
พลังแห่งการชื่นชม : ทำไมโปรแกรมการยกย่องชื่นชมพนักงาน (Recognition Programs) จึงมีความสำคัญมากขึ้นในการทำงานยุคปัจจุบัน
27 กุมภาพันธ์ 2567
ในยุคสมัยที่การทำงานเต็มไปด้วยการแข่งขันและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การเก็บรักษาพนักงานที่มีผลงานดี ให้อยู่ทำงานและมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการเติบโตขององค์กรนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้
เราอาจจะมองว่า เครื่องมือที่สร้างแรงจูงใจในการทำงานและสร้างความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานของพนักงาน รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการเก็บรักษาพนักงานที่มีผลงานดีไว้นั้น นั่นก็คือ เรื่องของค่าจ้างเงินเดือน! หลายคนคิดว่าเพียงแค่เราจ่ายค่าจ้างเงินเดือนในอัตราที่สูง ก็ทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงาน และสามารถเก็บรักษาพนักงานมือดีไว้ได้แล้ว
ครั้งหนึ่งในอดีต อาจจะพอเป็นไปได้ แต่ในยุคปัจจุบันนี้บอกได้ว่าแค่ค่าจ้างเงินเดือนสูงๆ เพียงอย่างเดียว ไม่พอต่อการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้เลย
เครื่องมือที่ต้องเข้ามาเสริมเพิ่ม ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากในการบรรลุผลลัพธ์ดังกล่าว ก็คือ โปรแกรมการชื่นชมและยกย่องพนักงาน (Recognition Programs) ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี ผู้บริหารบางคนแย้งว่า โปรแกรมการชื่นชมพนักงาน ก็คือการมอบโล่พนักงานดีเด่นประจำเดือนเหมือนที่เคยทำในอดีต ไม่เห็นจะได้ผลอะไร หลายองค์กรก็มีการให้รางวัลพนักงานดีเด่นแบบวนพนักงานทุกคนจนครบทีมก็มี ซึ่งการให้รางวัลแบบนี้มันไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น จึงไม่น่าจะเอามาอ้างอิงได้
แต่ปัจจุบัน โปรแกรมการชื่นชมยกย่องพนักงานได้ก้าวข้ามจากวิธีง่ายๆ และการกระทำแบบขอไปทีเหล่านั้นไปหมดแล้ว ซึ่งปัจจุบันนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างวัฒนธรรมแห่งการชื่นชมที่แทรกซึมไปทั่วทั้งองค์กรมากกว่า นั่นหมายถึง การยกย่องชื่นชมนั้น ไม่ได้ให้เพียงแค่ผู้ที่ทำผลงานยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังให้กับพนักงานที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่ และความพยายามที่จะแสดงออกในพฤติกรรมที่ดี เช่น มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ Core Value ในแต่ละตัว ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้โปรแกรมการชื่นชมยกย่องพนักงาน สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงาน และกระตุ้นผลงานพนักงานได้มากขึ้น
ทำไมองค์กรควรมีโปรแกรมการยกย่องชมเชยพนักงาน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและการมีส่วนร่วม :
- ยกระดับขวัญกําลังใจและความภาคภูมิใจ : การยกย่องชมเชยต่อความช่วยเหลือ สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและได้รับการยอมรับ นําไปสู่ขวัญกําลังใจพนักงานที่สูงขึ้น และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมากขึ้น
- ผลักดันให้มีผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น : เมื่อพนักงานรู้สึกว่าได้รับการยกย่องและมีคุณค่า พวกเขาจะมีส่วนร่วมในงานมากขึ้น และพยายามทำงานหนักขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย
- ส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ : โปรแกรมการยกย่องชมเชย สามารถออกแบบเพื่อเน้นเสริมพฤติกรรมเฉพาะที่สอดคล้องกับค่านิยมของบริษัท ซึ่งช่วยก่อร่างสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและมีผลิตภาพมากขึ้น
เพิ่มการรักษาพนักงานและการสรรหาบุคลากร :
- ลดอัตราการลาออก : พนักงานที่รู้สึกมีคุณค่าและได้รับการยกย่องชมเชย จะมีแนวโน้มลาออกจากงานน้อยลง ช่วยลดอัตราการลาออกที่สูงเกินไป
- ดึงดูดบุคลากรฝีมือเยี่ยม : โปรแกรมการยกย่องชมเชยที่แข็งแกร่ง สามารถใช้เป็นจุดแตกต่างในการดึงดูดบุคลากรใหม่ โดยเฉพาะเมื่อผู้สมัครงานให้ความสำคัญกับงานที่มีความหมายและวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
- สร้างภาพลักษณ์นายจ้างที่ดี : โปรแกรมการยกย่องชมเชยที่มีประสิทธิภาพและสื่อสารต่อสาธารณะ สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทในฐานะนายจ้างที่น่าปรารถนา ดึงดูดผู้สมัครที่มีคุณภาพ
ปรับปรุงผลการปฏิบัติงานและผลิตภาพ :
- ส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม : โปรแกรมการยกย่องชมเชย สามารถกระตุ้นให้เกิดการยกย่องชมเชยระหว่างเพื่อนร่วมงานและการทำงานเป็นทีม นําไปสู่การสื่อสารและความร่วมมือภายในทีมที่ดีขึ้น
- สนับสนุนนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ : การยกย่องความคิดสร้างสรรค์และความสำเร็จด้านนวัตกรรม สามารถกระตุ้นให้พนักงานคิดนอกกรอบและสร้างมุมมองใหม่ๆ
- เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า : พนักงานที่มีแรงจูงใจและมีส่วนร่วมกับองค์กรสูง ซึ่งเป็นผลจากโปรแกรมการยกย่องชมเชย นําไปสู่บริการลูกค้าที่ดีขึ้นและความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น
ประโยชน์เพิ่มเติมอื่นๆ
- ลดความเครียดและอัตราการขาดงาน : การรู้สึกมีคุณค่าและได้รับการยกย่องชมเชย ช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้น ลดระดับความเครียดและการขาดงานของพนักงาน
- สัมพันธภาพระหว่างนายจ้างและลูกจ้างดีขึ้น : โปรแกรมการยกย่องชมเชย ช่วยเสริมสร้างการสื่อสารและความไว้วางใจระหว่างผู้จัดการและพนักงาน นําไปสู่บรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้น
- ภาพลักษณ์แบรนด์ดีขึ้น : บริษัทที่แสดงออกถึงการชื่นชมพนักงาน มีแนวโน้มที่สาธารณชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมองในแง่บวก
การสร้างโปรแกรมการยกย่องชมเชยที่ได้ผล
การสร้างโปรแกรมการยกย่องชมเชยที่มีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดี ต้องมีการวางแผนและพิจารณาอย่างรอบคอบ ต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญบางประการที่ควรต้องคำนึงถึง ถ้าองค์กรของเราต้องการที่จะสร้างโปรแกรมการยกย่องชมเชย
- สอดคล้องกับค่านิยมขององค์กร : โปรแกรมควรถูกออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างค่านิยมและเป้าหมายของบริษัท
- มีความหมาย : การยกย่องชมเชยควรมีความเฉพาะเจาะจง ทันเวลา และเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือทีมที่ได้รับการยกย่อง
- มีความหลากหลาย : ไม่ควรจํากัดอยู่แค่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณแบบดั้งเดิม ควรพิจารณาเสนอทางเลือกในการยกย่องชมเชยที่หลากหลาย เช่น การยกย่องชมเชยระหว่างเพื่อนร่วมงาน การชมเชยต่อหน้าสาธารณะ หรือประสบการณ์ต่างๆ
- ง่ายต่อการเข้าร่วม : โปรแกรมควรมีความเข้าใจง่าย และพนักงานทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับหรือสถานที่ใด
- ยกย่องต่อหน้าสาธารณะ : การยกย่องชมเชยพนักงานต่อหน้าสาธารณะสำหรับความสำเร็จของพวกเขา ช่วยเสริมสร้างขวัญกําลังใจและการมีส่วนร่วม
- วัดผลและปรับปรุง : ประเมินประสิทธิภาพของโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ และปรับปรุงตามความจําเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าโปรแกรมยังคงตอบสนองความต้องการขององค์กรและพนักงานอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างโปรแกรมการยกย่องชมเชย ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
- Peer to Peer Recognition เป็นการยกย่องชมเชยแบบเพื่อนร่วมงานต่อเพื่อนร่วมงานกันเอง โปรแกรมนี้อนุญาตให้พนักงานสามารถยกย่องและให้รางวัลซึ่งกันและกัน สำหรับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมที่ดีต่อกันในการทำงานร่วมกัน เป็นต้น ปัจจุบันนี้มีแพลตฟอร์ม (Platform) เข้ามาช่วยทำให้โปรแกรมการยกย่องชมเชยนี้ทำได้ง่ายขึ้นและสนุกสนานมากขึ้น พนักงานสามารถส่งเสียงชมเชยเชิงบวก ให้คะแนน ให้แต้มสะสม ฯลฯ แก่เพื่อนร่วมงานได้
- รางวัลพนักงานบริการดีเด่น รางวัลนี้ยังสามารถให้ได้อยู่ เพียงแต่ต้องมีการกำหนดแนวทางที่ถูกต้องและชัดเจน มีตัวชี้วัดที่วัดได้จริง ปกติแล้วจะมอบให้กับพนักงานที่แสดงพฤติกรรมการให้บริการที่โดดเด่นมากๆ ทำให้ลูกค้าประทับใจอย่างเหนือความคาดหมาย หรือได้รับการโหวตจากลูกค้ามากที่สุด เป็นต้น
- Performance-based Awards หรือรางวัลผลงานดีเด่น มอบให้แก่พนักงานที่ทำผลงานเกินเป้าหมายอย่างโดดเด่น หรือสามารถบรรลุเป้าหมายที่สำคัญๆ ได้ หรืออาจจะเป็นพนักงานที่มีพฤติกรรมสอดคล้องกับ Core Value ขององค์กรอย่างโดดเด่นมาก ฯลฯ รางวัลที่ให้นั้น อาจเป็นรางวัลที่เป็นตัวเงิน หรือไม่ใช่ตัวเงินก็ได้ เช่น โบนัสพิเศษ เงินรางวัล วันหยุดพิเศษเพิ่มเติม หรือให้ไปท่องเที่ยว เป็นต้น
- Social Recognition หรือการยกย่องชมเชยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook Workplace, Line Group, Instagram หรือสื่อสังคมภายในองค์กรที่จัดทำขึ้นใช้ภายใน ในการยกย่องชมเชยพนักงานสำหรับความสำเร็จ และความดีในด้านต่างๆ ให้กับทุกคนในองค์กรได้รับทราบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมในการเสริมสร้างขวัญกําลังใจและการมีส่วนร่วมของพนักงาน
- รางวัลพนักงานดีเด่นแห่งปี : รางวัลอันทรงเกียรตินี้มอบให้แก่พนักงานคนเดียวที่มีส่วนช่วยเหลือ และทุ่มเทให้กับบริษัทอย่างโดดเด่นมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา มักจะมีรางวัลพิเศษในรูปของเงินหรือสิทธิพิเศษต่างๆ เป็นแรงจูงใจควบคู่ไปด้วย
โปรแกรมการยกย่องชมเชยอื่นๆ ที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่
- การชมเชยต่อหน้าสาธารณะ : ผู้จัดการสามารถชมเชยพนักงานต่อหน้าพนักงานคนอื่นในที่ประชุม หรือในจดหมายข่าวของบริษัท เพื่อเน้นย้ำความสำเร็จและพฤติกรรมที่ดีของพนักงาน
- จดหมายขอบคุณ : จดหมายขอบคุณที่เขียนด้วยลายมือจากผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือเพื่อนร่วมงาน สามารถทําให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าได้เป็นอย่างดี
- การแสดงออกถึงน้ำใจไมตรี : การแสดงความเอื้ออาทรเล็กๆ น้อยๆ เช่น การซื้อกาแฟ หรืออาหารว่างมาเลี้ยงทีมงาน หรือการอาสาช่วยทำงานเมื่อมีเวลาว่าง สามารถสื่อให้พนักงานรู้สึกถึงความรักและความเอื้ออาทรแก่กัน ซึ่งสามารถผูกใจพนักงานในทีมงานได้อย่างดี
- กิจกรรมนอกสถานที่ของทีม : การพาทีมออกไปทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกันในวันหยุด เป็นอีกวิธีที่ดีในการสร้างขวัญกําลังใจให้กับทีมงานได้ เช่น ไปเที่ยวต่างจังหวัด จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ งานวันเกิดสมาชิกในทีม ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า การนําโปรแกรมการยกย่องชมเชยพนักงานที่ถูกวางแผนและออกแบบอย่างดีมาใช้ เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของบริษัท นั่นก็คือ “บุคลากร” ผลตอบแทนจากการลงทุนนี้สูงมาก เพราะจะทำให้พนักงานมีส่วนร่วม มีผลิตภาพ มีขวัญและกำลังใจ ร่วมมือร่วมใจกันทำงานมากขึ้น
ดังนั้น หากกําลังมองหาวิธีการเพื่อยกระดับขวัญกําลังใจพนักงาน ดึงดูดบุคลากรฝีมือเยี่ยม และผลักดันให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ลองพิจารณาทำโปรแกรมการยกย่องชมเชยพนักงานในองค์กร เสริมเพิ่มเติมจากระบบค่าจ้างเงินเดือน และสวัสดิการ ก็จะทำให้ระบบการให้รางวัลขององค์กรเราสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
อย่าลืมนะครับ แค่คําว่า “ขอบคุณ” เพียงคําเดียว ก็สามารถสร้างพลังให้กับพนักงานได้อย่างมากมาย การแสดงให้พนักงานเห็นว่าหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้บริหาร ชื่นชมในความช่วยเหลือของพวกเขา ชื่นชมในพฤติกรรม และผลงานที่ดีของพนักงานอย่างจริงใจ จะสามารถสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นให้กับทุกคนในองค์กรได้
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ