กำลังโหลด...

×



HRM / HRD ทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำให้บริษัทเสียหาย หัวหน้างาน...

magazine image
HRM / HRD

ทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำให้บริษัทเสียหาย หัวหน้างานต้องรับผิดชอบ และถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย หรือไม่?

ลักษณะการทำงานในสังคมปัจจุบันของประเทศไทย หรือทุกที่ในโลกของภาคเอกชนนั้น เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานร่วมกัน บางครั้งเราอาจเป็นหัวหน้างานของอีกคน หรือเป็นลูกน้องของอีกคนปะปนกันไป ขึ้นอยู่กับบทบาทและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย 

ดังนั้น ในองค์กรที่ทำงานหรือสังคมการทำงาน จะมีหัวหน้างานและลูกน้องประกอบกันในหน่วยงานหรือส่วนงานในองค์กร ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของหน่วยงานที่สังกัดอยู่ โดยหน้าที่นั้น หัวหน้างานจะต้องรับผิดชอบต่อลูกน้องที่ตนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะมอบหมายงาน ทำการตรวจสอบงานของลูกน้อง หรือดูแลเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน เป็นต้น สำหรับการทำงานในหน่วยงานภาคเอกชน จะมีระเบียบและข้อบังคับของบริษัท เป็นระเบียบที่ทุกคนต้องถือปฏิบัติร่วมกัน หากมีการทำผิดระเบียบและข้อบังคับในการทำงาน ก็ถูกลงโทษ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความผิดที่กระทำว่าร้ายแรงหรือไม่ หากร้ายแรงก็เลิกจ้างได้ทันที หากไม่ร้ายแรงก็ต้องมีการตักเตือนและลงโทษตามระเบียบ ข้อบังคับของบริษัท ขึ้นอยู่กับลักษณะของความผิด

ดังที่กล่าวมา หัวหน้างานมีหน้าที่ในการดูแลลูกน้องที่ตนรับผิดชอบ หากลูกน้องทำผิดหรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำหน้าที่โดยไม่ถูกต้อง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย หัวหน้างานก็ต้องรับผิดชอบอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ความรับผิดชอบของหัวหน้างาน (จากความบกพร่องของตน) ต่อบริษัทนั้น อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ มีแง่มุมทางกฎหมายที่สมควรต้องพิจารณา ซึ่งตามกฎหมายแรงงานมีเหตุแห่งการเลิกจ้างโดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 ระบุสาเหตุแห่งการเลิกจ้างโดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย ได้แก่ 

1. ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง 

2. จงใจทำให้นายจ้างหรือบริษัทได้รับความเสียหาย

3. ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง

4. ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบการทำงานอย่างร้ายแรง

5. ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกัน 3 วันทำงาน โดยไม่มีเหตุอันควร

6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 

หากพิจารณาเหตุแห่งการเลิกจ้าง โดยนายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย มี 6 เหตุ ที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ ซึ่งหากไม่มีข้อเท็จจริงที่เข้าลักษณะแห่งการเลิกจ้างตาม 6 เหตุข้างต้น ที่มาตรา 119 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานระบุไว้นี้ การเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยทุกกรณี แม้ว่าการทำงานของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จะไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน หรือคุณภาพงานที่ทำไม่สามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทได้ก็ตาม เป็นต้น หากมีการเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามจำนวน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 ส่วนกรณีที่เป็นหัวหน้างานและลูกน้องของตนทำผิด หัวหน้างานจะต้องรับผิดชอบร่วมกับลูกน้อง ต้องถูกเลิกจ้างและไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ ในส่วนนี้ต้องดูลักษณะการกระทำความผิดของลูกน้องตนเป็นหลักว่าร้ายแรงแค่ไหน หากเป็นเพียงการทำงานผิดพลาดทั่วๆ ไป หรือไม่ได้ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือเสียหายเพียงเล็กน้อย เช่นนี้…ลูกน้องก็ไม่ถึงขนาดเป็นความผิดที่อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ก็ไม่ต้องพิจารณาว่าหัวหน้างานจะมีความผิดหรือไม่ 

แต่หากลูกน้องทำผิดถึงขนาดอาจถูกเลิกจ้างโดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย เข้าเหตุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบการทำงานอย่างร้ายแรง ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกัน หรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และถูกเลิกจ้างโดยไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยไปนั้น กรณีเช่นนี้ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไปว่า เหตุที่ลูกน้องของตนทำผิด หัวหน้างานมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องอันเป็นสาเหตุที่ถูกเลิกจ้างมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน และต้องพิจารณาระเบียบข้อบังคับของบริษัทประกอบด้วย 

ในกรณีที่ลูกน้องของตนทำผิดหรือทุจริตต่อหน้าที่ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าหัวหน้างานปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจสอบการทำงานของลูกน้องจนทำให้มีการทุจริต หรือกรณีเกิดความเสียหายแก่บริษัท หัวหน้างานอาจมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ เข้าเหตุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 119 (3) 

กรณีตามมาตรา 119 (3) เหตุเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (3) คือ ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งหมายถึง ลูกจ้างได้ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยของปกติชน หรือตามวิสัยของลูกจ้าง ซึ่งมีหน้าที่ต้องทำงานในตำแหน่งหน้าที่นั้น หรือตามวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพนั้น หรือลูกจ้างไม่ได้ทำงานตามหน้าที่ หรือได้เลินเล่อในการทำงาน จนกระทั่งเกิดความเสียหายแก่นายจ้างเป็นจำนวนมาก หากเข้าลักษณะดังกล่าวนี้ ก็มีสิทธิที่จะถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยเช่นเดียวกัน ปรากฏตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ดังต่อไปนี้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529-3530/2557

โจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ ในคืนเกิดเหตุรถไถหายไป ด. พนักงานขับรถไถของจำเลยเข้างานช่วงเวลาเดียวกับโจทก์ทั้งสอง ด. จึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับการทำงานว่า หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการต้องปฏิบัติตามคำบรรยายลักษณะงานที่กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ในข้อ 3.6 ให้ต้องตรวจสอบการทำงานของช่างขับ (พนักงานขับรถ) ให้ปฏิบัติตามกฎของจำเลย โดยจะต้องนำรถไถเข้าไปจอดภายในโรงงาน และตามระเบียบปฏิบัติ ข้อ 14 ให้ติดตามการทำงานของช่างขับอย่างใกล้ชิด และข้อ 15 ให้ติดตามผลเป้าหมายงานทุกๆ ชั่วโมง แม้ ด. จะละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ หากโจทก์ทั้งสองยึดถือระเบียบการทำงานอย่างเคร่งครัด โจทก์ทั้งสองก็จะทราบในทันทีก่อนรถไถหายไปว่า ด. ไม่นำรถไถเข้าไปเก็บไว้ในโรงงาน การกระทำของโจทก์ทั้งสองถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (3) ฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการขอให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดต่อจำเลย แต่การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจจะกระทำได้ ในปัญหานี้ศาลแรงงานภาค 2 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์ทั้งสองก่อความเสียหายแก่จำเลยจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6720/2546 

ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้จัดทำบัญชีคุมตั๋วโดยสารตามระเบียบ เป็นเหตุให้ตั๋วโดยสารขาดหาย นายจ้างเสียรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสารเป็นเงิน 317,200 บาท ในช่วงเวลาเพียง 4 เดือน ถือว่าประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13421/2558 

แม้ศาลแรงงานภาค 2 จะไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ แต่เมื่อคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุเลิกจ้าง รวมถึงเหตุที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในหน้าที่อย่างร้ายแรงด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และคำให้การของจำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นหัวหน้าชุดขนเงิน แต่ไม่ได้ตรวจสอบความเรียบร้อยของถุงใส่เงิน ปล่อยให้บุคคลภายนอกโดยสารมาด้วย และมีพฤติการณ์ส่อว่าร่วมมือกับลูกจ้างอื่นเอาเงินสดในถุงใส่เงินของจำเลยไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1) (2) และ (3) โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์ ดังนี้ เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องและคำให้การแล้ว คดียังต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (3) หรือไม่ การที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาคดีโดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง 

เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานภาค 2 ฟังมาเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ จึงวินิจฉัยประเด็นนี้ให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยอีก เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำหน้าที่ควบคุมการขนส่งเงินจากศูนย์บ้านบึงไปยังศูนย์โรงโป๊ะ โดยโจทก์มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าชุดและมีพนักงานอื่นในทีมอีก 2 คน คือ พนักงานขับรถ และพนักงานคุ้มกัน สภาพการทำงานพนักงานในชุดจะต้องดำเนินการตรวจเช็กถุงใส่เงินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และตรวจสอบหมายเลขที่ซีลปิดถุงใส่เงินให้ถูกต้อง แล้วลำเลียงขนถุงใส่เงินขึ้นรถเพื่อขนส่งไปยังศูนย์โรงโป๊ะ โจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานในชุดให้เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อคุ้มครองดูแลเงินในครอบครองให้ถึงที่หมายปลายทางด้วยความปลอดภัย โจทก์ปล่อยให้พนักงานขับรถตรวจสอบถุงเงินเอง ส่วนโจทก์ให้พนักงานคุ้มกันอ่านหมายเลขซีลปิดถุงให้ฟังเท่านั้น และโจทก์ปล่อยให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่พนักงานในชุดขนเงินร่วมเดินทางไปด้วย ในที่สุดตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดพบว่า บุคคลอื่นที่ร่วมเดินทางมาด้วยขณะทำหน้าที่เป็นพนักงานปิดซีลปากถุงใส่เงิน ได้เปิดช่องโหว่ปากถุงไว้ 1 ช่อง ขนาดใหญ่พอที่จะสามารถล้วงเอาเงินในถุงออกไปได้โดยไม่ได้ใช้เหล็กร้อยปิดปากถุงไปทั้งหมด การที่เงินในถุงใส่เงินที่อยู่ในความควบคุมดูแลของโจทก์ได้หายไป จึงเกิดจากโจทก์ไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานในชุดอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความปลอดภัยในทรัพย์ที่อยู่ภายใต้ความดูแลตามหน้าที่ ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม   

ดังนั้น จากแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ปรากฏแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าศาลฎีกาไม่ได้พิจารณาในเรื่องของตำแหน่งงานว่าดำรงตำแหน่งใด แต่ศาลฎีกาพิจารณาในเรื่องของลักษณะและหน้าที่ในการทำงาน ซึ่งหากผู้ใต้บังคับบัญชาของตนทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำงานผิดพลาด จนทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย หากหัวหน้างานบกพร่องจนถึงขนาดประมาทเลินเล่อ ไม่ได้ตรวจสอบกลั่นกรองการทำงานจนเกิดความเสียหายขึ้น หัวหน้างานแม้ว่าตนจะไม่ได้ทุจริต หรือทำให้บริษัทได้รับความเสียหายโดยตรง ก็อาจต้องถือว่าตนเองประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และอาจถูกเลิกจ้างโดยไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 119 (3) 

Top 5 Contents