
แรงงานสองขั้ว (Job Polarization) และการหายไปของแรงงานทักษะทั่วไป
30 พฤษภาคม 2566
ปัจจุบัน ผู้ผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ได้เร่งพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง และตอบสนองความต้องการของตลาด หรือลูกค้าในยุคที่มีการแข่งขันสูง ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักมีการใช้เทคโนโลยีเข้มข้นเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจให้รุดหน้า เพื่อผลิตสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูง (Value-Added Products)
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงานว่า ในขณะที่เทคโนโลยีอาจช่วยเสริมหรือปรับปรุงงานที่ต้องการการคิดสั่งการที่อาศัยทักษะสูง แต่แรงงานทักษะปานกลางที่มีลักษณะทําซ้ำและเป็นกิจวัตร อาจจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ต่างๆ จนทำให้แรงงานจำนวนมากตกงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง
นอกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Advancement) การส่งต่อการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงต่ำ (Offshoring) ก็เป็นตัวเร่งให้ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตก เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างตลาดแรงงานภายในประเทศเป็นแบบทวิลักษณ์ (Labor Market Dualism) กล่าวคือ มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มงานที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญขึ้นสูง (High-Skilled Jobs) ทำงานประเภท Non-Routine Tasks เช่น งานด้านการวิเคราะห์ และงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และกลุ่มงานที่มีทักษะความชำนาญต่ำ (Low-Skilled Jobs) ทำงานประเภท Non-Routine Manual Tasks เช่น งานบริการ และงานขาย ที่ยังไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเครื่องจักร หรือมีค่าแรงถูกจนไม่จูงใจต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งความต้องการแรงงานกลุ่มอาชีพทักษะปานกลาง (Middle-Skilled Job) กลับมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการ Outsource งานที่ใช้ทักษะดังกล่าวออกไปต่างประเทศ หรือทดแทนด้วยเทคโนโลยี การที่ความต้องการแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการแรงงานทักษะปานกลางลดน้อยลง นักวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “แรงงานสองขั้ว (Job Polarization)” ซึ่งนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมของการจ้างและค่าจ้าง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ และที่สำคัญ คือ การเริ่มหายไปของแรงงานทั่วไปที่มีทักษะปานกลาง เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยส่วนใหญ่จำเป็นต้องย้ายไปทำงานที่ใช้ทักษะในระดับต่ำแทน หรือไม่ก็ออกจากตลาดแรงงานไปเลย
ประเทศที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วแบบประเทศจีน ก็เริ่มประสบปัญหาแรงงานสองขั้วเช่นกัน ตัวอย่างที่พบ คือ การหายไปของแรงงานทักษะปานกลาง ที่ถูกทดแทนด้วย Automation และ AI เช่น บริษัท Foxconn ผู้ผลิตสินค้าให้กับบริษัท Apple ได้ปรับลดพนักงานลงเกือบครึ่งหนึ่งในโรงงาน ที่มณฑลเจียงซู จากที่เคยมีพนักงานในสายการผลิตถึง 110,000 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 50,000 คน มีการนำหุ่นยนต์มาทดแทนพนักงานในสายการผลิต หรือบริษัทประกันภัย Fukoku ในประเทศญี่ปุ่น ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาคำนวณเบี้ยประกันภัยแทนพนักงาน ซึ่งเดิมเคยต้องใช้พนักงานถึง 30 คน
ปัจจัยที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานในประเทศนั้นๆ กำลังเกิดสถานการณ์แรงงานสองขั้ว (Job Polarization) ประกอบด้วย
1. มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเพิ่มขึ้นของการนำระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม และงานธุรการทั่วไป
2. พบการลดลงของงานที่ใช้ทักษะปานกลาง และการเพิ่มขึ้นของงานที่มีทักษะสูง
3. ปรากฏความเข้มข้นของงานที่ใช้ทักษะสูงในบางพื้นที่ ในขณะที่งานใช้ทักษะปานกลางและต่ำ มีการกระจายในวงกว้างมากขึ้น
4. ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ระหว่างแรงงานที่มีทักษะสูง และแรงงานที่มีทักษะปานกลาง และต่ำ
5. ช่องว่างทักษะที่กว้างขึ้น โดยนายจ้างต้องแข่งขันกันแสวงหาแรงงานสําหรับงานที่มีทักษะสูง ในขณะที่แรงงานที่มีทักษะปานกลางและต่ำ ต้องดิ้นรนเพื่อหางานทํา
โดยทั่วไป ภายหลังการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การจ้างงานในตลาดแรงงานจะเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว การปรับตัวของธุรกิจภายหลังการฟื้นตัว ทำให้งานที่มีทักษะปานกลางส่วนใหญ่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี หรือโยกย้ายไปประเทศที่ค่าแรงถูก และแรงงานส่วนนี้จะไม่ถูกจ้างกลับเข้ามาใหม่ การเกิด Recession จึงทำให้ปรากฏการณ์แรงงานสองขั้ว (Job Polarization) ขยายเพิ่มขึ้น ในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ที่ประสบปัญหา Recession เป็นระยะๆ ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 พบว่า จํานวนแรงงานทักษะปานกลางในอาชีพการผลิต และงานธุรการลดลงอย่างมาก สอดคล้องกับรายได้สัมพัทธ์ที่ลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน ทําให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานทักษะปานกลางแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา
จากการศึกษาข้อมูลในหลายประเทศพบว่า สถานการณ์แรงงานสองขั้ว อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างมีนัยสําคัญหลายมิติ เช่น
1. ช่องว่างทางทักษะ : แรงงานสองขั้วอาจนําไปสู่ช่องว่างทางทักษะ พบได้จากการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงในบางพื้นที่ และแรงงานที่มีอยู่ก็มีทักษะต่ำเกินไป
2. การใช้ระบบอัตโนมัติ : แรงงานสองขั้วนําไปสู่การสูญเสียงานสําหรับคนงานที่มีทักษะปานกลาง เนื่องจากงานบางส่วนสามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี
3. ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ : การแบ่งขั้วงาน อาจทําให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้รุนแรงขึ้น เนื่องจากแรงงานที่มีการศึกษาและทักษะระดับสูงได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น ในขณะที่ผู้มีระดับการศึกษาและทักษะต่ำกว่า แม้จะยังมีงานทำ แต่ก็ได้รับค่าแรงเท่าเดิม หรือลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานทักษะปานกลางต้องย้ายไปทำงานที่ใช้ทักษะในระดับต่ำแทน เพื่อให้ยังคงมีงานทำต่อไป
4. ความไม่สงบทางสังคม : ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เกิดขึ้น อาจนําไปสู่ความไม่สงบทางสังคม และความไม่พอใจต่อรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ
5. ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาท้องถิ่น : แรงงานสองขั้วอาจนําไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาท้องถิ่น โดยบางพื้นที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจดี แต่บางท้องถิ่นยังคงมีพัฒนาการที่ล้าหลัง
นอกจากภาพรวมในระดับประเทศ สถานการณ์แรงงานสองขั้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) ของคนงาน ขึ้นอยู่กับระดับทักษะ ประเภทการจ้างงาน และคุณภาพของงาน ผลกระทบที่เป็นไปได้คือ
1. แรงงานที่มีทักษะสูง (High-Skilled Jobs) อาจได้รับค่าแรงที่สูงขึ้น ได้รับการมอบหมายงานมากขึ้น ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา แต่อาจเผชิญกับความคาดหวังในงานที่สูงขึ้น นำไปสู่ความเครียด และความไม่สมดุลของชีวิตการทํางาน (Work-Life Balance)
2. แรงงานที่มีทักษะปานกลาง (Middle-Skilled Job) อาจเผชิญกับความไม่มั่นคงในงาน ค่าจ้างที่ลดลง ทำให้ความพึงพอใจในงานลดลง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต
3. แรงงานที่มีทักษะต่ำ (Low-Skilled Jobs) แม้การจ้างงานอาจจะยังมั่นคง เนื่องจากงานยังไม่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ แต่ก็อาจเผชิญกับสภาพการทํางานที่แย่ลง ขาดโอกาสในการพัฒนาและฝึกอบรมทักษะ รวมทั้งยังอาจประสบกับสภาพแวดล้อมความเสี่ยงในการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังเผชิญกับปัญหาสถานการณ์แรงงานสองขั้ว ภาครัฐได้ดำเนินการมาตรการเพื่อลดผลกระทบ โดยเฉพาะกับกลุ่มแรงงานทักษะปานกลาง ดังนี้
1. ส่งเสริมนวัตกรรมและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างงานและอุตสาหกรรมใหม่ที่สามารถดูดซับแรงงานที่มีทักษะปานกลาง
2. ลงทุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อช่วยให้แรงงานยกระดับทักษะ และปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป
3. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการแนะแนวอาชีพ เพื่ออํานวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านของแรงงานในอาชีพและภาคส่วนต่างๆ
4. เพิ่มการคุ้มครองทางสังคมและการสนับสนุนรายได้ สําหรับแรงงานที่เผชิญกับสภาพการจ้างงานที่อ่อนไหว
5. ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งการเจรจาต่อรองร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่ามีการบริหารค่าจ้างและสภาพการทํางานที่เป็นธรรมสําหรับคนงานทุกคน
ในส่วนของคนงาน สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แรงงานสองขั้วได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับทักษะความชอบและโอกาส กลยุทธ์ที่เป็นไปได้ ประกอบด้วย
1. การพัฒนาทักษะเพื่อให้มีคุณสมบัติสอดคล้องสําหรับอาชีพที่มีค่าจ้างสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการโดยเฉพาะในการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ การพัฒนาดังกล่าวประกอบด้วย การเข้าโปรแกรมการศึกษา การฝึกอบรม การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการสอบใบรับรองวิชาชีพ
2. การยอมเปลี่ยนอาชีพไปใช้ทักษะต่ำลง แม้จะได้รับค่าจ้างที่ลดลง แต่ก็มีความมั่นคงในงานมากขึ้น และยังได้ประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ความยืดหยุ่นของเวลา ความเป็นอิสระในการทำงาน รวมทั้งโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจต้องแลกกับค่าจ้างที่ลดลง สภาพแวดล้อมการทํางานที่เปลี่ยนไป และต้องปรับความคาดหวังให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
3. การปรับเปลี่ยนมุมมองให้มีความหลากหลาย เรียนรู้การใช้นวัตกรรม พัฒนาเรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการอารมณ์ และสร้างความไว้วางใจกับผู้อื่นที่มีความคิดเห็น หรือภูมิหลังที่แตกต่างกัน เพื่อลดสาเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต
สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะการทํางานของประชากร (Labor Force Survey หรือ LFS) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี พ.ศ. 2528-2563 จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี พบว่า ตลาดแรงงานไทยยังไม่มีปรากฏการณ์แรงงานสองขั้ว (Job Polarization) ที่ชัดเจน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานของประเทศไทยในช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นเพียงการโยกย้ายจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมในชนบทที่เป็นแรงงานทักษะต่ำ ไปสู่การจ้างงานในพื้นที่เขตเมืองในภาคบริการและอุตสาหกรรม ที่ใช้แรงงานทักษะปานกลางและสูง ซึ่งแตกต่างจากปรากฏการณ์แรงงานสองขั้วที่พบในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีสาเหตุจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และการโยกย้ายงาน Labor Intensive ไปต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต และบริการมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เกิดความแตกต่างของตลาดแรงงาน จนนำไปสู่สถานการณ์แรงงานสองขั้ว (Job Polarization) ในที่สุด และอาจนำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมด้านรายได้และการจ้างงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรีบพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ