
เทคนิคเตรียมรับมือ กับค่าแรงที่สูงขึ้น
24 มิถุนายน 2566
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน สำหรับบทความในตอนที่แล้วเราได้เรียนรู้วิธีการมอบหมาย และติดตามงานกันไปแล้ว ในบทความฉบับนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานในอนาคตกัน…
เวลาประมาณ 16.00 น. ณ ห้องประชุมของบริษัทผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 3,500 คน
วันนี้ผู้จัดการฝ่ายผลิตได้นัดประชุมกับหัวหน้างาน เพื่อแจ้งเรื่องราวเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการขึ้นค่าแรงงานที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ เมื่อผู้จัดการมาถึงก็เริ่มต้นสนทนาในทันที
“เฮ่อ!” ผู้จัดการถอนหายใจเสียงดัง จากนั้นก็พูดขึ้นว่า…
น้องๆ หัวหน้างานที่รักทุกคน เมื่อวานผมได้เข้าประชุมกับผู้บริหารของบริษัท ท่านให้นโยบายมาว่า ให้พนักงานเตรียมความพร้อมสำหรับการขึ้นค่าแรงที่จะเกิดขึ้น โดยให้แต่ละแผนกไปคิดหาแนวทางเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท ตั้งแต่ทำงานที่นี่มาเกือบ 20 ปี ผมคิดว่านี่คือมรสุมลูกใหญ่อีกลูกที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบริษัทของเรา ตอนนี้แผนกของเรามีพนักงานมากที่สุดในโรงงาน
ผมอยากขอให้น้องๆ หัวหน้างานทุกคนไปช่วยกันคิดหาวิธีการเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนี้ค่าแรงของเราเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วมาก โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีค่าใช้จ่ายจากการทำงานล่วงเวลาของพนักงานจำนวนมากแบบก้าวกระโดด ดังนั้น ในเดือนหน้าผู้บริหารท่านกำหนดมาเป็นนโยบายและเป้าหมายว่า ต้องลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง”
หลังจากที่ผู้จัดการแผนกพูดจบ ผู้จัดการก็ให้เวลากับหัวหน้างานเพื่อระดมสมอง และแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อหาแนวทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
ในตอนนั้น หัวหน้างานแต่ละคนก็ทำหน้าตกใจ ต่างคนต่างคิดกันไปคนละทางสองทาง เสียงหัวหน้างานถกเถียงกันสนั่นลั่นห้องประชุม เวลาผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมงก็ถึงเวลานำเสนอแนวคิดที่ได้จากการประชุม อเนก หัวหน้างานฝ่ายคลังสินค้าเสนอความคิดเป็นคนแรก…
“สำหรับแผนกคลังสินค้าที่ผมรับผิดชอบ ผมมีข้อเสนอ 2 ข้อ ดังนี้ครับ
หนึ่ง… เราต้องนำระบบการจัดการคลังสินค้าที่ทันสมัยกว่านี้มาใช้ เพราะระบบที่ใช้อยู่นั้นช้ามาก ไม่ทันสมัย ไม่เหมาะกับสินค้าและวัตถุดิบที่มีในปัจจุบัน
สอง… เราควรจัดเพิ่มชั้นวางของสำหรับวัตถุดิบรุ่นใหม่ที่มีการผลิตครับ”
หลังจากที่หัวหน้างานคนแรกนำเสนอแนวคิดจบเรียบร้อย หัวหน้างานฝ่ายประกอบก็เดินมาหน้าห้องแล้วนำเสนอแนวคิดต่อทันที
“สำหรับแผนกประกอบ ผมคิดว่าเราควรนำหุ่นยนต์มาช่วยในการประกอบ เพราะอย่างที่ทุกท่านเห็น พนักงานที่ประกอบทำงานช้ามาก นอกจากนี้ ชิ้นงานที่เราทำการประกอบก็มีความละเอียดสูง มีหลายจุดที่พนักงานประกอบผิดพลาด ดังนั้น ถ้าหากบริษัทนำหุ่นยนต์มาช่วยแล้วล่ะก็ ผมเชื่อมั่นว่าจะช่วยลดค่าแรงในการประกอบได้อย่างมาก นอกจากนี้ ปัญหาการประกอบผิด หรือลืมประกอบ ก็จะหมดไปอย่างแน่นอนครับ”
หลังจากหัวหน้างานคนที่สองพูดจบ หัวหน้างานคนที่สามก็เริ่มพูดขึ้นในทันทีว่า…
“สำหรับแผนกตรวจสอบท้ายกระบวนการ ตอนนี้มีปัญหาพนักงานตรวจงานไม่ทันครับ เนื่องจากเครื่องมือวัดที่เรามีอยู่ไม่ทันสมัย ทำงานได้ช้ามาก แถมยังมีความคลาดเคลื่อนและผิดพลาดบ่อยครั้ง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องซื้อเครื่องมือวัดใหม่ค่ะ”
หลังจากที่หัวหน้างานฝ่ายตรวจสอบพูดจบ หัวหน้างานฝ่ายบรรจุก็แสดงความคิดเห็นต่อทันที…
“สำหรับแผนกบรรจุ ตอนนี้มีปัญหาอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง เรื่องแรก พนักงานบรรจุชิ้นงานไม่ทัน เรื่องที่สอง พนักงานลืมใส่เอกสารอธิบายรายละเอียดสินค้าในกล่อง และเรื่องที่สาม การบรรจุผิดพลาด ซึ่งเรื่องนี้ทำให้หนูปวดหัวทุกวัน โดยเฉพาะช่วงนี้มีพนักงานเข้ามาใหม่เกือบ 10 คน หนูละเครียดจริงๆ ค่ะ ดังนั้น หนูคิดว่าเราน่าจะนำหุ่นยนต์มาช่วยในการบรรจุ และหาเครื่องจักรมาช่วยในการตรวจสอบสินค้าน่าจะดี คงจะช่วยให้ปัญหาในแผนกของหนูลดลงไปได้อย่างแน่นอนค่ะ”
หลังจากสิ้นเสียงของหัวหน้าฝ่ายบรรจุแล้ว หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาก็เริ่มเสนอแนวคิดต่อ…
“สำหรับแผนกวิจัยและพัฒนา ผมมีความคิดว่าสาเหตุที่ทำให้จำนวนการทำงานล่วงเวลาในแผนกของผมสูงขึ้นนั้น เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกแบบไม่ทันสมัย พนักงานก็ใช้เครื่องมือแบบผิดๆ ทำให้ต้องเสียเวลามาแก้ไขงานอยู่หลายครั้ง เพื่อลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ผมขอเสนอให้บริษัทซื้อโปรแกรมที่ทันสมัยมาช่วยในการออกแบบ นอกจากนี้ บริษัทควรรับพนักงานที่มีประสบการณ์มาทำงาน จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาอบรมครับ”
หลังจากที่ลูกน้องทั้ง 5 คน พูดจบแล้ว ผู้จัดการก็ยิ้มและพูดขึ้นว่า “ขอบคุณสำหรับทุกๆ ความคิดเห็นนะครับ ผมขออนุญาตสรุปแนวคิดจากพวกเราทั้ง 5 คน พวกเราคิดว่าสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนค่าแรงจากการทำงานช่วงเวลาสูงขึ้นนั้นเป็นเพราะ หนึ่ง เครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ทันสมัย ไม่สามารถใช้งานได้ดีเท่าที่ควร ที่สำคัญ ไม่ตอบโจทย์ในการผลิตในปัจจุบันใช่ไหมครับ?”
“ถูกต้องครับ/ค่ะ” เสียงหัวหน้างานทั้ง 5 คน ตอบพร้อมกัน
สำหรับวิธีแก้ไข คือ บริษัทควรซื้อระบบ หรือเครื่องจักร เครื่องมือ หรือหุ่นยนต์มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานให้สูงขึ้น แถมยังช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานให้ลดลง ผมสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบนี้ถูกต้องไหมครับ?
“ถูกต้องครับ/ค่ะ” หัวหน้างานทั้ง 5 คน ตอบพร้อมกันอีกครั้ง
ก็ไม่ผิดที่ทุกคนจะคิดแบบนั้น แต่ก่อนที่เราจะนำแนวคิดนี้ไปเสนอกับท่านประธานบริษัท ผมขอเล่านิทานเรื่องหนึ่งซึ่งท่านประธานได้เล่าให้กับเหล่าผู้จัดการฟัง เมื่อครั้งที่เราไปสัมมนาเกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ผมขอนำมาเล่าให้พวกเราฟังกันนะ
ณ เมืองแห่งหนึ่งในหุบเขาอันห่างไกล เมืองนี้มีความอุดมสมบูรณ์พูนสุข ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ทุกคนกินอิ่มนอนหลับ ชาวเมืองใช้ชีวิตอยู่กันอย่างนี้เป็นระยะเวลานานหลายชั่วอายุคน
จวบจนปีหนึ่งฟ้าฝนไม่เป็นใจ น้ำในทะเลสาบค่อยๆ ลดน้อยลง เหลือเพียงแค่เอาไว้ดื่มกินเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้เพื่อเพาะปลูกได้ ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก เจ้าเมืองก็อยู่นิ่งไม่ได้ พยายามครุ่นคิดหาวิธีการเพื่อหาน้ำมาให้ได้
ถัดไปยังหุบเขาอีกลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก ยังมีทะเลสาบอีกแห่งยังคงมีน้ำอยู่เต็ม หากนำมาใช้ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้มาก ดังนั้น เจ้าเมืองจึงคิดวางแผนการเพื่อหาแนวทางในการนำน้ำจากทะเลสาบแห่งนั้นมาใช้ให้ได้ ความคิดของเจ้าเมืองมีอยู่ 2 แนวทาง ดังนี้
แนวทางแรก เขาจะนำดินเหนียวในทะเลสาบมาทำเป็นก้อนอิฐ จากนั้นก็นำก้อนอิฐดังกล่าวมาต่อเรียงกันเพื่อเป็นทางให้น้ำไหล
แนวทางที่สอง เขาจะระดมผู้ชายในหมู่บ้านเพื่อมาช่วยกันขุดคลองจากทะเลสาบ มายังหมู่บ้าน
หลังจากที่เจ้าเมืองได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่คนอื่นแล้ว เขาก็ตัดสินใจเลือกแนวทางที่สอง จากนั้นก็ระดมอาสาสมัครชายหนุ่มในหมู่บ้านเริ่มดำเนินการขุดกันทันที แต่การขุดคลองส่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ได้แก่ หินขนาดใหญ่ที่ขวางทาง สภาพดินภูเขาที่แข็ง ทำให้ผลงานไม่ค่อยคืบหน้าสักเท่าไร
ไม่นานนักก็มีชายแก่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ชาวบ้านนับถือเป็นอย่างยิ่ง ได้เข้าไปพบกับเจ้าเมืองและได้นำเสนอแนวคิดการนำต้นไผ่ป่าซึ่งมีอยู่ในบริเวณนั้น โดยต้นไผ่ป่านี้มีลักษณะพิเศษ คือ ลำต้นมีขนาดใหญ่กว่าต้นไผ่ปกติทั่วไปหลายเท่า ผ่าครึ่งซีก จากนั้นก็สกัดข้อของต้นไผ่ตรงกลาง นำลำไผ่ที่ได้แต่ละท่อนมาต่อๆ กันเรื่อยๆ โดยระหว่างข้อต่อของต้นไผ่จะนำชันมายาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออก
เมื่อเจ้าเมืองได้รับข้อเสนอนั้นก็เห็นด้วยกับความคิดของชายแก่ และสั่งให้รีบดำเนินการทันที โดยที่เขาก็ยังคงดำเนินการขุดคลองควบคู่กันไปด้วย
ระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน รางน้ำที่ทำจากไม้ไผ่ก็สำเร็จ ชาวบ้านใจชื้นมากยิ่งขึ้น เพราะเริ่มมีน้ำใช้อุปโภคบริโภคมากกว่าเดิม เวลาผ่านไป 2 เดือน คลองส่งน้ำที่ร่วมแรงร่วมใจกันขุดก็ประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวบ้านมีน้ำสำหรับทำการเกษตรมากยิ่งขึ้นไปด้วย
แต่ยังไม่จบ หลังจากที่ชาวบ้านเริ่มกลับมามีชีวิตที่ดีเหมือนเดิม เจ้าเมืองก็ยังคงไม่ประมาท เพราะเขาคิดว่าไม่นานรางน้ำจากไม้ไผ่ก็อาจจะพังลง คลองส่งน้ำก็อาจจะตื้นเขิน ดังนั้น เขาจึงสั่งให้นำดินเหนียวจากริมทะเลสาบ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษเพราะมีความเหนียว แข็งทนทานเมื่อดินแห้ง มาทำเป็นก้อนอิฐแล้วจัดทำระบบชลประทานเอาไว้ใช้สำรองเมื่อเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำในอนาคต
เมื่อเล่าถึงตอนนี้ผู้จัดการก็เดินไปที่กระดาน แล้ววาดรูป
รูปแสดง แนวทางการปรับปรุงและพัฒนางาน (ดร.ทองพันชั่ง พงษ์วารินทร์, 2566)
จากเรื่องเล่านี้ ท่านประธานได้สรุปขั้นตอนการปรับปรุงการทำงานไว้ 3 ลำดับ ดังนี้
1. การปรับปรุงจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว ที่ทำได้เลยทันทีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และต้องไม่ใช้เวลานาน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปก่อนเบื้องต้น
2. เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นทีละนิดๆ ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ โดยต่อยอดจากการปรับปรุงเรื่องเล็กๆ เน้นให้พนักงานทุกคน ทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วม
3. ค้นหาและทำสิ่งใหม่เมื่อมีความพร้อม คือ เมื่อเรามีเวลามากขึ้น หรือมีเงินทุนมากขึ้น เราก็อาจจะลงทุนซื้อระบบ หรือเครื่องจักร เครื่องมือ หุ่นยนต์มาเพิ่ม
เมื่อผู้จัดการอธิบายมาถึงตรงนี้ หัวหน้างานหลายคนก็เริ่มเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องทำชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นผู้จัดการก็ให้การบ้านกับหัวหน้างาน โดยให้กลับไปคิดแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องลงทุน ไม่เกิน 3,000 บาท
หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ หัวหน้างานทั้งหมดก็ได้มานำเสนอโครงการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา โดยโครงการส่วนใหญ่แทบไม่ต้องใช้เงินลงทุนเลยแม้แต่นิดเดียว มีเพียงแค่ 2 โครงการ ที่ใช้เงินลงทุน แต่ก็ใช้เพียงแค่โครงการละ 1,500 บาทเท่านั้น หลังจากดำเนินโครงการไปแล้วประมาณเดือนกว่า จำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของพนักงานก็ค่อยๆ ลดลงๆ จนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
จากกรณีศึกษานี้ หากเรานำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือกับค่าแรงที่จะสูงขึ้นในอนาคต สามารถทำได้ดังนี้
1. ปลูกจิตสำนึกเรื่องต้นทุนให้กับพนักงานทราบ โดยอาจใช้วิธีพูดคุยเพื่อชี้แจงให้พนักงานเห็นถึงยอดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับองค์กร เช่น ต้นทุนการผลิต ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนค่าโสหุ้ย ต้นทุนจากการเกิดของเสีย และการปฏิบัติงานผิดพลาด เป็นต้น
2. ส่งเสริมการมีวินัยและการเคารพกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการปฏิบัติงาน โดยหัวหน้างานควรอธิบายวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง ข้อบังคับเมื่อพนักงานไม่ปฏิบัติตาม
3. หมั่นตรวจสอบการปฏิบัติงาน เพื่อค้นหาจุดที่ทำให้เกิดของเสียหรือความผิดพลาด แล้วทำการปรับปรุงให้ดีขึ้น
4. เตรียมความพร้อมของปัจจัยต่างๆ ที่ใช้ประกอบการปฏิบัติงานให้พร้อมก่อนเริ่มงาน ได้แก่ พนักงานเครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ ระบบ เอกสาร วิธีการและมาตรฐานการปฏิบัติงาน สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ปฏิบัติงาน
5. ค้นหาความสูญเปล่าที่อาจจะเกิดขึ้น และดำเนินการแก้ไขทันที สำหรับความสูญเปล่าที่มักจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน ได้แก่ เกิดของเสีย การทำงานซ้ำซ้อน การทำงานล่าช้า การแก้ไขงาน การเก็บสินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบระหว่างการผลิตมากเกินไป การขนส่ง การขนย้าย การเคลื่อนไหวที่ไม่เกิดประโยชน์ ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีความยุ่งยาก ลำบาก และใช้เวลานาน เป็นต้น เมื่อค้นพบปัญหาเหล่านี้แล้วให้รีบดำเนินการแก้ไขทันที
6. เริ่มจากการปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเราพัฒนาได้ดีขึ้น และเรามีเงินลงทุนมากขึ้น เราก็อาจนำเงินลงทุนไปซื้อเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ หุ่นยนต์ หรือระบบที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
หากเราทุกคนในองค์กรร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นทีละนิดๆ แล้วล่ะก็ รับรองได้ว่าต้นทุนในองค์กรของเราก็จะลดลงอย่างแน่นอน เมื่อต้นทุนของเราลดลง ก็จะส่งผลทำให้กำไรของบริษัทเราเพิ่มสูงขึ้น จริงไหม?
สุดท้าย ของฝากคมคิดสะกิดใจที่ว่า “ลดต้นทุน สร้างกำไร สำเร็จได้เมื่อทุกคนร่วมมือร่วมใจ” ขอให้โชคดีนะครับทุกท่าน
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ