
ลูกจ้างลาออกจากงานระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในเดือนที่ 6 จะได้รับความคุ้มครองกรณีว่างงานหรือไม่?
27 มิถุนายน 2567
ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่ว่างงาน อย่าลืมขอรับเงินว่างงานจากกองทุนประกันสังคม
เว้นแต่ ถูกเลิกจ้างเพราะการทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
แต่การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จะต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนนั้นได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงาน
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ถูกเลิกจ้างหรือลาออกระหว่างเดือนที่นายจ้างยังไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในเดือนที่ 6 ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองกรณีว่างงานหรือไม่? ไม่ว่านายจ้างจะกำหนดจ่ายค่าจ้างคร่อมเดือนหรือตามเดือนปฏิทินก็ตาม
การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายประกันสังคม มีความสัมพันธ์กับการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน และมาตรา 70 (1) บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการคํานวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นที่ไม่เกิน 1 เดือน หรือตามผลงาน โดยคํานวณเป็นหน่วย ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง”
นายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง “ทุกเดือน...ตามปฏิทิน” โดยไม่ได้บังคับว่าจะต้องจ่ายในวันใด หรือนายจ้างอาจจะกำหนดจ่ายหลายครั้งในเดือนนั้นก็ได้
และตามกฎหมายประกันสังคม มาตรา 47 บัญญัติว่า “ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่จะต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา 46 และให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง” และมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน ให้ถือว่าเงินสมทบที่หักจากค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างในเดือนใด เป็นการจ่ายเงินสมทบของเดือนนั้น และไม่ว่าเงินสมทบนั้นจะได้หักไว้หรือนำส่งเดือนละกี่ครั้ง ให้ถือว่ามีระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบเท่ากับ 1 เดือน
บทกฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดสิทธิแก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม คือ
(1) ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในเดือนนั้น
(2) ถือว่าผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบแล้วในเดือนนั้น จึงต้องนับระยะเวลาการ “เกิดสิทธิ” ในแต่ละกรณี เป็นระยะเวลา 1 เดือน แม้ว่าในเดือนนั้นนายจ้างจะได้จ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างหลายครั้งก็ตาม
ในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้างในวันสิ้นเดือน หรือก่อนวันสิ้นเดือนตามปฏิทิน หรือในกรณีที่นายจ้างกำหนดรอบระยะเวลาการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างแต่ละเดือนไม่เป็นไปตามเดือนตามปฏิทิน หรือจ่าย “คร่อมเดือน” เช่น จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 ของเดือน หรือวันที่ 20 ของเดือน ตามกฎหมายถือว่า ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในเดือนนั้นแม้ว่านายจ้างจะนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในเดือนกรกฎาคม หรือนำส่งล่าช้าก็ตาม เช่น
ค่าจ้างระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม ถึงวันที่ 20 มิถุนายน จ่ายค่าจ้างในวันที่ 20 ของเดือนมิถุนายน เป็นค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนกรกฎาคม
ตามกฎหมายถือว่า ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง ในเดือนมิถุนายน
ค่าจ้างระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม จ่ายค่าจ้างในวันที่ 20 ของเดือนกรกฎาคม เป็นค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบประจำเดือนกรกฎาคม ซึ่งนายจ้างต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนสิงหาคม
ตามกฎหมายถือว่า ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในเดือนกรกฎาคม
นอกจากนี้ กรณีที่นายจ้างนำส่งเงินสมทบล่าช้าไม่ตรงตามเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือค้างชำระเงินสมทบ มาตรา 47 วรรคสาม กำหนดว่า “ถือเสมือนว่าผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบแล้ว” ดังนั้น สิทธิของผู้ประกันตนยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย เช่น สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ กฎหมายประกันสังคมกำหนดว่า ถ้าผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว ตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 179 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ ถ้าผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว ตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเป็นบำนาญชราภาพ เช่น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2561 วินิจฉัย กรณีที่นายจ้างได้นำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้ลูกจ้างแล้ว 175 เดือน แต่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างอีกจำนวน 8 เดือน และยังไม่ได้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ถือว่าระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของลูกจ้างรวมแล้ว 183 เดือน ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ไม่ใช่เงินบำเหน็จชราภาพ
ดังนั้น แม้ว่านายจ้างจะนำส่งเงินสมทบล่าช้ากว่าวันที่กฎหมายกำหนด หรือค้างชำระเงินสมทบ ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคม ส่วนนายจ้างต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ค้างชำระ หรือที่ยังไม่นำส่งและมีความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกหรือปรับ นอกจากนี้ หากนายจ้างไม่ได้หักเงินค่าจ้างของลูกจ้างไว้ตามจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบ นายจ้างจะหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อชดใช้หนี้ค้างชำระกองทุนประกันสังคมไม่ได้
กรณีที่ลูกจ้างลาออกระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในเดือนที่ 6 จะได้รับความคุ้มครองกรณีว่างงานหรือไม่?
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2557 กรณีที่นายจ้างกำหนดรอบการจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามปฏิทิน เช่น การจ่ายเงินค่าจ้างทุกวันที่ 20 ของเดือน และถือเป็นเงินค่าจ้างของเดือนที่จ่ายค่าจ้าง
โดยนายจ้างกำหนดรอบการจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม ถึง 20 มิถุนายน จ่ายค่าจ้างในวันที่ 20 มิถุนายน เป็นงวดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำเดือนมิถุนายน
รอบการจ่ายค่าจ้าง วันที่ 21 มิถุนายน ถึง 20 กรกฎาคม จ่ายค่าจ้างในวันที่ 20 กรกฎาคม เป็นงวดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำเดือนกรกฎาคม
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 25,000 บาท จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้ว 5 เดือน โดยจ่ายเดือนละ 750 บาท และลาออกจากงานในเดือนที่ 6 ซึ่งมีระยะเวลาการทำงานเพียง 10 วัน คือ ระหว่างวันที่ 21-30 มิถุนายน 2549 ได้รับค่าจ้างเพียง 8,333 บาท นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในวันที่ลูกจ้างลาออกจากงาน
ปัญหา คือ ผู้ประกันตนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในกรณีว่างงานหรือไม่?
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ลูกจ้างถูกนายจ้างหักเงินสมทบเข้ากองทุนรวม 6 งวด โดย 5 งวดแรก หักเดือนละ 750 บาท ส่วนงวดที่ 6 ลูกจ้างทำงานกับนายจ้าง ระหว่างวันที่ 21-30 มิถุนายน 2549 รวม 10 วัน ได้รับค่าจ้างเพียง 8,333 บาท นายจ้างจึงหักเงินสมทบจากค่าจ้างไป 417 บาท และนำส่งกองทุนประกันสังคม จึงถือได้ว่าลูกจ้างส่งเงินสมทบครบ 6 งวดแล้ว ทั้งนี้ เพราะนายจ้างกำหนดรอบการจ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ถึง 20 กรกฎาคม เป็นค่าจ้างของเดือนกรกฎาคม
เมื่อลูกจ้างทำงานระหว่างวันที่ 21-30 มิถุนายน 2549 รวม 10 วัน จึงเป็นค่าจ้างของเดือนกรกฎาคม แม้ว่าตามมาตรา 6 วรรคท้าย กำหนดหลักเกณฑ์ในการนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบโดยให้ถือว่าเงินสมทบที่หักจากค่าจ้างในเดือนใดเป็นการจ่ายเงินสมทบของเดือนนั้น ไม่ว่าจะนำส่งเดือนละกี่ครั้งก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนละหลายครั้ง เช่น ค่าจ้างรายวัน รายสัปดาห์ เป็นต้น เท่านั้น การที่นายจ้างถือเอารอบค่าจ้างในวันที่ 20 ของเดือนใดเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบในเดือนนั้น เมื่องวดที่ 5 หักค่าจ้างวันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 20 มิถุนายน ส่งกองทุนประกันสังคมแล้ว จึงถือได้ว่ากองทุนประกันสังคมได้รับเงินสมทบของเดือนมิถุนายนแล้ว สำหรับค่าจ้างวันที่ 21-30 มิถุนายน ย่อมเป็นเงินสมทบสำหรับเดือนกรกฎาคม มิใช่ของเดือนมิถุนายน จึงถือว่าลูกจ้างจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 78 ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานตามมาตรา 79
ดังนั้น หากถือเอาคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาอธิบายการเกิดสิทธิในกรณีอื่นๆ ไม่ว่านายจ้างจะกำหนดรอบการจ่ายเงินค่าจ้างตามเดือนปฏิทิน หรือกำหนดรอบการจ่ายเงินค่าจ้างคร่อมเดือนก็ตาม ย่อมมีคำตอบในลักษณะเดียวกัน คือ เมื่อนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้าง และได้จ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างแม้ว่าจะยังไม่ได้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนจะถูกนับระยะเวลาการเกิดสิทธิประกันสังคมด้วย
เช่น นายจ้างกำหนดรอบการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นไปตามเดือนปฏิทิน กำหนดจ่ายเงินค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน และลูกจ้าง/ผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว 4 เดือน ในวันที่ 28 เดือนมกราคม ลูกจ้างคลอดบุตร
กรณีนี้ตามกฎหมายประกันสังคม ถือเสมือนว่าลูกจ้าง/ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วในเดือนมกราคม แม้นายจ้างจะยังไม่ได้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในงวดเดือนมกราคมก็ตาม
หรือกรณีที่นายจ้างกำหนดรอบการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นไปตามเดือนปฏิทิน กำหนดจ่ายเงินค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน และลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ทำงานให้กับนายจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และถึงแก่ความตายในวันที่ 20 มกราคม 2567 กรณีนี้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างของการทำงานของลูกจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 20 ให้กับทายาทของลูกจ้าง และนายจ้างมีหน้าที่หักเงินค่าจ้างตามจำนวนที่ต้องส่งเป็นเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ ถือว่าลูกจ้าง/ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว 1 เดือน ย่อมเกิคดสิทธิได้รับความคุ้มครองกรณีตาย เป็นต้น
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ