นายจ้างมีสิทธิตามกฎหมายอย่างไร ในการกำหนดวันลาพักร้อนให้ลูกจ้าง
28 มีนาคม 2566
สวัสดีครับผู้อ่านที่รักทุกท่าน เข้าเดือนเมษายนแบบนี้ เชื่อว่าท่านผู้อ่านกำลังเตรียมความพร้อมช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เพื่อท่องเที่ยวหรือกลับบ้านพบครอบครัวที่ต่างจังหวัด แต่พอดูประกาศวันหยุดของบริษัทฯ กลับพบเรื่องน่าปวดใจ ทำไมวันหยุดของเราไม่ตรงกับวันหยุดของบริษัทแฟน หรือเพื่อนๆ กันนะ ครั้นจะใช้สิทธิหยุดก็ต้องใช้ลาพักร้อน ต้องไหว้วานเพื่อนร่วมงานมารับงานแทนไปอีก กลายเป็นเรื่องปวดหัว ชวนคาใจ หาคำตอบไม่ได้ ถามใครก็ไม่รู้ เอาเป็นว่าเรื่องนี้ผู้เขียนขออธิบายดังนี้ครับ
หมวดของการลาหยุดนั้น หลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีดังนี้
มาตรา 28 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 1 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าเพื่อกำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้ ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์ และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
มาตรา 29 ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้า ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ ตามที่รัฐมนตรีประกาศ กำหนดให้นายจ้างพิจารณาวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป
กรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้
มาตรา 30 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 6 วันทำงานก็ได้ ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อๆ ไปได้
สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง โดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้
มาตรา 64 ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 62 และมาตรา 63 เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด
มาตรา 146 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มาตรา 45 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 65 มาตรา 66 มาตรา 73 มาตรา 74 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มาตรา 77 มาตรา 99 มาตรา 105 วรรคสอง มาตรา 108 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 117 หรือไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 120 มาตรา 121 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 139 (2) หรือ (3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ดังนั้น จากข้อกฎหมายดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 ระบุไว้ว่า พนักงานทุกคนมีสิทธิได้รับลาพักร้อน หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี อย่างน้อยคนละ 6 วันต่อปี แต่จะลาพักร้อนมากว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท เช่น 9 วัน 10 วัน 12 วัน 15 วัน หรือมากกว่านั้น ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน แต่ห้ามน้อยกว่า 6 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดเด็ดขาด
แล้วสิทธิ “ลาพักร้อน” สามารถใช้ตอนไหน เมื่อไร?
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน กำหนดไว้เลยว่า ลูกจ้างจะต้องได้วันลาพักร้อนหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน ในทันที เมื่อทำงานครบ 1 ปี โดยไม่ต้องเฉลี่ย ตัวอย่างเช่น นาย ก. เริ่มงานวันที่ 1 เมษายน 2565 ในวันที่ 1 เมษายน 2566 นาย ก. จะได้รับสิทธิลาพักร้อน 6 วันเต็มๆ ในทันที สามารถใช้ได้เลยทั้ง 6 วัน โดยที่หัวหน้าไม่มีสิทธิห้ามใช้
วันลาพักร้อนสามารถเก็บได้ไหม?
ตามกฎหมาย วันลาพักร้อนที่ได้รับหลังทำงานครบ 1 ปี จะมีอายุ 1 ปี หลังจากวันที่ได้รับ ยกตัวอย่างเช่น นางสาวสมศรี เริ่มทำงานในบริษัท A วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และทำงานครบ 1 ปี ในวันที่ 30 เมษายน 2565 ฉะนั้น ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 นางสาวสมศรีจะได้รับวันลาพักร้อน 6 วันในทันที ซึ่งนางสาวสมศรีสามารถใช้ได้ก่อนวันที่ 30 เมษายน 2566
ในส่วนที่ลูกจ้างต้องการทบเพิ่มวันลาพักร้อน หรือสะสมวันลาพักร้อนนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ไม่ได้มีการวางหลักกฎหมายใดๆ ไว้ แต่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนั้นเคยมีการระบุไว้ครับว่า ลูกจ้างสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท และไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย แต่การบริหารจัดการบุคลากรนั้น ทางนายจ้างก็ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของหลักแนวคิดรัฐศาสตร์ การใช้ใจเขาใจเราเข้ามาปรับใช้ในข้อกฎหมายด้วย เพราะถ้าหากเน้นตามตัวบทกฎหมายเกินไป อาจจะส่งผลกระทบถึงปัญหาข้อพิพาทแรงงานในภายหลังได้ครับ
ทำอย่างไรเมื่อช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ กลายเป็นวันทำงาน
เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาของฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างมาก ผู้เขียนจะขอทำความเข้าใจตามกฎหมายก่อนนะครับ ซึ่งโดยปกติแล้ววันหยุดตามกฎหมายนั้น ให้นายจ้างกำหนดวันหยุดตามประเพณี จำนวน 13 วัน โดย 12 วัน ต้องมาจากวันหยุดราชการ หรือวันหยุดทางศาสนา วันหยุดตามขนบประเพณีท้องถิ่น และอีก 1 วัน คือ วันแรงงานแห่งชาติ แต่จะเห็นได้จากช่วงสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้มีการประกาศงดวันหยุดราชการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และไม่เป็นวันหยุดงานของภาคเอกชน
ซึ่งถ้าปีนี้รัฐบาลประกาศว่า วันที่ 13-15 เมษายน 2566 ไม่เป็นวันหยุด ทำให้วันหยุดสงกรานต์จะไม่ใช่วันหยุดราชการ และไม่เข้าหลักเกณฑ์วันหยุดตามประเพณี
แล้วแบบนี้ นายจ้างต้องทำอย่างไร?
ผู้เขียนมีแนวทางเสนอแนะ คือ หากรัฐบาลมีการประกาศดังที่กล่าวมาข้างต้นจริง ทางฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล จะต้องรีบดำเนินการยกเลิกวันหยุดบริษัทช่วงเทศกาลสงกรานต์ และแจ้งให้พนักงานเข้าใจ พร้อมกับให้มาทำงานตามปกติ ทั้งนี้ รอรัฐบาลประกาศวันหยุดตามประเพณีใหม่ จำนวน 3 วัน และประกาศให้ลูกจ้างทราบ แต่ในกรณีที่ทางบริษัทจะอ้างว่าวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นวันหยุดตามประเพณีท้องถิ่นนั้นทำได้หรือไม่? ขอตอบว่า ทำได้ครับ เพราะวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ถึงจะไม่ใช่วันหยุดราชการ แต่วันสงกรานต์ยังคงเป็นวันหยุดตามประเพณีท้องถิ่นอยู่ดี แต่ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความเหมาะสมในสถานการณ์บ้านเมืองด้วยครับ
ในกรณีบริษัทได้ประกาศวันหยุดตามประเพณี ไว้ 16 วัน ต่อมายกเลิกวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ไป 3 วัน บริษัทจำเป็นต้องมีวันหยุดชดเชยหรือไม่?
เนื่องจากตามกฎหมายระบุวันหยุดบริษัทไว้ 13 วัน โดย 12 วัน ต้องมาจากวันหยุดราชการ หรือวันหยุดทางศาสนา วันหยุดตามขนบประเพณีท้องถิ่น และอีก 1 วัน คือ วันแรงงานแห่งชาติ ดังนั้น เมื่อยกเลิกวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ไป 3 วัน ก็ไม่ผิดกฎหมายครับ แต่อาจจะมีประเด็นที่ลูกจ้างไม่พอใจในกรณีที่ไม่มีวันหยุดชดเชยให้
สุดท้ายนี้ ก่อนจะถึงช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัย ก่อนออกจากบริษัทก็อย่าลืมปิดสวิตซ์ไฟ ปิดวาวล์น้ำ ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า เก็บขยะและอาหารออกจากสำนักงานกันด้วยนะครับ และอย่าลืมตรวจเช็กสภาพรถก่อนเดินทางไกล จะได้ปลอดภัยและสุขใจในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ครับผม
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ