
อายุ 60 ปี แต่ยังคงทำงานกับนายจ้าง เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไปหรือไม่
28 มีนาคม 2567
เป็นคำถามที่ผู้ประกันตนและนายจ้างหลายคนยังมีความสับสนและกังวลใจ
โดยเฉพาะลูกจ้างที่เกษียณอายุ ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง และลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
ผู้เขียนขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่มุมของกฎหมายประกันสังคม ตามประเด็นคำถามและมีคำตอบเพื่อให้ผู้ประกันตนและนายจ้างเข้าใจยิ่งขึ้น ดังนี้
1. เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุในขณะที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง จะมีผลกับการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของลูกจ้างอย่างไร?
คำตอบ คือ เป็นผลให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของลูกจ้างสิ้นสุดด้วย ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 บัญญัติไว้ว่า “ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลง เมื่อผู้ประกันตนนั้น
(1) ตาย
(2) สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง”
ฉะนั้น เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ (อายุกี่ปีก็ตาม) หรือลูกจ้างลาออกจากงานเอง หรือนายจ้างเลิกจ้าง ถือว่าสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างตาม (2) คือ นายจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาควบคุมลูกจ้าง และลูกจ้างไม่มีหน้าที่ทำงานให้นายจ้างอีกต่อไป
เมื่อความเป็นนายจ้างลูกจ้างสิ้นสุดลง นายจ้างมีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงต่อสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความในแบบรายการที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงานเปลี่ยนแปลงไป ให้นายจ้างแจ้งเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่เลขาธิการประกาศกำหนด”
2. หากลูกจ้างสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างในขณะที่อายุ 60 ปี แต่ต้องการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป จะทำอย่างไร?
คำตอบ คือ ถ้าสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างในขณะที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะไม่มีโอกาสได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 อีก เพราะมาตรา 33 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 บัญญัติว่า “ให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ประกันตน” หมายความว่า กฎหมายกำหนดคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ว่า จะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ในขณะที่เริ่มต้นนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างลูกจ้าง คือ วันที่ตกลงเป็นนายจ้างลูกจ้างกับผู้ประกอบกิจการ ดังนั้น
(1) ถ้าลูกจ้างสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ในขณะที่อายุยังไม่ครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรืออายุน้อยกว่า 60 ปี หากได้ตกลงเป็นนายจ้างลูกจ้างกับผู้ประกอบกิจการอีกครั้ง ลูกจ้างต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกครั้ง
(2) ถ้าลูกจ้างสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หรือเกษียณอายุในขณะที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือมากกว่า 60 ปี หากได้ตกลงเป็นนายจ้างลูกจ้างกับผู้ประกอบกิจการเดิมหรือกิจการใหม่อีกครั้ง ถือว่าไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
กรณีตาม (1) และ (2) นายจ้างจะต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง และเฉพาะกรณี (1) ต้องแจ้งแบบรายการขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงานในกิจการตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 หากนายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีความผิดทางอาญา คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537
3. กรณีลูกจ้างสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เพราะเกษียณอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และนายจ้างในกิจการเดิมตกลงจ้างลูกจ้างนั้นต่ออีกเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ปี หรือมากกว่า ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือไม่
คำตอบ คือ การที่ลูกจ้างเกษียณอายุ มีผล 3 ประการ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ
(1) ถือว่า “เลิกจ้าง” ทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสิ้นสุดลง
(2) การเลิกจ้าง มีผลทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
(3) นายจ้างต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเกษียณอายุตามมาตรา 44 กฎหมายประกันสังคม
(4) การตกลงจ้างใหม่ หลังจากที่ลูกจ้างเกษียณอายุ 60 ปี ถือว่าเป็นการจ้างแรงงานใหม่ หรือเริ่มต้นนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างลูกจ้างใหม่ เมื่อลูกจ้างมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ จึงขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 บัญญัติว่า “ให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ประกันตน”
4. ถ้านายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างโดยไม่มีการกำหนดเกษียณอายุ หรือนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานต่อไป โดยไม่มีกำหนดเวลา หากลูกจ้างอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ จะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไปหรือไม่
คำตอบ คือ กรณีที่ลูกจ้างยังคงทำงานให้นายจ้าง แม้ว่าจะมีอายุเกิน 60 ปี ก็ตาม ถือว่านิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้สิ้นสุดลง จึงเป็นไปตามมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตนต่อไป”
มาตรา 118/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดไว้ หรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้าง และให้มีผลเมื่อครบ 30 วัน นับแต่วันที่แสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง” ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการและลูกจ้างอาจไม่ได้มีการตกลงเกี่ยวกับการเกษียณอายุของลูกจ้างเอาไว้ หรือมีการกำหนดอายุลูกจ้างเกษียณอายุไว้เกิน 60 ปี ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายได้ให้สิทธิกับลูกจ้างที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี สามารถแสดงเจตนาต่อนายจ้างเพื่อกำหนดการเกษียณอายุได้
5. กรณีที่ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างหลายราย เช่น ทำงานประจำกับบริษัท ก. และทำงาน Part Time กับบริษัท ข. โดยบริษัท ก. กำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ส่วนบริษัท ข ไม่ได้กำหนดอายุเกษียณไว้ เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุจากบริษัท ก. ลูกจ้างต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป หรือไม่
คำตอบ คือ เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป เพราะการที่ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างหลายราย จะเกิดผลตามกฎหมาย คือ
(1) นายจ้างทุกแห่งและลูกจ้าง มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างหลายราย ให้นายจ้างทุกราย มีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา 46 และมาตรา 47” ดังนั้น นายจ้างทุกแห่งจึงมีหน้าที่ ดังนี้
- ยื่นแบบแสดงรายการให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน
- จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้าง
- หักเงินค่าจ้างของลูกจ้างตามจำนวนที่ต้องจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
- นำส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง และส่วนของผู้ประกันตนตามที่หักไว้ ส่งเข้ากองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่หักเงินสมทบไว้
(2) เมื่อลูกจ้างทำงานกับนายจ้างหลายราย ลูกจ้างที่จ่ายเงินสมทบเกินจำนวนเงินสมทบที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ เงินสมทบที่คำนวณจากฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน ลูกจ้างมีสิทธิขอคืนจากกองทุนประกันสังคม
เช่น กรณีลูกจ้างทำงานกับบริษัท ก. และบริษัท ข. นายจ้างทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว จะต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างตามจำนวนที่ต้องจ่ายเงินสมทบ ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างอาจจ่ายเงินสมทบแต่ละเดือนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น กฎหมายกำหนดให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สูงสุดไม่เกินเดือนละ 750 บาท ถ้าลูกจ้างทำงาน 2 บริษัท และหักเงินสมทบบริษัทละ 750 บาท เงินสมทบรวม 1,500 บาท กรณีนี้ถือว่าลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้
(3) การที่ลูกจ้างผู้ประกันตนทำงานประจำกับบริษัท ก. และทำงาน Part Time กับบริษัท ข. โดยบริษัท ก. กำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ส่วนบริษัท ข. ไม่ได้กำหนดอายุเกษียณไว้ แม้ว่าความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลงเพราะเกษียณอายุจากบริษัท ก. ก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นลูกจ้างของบริษัท ข. ซึ่งแม้จะอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ ต้องถือว่าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตนต่อไป”
6. ในกรณีที่นางสาวมะนาวทำงานกับบริษัท ก. ซึ่งกำหนดการเกษียณอายุ 60 ปีบริบูรณ์ แต่ในขณะที่นางสาวมะนาวอายุ 59 ปี 10 เดือน ได้สมัครเข้าเป็นลูกจ้างของบริษัท ข. และทำงานต่อไป จนกระทั่งเกษียณอายุจากบริษัท ก. นางสาวมะนาวจะสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้หรือไม่
คำตอบ คือ (1) กรณีนี้ถือว่านางสาวมะนาวทำงานกับนายจ้างหลายราย ตามที่กล่าวมาข้างต้น
แม้นางสาวมะนาวจะสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เพราะเกษียณอายุจากบริษัท ก. แต่ในเวลาเดียวกันยังคงเป็นลูกจ้างบริษัท ข. ซึ่งแม้ว่าจะมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ นางสาวมะนาวจึงต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง จึงไม่มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เนื่องจากนางสาวมะนาวยังไม่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เพราะการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ความเป็นผู้ประกันตนต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) แล้วเท่านั้น
7. นางสาวมะนาวที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เพราะเกษียณอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จากนายจ้างรายที่ 1 แต่ยังคงเป็นลูกจ้างกับนายจ้างอีกราย จะขอรับเงินชราภาพได้หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่ได้ เนื่องจากสิทธิในการขอรับเงินชราภาพ จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา 77 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 คือ (1) ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และ (2) อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แม้ว่านางสาวมะนาวจะเกษียณอายุ 60 ปี จากบริษัทหนึ่ง แต่ก็ยังคงเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ดังนั้น จึงยังไม่มีสิทธิขอรับเงินชราภาพแต่อย่างใด
กฎหมายประกันสังคม เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้ประกันตนโดยเฉพาะ การมีสถานะเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จึงมีความสำคัญต่อการสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคงให้กับผู้ประกันตนนั้นๆ ดังนั้น การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือมาตรา 39 หรือไม่ อย่างไร จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาเกี่ยวกับการเป็นลูกจ้างต่อไปหลังจากเกษียณอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเพราะนายจ้างจ้างต่อเป็นรายปี หรือลูกจ้างทำงานต่อเนื่องกับนายจ้าง แม้จะมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ จึงน่าจะมีความชัดเจนในแง่มุมของกฎหมายตามสมควร
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ