กำลังโหลด...

×



HRM / HRD การหักค่าจ้างของลูกจ้าง

magazine image
HRM / HRD

การหักค่าจ้างของลูกจ้าง

เมื่อกล่าวถึง “การหักค่าจ้างของลูกจ้าง” น่าจะยังคงเป็นปัญหาและเป็นประเด็นข้อสงสัยของหลายๆ สถานประกอบการว่า นายจ้างสามารถหักค่าจ้างลูกจ้างไหม และจะหักด้วยเหตุกรณีใดได้บ้าง หักได้แค่ไหน อย่างไร ในแต่ละสถานประกอบการนั้นอาจมีการกำหนดกฎ ระเบียบ ข้อปฏิบัติ มาตรการในเรื่องของการหักค่าจ้างที่นำมาใช้บังคับกับลูกจ้างตามแต่ละกรณีที่อาจมีความแตกต่างกันไป เช่น การหักเพื่อชำระหนี้ค่าเสียหายแก่นายจ้าง การหักเพื่อเป็นเงินประกันการทำงาน เป็นต้น ซึ่งลูกจ้างส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วยกับการที่นายจ้างใช้มาตรานี้สักเท่าใดนัก แท้จริงแล้วการหักค่าจ้างที่หลายๆ สถานประกอบการปฏิบัติอยู่นั้นสามารถทำได้หรือไม่ และปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไรแล้ว หนี้ใดบ้างที่หักได้ กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้บัญญัติเรื่องของการหักค่าจ้างไว้ ดังนี้

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 

“ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ 

(1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่าย หรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

(2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

(3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง 

(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม 

การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณี ห้ามมิให้หักเกินร้อยละ 10 และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง”

มาตรา 77 ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามมาตรา 45 มาตรา 55 หรือการหักเงินตามมาตรา 76 นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือ และให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอม หรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ”

เมื่อพิจารณาจากบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้ที่ลูกจ้างมีต่อนายจ้าง โดยต้องการให้ลูกจ้างนั้นได้รับเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ไม่ให้มีการนำหนี้ใดๆ มาหักจากค่าจ้าง กรณีนี้ หากนายจ้างมีหนี้อยู่กับลูกจ้างเป็นการส่วนตัว เช่น นายจ้างให้ลูกจ้างกู้ยืมเงินส่วนตัว 20,000 บาท ตกลงให้ลูกจ้างผ่อนชำระเป็นงวดๆ 5 งวด ภายในวันที่ 30 ของแต่ละงวด ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดเวลาชำระหนี้ในงวดที่ 3 ลูกจ้างไม่ชำระหนี้ดังกล่าว นายจ้างจึงนำหนี้เงินยืมดังกล่าวมาหักจากค่าจ้าง และค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากนายจ้าง กรณีนี้ นายจ้างจะนำหนี้ที่มีอยู่นั้นมาหักจากเงินดังกล่าวไม่ได้

กรณีข้อยกเว้นที่นายจ้างสามารถหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้ จะเป็นไปตามแต่ละประเภทที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจนายจ้างสามารถใช้สิทธิหักได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน และบางประเภทที่นายจ้างจะหักได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเท่านั้น ดังกรณีดังต่อไปนี้

(1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่าย หรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ เช่น การหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร สำหรับชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ เช่น เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงาน ตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน ในกรณีที่บางสถานประกอบการมีสหภาพแรงงาน นายจ้างสามารถหักเงินบำรุงสมาชิกจากค่าจ้างของลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง เช่น นายจ้างจัดสวัสดิการเงินกู้ยืมให้แก่ลูกจ้าง โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเลยแม้แต่บาทเดียว เป็นต้น กรณีนี้นายจ้างย่อมสามารถหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้างก่อน แต่กรณีหากนายจ้างมีการคิดดอกเบี้ยแม้เพียงเล็กน้อย กรณีนี้ นายจ้างไม่สามารถหักเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวได้ เพราะไม่ถือเป็นสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างฝ่ายเดียว

(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กรณีการหักเงินประกันการทำงาน จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างสามารถเรียก หรือรับหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างตามลักษณะ หรือสภาพของงานที่ลูกจ้างทำนั้น ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ เช่น งานสมุห์บัญชี งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สินงานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอน หรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น เป็นต้น

สำหรับกรณีการหักเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีนี้ จะต้องเป็นกรณีที่ในระหว่างลูกจ้างทำงานเป็นลูกจ้าง กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ซึ่งจะเป็นกรณีลูกจ้างกระทำการ หรือละเว้นกระทำการอย่างใด โดยลูกจ้างรู้สำนึกถึงการกระทำว่าจะเกิดผลเสียหายต่อนายจ้าง หรือโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ลูกจ้างกระทำไปโดยรู้ถึงผลเสียหายที่จะเกิดแก่นายจ้าง ย่อมถือว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย สำหรับกรณีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงลูกจ้างได้ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยปกติชน หรือตามวิสัยของลูกจ้าง ซึ่งมีหน้าที่ต้องทำงานในตำแหน่งหน้าที่นั้น หรือตามวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพนั้น หรือลูกจ้างไม่ได้ทำงานตามหน้าที่ หรือได้ประมาทเลินเล่อในการทำงาน จนกระทั่งเกิดความเสียหายแก่นายจ้างเป็นอย่างมาก

(5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

เช่น นายจ้างได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และให้ลูกจ้างสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสม และนายจ้างจ่ายเงินสมทบตามอัตราที่กำหนด ซึ่งนายจ้างอาจหักเงินค่าจ้างสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวได้ เป็นต้น 

ซึ่งการหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีดังที่กล่าวมานั้น ห้ามมิให้หักเกินร้อยละ 10 และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง 

นอกจากนี้ การหักเงินตามมาตรา 76 นั้น นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอม หรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะอีกด้วย (ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 77)

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1458/2548

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ที่ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (4) นั้น มุ่งหมายถึงตัวลูกจ้างโดยตรงเป็นผู้กระทำให้เกิดหนี้ หรือความเสียหายแก่นายจ้าง และลูกจ้างได้ให้ความยินยอมแล้ว จึงหักค่าจ้างลูกจ้างได้ แต่โจทก์เป็นเพียงภริยาของ อ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์ มิได้เป็นผู้ก่อหนี้หรือความเสียหายแก่จำเลย ย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์จะทำหนังสือยอมให้หักค่าจ้างได้ จำเลยก็ไม่อาจหักค่าจ้างของโจทก์ได้ คำว่าหนี้อื่นๆ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) หมายถึง หนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การชำระภาษีเงินได้ของลูกจ้าง หรือการชำระเงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างนั้นเอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากกฎหมายกำหนดหรือบัญญัติไว้ แต่กรณีที่สามีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์เป็นผู้ทำละเมิด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย มิใช่หนี้อื่นๆ ตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างให้โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3039/2550 

เรื่อง นายจ้างเรียกเก็บเงินประกันของลูกจ้างโดยหักจากค่าจ้าง ลูกจ้างทำงานตำแหน่งช่างซ่อมบำรุง จึงไม่ใช่ลักษณะงานที่จะเรียกเก็บเงินประกันได้ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 10 และมาตรา 76 นายจ้างย่อมไม่อาจอ้างระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อปฏิเสธที่จะคืนเงินค่าจ้างของลูกจ้างซึ่งหักไว้ได้ หากลูกจ้างกระทำให้นายจ้างเสียหายในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง ก็ชอบที่จะดำเนินคดีฟ้องร้องลูกจ้างให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง จึงต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้ภายใน 3 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14541-14541/2557 

เรื่อง นายจ้างมีกฎระเบียบข้อบังคับฯ กำหนดว่า ขาดงานหัก 2 เท่า ย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา 76 และนายจ้างได้หักค่าจ้าง 10 บาท เป็นเวลา 21 เดือน เป็นค่าธรรมเนียมแก่ธนาคาร ในการโอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้างแต่ละคน ไม่ใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการอันเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวตามมาตรา 76 (3) นายจ้างหักค่าจ้างของลูกจ้างไว้ จึงไม่ชอบ ต้องคืนค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีให้กับลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9192/2559 

เรื่อง ลูกจ้างประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชายักยอกเงินไป โดยลูกจ้างทำหนังสือรับสภาพหนี้ชดใช้เงิน ยินยอมหักค่าจ้างกับเงิน หรือผลประโยชน์หลังพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง นายจ้างจึงมีสิทธิหักค่าจ้างและเงินบำเหน็จจากลูกจ้างได้

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1574/2563

เรื่อง ข้อยกเว้นในการให้ความยินยอมเป็นหนังสือของลูกจ้าง ให้นายจ้างหักค่าจ้างมากกว่าร้อยละ 10 อันเป็นข้อตกลงในทำนองสละสิทธิ ซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัด ข้อตกลงต้องมีความชัดแจ้งว่าลูกจ้างรู้และเข้าใจถึงสิทธิตนในการที่จะถูกหักค่าจ้างมากกว่าจำนวนที่กฎหมายคุ้มครองกำหนด หากไม่รู้และเข้าใจในการตกลงแล้ว นายจ้างอาจหักเงินเดือนค่าจ้างของลูกจ้างจนหมดสิ้น ไม่มีเงินเหลือเพื่อการดำรงชีพสำหรับลูกจ้างแม้สักเล็กน้อย จนลูกจ้างอาจไร้ซึ่งค่าจ้างที่จะนำไปจัดหาปัจจัย 4 อันเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคนมาดำรงชีพ จนทำให้ลูกจ้างขาดพละกำลังในการทำงาน อันจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน

ด้วยข้อเท็จจริงและจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาประกอบเหตุผลในข้างต้นนี้ จะมีส่วนช่วยให้นายจ้างพึงระวังในการหักค่าจ้างของลูกจ้างได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนลูกจ้างเองก็จะทราบว่าสิ่งใดที่นายจ้างจะหักค่าจ้างได้บ้าง มิใช่ยินยอมให้นายจ้างหักค่าจ้างไปเสียทุกเรื่องทุกกรณีไป ซึ่งจะไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง

Top 5 Contents