กำลังโหลด...

×



HRM / HRD Leader Hero : ยอดหัวหน้างานตัวจริง (ตอนที่ 23) เรื...

magazine image
HRM / HRD

Leader Hero : ยอดหัวหน้างานตัวจริง (ตอนที่ 23) เรื่อง : หน้าชื่นอกตรม ฉันยังเก่งไม่พอกับการสร้างขวัญและกำลังใจให้ลุกโชนใหม่อีกครั้ง!

พรเทพ ฉันทวี

26 มกราคม 2567

หลังจากที่เราๆ ท่านๆ ได้ผ่าน “การเฉลิมฉลองเปิดศักราชใหม่ปี 2567” ไปแล้ว ซึ่งนับไล่วันเวลาไปอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ เราก็ได้รื่นเริงต้อนรับ “วันแห่งความรัก” หรือ Valentine’s Day กันต่อ! เมื่อฉบับที่แล้วผู้เขียนได้เขียนถึง “การสร้างขวัญและกำลังใจแบบรายบุคคล” กับคน 2 กลุ่ม ที่มีโอกาสพบในองค์กร ก็คือ กลุ่มที่ 1 “Grumpy Staying (เบื่อๆ เซ็งๆ)” และกลุ่มที่ 2 “Burnout Symptoms (ภาวะคนหมดไฟ)” 

ส่วนในฉบับนี้ขอเขียนถึงอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นพวก “Smiling Depression (หน้าชื่นอกตรม)” และกลุ่มที่เป็นพวก “Impostor Syndrome (ฉันยังไม่เก่งพอ)” ก็เป็นอีก 2 อาการ หรือสภาวะของลูกน้องประเภทปัจเจกชนอีกพวกหนึ่งที่ต้องการให้ใครสักคนมาช่วยจุดไฟชาร์จแบตให้สตาร์ตติดขึ้นมาอีกครั้ง! จึงหนีไม่พ้นเราๆ ท่านๆ ที่ทำหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคล และ/หรือผู้ที่เป็นนายของพวกเขาโดยตรงมาเป็น “ผู้จุดประกาย” ให้พวกเขา “ตื่นขึ้น (Wake Up)” นั่นเอง!  

ท่านผู้อ่านครับ เรามาเริ่มต้นกันที่ กลุ่มคนที่มีภาวะหน้าชื่นอกตรม หรือ Smiling Depression คนที่มีสภาวะดังกล่าว สามารถสังเกตได้จาก “การมีพฤติกรรมเหมือนคนปกติทั่วไป ยิ้ม หัวเราะ ร่าเริง ขยัน ตั้งใจทำงาน รับผิดชอบงานและหน้าที่ได้ดี เป็นมิสเตอร์เยส พร้อมอาสา หรือยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้อื่นได้เสมอ และไม่หวั่นแม้ต้องเผชิญกับความกดดันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอเพียงของเครื่องไม้เครื่องมือ และ/หรือสถานการณ์ยุ่งยากก็ตาม”

แต่สิ่งที่เราๆ ท่านๆ อาจจะไม่คิดถึง หรือเพราะไม่ใส่ใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ คนที่มีสภาวะ Smiling Depression (หน้าชื่นอกตรม) นั้น พวกเขากำลังเสแสร้งเพื่อปกปิดสภาวะแห่งความรู้สึกของอารมณ์ภายในที่เขาเองนั้นรู้สึกว่า ตนเองไร้ค่า ไร้ความหมาย ไร้ความสุข! แต่ที่ต้องทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะด้วยหลายๆ เหตุผล และ/หรือความจำเป็นอะไรบางอย่าง เช่น 

ข้อที่ 1 การเสพติดความสมบูรณ์แบบ และ/หรือความสำเร็จ ดังนั้น ห้ามล้มเหลว ห้ามพ่ายแพ้ ต้องทุ่มเทมานะพยายามให้มาก เพราะมีคนหลายคนเฝ้ามองดูอยู่ 

ข้อที่ 2 ด้วยบทบาทหน้าที่รับผิดชอบที่มาก หนัก และสำคัญ จึงต้องเก็บอาการเหนื่อยล้าเอาไว้ข้างในไม่ให้ใครได้รู้ เพราะอาจจะส่งผลเสียต่างๆ ตามมาทั้งต่อตนเองและต่อคนรอบข้าง เช่น ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ญาติพี่น้อง เป็นต้น หากเผยอาการ และ/หรือจุดอ่อน ช่องโหว่ออกมาให้ใครเห็นหรือรับรู้เข้า ก็ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงต่อสถานภาพหน้าที่การงานในสังคมก็อาจจะเป็นไปได้! เข้าข่ายขี้กังวล คิดเยอะ ระมัดระวังตัวแจ จึงตั้งการ์ดรัดกุม ตั้งกำแพงปกป้องตนเองให้สูงไว้ก่อน น่าจะปลอดภัยในระดับขั้นสูงสุด นั่นเอง

ข้อที่ 3 ใส่ใจหรือแคร์ความรู้สึกของคนอื่นมากเกินไป และเกรงว่าตนจะกลายเป็นภาระของผู้อื่น เข้าทำนองเพลงจิ๊กโก๋อกหักของพี่เสก โลโซ… “ไม่ต้องห่วงฉัน” 

ข้อที่ 4 เป็นเพราะกลไกการป้องกันตนเองทางจิตวิทยา (Self-Defense Mechanism) เพื่อให้ตนสามารถครองตัวตน (Self Confidence) เอาไว้ จึงแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับสภาวะภายในที่เป็น ไม่ให้ใครรู้ว่าตนเองกำลังอ่อนแอ และ/หรือกำลังเป็นปัญหาของหน่วยงานอยู่ จึงแสดงออกมาเชิงตรงข้าม และ/หรือกลบเกลื่อน นั่นเอง!

ดังนั้น ท่านในฐานะของผู้ดูแล ผู้กุมบังเหียนของส่วนงาน ผู้เป็นหัวหน้างานจึงต้องเป็นผู้ที่ยื่นมือเข้าไปช่วยพวกเขา โดยเฉพาะเขาคือส่วนสำคัญของท่าน เขาคือผู้ที่ช่วยท่านทำงานผลักดัน ขับเคลื่อนภารกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จบรรลุผล! ทำอย่างไรเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านเข้าข่ายเป็น Smiling Depression (หน้าชื่นอกตรม) ก็ขอเสนอให้ทำดังนี้ 

ข้อที่ 1 โดยการมอบหมายงานแบบผ่อนคลายสลับเข้มตึง เพื่อทำให้ “ความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)” ของเขาได้ลดปรับขยับคลายลงบ้าง และช่วยปรับทัศนะมุมมองของเขาให้มีความยืดหยุ่นตัวมากขึ้น

ข้อที่ 2 หาเวลาว่างนั่งพูดคุยกันถึง “ความล้มเหลวก็เป็นเรื่องที่น่าขำ” โดยให้เริ่มนับหนึ่งเล่าเรื่องขำจากความล้มเหลวของ “คนที่เป็นนายเล่าก่อน” เช่น ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษางานการตลาดและการขายให้กับองค์กรชั้นนำแห่งหนึ่ง ที่นั่นเขามี “วัฒนธรรม Morning Talk” โดยใช้ชื่อของวัฒนธรรมว่า “เรื่องเล่าเช้านี้” ซึ่งเป็นการนำเอาชื่อของรายการข่าวยอดนิยมรายการหนึ่งมาใช้เป็นชื่อโครงการเพื่อให้ติดหู แล้วในรายละเอียดของการพูดคุยกัน ก็คือ เรื่องขบขันของความล้มเหลวที่พนักงานการตลาดแต่ละคนได้ทำอะไรที่มักผิดพลั้งพลาดไป มาเล่าสู่กันฟังในบรรดาหมู่เหล่าเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ทำงานการตลาดด้วยกัน ถือเป็นวิธีที่ดีและทำให้ทุกคนไม่มัวยึดมั่นถือมั่นว่า “ฉันต้องเป็นที่หนึ่ง” “ฉันต้องดีที่สุด” “ฉันต้องไม่แพ้” และ “ฉันต้องไม่ล้มเหลว” ซึ่งจะทำให้ทุกคนไม่ต้องกังวล เก็บงำ เก็บซ่อนจนเกิดอาการเก็บกดได้ในที่สุด! เขาก็จะทำงานอย่างผ่อนคลายไปกับสภาวะปกติที่เป็นจริง มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ระคนคละเคล้ากันไป!

ข้อที่ 3 การเรียนรู้ในการรู้จักลดละความใส่ใจในความรู้สึกของคนรอบข้างลงบ้าง เช่น ชวนกันไปนั่งร้านกาแฟ โดยให้เลือกที่โต๊ะมุม เพื่อให้สามารถเฝ้าสังเกตผู้คนที่เดินไปเดินมา นั่งดื่มกินของโต๊ะรอบข้างในการแสดงพฤติกรรมต่างๆ นานาของผู้คน แล้วก็ชวนเขาคิดโดยตั้งคำถามถึงการกระทำใดๆ ของคนที่เขามองเห็นโดยทั่วไปในประเด็นที่ว่า “คนเราก็มักมุ่งสนใจ ใส่ใจในตัวเองเป็นหลักซะมากกว่า!” แม้จะรู้จักสนิทกันเป็นอย่างดีก็ตาม ดังนั้น ก็ชวนเขากลับมาเป็น “คนปกติที่ควรใส่ใจตัวเองสินะ” มันเป็นเรื่องธรรมดามาก! 

ข้อที่ 4 ปล่อยวาง! รู้จักพัก รู้จักผ่อน รู้จักคลาย… “พักตรงนี้ดีกว่า หยุดและพักให้คลายหายเหนื่อย สายลมไหวโชยเอื่อย เหนื่อยคลายให้แรงกลับคืนเหมือนเดิม เพราะทางนั้นไกลอยู่ และไม่รู้ต้องเดินอีกไกลเท่าไร มีเรื่องราวมากมายที่ยังคอยให้เราเข้าไปพบเจอ พักตรงนี้ดีกว่า เหนื่อยมานานกับความสับสนวุ่นวาย นอนเถอะนอน ให้สบาย ตื่นขึ้นมาแล้วเดินต่อไปตามทาง ตื่นขึ้นมาแล้วแรงกลับคืน ยืนแล้วเดินต่อไปตามทาง” (ขอขอบคุณผู้แต่งเนื้อเพลง...คุณนิติพงษ์ ห่อนาค ไว้ ณ ที่นี้)

เอาล่ะ! หลังจากที่เราได้รู้จักกลุ่มคนที่มีภาวะหน้าชื่นอกตรม หรือ Smiling Depression พร้อมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “วิธีการสร้างขวัญและกำลังใจ” พวกเขาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรามาติดตามอ่านกันต่อถึงกลุ่มคนที่เรียกว่า “ฉันยังเก่งไม่พอ (Impostor Syndrome)” กลุ่มคนพวกนี้มักจะไปยืนอยู่แถวหลัง ไม่ค่อยกล้าเสนอตัวหรืออาสาทำอะไร หรือมีไอเดียใหม่ๆ มาพูดคุยกับเพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งหัวหน้าของเขามักจะทำตัวเป็น “เด็กเก็บซ่อนศักยภาพ” ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ผลงานที่ผ่านมาเชิงประจักษ์ ใครๆ ต่างก็ยอมรับและชื่นชมเขาอยู่เนื่องๆ ก็ตามที! 

มาเช็กกันว่า “สัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่าลูกน้องของท่านมีโอกาสเป็น Impostor Syndrome (ฉันยังไม่เก่งพอ) ดังนี้

1. เป็นเพราะโชคช่วย ไม่ก็ฟลุกมั้ง? หากลูกน้องของท่านมักพูดติดปากว่า “พี่ ผม (หนู) ว่างานนี้มันสำเร็จได้เพราะโชคช่วย” หรือไม่ก็ “พี่ ผม (หนู) ว่างานนี้คงฟลุกมั้ง” หรือไม่ก็ “มันมีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า ผม (หนู) ก็ไม่ได้เจ๋งอะไรขนาดนั้นหรอก” 

2. ไม่กล้าขันอาสาหรือเสนอตัว รวมทั้งไม่กล้าเสนอไอเดียใหม่ๆ ให้ใครได้รับรู้รับฟัง เพราะคิดเสมอว่า “ตนไม่เหมาะ ไม่สามารถพอ ไม่เก่งกล้าดีพอ” แม้บางครั้งจะเตรียมพร้อมมาอย่างดีแล้ว แต่ก็ไม่อาจลดทอนความวิตกกังวลภายในใจตนได้ จึงมักมัวกลัวว่าจะทำสิ่งนั้นได้ไม่ดีเพราะตนไม่เก่งพอ และไม่เหมาะสมกับโอกาสที่ได้รับมาเท่าคนอื่นๆ จนไม่กล้าที่จะยอมขยับขยายแสดงความสามารถที่มีอยู่ออกมา เพราะกลัวคนอื่นมองว่าตนไม่ได้เก่งจริงอย่างที่เห็น มันเป็นเพียงความบังเอิญในบางครั้งเท่านั้น!

3. ชอบคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำสำเร็จ ใครๆ ก็ทำได้! ที่จริงแล้วพวกเขาก็ประสบความสำเร็จได้อย่างดี แต่กลับไม่คิดว่าตนมีความสามารถพิเศษ มองว่าความสำเร็จเป็นเพียงเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำได้! ซ้ำร้ายกว่านั้นชอบคิดเลยเถิดไปว่า หากเป็นคนอื่นที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเช่นเดียวกันกับเขา น่าจะทำได้สำเร็จไม่ต่างกัน! หรือเผลอๆ อาจจะดีเลิศล้ำกว่าที่เขาทำได้เสียอีก เรียกว่า “หนักข้อคดีใหญ่ พลิกล็อก รถบรรทุกคว่ำกันเลยล่ะ” 

4. ไม่ยินดีกับความสำเร็จของตนเอง ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาทุ่มเทกับการลงมือลงไม้ทำงานอย่างเต็มกำลังจนประสบความสำเร็จ เขากลับไม่รู้สึกยินดีกับผลลัพธ์ที่ได้มา แต่รู้สึกว่าความสามารถของตนยังไม่คู่ควรกับความชื่นชมหรือโอกาสที่ได้รับ และคิดแทนคนอื่นว่า “ทำไมใครๆ ดูไม่กังขาหรือสงสัยในความสามารถของตัวเขาเลยหรือ?” และ “เพราะอะไรผู้คนจึงกลับเชื่อใจ มั่นใจในตัวเขาเหลือเกินว่าช่างเก่งกาจสามารถนักหนา?” ในขณะที่ตัวลูกน้องของคุณกลับมีแต่ข้อฉงน ข้อเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถของตนเอง เลยรู้สึกงงในงงแทนกลุ่มคนพวกนี้ 

5. วกวนอยู่ในความคิดว่า สิ่งที่ทำไปไม่สมบูรณ์พร้อม ไม่ดีพอ ยังมีข้อบกพร่อง แม้จะได้รับคำชมก็ตาม พวกเขามักมองว่าผลงานที่ได้ส่งมอบให้หัวหน้าไปนั้น มันไม่สมบูรณ์แบบพอ ต้องพยายามมากกว่านี้เพื่อให้ผลงานออกมาดีมากขึ้นอีก และผลงานตอนนี้ยังไม่คู่ควรกับคำชมที่ได้รับ แม้จะได้รับคำชมว่า “ดีมาก” “สุดยอดผลงาน” ก็ตามที!

หนังสือ The Secret Thoughts of Successful Women เขียนโดย ดร.วาเลรี่ ยัง (Dr. Valerie Young, Ed. PhD.) เขียนไว้ว่า คนที่เป็น Impostor Syndrome (ฉันยังไม่เก่งพอ) มีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบ ดังนี้ 

รูปแบบที่ 1 พวกสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist) ที่สร้างมาตรฐานและความคาดหวังต่อตนเองไว้สูงลิ่ว ชนิดที่ว่าแม้จะสำเร็จไปแล้วกว่า 99% ก็ยังรู้สึกว่า 1% ที่เหลือคือความล้มเหลวที่รับไม่ได้ และนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ  

รูปแบบที่ 2 พวกเชี่ยวชาญ (The Expert) มักให้ความกังขาใน 2 เรื่อง คือ “อะไร” กับ “เท่าไร” ที่เขาสามารถคำนวณหรือล่วงรู้ได้ เขาจึงคาดหวังที่จะต้องรู้ให้ได้ในทุกสิ่ง แต่พอเขาขาดความรู้อะไรเพียงเล็กน้อย ก็กลับรู้สึกไปเองว่า “ฉันล้มเหลวจนได้เพียงเพราะสิ่งเล็กๆ ที่ฉันน่าจะรู้” แล้วก็รู้สึกละอายใจที่ใครๆ เรียกเขาว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” 

รูปแบบที่ 3 พวกศิลปินเดี่ยว (The Soloist) คือ คนที่มักทำงานให้สำเร็จด้วยตัวเองได้เสมอ แต่เมื่อไรก็ตามที่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น “สมองก็จะมีเสียงแว่วขึ้นมาว่า ฉันไม่เก่งพอ” นั่นก็กำลังหมายความว่า “ความสำเร็จที่ผ่านมา ที่ทำโดยลำพังนั้น เป็นเพียงความบังเอิญและไม่บอกให้คนอื่นรู้ว่า ที่จริง… ฉันไม่เก่งพอ”

รูปแบบที่ 4 พวกอัจฉริยะโดยกำเนิด (The Natural Genius) มักคุ้นเคยกับการใช้สติปัญญาอันเฉลียวฉลาดของตนในการทำทุกอย่างสำเร็จได้ จึงเป็นเรื่องง่ายราวดีดนิ้ว แต่ในทางตรงข้าม หากคราใดที่งานเริ่มติดขัดและต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก เพื่อให้งานนั้นบรรลุผล สมองของคนกลุ่มนี้ก็จะสั่งการโดยอัตโนมัติว่า “นี่น่ะ ขนาดพยายามมากถึงเพียงนี้แล้ว ยังทำไม่ได้ซะที นั่นไง ก็แสดงว่า… แกน่ะ มันไม่เก่งไง?” 

รูปแบบที่ 5 พวกมนุษย์พันธุ์พิเศษ (The Superhuman) คือ พวกที่รู้สึกว่าคนเก่งจริงต้องสำเร็จในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าที่การงาน ด้านครอบครัวในบทบาทของพ่อแม่และคู่ครองที่ดี ด้านสังคมต้องเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ทุกเรื่อง จนทำให้เกิดความกดดันและความเครียด และเมื่อบทบาทใดบทบาทหนึ่งไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ไม่สำเร็จ ก็จะ “พูดกับตัวเองว่า… ฉันไม่เก่งพอ” 

ดังนั้น ท่านในฐานะที่เป็นหัวหน้างาน จึงควรสังเกต หมั่นสอดส่องดูแลลูกน้องที่อยู่ใต้การบังคับบัญชา ควรยื่นมือเข้าไปช่วย “ปลดเปลื้องสภาวะ” ที่พวกเขากำลังเผชิญหรือตกหล่มอยู่ใน “ภวังค์หมดพลัง” “หมดกำลังลี้กำลังใจ” เพื่อให้เขาได้กลับมาเป็นขุมกำลังสำคัญของท่านในการช่วยขับเคลื่อนภารกิจ การงานต่างๆ ให้สำเร็จ! 

ดังนั้น ควรทำอย่างไรเมื่อผู้ที่เป็นลูกน้องของท่านกำลังเป็น Impostor Syndrome (ฉันยังไม่เก่งพอ) ก็มีข้อเสนอ ดังนี้ 

4 วิธีก้าวข้าม Impostor Syndrome ได้ง่ายๆ โดย…

1. รู้จักแยกความจริงออกจากความรู้สึก อาการของ Imposter Syndrome ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองทำงานไม่เก่ง ซึ่งบ่อยครั้ง “ความรู้สึกว่าฉันไม่เก่ง เกิดมาจากความกลัว แต่ความจริงสามารถเอาชนะได้ด้วยการเผชิญกับมัน” ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับสภาวะของอาการนี้ คือ “การแยกความรู้สึกออกจากความจริง” อย่าหมกมุ่นอยู่กับ “อารมณ์หรือความรู้สึก” 

2. พลิกวิธีคิดชีวิตเปลี่ยน อย่าไปยึดติด และ/หรือกับการถูกตีตราว่า “ฉันเป็นคนไม่เก่ง” แต่ให้เข้าใจว่ามันเป็นเพียงความรู้สึกหวาดกลัวปกติของคนเราโดยทั่วไป ขอเพียงทุกครั้งที่เราลงมือทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากเดิม ก็ย่อมมีความกังวลใจ เกิดข้อผิดพลาดในการทำครั้งแรกๆ ก็เท่านั้น แล้วจงชื่นชมตัวเองที่มีความกล้าริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ นั่นเอง 

3. ใช้การจดบันทึกความสำเร็จของตนเองเข้าช่วย ทำให้จิตใต้สำนึกของเรานั้นค่อยๆ ก่อตัวสะสมขึ้นว่า “กว่าจะมาถึงวันนี้ หากฉันหันมองกลับไปด้านหลัง ซึ่งคืออดีตที่ผ่านมา เราก็มีความสามารถไม่ใช่ย่อย เราเคยสร้างผลงานหรือสิ่งที่น่าชื่นชมประทับใจมาก็มาก” ดังนั้น วิธีการรู้จักจดบันทึกความสำเร็จของตนเอง ก็จะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้มาก ส่งผลให้จิตใต้สำนึกของคนเรานั้นเกิดความฮึกเหิม เกิดความมั่นใจว่า “ฉันก็มีประวัติบันทึกแห่งความสำเร็จกับคนอื่นเขาเช่นกัน” 

4. อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน เรามักจะได้อ่าน ได้พบ ได้เห็น “ในโลกสังคมออนไลน์” ผู้คนส่วนใหญ่ชอบโพสต์ แชร์ทั้งคลิป ทั้งภาพ ที่แสดงถึงความสำเร็จของตนเองให้คนอื่นๆ โดยทั่วไปได้เห็น จงระวัง จงรู้เท่าทันอารมณ์ อย่าเอามาใส่ใจ ใส่สมองตน เอามาเปรียบเทียบกับตนระหว่างความสำเร็จ ความร่ำรวยของคนอื่น 

เอาล่ะครับ มาติดตามอ่านบทความในตอนหน้ากันต่อครับ

 

Top 5 Contents