
นายจ้างกับสิทธิวันหยุด ของลูกจ้างรายวันที่ควรรู้
27 เมษายน 2566
สวัสดีท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลังจากวันที่ 20 มีนาคม 2566 มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ซึ่ง กกต. ได้กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 และวันที่ 14 พฤษภาคม กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนี้ รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน จะอยู่กำหนดเศรษฐกิจทิศทางและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนไทย เป็นเวลา 4 ปี
ในเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากจะมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้ว ยังมีวันสำคัญอีก 1 วัน สำหรับชาวแรงงาน นั่นคือ วันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันหยุดแห่งชาติสำหรับผู้ใช้แรงงาน หรือลูกจ้างรายวัน ผู้เขียนขอเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับสิทธิวันหยุดของลูกจ้างรายวัน ที่นายจ้างจำเป็นต้องมี รายละเอียดดังนี้ครับ
นายจ้างจำเป็นต้องมีวันหยุดให้ลูกจ้างรายวัน ในเรื่องของวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือไม่
ในการประกอบกิจการปัจจุบัน ผู้อ่านคงไม่อาจปฏิเสธว่า “ลูกจ้าง” ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในองค์กร ซึ่งในองค์กรส่วนใหญ่โดยเฉพาะฝ่ายผลิต จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีแรงงาน ลูกจ้างรายวันในองค์กร ซึ่งประเด็นทางกฎหมายแรงงานที่มีการถกเถียงเป็นประจำ คือ “สิทธิของลูกจ้างรายวัน” เพราะหากลูกจ้างรายวันต้องหยุดงานเพราะเจ็บป่วย บริษัทยังต้องจ่ายค่าจ้างหรือไม่ ผู้เขียนขออธิบายให้ทุกท่านเข้าใจในองค์ประกอบดังต่อไปนี้
องค์ประกอบแรก คือ “กฎหมายแรงงาน” คำว่า กฎหมายแรงงาน เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง เพื่อให้การจ้างงานและการใช้งานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปด้วยดี ลูกจ้างได้รับประโยชน์ที่เหมาะสมตามกฎหมาย โดยกฎหมายแรงงานเรียกอีกชื่อว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงาน (พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน) ซึ่งคุ้มครองประโยชน์ของลูกจ้างและนายจ้าง
ดังนั้น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะเป็นตัวหลักของกฎหมายในด้านแรงงาน ที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการจ้างงาน ตลอดจนจัดสถานที่ทำงานอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างมีสุขภาพอนามัยที่ดี ปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย พร้อมทั้งให้ลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ซึ่งกฎหมายนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่ง พ.ร.บ. แต่ละอย่างจะมีเงื่อนไขระบุเอาไว้ชัดเจนว่าคุ้มครองอะไรบ้างเกี่ยวกับแรงงาน
องค์ประกอบที่ 2 คือ “ลูกจ้าง” หมายถึง ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร คําว่า ผู้ซึ่ง หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งตกลงทํางานให้นายจ้าง และหมายถึงบุคคลธรรมดามิใช่นิติบุคคลที่เข้ามาตกลงทํางานให้นายจ้าง และได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง โดยไม่คํานึงว่าผู้นั้นจะทําหน้าที่ในตําแหน่งใด และการตกลงนั้นจะเป็นการตกลงโดยตรงกับนายจ้าง หรือตกลงโดยปริยายก็ได้
องค์ประกอบที่ 3 “ค่าชดเชย” หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยมาตรา 118 กำหนดว่า “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
“ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
(1) ลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย
(6) ลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย
ลูกจ้างรายเดือน กับ ลูกจ้างรายวัน แตกต่างกันอย่างไร
ในลักษณะของการจ้างงาน ผู้อ่านหลายท่านคงรู้จักคำว่า “ลูกจ้างรายเดือน” ในความหมาย คือ หนุ่ม-สาวออฟฟิศ นั่งทำงานอยู่ในสำนักงานต่างๆ ส่วน “ลูกจ้างรายวัน” คือ กลุ่มลูกจ้างผู้ใช้แรงงานแบกหามตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนี้ เหมือนกับสิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายหรือไม่?
โดยแท้จริงแล้ว กฎหมายแรงงานไม่ได้แบ่งแยกนิยามของคำว่า “ลูกจ้างรายเดือน” หรือ “ลูกจ้างรายวัน” ไว้ครับ เพียงแต่นิยามระบุของคำว่า “ลูกจ้าง” ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายแรงงานเจตนารมณ์นั้นต้องการให้มีความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น ลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างรายวัน ต่างก็เป็น “ลูกจ้างของนายจ้าง” ทั้งสิ้น
ลูกจ้างรายเดือน กับ ลูกจ้างรายวัน มีการจ่ายค่าจ้างกันอย่างไร
ความแตกต่างของลูกจ้างรายเดือน กับ ลูกจ้างรายวัน ต่างกันตรง “วิธีการคำนวณค่าจ้าง” เนื่องจากการคำนวณรายได้ค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างรายวัน จะถูกคิดคำนวณเป็นอัตรารายวันตามที่ลูกจ้างตกลงไปทำงานให้นายจ้าง แต่กลับกัน ลูกจ้างรายเดือนนั้น นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในอัตราเหมาจ่ายทุกเดือน โดยไม่ได้คำนึงถึงจำนวนวันที่ลูกจ้างทำงาน ไม่ว่าเดือนนั้นจะมี 30 หรือ 31 วัน นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเท่ากันทุกเดือนนั่นเอง
ข้อแตกต่างระหว่างลูกจ้างรายเดือน และลูกจ้างรายวัน อีกข้อ คือ การคำนวณค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ ซึ่งหากเป็นกรณีของลูกจ้างรายเดือน กฎหมายวางหลักไว้ให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ให้แก่ลูกจ้างด้วย ตามมาตรา 56 ดังนั้น ค่าจ้างในอัตราเหมาที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างรายเดือน จึงได้คำนวณรวมเอาวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง เข้าเป็นฐานแห่งการคำนวณไว้แล้ว แต่หากเป็นลูกจ้างรายวัน เมื่อไม่ได้ทำงานให้นายจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างในส่วนนี้
สิทธิหยุดตามประเพณี หยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างรายวันมีสิทธิลาหรือไม่ และนายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุด หรือวันลาให้แก่ลูกจ้างรายวันหรือไม่
ในกฎหมายแรงงาน แบ่งวันหยุดออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. วันหยุดประจำสัปดาห์ 2. วันหยุดตามประเพณี และ 3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งทั้งลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างรายวัน จะต้องมีสิทธิได้รับวันหยุดทั้ง 3 ประเภทตามกฎหมาย นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 1 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องห่างกันไม่เกิน 6 วัน ยกเว้นแต่งานบางประเภทที่ลูกจ้างจำต้องทำติดกัน มิฉะนั้น จะเสียหายแก่ธุรกิจ เช่น งานบริการ งานโรงแรม งานขนส่ง กรณีนี้ ลูกจ้างและนายจ้างต้องตกลงเลื่อนวันหยุดเป็นวันอื่นแทน ส่วนวันหยุดตามประเพณี กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องประกาศล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน (รวมวันแรงงานแห่งชาติ) และนายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน เมื่อลูกจ้างทำงานติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 1 ปี
โดยสรุป คือ แม้ว่าเป็นลูกจ้างรายวัน ก็จะมีสิทธิได้รับ…
1. วันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน
2. วันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน (นายจ้างเป็นผู้กำหนด)
3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อทำงานติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปี ได้หยุดไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน
ซึ่งตามมาตรา 56 ยังได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว (เว้นแต่วันหยุดประจำสัปดาห์ที่ลูกจ้างรายวันไม่มีสิทธิได้รับ)
ดังนั้น นอกจากนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดทั้ง 3 ประเภทข้างต้นให้แก่ลูกจ้างรายวันแล้ว นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง แม้ลูกจ้างจะไม่ได้มาทำงานอีกด้วยครับ
จึงสรุปได้ว่า หลักการไม่มาทำงาน ไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่สามารถใช้ได้กับลูกจ้างรายวันในเรื่องของวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ลูกจ้างรายวัน มีสิทธิลาทำงานได้อย่างไรบ้าง
นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิในวันหยุดตามกฎหมายแล้ว ลูกจ้างยังมีสิทธิลาในวันทำงานได้เมื่อมีเหตุจำเป็นได้อีกด้วย ซึ่งวันลาตามกฎหมายแรงงานที่สำคัญ ประกอบด้วย
1. ลาป่วย
2. ลากิจ
3. ลาคลอด
4. ลารับราชการทหาร
กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ในวันลาทั้ง 4 ประเภท ดังนี้
1. ลาป่วย นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน
2. ลากิจ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 3 วัน
3. ลาคลอด นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน
4. ลารับราชการทหาร นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 60 วัน
ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นลูกจ้างรายเดือนเท่านั้นจึงมีสิทธิลา และมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลา ดังนั้น หลักการไม่ทำงาน ไม่จ่ายค่าจ้าง ก็ไม่สามารถใช้ได้กับลูกจ้างรายวันในเรื่องของวันลาอีกด้วย
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอสรุปว่า สิทธิของลูกจ้างรายวัน ไม่มีความแตกต่างจากสิทธิของลูกจ้างรายเดือนในเรื่องของวันหยุดและวันลา และมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด (ยกเว้นวันหยุดประจำสัปดาห์) และวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งนายจ้างจำเป็นต้องจัดให้มีไว้ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม อาจมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 146 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานได้ครับ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ