กำลังโหลด...

×



HRM / HRD จัดการอย่างไร เมื่อลูกจ้างหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่...

magazine image
HRM / HRD

จัดการอย่างไร เมื่อลูกจ้างหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นนายจ้าง

 

            ปัจจุบัน การทำงานไม่ว่าจะวงการใด ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการติฉินนินทา การวิจารณ์เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งการวิจารณ์ผู้บังคับบัญชา หรือสถานประกอบการผู้เป็นนายจ้าง ซึ่งผู้อ่านทุกท่านอาจเคยประสบพบเจอด้วยตนเอง หรืออาจเป็นหนึ่งในบุคคลที่กำลังกระทำการดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้นมาบ้าง ดังนั้น ผู้เขียนขอแนะนำข้อกฎหมายที่ผู้อ่านทุกท่านพึงระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีไม่ว่าทางแพ่งและทางอาญา รวมไปถึงอาจมีความผิดตามระเบียบข้อบังคับของสถานประกอบการที่ทุกท่านทำงานอยู่

            เป็นที่ทราบกันดีว่า การหมิ่นประมาทบุคคลอื่นนั้น เป็นการกระทำที่มีความผิดทางอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติเอาไว้ว่า 

            มาตรา 326 บัญญัติไว้ “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

         มาตรา 328 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท”

            จากข้อกฎหมายที่ผู้เขียนยกขึ้นอ้างทั้ง 2 มาตราข้างต้น จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท มีอยู่ 3 ประการ ดังนี้

1. ผู้กระทำต้องมีการสื่อสารข้อมูลไปยังบุคคลที่สาม

ทั้งนี้ การสื่อสารดังกล่าวระหว่างผู้กระทำความผิดกับบุคคลที่สาม ไม่ว่าจะด้วยวิธีหรือรูปแบบใดๆ ก็ตาม เช่น การพูดคุยกันต่อหน้า การสื่อสารทางโทรศัพท์ การ VDO call การส่งข้อความทางแอปพลิเคชันสื่อสารต่างๆ เช่น Line, Facebook Messenger รวมไปถึงการโพสต์ข้อความบน Facebook, Twitter, Instagram ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21627/2556

จำเลยเป็นผู้พิมพ์หนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เรื่องอุทธรณ์คำสั่งบรรจุแต่งตั้งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าทำงาน แม้ข้อความโดยรวมเป็นการกล่าวหาผู้เสียหาย ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านโตนด และเป็นผู้บริหารสูงสุดของเทศบาลตำบลบ้านโตนด ว่ารับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นพนักงานเทศบาลไม่โปร่งใส เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นความจริง อันเป็นการใส่ความผู้เสียหายก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำต่อบุคคลที่สาม กลับได้ความเพียงว่า ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลบ้านโตนด ไปพบหนังสือร้องเรียนดังกล่าวที่หน้าคอมพิวเตอร์ห้องงานคลังด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้นำออกมาแสดงต่อ ก. เพื่อให้ทราบข้อความในเอกสารนั้น ส่วน ศ. พนักงานขับรถของผู้เสียหายก็เพียงแต่สงสัยว่าจำเลยจะเป็นผู้พิมพ์หนังสือร้องเรียนดังกล่าวเท่านั้น ทั้งที่จำเลยยังไม่ได้ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยทราบ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

2. ข้อมูลที่สื่อสารต้องเป็นการใส่ความผู้เสียหาย

“ใส่ความ” ถือเป็นถ้อยคำในกฎหมายที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งการใส่ความดังกล่าวจะเป็นข้อเท็จจริงที่อาจเป็นความจริงก็ได้ หรือจะเป็นความเท็จก็ได้เช่นกัน แม้กระทั่งการเล่าเรื่องที่ตนได้รับฟังมาจากบุคคลอื่นให้บุคคลที่สามฟัง ก็เข้าข่ายของคำว่าใส่ความด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2557

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ร่วมและเคยมีเพศสัมพันธ์กันมาก่อน เพียงแต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมแก่บุคคลที่สามด้วยถ้อยคำว่า ไม่รู้จักโจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมมานั่งเฝ้าจำเลยที่ห้องทุกคืน จนจำเลยต้องไปนอนที่อื่นและมาเฝ้าตั้งแต่เช้า มาเฝ้าถึงที่ทำงานของจำเลย โดยอ้างว่าเป็นภริยาจำเลย และโจทก์ร่วมมาคอยตามตื๊อจำเลยตลอดเวลา อันเป็นถ้อยคำที่ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้หญิงไม่ดี คอยตามตื๊อจำเลยซึ่งเป็นผู้ชายตลอดเวลา และแอบอ้างเป็นภริยาของจำเลย แม้คำว่า “ใส่ความ” ตามที่บัญญัติในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้นิยามศัพท์ว่ามีความหมายอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายไว้ว่า หมายถึงการพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เมื่อการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวของจำเลยเป็นการกล่าวที่ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม และการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวนั้นเห็นได้ชัดว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอาย อันเป็นการทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม และทำให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่มีลักษณะไปในทำนองแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

3. การใส่ความนั้น น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

จะเห็นได้ว่า การใส่ความนั้น แม้เพียง “น่าจะ” ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็ถือว่าครบองค์ประกอบของการกระทำความผิดแล้ว แม้จะยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การตีความของศาลว่าข้อความนั้นเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากสามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไปเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่พิจารณาจากความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทฝ่ายเดียว

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2562

ข้อความที่จำเลยกล่าว จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆ ไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว

            จากข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้วข้างต้นนั้น หากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างลูกจ้างด้วยกัน ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันระหว่างคู่กรณีเป็นเรื่องๆ ไป แต่หากการหมิ่นประมาทเกิดขึ้นระหว่างลูกจ้างกระทำต่อนายจ้างนั้น ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างโพสต์ข้อความในเฟชบุ๊กของตนทำนองว่า “เมื่อไหร่จะได้ในสิ่งที่ควรได้วะ…ต้องกินต้องใช้ ไม่ได้แดกดินแดกลมนะ” และ “ใครที่เกลียดเจ้านายเป็นบ้าเป็นหลัง โดนเจ้านายกลั่นแกล้ง หยุดซะเถอะความเกลียด ความโกรธ ปล่อยให้เขาเป็นอย่างนั้นไปคนเดียว เพราะถ้ามีเจ้านายเฮงซวยจริงๆ ก็ถือว่าเจ้านายของคุณมีทุกข์เยอะ ที่ชีวิตเขาต้องมาเจอลูกน้องเกลียด และเขาก็จะไม่มีความสุขในสิ่งที่เขาเป็น ยุ่งเหยิงยิ่งกว่า… ลูกค้าเกลียดวันที่ลูกค้าเต็ม…ตลอด 3 ปีมานี้เขาบอกว่าขาดทุนตลอด อยู่ได้ไงตั้ง 3 ปี…งง…ให้กำลังใจกันได้ดีมาก ขาดทุนทุกเดือน” นอกเหนือจากที่จะดำเนินคดีทางอาญาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว นายจ้างยังสามารถพิจารณาเลิกจ้างลูกจ้างคนดังกล่าวได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ โดยสิทธิดังกล่าวของนายจ้างมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ว่า

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ 

                        (1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

                        (2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย 

                        (3) ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง 

                        (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือนหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด 

                        (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทํางานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร 

                        (6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก 

                        ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทําโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

                        การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

            ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8206/2560

            เฟซบุ๊กเป็นสื่อออนไลน์สาธารณะ ที่ผู้ใช้งานใช้ในการติดต่อกับบุคคลอื่น และบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อความที่มีผู้เขียนลงบนเฟซบุ๊กได้ โดยมีบุคคลภายนอกเข้ามาเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความที่โจทก์เขียนไว้บนเฟซบุ๊ก แม้ข้อความที่โจทก์เขียนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการระบายความคับแค้นข้องใจของโจทก์ แต่ก็ทำให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยเป็นนายจ้างที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เอาเปรียบลูกจ้าง และจำเลยกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน ทั้งโจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลานาน ย่อมทราบดีว่าการเขียนข้อความดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารของจำเลย ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้า การกระทำของโจทก์จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์

            ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อผู้อ่านได้อ่านข้อกฎหมายที่ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้วข้างต้น จะตระหนักถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เพียงเพราะการกระทำการโดยใช้อารมณ์เป็นหลัก แม้จะเป็นเพียงการบ่นด้วยอารมณ์น้อยใจ แต่ก็อาจสร้างความเสียหายแก่ผู้ถูกใส่ความจนเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมาย ทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกด้วย ซึ่งไม่คุ้มค่าต่อเวลาที่ต้องไปขึ้นศาลและทรัพย์สินที่ต้องชดใช้ต่อผู้เสียหายเป็นอย่างยิ่ง

 

Top 5 Contents