
ความท้าทายสำคัญสำหรับระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการในปี 2024 และในอนาคตที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืน
28 มีนาคม 2567
- ความต้องการอันหลากหลายของพนักงานนั้น ไม่ได้ต้องการแค่เพียงค่าตอบแทนและสวัสดิการ แต่ยังต้องการวิธีการทำงานที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเองมากขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้าองค์กรสามารถออกแบบและปฏิวัติรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าในอดีต ก็จะยิ่งทำให้พนักงานเกิดความพึงพอใจมากขึ้น ส่งผลต่อความผูกพันและแรงจูงใจในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรบางแห่งอาจจะต้องออกแบบระบบการทำงานจากระยะไกล และแบบผสมผสานการทำงานทั้งระยะไกล และการทำงานในออฟฟิศให้ไปด้วยกันได้ การออกแบบเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือสวัสดิการด้านวันหยุด วันลา เวลาทำงานที่ช่วยให้พนักงานสามารถสร้างความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดีขึ้น รวมทั้งการนำ AI และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน ลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องได้
- พัฒนาทักษะและขีดความสามารถของพนักงานอย่างจริงจัง อนาคตเป็นของผู้ที่ปรับตัวได้เร็วที่สุด และพัฒนาตนเองให้ได้ไวที่สุด เพื่อให้ตนเองเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ามากที่สุด องค์กรเองก็มีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง รวมทั้งอาจจะมีการลงทุนนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ หรือมีการปรับเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมต้องการทรัพยากรบุคคลที่มีขีดความสามารถสูงขึ้นไปด้วย ดังนั้น องค์กรจึงจำเป็นต้องลงทุนในโปรแกรมพัฒนาทักษะพนักงาน คำว่า Re Skills และ Up Skills ต้องไม่ใช่เอามาใช้แค่เป็นแฟชั่นเพื่อให้ดูดีอีกต่อไป แต่ต้องมีการออกแบบระบบการพัฒนาพนักงานอย่างชัดเจน ตรงกับ Skills Set ในอนาคตอย่างจริงจัง อีกทั้งยังต้องเชื่อมโยงระบบค่าตอบแทนกับผลสำเร็จในการยกระดับขีดความสามารถของพนักงาน เพื่อสร้างแรงงานที่พร้อมสำหรับอนาคตให้ได้
2. การปรับเปลี่ยนระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการให้ครอบคลุมมากขึ้น
- More Than Money ไม่ควรเน้นไปที่เงินเดือนเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต การที่เราจะต้องบริหารบุคลากรที่แตกต่าง และในความแตกต่างมีบุคลากรที่เก่งๆ อยู่ในนั้นด้วย เราต้องคิดไปให้ไกลกว่าแค่เงินเดือนที่ให้พนักงาน ควรให้ความสำคัญกับค่าตอบแทนรวม ซึ่งกระตุ้นผลงานมากกว่า เช่น การออกแบบเงินค่าตอบแทนจูงใจผลงานพนักงาน เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับพนักงานที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และทำผลงานได้เหนือกว่ามาตรฐานที่องค์กรกำหนดไว้ รวมทั้งมีการออกแบบรูปแบบสวัสดิการองค์รวมซึ่งไม่เพียงแค่ดูแลเรื่องสุขภาพกายพนักงานเท่านั้น ยังต้องออกแบบให้ครอบคลุมสุขภาพจิตของพนักงานมากขึ้น การสร้างมาตรการความสมดุลของชีวิตและงาน ซึ่งในทางปฏิบัติก็มีหลายองค์กรที่เริ่มให้สวัสดิการที่แตกต่างออกไปตามวิถีชีวิต และ Generation ของพนักงานมากขึ้น เช่น สมาชิกฟิตเนส บริการดูแลเด็กเล็ก สายด่วนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ฯลฯ
- ความโปร่งใสและความเป็นธรรม มีการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับระบบบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการอย่างโปร่งใส ไม่ปิดบัง อะไรที่บอกได้ก็บอกให้ชัดเจน ส่วนเรื่องอะไรที่เป็นความลับขององค์กร หรือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ก็ต้องเก็บเป็นความลับให้ดี ไม่ให้รั่วไหลออกไป เรื่องของโครงสร้างค่าตอบแทนและการเสนอสวัสดิการก็ต้องเน้นและส่งเสริมความเท่าเทียมภายในองค์กร ต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาช่องว่างค่าตอบแทนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแตกต่างทางเพศ หรือความหลากหลายของบุคลากร ซึ่งถ้าเราทำได้ ก็จะสร้างความเชื่อใจและเชื่อมั่นของพนักงาน และสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีได้
- การออกแบบสวัสดิการที่เน้นสุขภาพในองค์รวมของพนักงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวของการทำงานของพนักงานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันเกษียณอายุ องค์กรควรออกแบบสวัสดิการและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ที่เป็นการดูแลสุขภาพในองค์รวมเชิงป้องกัน เพื่อเน้นความยั่งยืนในอนาคตของพนักงาน มากกว่าที่จะเน้นไปที่การให้ค่ารักษาพยาบาลเยอะๆ โดยไม่คิดป้องกันโรคไว้ก่อน พอเกิดปัญหาแล้วก็ค่อยให้สวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหา แบบนี้ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น โปรแกรมการดูแลสุขภาพแนวป้องกันโรค จึงควรให้ความสำคัญมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้พนักงานเกิดโรคก่อน แล้วก็บอกว่าเรามีสวัสดิการที่ดีเพื่อรักษา แบบนั้นไม่ใช่ความยั่งยืน นอกจากนี้ ก็ควรเน้นไปที่เรื่องของสุขภาพจิตพนักงาน เนื่องจากความเครียด ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นกับงานในยุคอนาคต จะเกิดความเครียดได้ง่ายกว่า จึงควรส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานให้เกิดความสบายใจมากขึ้น
3. ต้องมีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคล และการบริหารค่าตอบแทน
- การทำ Benchmarking คือ จะต้องมีการเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจในเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคล และการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ เช่น การทำ Compensation and Benefits Survey ในการเปรียบเทียบค่าตอบแทนและสวัสดิการขององค์กร กับมาตรฐานในอุตสาหกรรมและคู่แข่งอย่างสม่ำเสมอ ต้องถือว่าเป็นนโยบายหลักและต้องทำกันทุกปีอย่างจริงจัง ถ้าเราต้องการที่จะบริหารคนให้ทันต่อเหตุการณ์ หรือต้องการนําหน้ากระแสและดึงดูดบุคลากรชั้นยอดในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
- การตัดสินใจบนฐานข้อมูล ปัจจุบันการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น อย่างที่เราเห็นได้จากคำว่า Data Analytic เกิดขึ้นแทบจะทุกวิชาชีพ ทางด้าน HR ก็เช่นกัน เราต้องอาศัยข้อมูลพนักงาน ข้อมูลตลาด ข้อมูลการทำวิจัยประกอบอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ควรคิดไปเอง รู้สึกไปเอง หรือรู้สึกไปตามสัญชาตญาณที่ไม่รู้แหล่งที่มาของข้อมูลที่ถูกต้อง การจะตัดสินใจในเรื่องของการบริหารค่าตอบแทน การกำหนดโครงสร้างเงินเดือน การกำหนดตัวเลข และระบบสวัสดิการต่างๆ จะต้องใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ หาแนวโน้ม แนวทางในการใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ และระบุจุดที่ต้องปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งจะต้องทำข้อมูลเพื่อให้ผู้บริหารเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนในด้านระบบค่าตอบแทนด้วยเช่นกัน ว่ามีผลดีต่อธุรกิจในระยะยาวอย่างไรบ้าง
- เทคโนโลยีคือมิตรของคุณมากขึ้น ปรับปรุงกระบวนงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ Platform ที่ทันสมัย โดยให้พนักงานสามารถใช้งานระบบได้ด้วยตนเอง ข้อมูลการบริหารคน การพัฒนาพนักงาน การบริหารค่าตอบแทน การบริหารสวัสดิการ รวมทั้งการวางแผนพัฒนาพนักงานรายบุคคล การพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ สิ่งเหล่านี้จะมีเทคโนโลยีและ Platform เข้ามาช่วยเราในการบริหารจัดการได้มากขึ้น ผลก็คือ เราจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน วิเคราะห์หาแนวโน้มในอนาคตได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็นมากขึ้น
โดยสรุป ในการบริหารจัดการกับความท้าทายหลักในเรื่องของการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการพนักงานนั้น ผู้บริหารระดับสูงต้องสามารถสร้างกลยุทธ์ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ยั่งยืน ที่สามารถดึงดูดและเก็บรักษาบุคลากรชั้นยอด และสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีแบบยืดหยุ่น และสามารถส่งเสริมความสำเร็จในระยะยาวขององค์กรในยุคนี้ เราต้องระลึกเสมอว่า ค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่ใช่เพียงค่าใช้จ่ายขององค์กรที่ต้องพยายามลดลงให้มากที่สุด แต่เราต้องมองเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดขององค์กร ซึ่งก็คือพนักงานในองค์กรของเรา โดยการลงทุนอย่างชาญฉลาด ด้วยข้อมูลการวิเคราะห์ที่ชัดเจนแน่นอน อ้างอิงได้ตามหลักการ ก็จะทำให้เราสามารถรับประกันอนาคตที่สดใสมากขึ้น ทั้งสำหรับพนักงานและองค์กรของเราได้อย่างแน่นอน
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ