
ทำงานชาญฉลาด ทำงานอย่างสามก๊ก ตอน...โจโฉขับกลอนเลี้ยงใหญ่ในแม่น้ำแยงซีเกียง
27 กุมภาพันธ์ 2567
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน สำหรับบทความในตอนที่แล้วเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเคล็ดลับการช่วยเหลือผู้อื่นแล้วไม่ทำให้เราเดือดร้อนกันไปแล้ว สำหรับบทความในตอนนี้มาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานชาญฉลาด ทำงานอย่างสามก๊ก ในตอนที่มีชื่อว่า “โจโฉขับกลอนเลี้ยงใหญ่ในแม่น้ำแยงซีเกียง” เรามาเริ่มกันเลยนะครับ
ณ ห้องทำงานของบริษัทผลิตวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง...
ภาษิต หัวหน้างานหนุ่มที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่กี่วัน แต่เรื่องราวร้ายๆ ก็เกิดขึ้นกับเขา วันหนึ่งในเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน เรวัฒน์ ผู้จัดการโรงงาน ได้เดินผ่านโต๊ะทำงานของภาษิต หลังจากที่รับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว เขาเห็นภาษิตกำลังนั่งทำงานอย่างขะมักเขม้น โดยไม่ยอมไปรับประทานอาหาร พฤติกรรมของภาษิตแบบนี้เรวัฒน์เห็นเกือบทุกวัน ด้วยความสงสัยและห่วงใยในหัวหน้างานคนใหม่ที่เพิ่งเริ่มงานได้ไม่ถึงเดือน เรวัฒน์จึงถามด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่า
“ภาษิต นี่เลยเวลาพักไปเกือบครึ่งชั่วโมงแล้ว ทำไมยังไม่ไปกินข้าวกลางวันอีกล่ะ”
ภาษิตที่กำลังทำงาน รีบหยุดแล้วหันมายิ้มให้เรวัฒน์ จากนั้นก็ตอบกลับไปว่า...
“ผมรอให้คนในโรงอาหารน้อยลงก่อน แล้วค่อยไปครับ”
ด้วยความเป็นห่วง เรวัฒน์จึงตอบกลับไปว่า
“แต่ถ้าคุณไปกินข้าวช้า อาหารก็อาจจะเหลือน้อย หรือไม่ก็หมด คุณอาจจะไม่ได้กินข้าวก็ได้นะ”
“ขอบคุณที่เป็นห่วงครับผู้จัดการ อีกสักครู่ผมก็จะไปกินข้าวแล้วครับ ขอบคุณครับ” ภาษิตรีบตอบ
จากนั้นเรวัฒน์ก็เดินไปที่ห้องทำงาน
ผ่านไปอีกสัปดาห์ เรวัฒน์ยังคงเห็นภาษิตไปรับประทานอาหารกลางวันช้ากว่าผู้อื่นเสมอ บางวันเขาก็ไม่ไปพักกลางวันอีกด้วย ด้วยความสงสัย เรวัฒน์จึงเรียกขจรศักดิ์ หัวหน้างานในแผนกเดียวกับภาษิตไปสอบถาม
เมื่อขจรศักดิ์มาถึงห้องทำงานของเรวัฒน์ เรวัฒน์ก็รีบยิงคำถามทันที...
“ขจรศักดิ์ คุณคิดว่าภาษิตเขาทำงานเป็นอย่างไร? คุณพูดความจริงกับผมเลยนะ ไม่ต้องปกปิด”
ขจรศักดิ์ยิ้ม แล้วตอบกลับไปว่า “ผมว่าภาษิตเขาเป็นคนเก่งนะครับ เขามีความตั้งใจทำงานสูงมาก เผลอๆ จะตั้งใจทำงานมากกว่าผมอีกด้วยครับ”
“แล้วนิสัยใจคอล่ะ ภาษิตเขามีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือพนักงานคนอื่นๆ บ้างไหม?” เรวัฒน์ถามต่ออย่างรวดเร็ว
ขจรศักดิ์ส่ายหน้าแล้วตอบกลับไปว่า “ผมว่าไม่มีนะครับ เพราะภาษิตเขาเป็นคนสุภาพ มีอัธยาศัยไมตรีดี เข้ากับลูกน้อง เพื่อนร่วมงานได้ดี ผมว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรนะครับ”
“เฮ่อ!” เรวัฒน์ถอนหายใจแล้วพูดต่อว่า “ก็ดี ได้ยินแบบนี้ก็ค่อยโล่งใจ”
ทันใดนั้นเอง ขณะที่เรวัฒน์ยังพูดไม่จบ ขจรศักดิ์ก็พูดสวนขึ้นมาว่า “แต่ก็มีอยู่คนหนึ่งครับที่ผมรู้สึกว่าอาจจะมีปัญหากับหัวหน้าภาษิต คนนั้นก็คือปฐมพงศ์ หัวหน้าแผนกคลังสินค้าครับ ผมจำได้ว่าตอนที่หัวหน้าภาษิตเข้ามาทำงานใหม่ๆ น่าจะ 2-3 สัปดาห์แรก ตอนนั้นผมกับหัวหน้าภาษิตกำลังนั่งกินข้าวกลางวันกันอยู่ จู่ๆ หัวหน้าปฐมพงศ์ก็เดินมาตบไหล่หัวหน้าภาษิต จากนั้นก็มาขอนั่งกินข้าวด้วย เขาทั้งสองเคยเป็นเพื่อนกันสมัยเรียนชั้นมัธยมหรือมหาวิทยาลัยนี่แหละ ผมก็จำไม่ค่อยได้ แต่จำได้ว่าหัวหน้าปฐมพงศ์มาพูดกลางวงข้าวว่า สมัยก่อนพ่อของหัวหน้าภาษิตเป็นคนขับรถเก็บขยะ แล้วก็ดูถูกว่าบ้านของหัวหน้าภาษิตมีฐานะยากจนกว่าเขา ซึ่งเรื่องนี้น่าจะทำให้หัวหน้าภาษิตไม่ค่อยพอใจ และไม่อยากเจอกับหัวหน้าปฐมพงศ์ สำหรับเรื่องอื่นๆ ผมก็ไม่ทราบว่าเขา 2 คนจะมีปัญหา หรือไม่ชอบหน้ากัน ผมก็ไม่รู้จริงๆ ครับ แต่ถ้าโดยรวมแล้วผมคิดว่าหัวหน้าภาษิตเป็นคนเก่ง และเป็นคนดีคนหนึ่งเลยล่ะครับ”
เรวัฒน์พยักหน้าแล้วพูดว่า “ผมพอเข้าใจแล้ว” จากนั้นก็ถามกลับไปว่า “ขจรศักดิ์ คุณคิดว่านี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาษิตเขาไม่อยากจะไปกินข้าวที่โรงอาหารใช่ไหม?”
“ผมว่าก็อาจจะใช่นะครับ แต่ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ผู้จัดการลองเรียกหัวหน้าภาษิตมาคุย น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนกว่านะครับ” ขจรศักดิ์ตอบ แล้วก็ขอตัวกลับไปทำงานต่อ
บ่ายวันนั้น เรวัฒน์เรียกภาษิตมาคุยถึงเรื่องราวที่ได้คุยกับขจรศักดิ์ ซึ่งก็เป็นแบบที่คาดเดากันไว้จริงๆ ภาษิตไม่อยากจะพูดคุยกับปฐมพงศ์ เพราะไม่ชอบพฤติกรรมการข่มขู่ และพูดเรื่องอดีต
หลังจากที่เรวัฒน์พูดคุยกับภาษิตเสร็จเรียบร้อย เรวัฒน์ก็เรียกปฐมพงศ์มาคุยต่อ และสอนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขา และในช่วงสายของวันรุ่งขึ้น เขาก็เรียกหัวหน้างานทุกคนมาประชุม หลังจากที่ทุกคนมาพร้อมหน้า เรวัฒน์ก็เริ่มการสนทนาทันที
สวัสดีน้องๆ ทุกคน วันนี้พี่มีเรื่องดีๆ มาเล่าให้ฟัง แต่ก่อนที่พี่จะเล่าพี่ขอถามน้องๆ ก่อนว่า “น้องๆ อยากให้บรรยากาศในการทำงานของเราเป็นแบบไหน?”
ลูกน้องของเรวัฒน์แย่งกันตอบ “อยากเห็นทุกคนรักและสามัคคีกัน” “อยากเห็นทุกคนยิ้มแย้มให้กัน” “อยากเห็นทุกคนพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง” “อยากได้สถานที่ทำงานที่ไม่เครียดและไม่กดดัน” นี่คือหัวข้อหลักๆ ที่สรุปได้
หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว เรวัฒน์ก็เริ่มเข้าเรื่องที่ต้องการจะพูดทันที...
สำหรับเรื่องที่พี่จะเล่าวันนี้ พี่คัดแล้วคัดอีกจากหนังสือสามก๊กที่โด่งดังไปทั่วโลก ดังตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย จวนจนปัจจุบัน ผมคิดว่าสาเหตุที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่นิยมแม้เวลาจะผ่านมาหลายร้อยปี นั่นเป็นเพราะเนื้อหาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงกับสถานการณ์ปัจจุบัน และวันนี้ผมขอยกตัวอย่างของโจโฉ นักรบผู้เกรียงไกร แต่ต้องมาเสียน้ำตาเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่อง ขอให้น้องๆ ตั้งใจฟังดีๆ ระหว่างที่ฟังก็วิเคราะห์ไปด้วยว่าตนเองใช้ชีวิตเหมือนกับตัวละครตัวไหน และจุดจบนั้นจะเป็นอย่างไร...
สามก๊ก ตอน...โจโฉขับกลอนเลี้ยงใหญ่ในแม่น้ำแยงซีเกียง
ขณะนั้นกองทัพอันเกรียงไกรของโจโฉ ได้มาตั้งค่ายบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เพื่อเตรียมทำศึกใหญ่กับจิวยี่ หัวค่ำวันหนึ่งโจโฉได้จัดงานเลี้ยงฉลองเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่าทหารก่อนทำการออกศึก โจโฉนั่งเด่นเป็นสง่า มีเหล่ายอดนักรบฝีมือดีขนาบซ้ายและขวาอย่างพร้อมหน้า วันนั้นท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาว บรรยากาศดีมากๆ โจโฉสั่งให้ทหารนำสำรับอาหารและสุรามาดื่ม กิน ร้อง เล่น เต้น รำ กันอย่างเต็มที่ จนเวลาล่วงไปถึงเที่ยงคืน โจโฉก็เริ่มเมา เมื่อเมาก็นึกครึ้มอกครึ้มใจ ด้วยการที่มีทักษะในการแต่งกลอน โจโฉจึงพรรณนากลอนออกมาบทหนึ่งให้กับเหล่าขุนพลและผู้ร่วมงานฟัง ซึ่งกลอนของโจโฉนั้นยาวมาก
หลังจากร่ายกลอนออกไปได้ครู่หนึ่ง ก็มีผู้ว่าราชการเมืองเดินเข้าไปหาโจโฉแล้วพูดกับเขาประมาณว่า “ตอนนี้เรากำลังจะเตรียมไปรบราฆ่าฟันกับข้าศึก ไฉนท่านมาแต่งกลอนที่ฟังแล้วจะเป็นอัปมงคลอย่างนี้ล่ะ”
โจโฉได้ยินดังนั้นก็เงยหน้ามาสบตา และรู้ว่าผู้ที่มาตำหนิเขาคือเล่าฮก เล่าฮกเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถมากๆ คอยช่วยงานเล็กงานใหญ่ของโจโฉหลายปี เช่น สร้างโรงเรียน ใช้ให้ทหารทำนาเพื่อช่วยประชาชน เป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ สุจริต ดูแลบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย
ด้วยความเมา โจโฉจึงขาดสติและตวาดใส่หน้าเล่าฮกทันทีแล้วพูดว่า “เจ้ามีสิทธิอะไร ทำไมมาวิจารณ์กลอนของข้าเช่นนี้ ไหนเจ้าลองพูดมาสิว่ากลอนข้าท่อนไหนที่ฟังแล้วรู้สึกอัปมงคล”
เล่าฮกยืนนิ่งแล้วสบตาโจโฉ จากนั้นก็ตอบกลับไปว่า “เนื้อหาในกลอนของท่านที่ว่า...
ดวงจันทร์แจ่ม
เห็นดาวสองสามดวง
กาบินล่วงลงใต้ไม่กังขา
บินวนเวียนต้นไม้ถึงสามครา
เจ้ายังหาที่เกาะไม่เหมาะใจ”
พูดจบ เล่าฮกก็ยังคงยืนต่อหน้าโจโฉโดยไม่รู้สึกครั่นคร้ามหรือเกรงกลัวแต่อย่างใด
โจโฉได้ยินคำนี้ก็รู้สึกโกรธจนปากสั่น หน้าแดง นัยน์ตาแดง หูแดงด้วยความยั๊วะ จึงแผดเสียงกร้าวออกไปว่า “มึงถือดีอย่างไรมาทำลายความสุขในงานเลี้ยงของกู” พูดจบ โจโฉก็พุ่งหอกเสียบเข้ากลางอกของเล่าฮก ทำให้เขาเสียชีวิตในทันที เมื่อเหล่าผู้ร่วมงานเห็นภาพบรรยากาศเป็นแบบนี้ต่างก็ตกใจ ขนหัวลุกซู่ รีบถอยห่างแล้วแยกย้ายกันกลับไปอย่างรวดเร็ว เป็นอันว่างานเลี้ยงนี้จบเร็วกว่าที่คาดไว้เยอะ เพราะตอนแรกเหล่าทหารวางแผนว่าจะดื่มกินกันจนสว่าง
เช้าวันรุ่งขึ้น โจโฉสร่างเมาและเริ่มตั้งสติได้ ก็มาทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เขารู้สึกเสียใจและร้องไห้อย่างหนัก รู้สึกผิดที่ไปฆ่าเล่าฮก บุคคลผู้มีพระคุณกับเขา ด้วยฤทธิ์ของสุราแท้ๆ เมื่อลูกชายของเล่าฮกมารับศพพ่อของเขา โจโฉจึงสั่งจัดพิธีศพให้สมเกียรติเสมือนกับอัครเสนาบดีใหญ่
เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้ เรวัฒน์ก็หยุดพัก จากนั้นเริ่มตั้งคำถามว่า...
ผมให้เวลาคุณ 5 นาที แล้วช่วยตอบคำถามให้ได้ว่า “คุณคิดว่างานนี้ ใครผิด?”
ผู้ร่วมประชุมในห้องเริ่มถกเถียงกันเสียงดัง ผ่านไป 5 นาที คำตอบแบ่งเป็น 3 กลุ่ม...
กลุ่มแรก ตอบว่าโจโฉผิดคนเดียว
กลุ่มสอง ตอบว่าเล่าฮกผิดคนเดียว
กลุ่มสาม ตอบว่าผิดทั้งคู่ คือทั้งโจโฉ และเล่าฮก
หลังจากฟังคำตอบแล้ว เรวัฒน์ก็พูดขึ้นว่า “ผมคิดว่าการหาคนผิดนั้นไม่ค่อยจะเกิดประโยชน์สักเท่าไร ดังนั้น ผมขอตั้งคำถามใหม่ก็แล้วกัน โดยให้ทุกคนสวมบทบาทเป็นทั้งโจโฉ และเล่าฮก แล้วช่วยตอบมา 2 ข้อ ดังนี้ ข้อแรก ให้วิเคราะห์ ณ ขณะนั้น การกระทำใดที่ทำให้เกิดปัญหา โดยแยกการกระทำของแต่ละคนให้ชัดเจน และข้อสอง คือ ถ้าคุณเป็นทั้งโจโฉ และเล่าฮก ในสถานการณ์เช่นนี้คุณจะทำอย่างไร? เพื่อทำให้บรรยากาศในการคุยกันดีขึ้น และไม่เกิดความสูญเสีย” ผมให้เวลาประมาณ 10 นาที เชิญตามสบายครับ…
พูดจบ เรวัฒน์ก็ขอตัวไปเข้าห้องน้ำ เมื่อเดินกลับมาก็ได้เวลานำเสนอพอดี
จากนั้นเรวัฒน์ก็เดินไปที่กระดาน นำปากกามาเขียนโดยแบ่งกระดานออกเป็น 4 ช่อง และเขียนหัวข้อกำกับในแต่ละช่อง แล้วให้ผู้ร่วมประชุมเดินมาเขียนความคิดเห็น
หลังจากที่ทุกคนเขียนความคิดเห็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรวัฒน์ก็พูดสรุปว่า พฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาในการพูดคุยกัน มีดังนี้
• พฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาของโจโฉ คือ เมาสุรา ควบคุมสติไม่ได้
• วิธีแก้ไข คือ ไม่ควรดื่มเหล้า หรือถ้าดื่มควรดื่มให้พอประมาณ และต้องควบคุมสติตนเองให้ได้
• พฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาของเล่าฮก คือ พูดตรง ไม่รู้จักกาลเทศะ
• วิธีแก้ไข คือ ควรพูดเมื่อเวลาที่เหมาะสม และควรศึกษาอาการของผู้ฟังก่อนที่จะพูด หรือแสดงความคิดเห็น
• การปรับเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ให้เกิดปัญหา ในกรณีที่สวมบทบาทเป็นโจโฉ
• จะไม่ดื่มเหล้าให้มากเกินไป จะควบคุมสติตนเองให้ได้ และจะเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
• การปรับเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ให้เกิดปัญหา ในกรณีที่สวมบทบาทเป็นเล่าฮก
• ก่อนพูดทุกครั้งจะคิดให้ดี ดูจังหวะและเวลาให้เหมาะสมก่อน ถ้าจังหวะเวลาไม่เหมาะสม จะไม่พูด แล้วรอให้จังหวะและเวลาเหมาะสมก่อน จึงจะพูด
หลังจากที่ทุกคนเขียนรายละเอียดและอธิบายเนื้อหาทั้งหมดแล้ว เรวัฒน์ก็ลุกขึ้นเดินไปที่กระดานแล้วเขียนข้อความ จากนั้นก็หันหลังกลับมายืนสบตากับลูกน้องที่เข้าประชุมทุกคน แล้วเริ่มอธิบายว่า...
การที่เรามาอยู่ร่วมทีมกันนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่สวยงาม เป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขอย่างยิ่ง และเพื่อทำให้การทำงานเป็นทีมของพวกเราทุกคนประสบความสำเร็จ และไม่เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาภายหลัง ผมขอต่อยอดแนวคิดจากเรื่องสามก๊ก ดังนี้
สำหรับคนพูด สิ่งที่ต้องคิดให้ดีก่อนที่จะพูด คือ
1. พูดด้วยความจริงใจ โดยเราจะต้องมีความจริงใจ และมีความหวังดีต่อผู้ฟังเสมอ เราต้องไม่พูดแล้วแอบแสวงหาประโยชน์จนทำให้ผู้ฟังเสียหาย
2. เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องจริง และเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่เรื่องจริง หรือเป็นสิ่งผิด เราก็ไม่สมควรจะพูด
3. เรื่องที่จะพูด เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ คำว่าเกิดประโยชน์ จะในปัจจุบันหรือในอนาคตก็ได้ และสำหรับประโยชน์ที่จะได้รับอาจเป็นประโยชน์เฉพาะผู้ฟัง หรือเป็นประโยชน์ต่อผู้พูดด้วยก็ได้
4. พูดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โดยเราจะต้องพิจารณาลักษณะ ท่าทาง อาการ พฤติกรรมของผู้ฟัง ณ ขณะที่เรากำลังจะพูด แล้วพิจารณาว่าเราสมควรจะพูดดีหรือไม่? จากตัวอย่าง เราจะเห็นว่าเรื่องที่เล่าฮกพูดเป็นเรื่องที่ดี แต่เขาพูดผิดเวลา จึงทำให้เขาเสียชีวิต จริงไหมล่ะ? หรือบางครั้งเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่ผู้ฟังเขาไม่พร้อม เราก็อย่าเพิ่งรีบพูด เพราะหากเราพูดแล้วเขาไม่ฟัง เราก็จะเสียความรู้สึก และเขาก็จะรู้สึกว่าเรายัดเยียดความคิดของเราให้กับเขา เรื่องดีๆ ที่เราอุตส่าห์เตรียมมาก็อาจกลายเป็นเรื่องร้ายๆ ได้ จริงไหมล่ะ?
5. ไม่พูดส่อเสียด พูดนินทา พูดใส่ร้ายป้ายสี หรือพูดเรื่องที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย
6. ไม่นำอดีตของผู้อื่นมาพูด เรื่องในอดีตของผู้อื่นแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่บางคนก็ไม่อยากฟัง หรือไม่อยากพูดถึงอีก
สำหรับคนฟัง สิ่งที่ต้องคิดให้ดีก่อนที่จะพูด คือ
1. เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้พูด
2. ใช้สิทธิปฏิเสธการฟัง ถ้าหาก ณ ขณะนั้นเรายังไม่พร้อมจะฟัง เราก็อาจจะขอโทษผู้พูดแล้วตอบกลับไปว่า “ตอนนี้เราไม่พร้อมจะฟัง ขอเลื่อนเวลาออกไปก่อน แล้วแจ้งกำหนดเวลาที่เราพร้อมจะฟังใหม่ให้เขาทราบ” (เทคนิคนี้ผมใช้บ่อย)
3. ฟังอย่างตั้งใจ
4. อย่าเพิ่งรีบเชื่อในสิ่งที่ฟังมา เราต้องตั้งสติแล้วพิจารณาให้ดีก่อนที่จะเชื่อ อย่ารีบเออๆ ออๆ ไปกับผู้พูดในทันที ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณาให้รอบคอบ และรอบด้านก่อนที่จะเชื่อ
5. รักษาอาการ โดยเราไม่ควรแสดงท่าทางหงุดหงิด รำคาญ เบื่อ หรือพูดขัดคอผู้พูด
หลังจากที่เรวัฒน์อธิบายรายละเอียดต่างๆ จนครบถ้วน เขาก็พูดกับน้องๆ ที่เข้าร่วมประชุมว่า เรามาร่วมสร้างทีมของเราให้แข็งแกร่งด้วยการพูดและฟังอย่างมืออาชีพกันนะ พี่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องที่พี่เล่าในวันนี้ จะช่วยทำให้บรรยากาศในทีมของเรามีแต่ความสุขและเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียหัวเราะ หลังจากที่เรวัฒน์อธิบายจบ ก็บอกให้สมาชิกแยกย้ายไปทำงาน
จากวันนั้นเป็นต้นมา ปฐมพงศ์ก็เปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้น ภาษิตก็ไปรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกับเพื่อนร่วมงาน และทุกคนในทีมก็ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข
สรุปแนวคิดที่ได้รับจากบทความนี้สั้นๆ ดังนี้
คิดอย่างรอบคอบ และคิดถึงประโยชน์ก่อนที่จะพูด = คำพูดที่เกิดประโยชน์
พูดโดยไม่คิด และไม่คำนึงถึงผลดีหรือผลเสียที่จะตามมา = คำพูดที่อาจเกิดโทษ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทเรียนที่เราได้อ่านจากเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านนะครับ สุดท้ายขอฝากคมคิดสะกิดใจที่ว่า “คนดี คือ คนที่คิดดี พูดดี และทำดี” โชคดีนะครับ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ