
จะครองใจพนักงานด้วยนวัตกรรมการบริหารค่าจ้างและสวัสดิการ ได้อย่างไร
26 กรกฎาคม 2567
ในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การดึงดูดบุคลากรมือดี และการเก็บรักษาคนเก่งๆ ที่มีความรู้ความสามารถในองค์กร เป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ดังนั้น การมีระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ทันสมัยและคิดนอกกรอบ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแรงจูงใจ และสร้างความผูกพันให้พนักงานได้อย่างเต็มที่
องค์กรยุคใหม่ ต่างก็พยายามสรรหาวิธีการในการบริหารค่าจ้างค่าตอบแทน และสวัสดิการแบบออกนอกกรอบเดิมๆ มากขึ้น ไม่ใช่แค่จ่ายเงินเดือนสูงๆ หรือจัดสวัสดิการแค่ตามกฎหมายก็จบ ในยุคนี้การทำแบบนั้นมันคงไม่เพียงพอที่จะทำให้พนักงานเกิดความผูกพัน เกิดแรงจูงใจในการทำงานกับองค์กรได้เลย
มาดูแนวทางในการจัดระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการแบบออกนอกกรอบกันว่า มีไอเดียอะไรดีๆ ที่พอจะนำมาใช้ได้บ้าง
1. การจัดการค่าจ้างและสวัสดิการแบบรวมทั้งหมด (Total Rewards Strategy)
ปัจจุบัน ในการวางระบบค่าตอบแทน จะไม่ใช่มองแค่เรื่องเงินเดือนกับค่าจ้างอื่นๆ พื้นฐานเท่านั้น นักบริหารค่าจ้างจะต้องมองเรื่องค่าตอบแทนในแบบองค์รวม หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Total Rewards คำนี้ไม่ใช่แฟชั่นที่ใช้กันแบบเกลื่อนเมืองอีกต่อไป แต่จะต้องเป็นคำที่องค์กรยุคใหม่นำมาประยุกต์ใช้จริงให้ได้ ไม่ใช่แค่โม้ว่าเราบริหารแบบ Total Rewards แต่เอาเข้าจริงบริษัทมีแค่เงินเดือนกับค่าจ้างอื่นๆ ไม่กี่ตัว แบบนี้ไม่ใช่ Total Rewards อย่างแน่นอน
แล้วถ้าต้องมองแบบ Total Rewards และต้องออกแบบระบบค่าตอบแทนแบบองค์รวม ต้องพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง และรายละเอียดของ Total Rewards ประกอบด้วยอะไรบ้าง
1. ค่าตอบแทนทางการเงิน (Compensation)
- เงินเดือน (Base Salary) : ค่าตอบแทนพื้นฐานที่พนักงานได้รับตามตำแหน่งและบทบาทที่รับผิดชอบ
- โบนัส (Bonuses) : เงินรางวัลที่มอบให้ตามผลการปฏิบัติงาน หรือผลประกอบการของบริษัท
- ค่าคอมมิชชั่น (Commissions) : ค่าตอบแทนที่คำนวณจากผลงานขาย หรือการทำงานที่เกี่ยวข้อง
2. สวัสดิการ (Benefits)
- ประกันสุขภาพ (Health Insurance) : ความคุ้มครองด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล
- ประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุ (Life and Accident Insurance) : ความคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต
- แผนบำนาญและการเกษียณอายุ (Retirement Plans) : การออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
3. การพัฒนาความสามารถและการเติบโตในสายอาชีพ (Talent Development and Career Growth)
- การฝึกอบรมและพัฒนา (Training and Development) : โอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะต่างๆ
- โปรแกรมการพัฒนาผู้นำ (Leadership Development Programs) : การฝึกอบรมและพัฒนาผู้นำภายในองค์กร
- แผนการเติบโตในสายอาชีพ (Career Pathing) : การวางแผนการเติบโตในสายอาชีพ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้า
4. ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance)
- ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working Hours) : การจัดเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล
- การทำงานจากที่บ้าน (Remote Work) : โอกาสในการทำงานจากที่บ้าน หรือจากสถานที่ที่สะดวกสบาย
- วันหยุดและวันลาพักผ่อน (Paid Time Off) : การให้วันหยุดและวันลาพักผ่อนตามกฎหมายและนโยบายของบริษัท
4 ด้านข้างต้นก็คือ องค์ประกอบหลักของ Total Rewards ที่องค์กรยุคใหม่ควรจะต้องพิจารณให้มีขึ้น ดังนั้น เวลาที่จะวางระบบบริหารค่าตอบแทน ต้องมองในภาพของ Total Rewards ให้มากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ว่าเราจะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรของเราได้อย่างไร
2. ต้องเน้นไปที่ความต้องการส่วนบุคคล และความยืดหยุ่นในการให้ค่าตอบแทน (Personalized and Flexible Rewards)
เนื่องจากปัจจุบัน องค์กรมีการว่าจ้างพนักงานที่มีหลากหลาย Generation หรือแม้กระทั่งใน Gen เดียวกัน แต่ก็มีความต้องการที่หลากหลาย บางคนครองโสดอย่างเดียว บางคนมีครอบครัว บางคนมีน้องหมา น้องแมว อีกทั้งเรื่องของเพศสภาพที่แตกต่างกัน ก็ได้รับการยอมรับกันอย่างเปิดเผยในปัจจุบัน จึงทำให้ความต้องการของคนเรามีความแตกต่างกันมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น ถ้าองค์กรสามารถนำเสนอค่าตอบแทนหรือสวัสดิการให้กับพนักงาน ในแบบที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการและความพึงพอใจของพนักงาน ก็ยิ่งจะเป็นแรงดึงดูด และเป็นพลังในการเก็บรักษาพนักงานไว้กับเราได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ตัวอย่างการทำระบบแบบยืดหยุ่นทางด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ
- การให้ทางเลือกในโบนัสและค่าตอบแทนทางการเงิน
- โบนัสตามผลงาน (Performance-Based Bonuses) : พนักงานสามารถเลือกวิธีการรับโบนัส เช่น รับเป็นเงินสด หุ้นของบริษัท หรือเงินสนับสนุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- โบนัสเป็นส่วนแบ่งกำไร (Profit Sharing) : การให้พนักงานมีส่วนร่วมในกำไรของบริษัท เป็นแรงจูงใจในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. วันหยุดเพิ่มเติมและเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น
- วันลาพิเศษ (Additional Leave Days) : พนักงานสามารถเลือกที่จะรับรางวัลเป็นวันลาพิเศษ เช่น วันหยุดเพื่อพักผ่อน วันลาสำหรับการทำกิจกรรมครอบครัว หรือวันลาสำหรับการทำกิจกรรมสังคม
- ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working Hours) : การอนุญาตให้พนักงานเลือกเวลาทำงานที่เหมาะสมกับชีวิตส่วนตัว เช่น การทำงานช่วงเวลาใดก็ได้ตามที่สะดวก หรือการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน
3. สวัสดิการที่ปรับแต่งได้
- แผนประกันสุขภาพที่เลือกได้ (Customizable Health Plans) : พนักงานสามารถเลือกแผนประกันสุขภาพที่ตรงกับความต้องการ เช่น การเลือกความคุ้มครองที่มากขึ้นในด้านที่สำคัญกับตัวเอง
- สวัสดิการด้านสุขภาพและการออกกำลังกาย (Wellness and Fitness Benefits) : การสนับสนุนในการเป็นสมาชิกฟิตเนส การจัดกิจกรรมสุขภาพ หรือการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
4. รางวัลที่สอดคล้องกับความสนใจและความชื่นชอบส่วนตัว
- บัตรกำนัล (Gift Cards) : พนักงานสามารถเลือกบัตรกำนัลจากร้านค้าที่ชื่นชอบ เช่น ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ หรือร้านค้าที่ใช้บ่อย
- ประสบการณ์และกิจกรรม (Experiential Rewards) : การให้รางวัลเป็นประสบการณ์พิเศษ เช่น การท่องเที่ยว การเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการ หรือการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ
- สามารถเลือกซื้อสินค้า หรือบริการที่เป็นการส่งเสริม Wellness ของพนักงานได้ตามความต้องการของพนักงาน โดยมีงบประมาณเป็นตัวกำหนด
5. การพัฒนาทักษะและการเติบโตในสายอาชีพ
- ทุนการศึกษาและการฝึกอบรม (Educational Scholarships and Training Programs) : พนักงานสามารถเลือกที่จะใช้รางวัลในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ หรือการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อเติบโตในสายอาชีพ
- การเข้าร่วมสัมมนาและเวิร์กช็อป (Seminars and Workshops) : การสนับสนุนให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะและความรู้
6. การจัดการความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว
- โปรแกรมการทำงานจากที่บ้าน (Remote Work Programs) : การอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการจัดการเวลาส่วนตัว
- การสนับสนุนด้านครอบครัว (Family Support Benefits) : สวัสดิการที่ช่วยลดภาระของพนักงานในด้านการดูแลครอบครัว เช่น การสนับสนุนค่าเล่าเรียนหรือการดูแลเด็ก
3. การยกย่องและให้รางวัลแบบเรียลไทม์ (Real-Time Recognition and Rewards)
นอกจากรางวัลที่เป็นตัวเงิน จับต้องได้ สิ่งที่องค์กรต้องเพิ่มเติมก็คือ รางวัลที่จับต้องไม่ได้ รางวัลที่เน้นไปที่ความรู้สึกของพนักงานมากกว่าด้านการเงิน เพราะนี่คือสิ่งที่คนเราโหยหาจากการทำงาน อย่าคิดว่าพนักงานต้องการแค่เพียงเงินเดือน ค่าจ้าง แล้วองค์กรก็แค่จ่ายค่าจ้างให้สูงเข้าไว้ โดยไม่ต้องไปสนใจเรื่องของความรู้สึกพนักงาน ซึ่งในยุคนี้มันไม่ใช่แบบนี้อีกต่อไป พนักงานต้องการการยอมรับ การตระหนักถึงความสำคัญของตนเองในการทำงาน ต้องการได้รับคำชื่นชม และรางวัลทางด้านจิตใจด้วยเช่นกัน
ดังนั้น องค์กรใดที่สามารถวางระบบรางวัลที่จับต้องไม่ได้นี้ให้มีความชัดเจน ก็จะสามารถผูกใจพนักงานได้มากขึ้น
ตัวอย่างโปรแกรมการยกย่องและให้รางวัลแบบ Real Time Rewards ที่ทำกันแล้ว มีอะไรบ้าง
1. ใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล : นำระบบหรือแอปพลิเคชันที่สามารถให้รางวัลและยกย่องพนักงานแบบเรียลไทม์ เช่น การให้เหรียญตราดิจิทัล การให้ Token จากเพื่อนร่วมงานที่รู้สึกดีกับพฤติกรรมบางอย่าง การยกย่องชื่นชมผ่านแพลตฟอร์มที่พนักงานทุกคนสามารถเห็นได้ เป็นต้น
2. การให้รางวัลที่ปรับแต่งได้ : ให้พนักงานสามารถนำ Token หรือคะแนนจากข้อที่ 1 มาใช้ในการแลกรับรางวัลที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาได้ โดยทั่วไปก็จะเป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ น่ารักๆ เช่น คูปองกาแฟ คูปองแลกซื้อขนมจากร้านต่างๆ หรือบัตรส่วนลดร้านอาหาร ร้านนวด ร้านเสริมสวย ฯลฯ
3. การยกย่องผ่านสื่อสังคมออนไลน์ขององค์กร : ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ภายในองค์กร เช่น อินทราเน็ต หรือแพลตฟอร์มสื่อสังคมที่ใช้เฉพาะภายในองค์กร เพื่อยกย่องและให้รางวัลพนักงานในทันที และทำให้ทุกคนในองค์กรรับทราบได้ในทันทีทั่วโลก หรือทั่วทุกจุดของบริษัท
4. การให้รางวัลเป็นทีม : ยกย่องและให้รางวัลทีมงานที่ทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและความร่วมมือในทีม โดยอาจจะจัดรางวัลเล็กๆ ให้กับสมาชิกทุกคนในทีมงาน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และสร้างพลังในการทำงานร่วมกันได้อย่างดี
ในยุคนี้เราคงจะใช้วิธีการเดิมในการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่ได้อีกต่อไป เราจำเป็นต้องคิดใหม่ หาทางใหม่ๆ โดยเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการของพนักงานแต่ละคนได้ อีกทั้งก็ริเริ่มในเรื่องของรางวัลที่ไม่เป็นตัวเงินให้มากขึ้น รางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับพนักงานในการทำงานที่ดี การทำพฤติกรรมที่ดี และต้องให้รางวัลในทันทีที่เห็นสิ่งที่ดีจากพนักงานคนนั้น ไม่ใช่รอไปอีก 6 เดือน 1 ปี ถึงจะได้รางวัล แบบนี้จะไม่สามารถรักษาพฤติกรรมที่ดีของพนักงานได้
แล้วองค์กรของท่าน คิดใหม่ หาทางใหม่ ในการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการให้พนักงานแล้วหรือยัง
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ