
ว่าจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรง...ใคร? เป็นนายจ้างที่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม
27 กุมภาพันธ์ 2567
การประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบัน มักจะพบว่าผู้ประกอบกิจการหลายแห่งจะมอบหรือว่าจ้างบุคคลอื่น ซึ่งอาจเป็นบริษัทหรือบุคลธรรมดาคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดหา “คนงาน” เข้ามาทำงานในกิจการ รวมถึงให้เป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานและจ่ายเงินค่าจ้างให้กับคนงานที่ตนเป็นคนจัดหามาทำงานนั่นเอง โดยผู้ประกอบกิจการจะจ่ายเงินค่าจ้างของคนงานทั้งหมดให้กับบุคคลที่จัดหาคนงานมาทำงาน ซึ่งตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เรียกบุคคลที่ทำหน้าที่จัดหาคนมาทำงาน จ่ายค่าจ้าง และควบคุมดูแลการทำงานของคนงานว่า “ผู้รับเหมาค่าแรง”
ตามมาตรา 35 ของกฎหมายประกันสังคม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรงมอบให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด รับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจซึ่งกระทำในสถานประกอบกิจการ หรือสถานที่ทำงานของผู้ประกอบกิจการ และเครื่องมือที่สำคัญสำหรับใช้ทำงานนั้น ผู้ประกอบกิจการเป็นผู้จัดหา กรณีเช่นว่านี้ผู้ประกอบกิจการย่อมอยู่ในฐานะนายจ้างซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีที่ผู้รับเหมาค่าแรงตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ยื่นแบบรายการต่อสำนักงานตามมาตรา 34 ในฐานะนายจ้าง ให้ผู้รับเหมาค่าแรงมีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เช่นเดียวกับนายจ้างในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ประกอบกิจการหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้เงินสมทบและเงินเพิ่มเพียงเท่าที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้นำส่งสำนักงาน”
บทบัญญัติในมาตรา 35 ของกฎหมายประกันสังคม และมาตรา 11 ของกฎหมายเงินทดแทน บัญญัติลักษณะของการว่าจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรง ไว้ทำนองเดียวกัน คือ
(1) บุคคลที่เกี่ยวข้อง (1) ผู้ประกอบกิจการ (เจ้าของกิจการ) (2) บุคคลหนึ่งบุคคลใด เรียกว่า “ผู้รับเหมาค่าแรง” และ (3) คนงานที่ผู้รับเหมาค่าแรงจัดหา
(2) หน้าที่ของผู้รับเหมาค่าแรง คือ เป็นผู้จัดหาคนงานมาทำงาน (ซึ่งต้องไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน) ควบคุมดูแลการทำงานของคนงาน และรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงาน เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22326-22404/2555 ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับจ้างเหมาค่าแรงให้จัดหาคนมาทำงานผลิตชุดคลัตช์สำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิต และเป็นงานหลักของผู้ประกอบกิจการ ผู้รับจ้างเหมาค่าแรงเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้คนงาน ควบคุมดูแลการทำงานของคนงาน
(3) ลักษณะงานที่ทำ คือ การทำงานต้องเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจของผู้ประกอบกิจการ ซึ่งต้องเป็น “งานหลัก” เท่านั้น (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 285-298/2561 จึงต้องพิจารณาว่า “งานหลัก” ของผู้ประกอบกิจการมีลักษณะอย่างไร และลักษณะงานที่ทำของคนงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจของผู้ประกอบกิจการหรือไม่ มิใช่เป็นแต่เพียงการทำงานที่ส่งผลต่อธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโดยทางอ้อม
มีข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะงานที่ทำว่า เป็นไปในทำนองเดียวกับการจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรงตามมาตรา 11/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คำว่า “โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ” หมายความว่า หากการทำงานของลูกจ้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต หรือธุรกิจของผู้ประกอบการ ถือเป็นการทำงานให้นายจ้างแล้ว ไม่ได้มุ่งเน้นว่าการทำงานต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตเท่านั้น เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11988/2554 (เหมาค่าแรง) จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการผลิตปิโตรเลียม ในกระบวนการผลิตมีหลายแผนก รวมทั้งแผนกรักษาความปลอดภัยด้วย จำเลยที่ 2 อ้างว่า กระบวนการผลิตอยู่ที่แท่นขุดเจาะในอ่าวไทย แสดงว่าต้องมีการรับส่งพนักงานจากแท่นขุดเจาะไปยังสนามบินทหารเรือสงขลา การจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อรักษาความปลอดภัยที่สนามบินทหารเรือสงขลา จึงเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยให้แก่พนักงานที่ต้องเดินทางกลับไปยังชายฝั่ง อันเป็นธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 การทำงานรักษาความปลอดภัยจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยให้แก่พนักงาน อันเป็นธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 165-168/2561 งานขับรถให้พนักงานชาวต่างชาติฝ่ายผู้บริหารและครอบครัว ไม่ได้อยู่ในความหมายของคำว่า การสำรวจ ผลิต เก็บรักษา ขนส่ง ขาย หรือจำหน่ายปิโตรเลียมตามนิยาม “กิจการปิโตรเลียม” โดยลักษณะงานเป็นการทำหน้าที่ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่พนักงานของผู้ประกอบกิจการและครอบครัว และบางกรณีอาจมีหน้าที่นอกเหนือจากการขับรถด้วย จึงไม่ใช่ “งานหลัก” ของผู้ประกอบกิจการ
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 285-298/2561 การทำงานอันเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ต้องเป็นงานหลักเท่านั้น เมื่อการทำงาน “ขับรถประจำตำแหน่งผู้บริหาร” ไม่ได้อยู่ในความหมายของคำว่า “กิจการปิโตรเลียม” การทำงานของลูกจ้างจึงไม่ใช่งานหลัก แต่เป็นเพียงการทำงานที่ส่งผลต่อธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโดยทางอ้อม จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8920/2560 บริษัท เอ ประกอบธุรกิจให้บริการส่งแพทย์และพยาบาล โดยส่งลูกจ้างตำแหน่ง “นักจิตวิทยา” เข้าไปทำงานในห้องพยาบาลของบริษัท บี ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ จึงไม่ใช่กรณีที่การทำงานนั้นเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ
(4) เครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ทำงาน คือ เป็นของผู้ประกอบกิจการ
ปัญหาว่า ผู้รับเหมาค่าแรง เป็น “นายจ้าง” ของคนงานที่ตนเองเป็นผู้จัดหามาทำงาน หรือผู้ประกอบธุรกิจ เป็น “นายจ้าง” ที่มีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ทั้งกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 4198/2546 ได้อธิบายบทบัญญัติมาตรา 35 ไว้ สรุปได้ว่า
ผู้ประกอบกิจการ ถือว่า เป็นนายจ้างของคนทำงานที่ผู้รับเหมาค่าแรงจัดหามา และ ผู้รับเหมาค่าแรงกับคนทำงานจะต้องมีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย
โดยข้อเท็จจริงของคดีนี้ คือ สำนักงานประกันสังคม ได้มีคำสั่งให้บริษัท (โจทก์) ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการค้าข้าว จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของ “คนงาน” ที่นาย ส. หรือ “ผู้รับเหมาค่าแรง” จัดหามาทำงานขนถ่ายข้าวลงเรือ โดยก่อนคนงานจะขนข้าวลงเรือ คนงานจะต้องผสมข้าวด้วยเครื่องจักรภายในโกดังของโจทก์และบรรจุใส่กระสอบผ่านสายพานและให้คนงานรอแบกกระสอบข้าวจากปลายสายพานไปลงเรือ และโจทก์เป็นผู้จัดหาเครื่องมือที่สำคัญสำหรับใช้ทำงานและการทำงานของคนงานเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของโจทก์
บริษัทโต้แย้งว่า นาย ส. เป็นคนจัดหากรรมกร หรือคนงานมาขนถ่ายสินค้าให้แก่บริษัทเป็นคราวๆ บริษัทไม่มีอำนาจสั่งการหรือควบคุมบังคับบัญชากรรมกรที่ขนถ่ายสินค้า บริษัทจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับกรรมกร หรือคนงานในเรื่องการจ้าง การจ่ายค่าจ้าง และการควบคุมการทำงาน ดังนั้น การที่บริษัทว่าจ้าง นาย ส. จึงมีลักษณะเป็นการจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 บริษัทไม่อยู่ในข่ายที่ต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 84 และไม่ต้องส่งเงินสมทบในส่วนของคนงานที่นาย ส. เป็นผู้จัดหามาทำงาน
ศาลฎีกาได้อธิบายบทมาตรา 35 หมายความว่า ผู้รับเหมาค่าแรงต้องเป็นผู้จัดหาลูกจ้างให้แก่ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้รับเหมาค่าแรงทำงาน อันเป็นธุรกิจหรือกระบวนการผลิตของผู้ประกอบกิจการมาให้ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงทำ โดยผู้รับเหมาค่าแรงเป็นผู้ควบคุม ดูแลการทำงาน และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง ซึ่งเข้าไปทำงานในสถานประกอบกิจการหรือสถานที่ทำงาน และใช้เครื่องมือสำคัญในการทำงานของผู้ประกอบกิจการ จึงจะถือว่าผู้ประกอบกิจการอยู่ในฐานะนายจ้างของลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการตามมาตรา 34 และจ่ายเงินสมทบสำหรับลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงต่อสำนักงานประกันสังคม
ดังนั้น กรณีที่ผู้ประกอบการได้มีการว่าจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรงและเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ทำงาน ผู้ประกอบกิจการเป็นผู้จัดหา และการทำงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของผู้ประกอบกิจการ.. ผู้ประกอบกิจการ จึงเป็นนายจ้างของคนงานทั้งหมดตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผู้ประกอบกิจการจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ทุกประการ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบกิจการก็อาจหลุดพ้นความรับผิดในหนี้เงินสมทบหรือเงินเพิ่มได้ ในกรณีที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้เข้าทำหน้าที่จ่ายเงินสมทบสำหรับลูกจ้างของตนต่อสำนักงานประกันสังคม แต่ผู้ประกอบกิจการจะหลุดพ้นความรับผิดในเงินสมทบ หรือเงินเพิ่มเท่าจำนวนที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้จ่ายแก่สำนักงานประกันสังคมเท่านั้น
โดยศาลฎีกาได้อธิบาย บทบัญญัติมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรงมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงาน และรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่ง และมาตรา 35 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า... ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้ประกอบกิจการหลุดพ้นจากความรับผิดชอบในหนี้เงินสมทบ และเงินเพิ่มเพียงเท่าที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้นําส่งสำนักงาน หมายความว่า ผู้รับเหมาค่าแรงต้องเป็นนายจ้างของคนงานผู้รับเหมาค่าแรง จึงจะมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบให้สำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 35 วรรคสอง อันจะทำให้ผู้ประกอบกิจการหลุดพ้นจากความรับผิดในเงินสมทบและเงินเพิ่มเพียงเท่าที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้นําส่งสำนักงานประกันสังคม ฉะนั้น ในกรณีที่ผู้รับเหมาค่าแรงจะทำหน้าที่จ่ายเงินสมทบให้สำนักงานประกันสังคม ข้อเท็จจริงต้องปรากฏด้วยว่า คนงานที่มาทำงานให้แก่ผู้ประกอบกิจการจะต้องเป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง แสดงว่า นิติสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้รับเหมาค่าแรง” กับ “คนงาน” เข้าลักษณะ “จ้างแรงงาน” ตามมาตรา 575 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้ เพราะการทำงานของคนงานอยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งการของผู้รับเหมาค่าแรง มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือคนงานทุกคน ประกอบกับผู้รับเหมาค่าแรงแต่เพียงผู้เดียวเป็นคนจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานที่มาทำงานแต่ละวัน
โดยสรุป ก็คือ กรณีที่มีการจ้างงานโดยวิธีการเหมาค่าแรง ทั้งมาตรา 35 ของกฎหมายประกันสังคม และมาตรา 11 ของกฎหมายเงินทดแทน รวมทั้งมาตรา 11/1 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้ “ผู้ประกอบกิจการ” เป็น “นายจ้าง” ของคนทำงานที่ผู้รับเหมาค่าแรงจัดหามา ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายตามที่ได้อธิบายมาแล้ว เช่น ขึ้นทะเบียนนายจ้าง จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง ฯลฯ เป็นต้น และผู้ประกอบกิจการจะหลุดพ้นจากหน้าที่ดังกล่าวได้ เฉพาะส่วนที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบให้กับคนงานเท่านั้น แต่การที่ผู้รับเหมาค่าแรงจะขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบได้ก็ต่อเมื่อ “คนงาน” กับ “ผู้รับเหมาค่าแรง” มีความผูกพันกันตามสัญญาจ้างแรงงานหรือเป็นนายจ้างลูกจ้างกันด้วย
ยิ่งกว่านั้น ถ้างานที่ลูกจ้างเหมาค่าแรงทำ มีลักษณะเช่นเดียวกับลักษณะงานที่ผู้ประกอบกิจการให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงทำ ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจะต้องได้รับเงินเดือน หรือค่าจ้างเท่ากับพนักงานของผู้ประกอบกิจการด้วย และลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการจ่ายสิทธิประโยชน์และสวัสดิการแต่ละประเภทที่ผู้ประกอบกิจการให้กับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ตามมาตรา 11/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แม้ลูกจ้างเหมาค่าแรงจะมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือมีส่วนในการเลือกผู้แทนในการเจรจาเพื่อจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ตาม เช่น
บริษัท (จำเลย) หนึ่งประกอบกิจการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย บริษัท A จำกัด ส่งคนงาน (โจทก์) ไปทำงานกับจำเลยในแผนกสโตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลย จำเลยจึงเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ต้องดำเนินการให้โจทก์ซึ่งทำงานในลักษณะเดียวกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับโบนัสและค่าครองชีพ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8266/2560)
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ