าขาดทุน มันก็ผิดวิสัยที่ศาลแรงงานจะเชื่อนายจ้างได้ง่ายๆ แม้หลักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าขาดทุนจริงๆ ก็ตาม อาจารย์มีคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2561 มาเล่าให้ฟังในเรื่องการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมกันครับ

เคสนี้ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน ท่านมองว่านายจ้างยังมีรายรับอยู่ มิได้ประสบภาวะขาดทุน ไม่มีการกําหนดและประกาศวิธีคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้หรือไม่ไหว และไม่สามารถอธิบายให้ศาลเชื่อได้ว่าลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมีลักษณะเข้าข่ายต้องถูกเลิกจ้าง แตกต่างจากพนักงานอื่นที่ไม่ถูกเลิกจ้างอย่างไร แม้การเลิกจ้าง นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแล้วก็ตาม หาได้รอดไม่ ศาลฎีกาท่านยังคงถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอยู่ดี

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จําเลย (นายจ้าง) ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมัน วันที่ 1 มีนาคม 2549 จําเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง อัตราเงินเดือนสุดท้าย 39,275.64 บาท ตําแหน่งสุดท้าย เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี ทํางานที่จังหวัดสงขลา ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2559 จําเลยเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าลดกําลังคนและเพื่อบริหารต้นทุนในการดําเนินการ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจําเลยชําระค่าเสียหาย 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 

ศาลแรงงานภาค 9 เห็นว่า ก่อนจําเลยเลิกจ้าง จําเลยส่งพนักงานไปอบรม สนับสนุนกีฬา ขึ้นเงินเดือนพนักงาน ไม่เคยใช้วิธีลดเงินเดือน

จําเลยเบิกความว่าจําเลยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้ 2,400,000 บาท โดยวิศวกรได้รับเงินเดือนมากที่สุด ชี้ให้เห็นว่า จําเลยยังมีรายรับอยู่ มิได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ จําเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งในแผนกมีเพียง 4 คน และโจทก์มีอายุงานมากที่สุด ไม่ใช่เป็นการยุบหน่วยงานที่ขาดทุนและเลิกจ้างลูกจ้างในหน่วยงานที่ขาดทุน เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จําเลยชําระค่าเสียหาย 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จําเลยอุทธรณ์

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสําคัญ กล่าวคือ 

1. นายจ้างมีเหตุจําเป็น หรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้าง และ

2. พิจารณาที่นายจ้างกระทําก่อนการเลิกจ้าง ทำไปโดยชอบธรรมหรือไม่ 

คดีนี้ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยมีรายรับอยู่ มิได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึง การประกอบกิจการของจําเลยประสบภาวะขาดทุน แต่ก็ยังคงประกอบกิจการต่อไปได้ ส่วนกระบวนการที่จะพิจารณาว่าสมควรเลิกจ้างพนักงานคนใดนั้น จําเลยไม่ได้กําหนดและประกาศวิธีคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้าง และจําเลยไม่สามารถอธิบายได้ว่าโจทก์มีลักษณะเข้าข่ายต้องถูกเลิกจ้าง แตกต่างจากพนักงานอื่นที่ไม่ถูกเลิกจ้างอย่างไร 

การที่จําเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทําผิด หรือมีเหตุสมควรเลิกจ้าง เช่นนี้ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร แม้จําเลยจะจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแล้ว ก็เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายืน จบข่าวสิครับ นั่นเพราะการเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้น ต้องพิจารณาให้มันลึกซึ้งถึงก้นบึ้งกันเลยทีเดียว

แต่ถ้าเป็นอย่างกรณีตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4753-4760/2546 นี้ ก็จะกลับด้านกันครับ เรื่องของเรื่องก็คือ นายจ้างมีผลกำไรในปี พ.ศ. 2541 จำนวน 29 ล้านบาทเศษ ในปี 2542 และปี 2543 นายจ้างขาดทุน 248 ล้านบาทเศษ ระหว่างปี 2541 ถึงปี 2542 นายจ้างรับประกาศอาสาสมัครลาออก ต่อมานายจ้างหยุดประกอบกิจการบางส่วน โดยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างปกติ และเลิกจ้างลูกจ้าง 

แสดงว่าในขณะเลิกจ้างลูกจ้าง นอกจากนายจ้างมีผลประกอบการขาดทุนแล้ว แนวโน้มการประกอบกิจการยังไม่ดีขึ้น นายจ้างย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการบริหารจัดการเพื่อให้องค์กรของนายจ้างสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ การเลิกจ้างได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเลิกจ้างพนักงานตามที่กำหนดไว้ โดยมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดโดยเฉพาะเจาะจง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม

+Extension (AJK) นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เสริมขึ้นมา ทำให้นายจ้างชนะคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ครับ คือ นายจ้างต้องพิสูจน์ให้เห็นแนวโน้มว่าทำมาค้าขายแย่ลงจริงๆ มันต้องมีการวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend Analysis)

การวิเคราะห์แนวโน้ม คือ การวิเคราะห์ตัวเลขในงบการเงิน โดยนำรายการที่สนใจมาเทียบกับรายการเดียวกันของปีหรือไตรมาสก่อนหน้า เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มของรายการนั้นๆ การวิเคราะห์แนวโน้มเป็นการเปรียบเทียบรายการเดียวกันในแต่ละปีหรือไตรมาสก่อนหน้า เพื่อดูแนวโน้มว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง มักจะใช้กับงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ วิธีการวิเคราะห์แนวโน้มใช้หลักการคำนวณเหมือนการหาสัดส่วนทั่วไป คือ มี “ตัวตั้ง” และ “ฐาน” โดยจะใช้ตัวเลขของหลายๆ ปี เพื่อดูแนวโน้ม ซึ่งการวิเคราะห์แนวโน้มในส่วนของ “ฐาน” สำหรับการวิเคราะห์แนวโน้ม มีอยู่ 2 แบบ ดังนี้ 

1. ปีฐานคงที่ คือ การกำหนดให้ปีใดปีหนึ่งเป็นฐานในการคำนวณสัดส่วนสำหรับปีต่อๆ ไป แต่ควรจะเลือกปีที่มีผลการดำเนินงานเป็นปกติ เนื่องจากหากเลือกปีที่ไม่ปกติ อาจทำให้การวิเคราะห์ไม่เหมาะสมได้

2. ปีฐานเคลื่อนที่ คือ การคำนวณสัดส่วนโดยให้ปีก่อนหน้าเป็นปีฐานไปเรื่อยๆ ทำให้ทราบการเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบบปีต่อปี (Year on Year : YoY) หรือแบบไตรมาสต่อไตรมาส (Quarter on Quarter : QoQ)

ประโยชน์ของการวิเคราะห์แนวโน้ม ช่วยให้นายจ้าง (ผู้ถือหุ้น) ทราบถึงแนวโน้มของรายการที่สนใจเป็นหลัก เช่น แนวโน้มรายได้ ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และกำไรขั้นต้น เป็นต้น เมื่อทราบแนวโน้มของรายการที่สนใจแล้ว ก็ทำให้ทราบถึงสิ่งที่บริษัทควรพัฒนาและปรับปรุงในงวดถัดๆ ไป ซึ่งเมื่องบของงวดถัดไปออกแล้วไม่เป็นตามที่คาดหวัง ก็จะช่วยให้เราพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนของเราได้ง่ายขึ้น และช่วยการคาดการณ์อนาคตได้ดีขึ้น ฉะนั้น ตรงนี้แหละที่นายจ้างหรือผู้ประกอบการต้องพยายามอธิบายและทำให้ศาลเชื่อว่า แนวโน้มของการประกอบกิจการ ทำธุรกิจ กิจการค้าขายของท่าน ยังคงแย่ลง ไม่ได้กระเตื้องขึ้น และแนวโน้มดังกล่าวจะต้องดิ่งลงด้วย ถึงจะกลายเป็นเลิกจ้างที่เป็นธรรมไปได้ ข้อสำคัญ การอธิบายคงต้องอธิบายแบบแจกแจงให้ศาลแรงงานท่านได้เข้าใจ เพราะท่านไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์มา ท่านผู้พิพากษานั้นจบนิติศาสตร์มานะครับ ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่แหลมคมเหลือเกิน ที่ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายของฝั่งนายจ้างจะต้องอรรถาธิบายให้ละเอียดรอบคอบ และชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ศาลท่านเชื่อได้อย่างสนิทใจและสิ้นสงสัย เมื่อนั้นผลจะตีกลับมาทำให้นายจ้างชนะคดีได้อย่างง่ายดาย ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจารย์ได้ใช้ในการต่อสู้คดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพื่อพิสูจน์ว่าแนวโน้มของการค้าขายหรือประกอบธุรกิจมันดิ่งลงๆ และยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรความจริงเท่านั้นครับถึงจะเอาชนะได้ แต่ต้องเป็นความจริงนะครับ อย่าริโกหกศาล ห้ามเมกข้อมูลเสนอศาลเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการเบิกความเท็จ ต้องระมัดระวัง พูดแต่ความจริงเท่านั้น

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1850/2547 นายจ้างประกอบกิจการนำเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวกับการนำเที่ยว เป็นบริษัทจำกัดที่ชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว การที่บริษัทถือหุ้นในบริษัทนายจ้างจะประกอบกิจการขาดทุน ก็ไม่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง แม้ผลประกอบการของนายจ้างจะมีผลกำไรลดน้อยลง แต่ก็คงมีกำไรอยู่ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่างานของนายจ้างลดลงมาก หรือประสบกับการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่าย และลดจำนวนพนักงานเพื่อพยุงฐานะของนายจ้างให้อยู่รอด การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายนั้น จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุผลอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

+Extension (AJK) กรณีนี้ เราจะเห็นความแตกต่างว่าไม่เหมือนกับคำพิพากษาศาลฎีกาก่อนหน้านี้ที่อาจารย์นำเสนอไปแล้ว เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็อยากให้คุณสังเกตให้ดีว่ากิจการขาดทุน แต่คุณขาดทุนกำไร หมายความว่า อย่างไรเสียคุณก็ยังคงมีกำไรอยู่บ้าง กรณีแบบนี้ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานท่านมองทะลุปรุโปร่งว่าคุณมีกำไร แม้กำไรนั้นมันจะไม่เป็นไปตามเป้าที่คุณมีการกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วหรือต้นปี ก็ช่างมันเถอะ ดังนั้น จะเห็นอย่างชัดเจนว่างานของสถานประกอบการนายจ้างนั้น ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด จนถึงขนาดว่าจะต้องถึงขั้นลดค่าใช้จ่าย ลดจำนวนลูกจ้างเพื่อที่จะทำให้นายจ้างนั้นอยู่รอดได้ ซึ่งข้อเท็จจริงมันรับฟังไม่ได้อย่างนั้น ก็ต้องแพ้ไปครับ ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไร้เหตุผลสิ้นดี ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ชัดเจนอย่างมากครับ 

ฉะนั้น อาจารย์จึงอยากให้ท่านได้พิจารณาประเด็นเรื่องการขาดทุนของกิจการให้ดี ไม่ใช่อ้างลอยๆ ว่าข้าขาดทุน แต่เอาเข้าจริงเอ็งขาดทุนกำไร ไม่ได้ขาดทุนจริงๆ อย่างนี้จะไปเป็นเหตุอ้างในการเลิกจ้างลูกจ้าง ก็ต้องถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั่นสิครับ 

แล้วเราเรียนรู้จากฎีกาแรกอะไรบ้าง ไปดูกัน

1. ไม่มีการกําหนดและประกาศวิธีคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้าง ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำให้เห็นและมีหลักฐานกันทีเดียว 

2. ไม่สามารถอธิบายให้ศาลเชื่อได้ว่า ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมีลักษณะเข้าข่ายต้องถูกเลิกจ้าง แตกต่างอะไรไปจากพนักงานอื่นที่ไม่ถูกเลิกจ้าง อันนี้คุณไม่เคลียร์เอง แผนกำจัดมีปัญหา งงๆ 

3. ก่อนเลิกจ้าง ยังมีการใช้เงิน ไม่รู้จักประหยัด เช่น ส่งพนักงานไปอบรม มีการสนับสนุนกีฬา แถมขึ้นเงินเดือนพนักงานอีกต่างหาก นายจ้างยังมีจ่ายทั้งที่อ้างว่าขาดทุน มันช่างสวนกระแสจริงๆ เพราะนายจ้างไม่เคยใช้วิธีลดเงินเดือน ลดค่าใช้จ่ายอะไรให้เป็นรูปธรรมเลย

4. พฤติการณ์ทั้งหลายมันฟ้องว่า นายจ้างเองยังคงมีรายรับอยู่ แต่โกหกว่าประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ 

5. การเลิกจ้างคนในแผนกที่มีคนเพียง 4 คน โดยเลือกกำจัดคนที่มีอายุงานมากที่สุด แทนที่จะเอาออกไปให้หมดจะได้ไม่เปิดประเด็นให้ศาลมองเป็นอื่น

6. การกระทำของนายจ้างไม่ใช่เป็นการยุบหน่วยงานที่ขาดทุน และเลิกจ้างลูกจ้างในหน่วยงานที่ขาดทุนนั้นจริงๆ 

ทั้งหมดที่อาจารย์วิเคราะห์มา คุณเห็นไหมว่าศาลท่านมองออกว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงพิพากษาให้จ่ายค่าเสียหาย 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย (ฟ้องขอมา 500,000 บาท) ลูกจ้างขาดทุนกำไรเหมือนกัน ได้ไม่เต็มฟ้อง ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ

ฉะนั้น การทำอะไรที่มันสวนทางกับการพร่ำบอกว่าเจ๊งตั้งมากมายขนาดนั้น ย่อมส่อว่าหาเรื่องหาเหตุมาเลิกจ้างมากกว่า แล้วมันจะเป็นธรรมได้อย่างไรเล่า จริงไหม

Top 5 Contents