
Leader Hero : ยอดหัวหน้างานตัวจริง (ตอนที่ 22) เรื่อง : คนหมดไฟกับการสร้างขวัญและกำลังใจให้ลุกโชนใหม่อีกครั้ง!
26 ธันวาคม 2566
เริ่มต้นเปิดศักราชใหม่ต้อนรับปีนักษัตรมะโรง ด้วย “โจทย์ข้อที่ 3 ใน 3 ประเด็นสำคัญของโจทย์ระดับแรก ระดับที่ 1 เรื่องของคน” ซึ่งถือเป็น “สาระใหญ่ใจกลางของพลังคน” นั่นก็คือ “ขวัญกำลังใจ” เพราะคนที่เป็นนายคน คือ “คนที่ผลักดันงานให้สำเร็จโดยผ่านการทำงานของคนอื่น ด้วยนานาวิธีทางการบริหาร มิใช่โดยการลงมือทำด้วยตนเอง” แล้ว “นานาวิธี” ที่ว่าก็คือ “การสร้างขวัญและกำลังใจทีมงาน” เป็นหนึ่งในนานาวิธีที่ผู้เขียนขออาสาขยับความขยายประเด็นให้ท่านผู้อ่านสมาชิกวารสาร HR Society ได้สาดส่ายสายตาระหว่างพักว่างจากกิจการภาระต่างๆ มาเก็บเกี่ยวเคี้ยวเพลินไปกับสาระสารพันของการบริหารคนกันครับ
เริ่มกันที่นิยามความหมายของคำว่า “ขวัญและกำลังใจ” กันก่อน ผู้เขียนขออนุญาตแยกคำแยกความ แล้วจึงตามมาด้วยการขยายคำอธิบายตามลำดับ คำว่า “ขวัญ” ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Morale แปลความได้ว่า “สภาพของจิตใจที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น ตั้งใจ ไม่วอกแวกจดจ่ออยู่ในงานนั้นอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องจนเชื่อใจได้ ไว้วางใจได้” (นี่คือความหมายของคำว่า ขวัญ ที่เป็นปัจเจกชนคน 1 คน) และหากขยายความให้ครอบคลุมถึง “ขวัญของกลุ่มหรือทีม (Team Morale)” ก็จะเพิ่มเติมถึง “ความร่วมไม้ร่วมมือในการทำงานให้เต็มกำลังความสามารถของกลุ่ม ด้วยความไม่ย่อท้อ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรค และ/หรือข้อจำกัดอะไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย” นั่นเอง
ดังนั้น ในฐานะของหัวหน้างาน จึงต้องสร้างขวัญและกำลังใจของลูกน้องแบบรายบุคคล จนไปถึงกลุ่มลูกน้องที่มากกว่า 1 คนอีกด้วย บทความนี้ผู้เขียนจึงขอใช้พื้นที่…กับวิธีการสร้างขวัญและกำลังใจของลูกน้องแบบรายบุคคลเป็นลำดับแรก แล้วค่อยไล่เรียงไปถึงสร้างขวัญและกำลังใจของลูกน้องแบบกลุ่มหรือทีม เป็นลำดับถัดไป…
“2 คน 2 คม ของคนที่ต้องการให้ปลุกขวัญและกำลังใจในการทำงาน!”
คมที่ 1 “เซ็งๆ เบื่อๆ” หรือศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า “Grumpy Staying” โดยพนักงานหรือลูกน้องที่เข้าข่ายเป็น “พวกเบื่อๆ เซ็งๆ” มักจะมีพฤติกรรมหรืออาการที่แสดงออกมา 7 ข้อ ดังนี้
เซ็งที่ 1 : ชอบบ่นเรื่องงานกับคนรอบข้างบ่อยๆ หรือแทบทุกวัน
เซ็งที่ 2 : ขาดงานบ่อย มาทำงานด้วยท่าทีเนือยๆ นั่งทำงานให้หมดไปวันๆ ไม่ตั้งใจหรือมีเป้าหมายในการทำงาน บ้างก็โดดประชุมโดยไม่บอกกล่าว หรือหนีงานไปดื้อๆ
เซ็งที่ 3 : ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทั้งปริมาณและคุณภาพ หรือใช้เวลาทำงานนานกว่าเดิมทั้งๆ ที่เป็นงานที่คุ้นเคย หรือเชี่ยวชาญงานนั้นแล้ว
เซ็งที่ 4 : ขาดความสุขในการทำงาน เริ่มมีทัศนคติที่ไม่ดีต่องาน มีคำถามกับงานที่ต้องทำว่า ทำไปทำไม ทำแล้วจะเวิร์กจริงหรือไม่ โน้นก็ไม่ดี นั่นก็ไม่ใช่ อะไรๆ ดูไม่ใช่ไปเสียหมด
เซ็งที่ 5 : มักปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ไม่ยอมปรับตัว หรือมีความดื้อ ต่อต้านสิ่งใหม่ที่เกี่ยวกับงาน
เซ็งที่ 6 : เริ่มทะเลาะหรือมีขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานค่อนข้างบ่อยเรื่อยๆ
เซ็งที่ 7 : ไม่มีแรงจูงใจในการผลักดันตัวเองให้ก้าวหน้า หรือได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเท่าที่มนุษย์พนักงานคนหนึ่งจะทำ
สาเหตุของคนแบบ “เซ็งๆ เบื่อๆ (Grumpy Staying)” จนขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน คือ
สาเหตุที่ 1 : ทำงานจนไม่มี Work-Life Balance รู้สึกว่างานเริ่มจะกลืนกินชีวิตไปแล้ว ชีวิตฉันทั้งชีวิตมีแต่งาน งาน งาน
สาเหตุที่ 2 : งานที่ทำเริ่มไม่ท้าทาย มีแต่งาน Routine ที่วนไปซ้ำๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ไม่ก้าวหน้า
สาเหตุที่ 3 : สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่ดี หรือผู้ร่วมงานไม่ดี เอาเปรียบ แย่งซีน เอาหน้า หรือการเดินทางมาทำงานลำบากมากขึ้นไม่เหมือนสมัยแรกๆ ที่เดินทางสะดวก รถไม่ติด เป็นต้น
สาเหตุที่ 4 : องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและการอยู่รอด แต่ตัวเขาไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ขององค์กรได้ดีเท่าที่ควร จึงเกิดภาวะความขัดแย้งภายในตัวของเขาเอง เช่น ไม่ชมชอบกับวัฒนธรรมใหม่ขององค์กร
สาเหตุที่ 5 : มีปัญหาต่างๆ รุมเร้ารายล้อม เช่น ปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาครอบครัว จนเริ่มรู้สึกไปเองว่างานที่ทำอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งภาระปัญหา ที่ทำไปก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้
สาเหตุที่ 6 : มีข้อจำกัดด้านวุฒิการศึกษา และ / หรือทักษะความสามารถ จึงรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับโอกาส ไม่ได้รับความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
สาเหตุที่ 7 : ด้วยวัยและอายุที่มากขึ้น ทำให้เขาหางานใหม่ยากขึ้น โอกาสในการสมัครงานใหม่ถูกปิดตาย
สาเหตุที่ 8 : คิดไปเอง และ / หรือเป็นความจริงที่ว่า “หัวหน้างานเลือกที่รักมักที่ชัง หรือบริษัทมีนโยบายที่ไม่เอื้อต่อคนแบบเขา ในการได้รับการส่งเสริมในอาชีพ
“วิธีจัดการกับคนแบบ เซ็งๆ เบื่อๆ (Grumpy Staying)” คือ
จัดการที่ 1 : พูดคุยกับเขาเพื่อให้เขาได้ระบาย และรับรู้ว่าบริษัท (หัวหน้า) ก็ไม่ได้ทอดทิ้งเขา กรณีที่บริษัทพอช่วยเหลือได้ ก็จะได้ดำเนินการให้เขาบ้าง
จัดการที่ 2 : กำหนดจุดหมายและแรงจูงใจในการทำงาน เช่น ชื่นชมผลงานของเขา หรือบอกเขาว่างานที่ทำมีความหมายต่อบริษัทในด้านใด
จัดการที่ 3 : กรณีที่เป็นไปได้ บริษัท (หัวหน้า) ควรมีนโยบายที่เอื้อให้คนทำงานสามารถทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น หรือให้โอกาสแก่คนที่มีข้อจำกัดด้านคุณวุฒิ วัยวุฒิตามสมควร ในการเติบโตก้าวหน้าได้ เป็นโครงการฝึกพัฒนาทักษะเพิ่ม
จัดการที่ 4 : ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้น่าทำงานมากขึ้น เช่น บรรยากาศโต๊ะทำงาน สี แสง ในที่ทำงาน
จัดการที่ 5 : มีนโยบายที่สนับสนุนการทำงานแบบ Work-Life Balance ให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม สัมผัสได้
จัดการที่ 6 : เสริมสวัสดิการเบี้ยเลี้ยงพิเศษ กรณีที่ให้ทำงานเพิ่มในบางโอกาส หรือฤดูกาลงานล้นเวลางานปกติ หรือการปรับขึ้นเงินเดือนให้เป็นพิเศษสำหรับ “พนักงานบางตำแหน่ง”
จัดการที่ 7 : จัดทำนโยบายสมัครใจลาออก เพื่อเป็นทางเลือกให้พนักงาน
คมที่ 2 “คนหมดไฟในการทำงาน” หรือ Burnout Symptoms แต่คนส่วนใหญ่มักใช้คำผิด ไปใช้คำว่า “Burnout Syndrome คือ โรคหมดไฟในการทำงาน” ซึ่งในความเป็นจริง คนทำงานทุกคน เมื่อทำงานไปสักระยะนึงก็ย่อมเกิดอาการเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย ไม่สู้ ไม่อยากทำอะไร แต่เมื่อได้พักผ่อนไปชาร์ตแบตกลับมา ก็สามารถทำงานใหม่ได้ดีอีกครั้ง! จึงเป็น “เพียงสภาวะชั่วคราว” หรือเป็นเพียง “อาการ” เท่านั้น และจากคมคนแบบที่ 2 นี้ จึงเป็นที่มาของสวัสดิการที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลใช้ในการดูแลพนักงาน ด้วย “การลาหยุดพักผ่อนประจำปี” ที่เราๆ ท่านๆ มักเรียกกันติดปากว่า “ลาพักร้อน”
แล้วมันก็ต้องมีการสืบเสาะหาที่มาที่ไปของคำพูดติดปากนี้ ให้ได้พอเป็นที่คลายความฉงนสงสัยของตัวผู้เขียน จึงขอขยับความให้ท่านผู้อ่านได้คิดตามข้อสันนิษฐาน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ดังนี้
ข้อที่ 1 : น่าจะชอบลาพักกันในช่วงหน้าร้อนเดือนเมษายน แล้วก็จะได้ลาลากยาวต่อจากเทศกาลสงกรานต์
ข้อที่ 2 : คงจะทำงานมาสักพักหนึ่ง ก็สัก 3 เดือน คือมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ถ้าเป็นเครื่องจักรก็คงสมควรแก่เวลาที่จะให้เครื่องได้เบรกดาวน์พักให้เครื่องได้หายร้อน อะไรทำนองนี้ (ถ้าใครที่ทำงานสายโรงงานก็จะพอนึกภาพออก) และ
ข้อที่ 3 : น่าจะมาจากการทำงานที่เป็น “งานด่วน”และ “งานร้อน” มาตลอดทั้งปี เลยเสมือนแก้วที่โดนไฟแผดเผาด้วยอุณหภูมิร้อนจัดมานานๆ หากไม่ให้แก้วได้พักร้อนบ้าง หลบร้อนบ้าง ก็เกรงว่าแก้วใบนั้นอาจจะแตกหรือร้าวได้! ฉะนั้น คนที่เป็น Burnout Symptoms หรือคนที่หมดไฟในการทำงานก็เช่นกัน เพราะพวกเขาทำงานหนักๆ มาทั้งปี ก็ควรจะได้ผ่อนคลายหน้าที่การงานกันบ้าง! นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้เขียนเองนะครับ
เอาล่ะ… กลับเข้าสู่ประเด็นที่เป็นสาระกันต่อ “อาการของคนหมดไฟ (Burnout Symptoms)” หรือ “รู้สึกเหนื่อยหน่าย เหนื่อยล้ากับการทำงาน” ก็ส่งผลให้ไม่มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน จึงมีคำกล่าวที่ชวนฉุกคิดได้ว่า “ฟองซ่าของโซดามีวันหมดฉันใด ภาวะคนหมดไฟก็เกิดขึ้นได้กับทุกคนฉันนั้น” หรือ “เป๊ปซี่ที่ว่าดีที่สุด ทันทีที่หมดความซ่า ก็ไร้ค่าเหมือนคนหมดไฟ” ดังนั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้างานตัวจริง จึงต้องใช้สารพัดวิธีการที่จะทำให้คนที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้รับการเอาใจใส่ฟูมฟักดูแลจิตใจ ซึ่งก็คือ “ขวัญและกำลังใจ” ของเขาด้วย โดยอย่าลืมว่าเทรนด์การทำงานสมัย New Normal ณ บัดนาว คือ “Smart Work-Life Balance (สมดุลระหว่างชีวิตกับงานที่ชาญฉลาด)” ไม่ใช่ “Work Hard (ทำงานหนักทุ่มเท)” หรือ “Work Smart (ทำงานฉลาด)” เท่านั้น
7 วิธีช่วยรีแลกซ์ผ่อนคลายพนักงาน ลูกน้อง ไม่ให้เกิดการสะสมตะกอนอารมณ์จนกลายเป็น “คนหมดไฟ Burnout Symptoms (เพราะเป็นเพียงอาการ มิใช่โรค)”
วิธีที่ 1 : “ซอย สับ ตัด หั่น แบ่งงาน” ไม่สั่งงานด่วน งานเร่ง โดยให้พนักงานคนเดียวทำภายในเวลาอันจำกัด แต่ต้องกระจายงานให้คนในทีมช่วยกันทำ แบ่งงานให้แต่ละคนทำชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้งานยุ่งเหยิง สับสน และมีประสิทธิภาพด้วยเวลาที่จำกัดได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของวิธีนี้ ก็คือ พนักงานจะไม่เกิดการสะสมความเคร่งเครียดจากการทำงานเร่งด่วน และเกิดอาการเหนื่อยล้าเพราะทำงานเพียงลำพัง
วิธีที่ 2 : “เช้า สาย บ่าย เย็น ขวัญลงเล่นน้ำกับเรียม” ปรับตารางเวลาในการทำงานให้กับพนักงาน เพื่อให้เกิดความสมดุล โดยยืดหยุ่นกับเวลาขณะทำงานและชีวิตส่วนตัว ด้วยการมี “กิจกรรมผ่อนคลาย” ให้พนักงานได้คลายเครียดพักสมอง พักร่างวันละนิดวันละหน่อย (ให้ไอ้ขวัญได้ลงว่ายน้ำเล่นกับเจ้าเรียมบ้าง!!!)
วิธีที่ 3 : “เทคโนโลยีมีให้ใช้ คนมีไว้ให้ดูแล” ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดกระบวนการการทำงานให้ง่ายขึ้น เพื่อให้มีเวลาเหลือไปให้พนักงานได้ใช้ชีวิต ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการชาร์ตแบตทางอ้อมแก่พนักงาน
วิธีที่ 4 : “บรรยากาศ บันดาลแรง” ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน ย่อมส่งผลให้เกิดความสดใส กระชุ่มกระชวยในการทำงานแก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงานตัวใหม่ มุมใหม่ๆ ของที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการลดความเบื่อหน่าย ลดความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ดีกว่าการที่ต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมๆ
วิธีที่ 5 : “โปรเลือกได้ตามใจ” ให้พนักงานสามารถเลือกเวลาทำงานได้ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นที่สมดุลระหว่างเวลาการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งองค์กรชั้นนำทั้งในและนอกประเทศได้นำมาใช้ แล้วก็ประสบผลตอบรับดีมาก โดยผลิตภาพของบริษัทก็สูงขึ้นด้วย วิธีนี้เขาเรียกว่า “Flexi-Hour (เวลายืดหยุ่น)” นั่นเอง
วิธีที่ 6 : “สวิตช์สลับกลับมาสแตนด์บาย” พนักงานสามารถเลือกขอสลับสถานที่ทำงานได้ เช่น จันทร์ อังคาร พุธ ขอทำงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) ส่วนพฤหัสบดีและศุกร์ ก็กลับมาทำงานที่บริษัท พนักงานก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องตื่นเช้าในช่วงต้นสัปดาห์ของการทำงาน โดยเฉพาะวันจันทร์ เบื่อเดินทาง เบื่อรถติด จึงอยากอยู่ทำงานที่บ้านแทน แล้ว 2 วันท้ายสัปดาห์ค่อยกลับมาทำงานที่บริษัทก็ได้ คงจะดีกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
วิธีที่ 7 : “อัปสกิล รีสกิล นิวสกิล” สรรหาโครงการหรือโปรแกรมฝึกอบรมใหม่ๆ ให้พนักงานได้ฝึกฝนเรียนรู้ในศักยภาพ หรือต่อยอดความสามารถเดิมเพิ่มเติมให้แกร่งและเก่งขึ้น ก็ย่อมเป็นการเติม “ฟืน” “เสริมไฟ” ให้กับพนักงานได้อีกทาง พวกเขาก็จะไม่เบื่อหรือเมื่อยล้าจนหมดไฟในการทำงาน
เอาล่ะครับ ไม่ว่าท่านจะต้องเผชิญ และ/ หรือพานพบกับพนักงาน ลูกน้อง หรือผู้ร่วมงานที่มี “อาการแบบเซ็งๆ เบื่อๆ (Grumpy Staying)” หรือ “สภาวะคนหมดไฟ (Burnout Symptoms)” ก็ตาม ผู้ที่เป็นนาย ผู้ที่ต้องบริหารพวกเขา ก็คงต้องใช้ทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัวกับความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎระเบียบ มากำกับดูแลพวกเขาให้เกิดผลิตภาพที่คุ้มค่ากับการว่าจ้างพวกเขา เพื่อมาร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจในกิจการขององค์กรให้บรรลุซึ่งเป้าหมายที่วาดหวังไว้อย่างสมภาคภูมิ! เพราะคนที่เป็นนายคน คือ “คนที่ผลักดันงานให้สำเร็จ โดยผ่านการทำงานของคนอื่นด้วยนานาวิธีทางการบริหาร มิใช่โดยการลงมือทำด้วยตนเอง”
“ท้อได้ไม่รู้กี่ครั้ง และก็ถอยไม่ได้สักหน เพราะนี่คือสัจธรรมของชีวิต มันเป็นวัฏจักรเฉกเช่นมีฤดูร้อน เราก็ต้องทนสักระยะ แล้วฤดูฝนก็จะมาแทนพอให้ชุ่มฉ่ำได้ และฤดูแห่งความหนาวเหน็บก็จะมา ทุกอย่างมันก็เป็นไปแบบนี้ไม่มีวันหยุดนิ่ง! ดังนั้น การทำงานก็ย่อมต้องสู้ทนฟันฝ่ากับอุปสรรค แล้วความสำเร็จก็จะมายืนรอเราอยู่ข้างหน้า เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เป็นธรรมชาติของปรากฏการณ์ในการทำงาน บางคราวมีเหนื่อย บางครั้งมีหน่าย บางวันมีสนุก บางเดือนมีหนัก ก็จงหยุดบ้าง อึดบ้าง ถอยบ้าง และพักบ้าง แล้วกลับมาสู้ใหม่ ไปต่อให้สุดจนกว่าจะสำเร็จ!!!”
ใครกำลังตกอยู่ใน “สภาพ Grumpy Staying” หรือมี “อาการ Burnout Symptoms” ก็จะได้ฉุกคิด แล้วก้าวออกมาจากสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ ลองทำตามวิธีการต่างๆ ตามที่ผู้เขียนได้ไล่เรียงไปทีละวิธี ค่อยๆ ประคับประคองกันไประหว่างตัวเราเอง หัวหน้า หรือฝ่ายบุคคล และรวมทั้งเพื่อนร่วมงานผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราในชีวิต ต่างก็สามารถร่วมด้วยช่วยกันได้ ทำให้ “พวกเบื่อๆ เซ็งๆ” และ “คนหมดไฟ” กลับมาเป็น “คนเดิมที่เติมแบตมาเต็ม” มาเป็น “ขุมกำลังสำคัญ” ในทีมงานขององค์กร… “คนเก่งกลับมาแล้ว” แล้วพบกันในบทความตอนหน้านะครับ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ