
การพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบที่ผู้ประกอบการควรรู้
29 มกราคม 2567
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รัก กุมภาพันธ์เดือนแห่งความสุข ความสดใส และชุ่มชื่นหัวใจ และเนื่องจากเดือนนี้มีวันแห่งความรัก คือ วันวาเลนไทน์ ที่มักจะเห็นผู้คนจัดเตรียมช่อดอกไม้ ช็อกโกแลต หรือของขวัญแทนใจมอบให้กับคนรักในวันสำคัญนี้
สำหรับเนื้อหาในฉบับนี้ผมขอนำเสนอเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กับอนาคตของแรงงานนอกระบบไทยที่ผู้ประกอบการควรรู้”
ตามที่ท่านทราบข่าวเกี่ยวกับสหภาพยุโรป (EU) เคยให้ “ใบเหลือง” ประเทศไทย สืบเนื่องจากยังไม่มีขอบข่ายงานทางกฎหมายที่พอเพียงในการจัดการกับการทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงระบบตรวจตรา ควบคุม และตรวจสอบที่ย่ำแย่ และนัยจะมีการทบทวนใบเหลืองดังกล่าว ซึ่งอาจจะคงไว้ตามเดิมหรือยกระดับเป็น “สีแดง” ผลก็คือ ห้ามผลิตภัณฑ์ประมงจากไทยเข้าสู่ตลาด EU
รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาแรงงานนอกระบบ จึงได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ เป็นวาระสำคัญว่าด้วยเรื่อง มาตรการส่งเสริม คุ้มครอง พัฒนา และสร้างหลักประกันทางสังคมสู่แรงงานนอกระบบ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์หรือแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2566-2570 บูรณาการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ในระดับนโยบาย
ตามที่ทราบกันดีว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งต่อมาทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเรียบบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 และขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอสู่กระบวนการทางรัฐสภาต่อไป โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะทำให้แรงงานนอกระบบในประเทศไทยกว่า 19.6 ล้านคนนั้น สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเครือข่าย พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี มีการทำงานและได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม
ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีสวัสดิการและหลักประกันขั้นพื้นฐานแก่แรงงานนอกระบบ เพราะแรงงานนอกระบบนั้น ถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่มีจำนวนมาก แรงงานนอกระบบไม่จำกัดแค่เพียงลูกจ้างแรงงานรายวันเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มคนที่มีอาชีพอิสระ เช่น อาชีพเกษตร ประมง พ่อค้า แม่ค้า แผงลอย คนขับแท็กซี่ ช่างรับเหมาแรงงาน ตลอดจนเจ้าของกิจการที่มีธุรกิจเป็นของตนเอง และมีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจขนาดเล็กในครัวเรือน มีรายได้แค่พอยังชีพ และส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ซึ่งสภาพปัญหาหลักๆ ที่แรงงานนอกระบบเจอ เช่น ปัญหาจากการทำงาน ปัญหาจากความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ปัญหาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน และอีกปัญหาที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การไม่ได้รับความคุ้มครองในด้านสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอจากรัฐ
ซึ่งทางรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และล่าสุดได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ของแรงงานนอกระบบตามกฎหมายประกันสังคม ไว้ในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้บุคคลใดซึ่งมิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 และไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจได้ ซึ่งสามารถแสดงความจํานงต่อสํานักงานประกันสังคม โดยมี 3 ทางเลือก สําหรับแรงงานนอกระบบ กับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม ไว้ในมาตรา 40 ดังนี้
ทางเลือกที่ 1
ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เดือนละ 70 บาท
1.1 ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
1.2 ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
1.3 ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
ทางเลือกที่ 2
ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เดือนละ 100 บาท
2.1 ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
2.2 ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
2.3 ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
2.4 ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
ทางเลือกที่ 3
ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เดือนละ 300 บาท
3.1 ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
3.2 ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
3.3 ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
3.4 ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
3.5 ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร ตามมาตรา 40 คือ
1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือเป็นผู้ถือบัตรประจำตัวคนไทย ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่มีเลขประจำตัวหลักแรกเป็น 0 หรือ 6 หรือ 7
2. อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
3. ผู้พิการทางร่างกายที่รับรู้สิทธิ
4. ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 หรือข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
สุดท้ายนี้ ถึงแม้กฎหมายประกันสังคมจะเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้โดยสมัครใจ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และยังมีการแก้ไขปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรานี้ให้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีนายจ้าง อีกทั้งแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญในการเข้าสู่ระบบประกันสังคมเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องมีการศึกษาข้อมูลและแนวทางที่เหมาะสม เพื่อใช้พัฒนา ส่งเสริม และให้ความคุ้มครองแรงงานนอกระบบตามกฎหมายประกันสังคมให้ได้รับความคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม และเพื่อช่วยให้แรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป ในระหว่างที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ จะยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ