
Leader Hero : ยอดหัวหน้างานตัวจริง ตอนที่ 30 เรื่อง : การใช้ทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์ Hierarchy of Needs กับการสร้างขวัญและกำลังใจคนทำงาน
28 สิงหาคม 2567
หากถามท่านผู้อ่านว่า อะไรคือองค์ประกอบที่ทำให้ “พนักงานยังคงอยากอยู่ทำงานต่อไปกับองค์กรอย่างขวัญดี และมีกำลังใจในการทำงาน” ระหว่าง “เงิน” กับ “ใจ” ด้วย “ตัวเลือกที่มีให้เลือก” ต่อไปนี้
ก. “ใช้เงินฟาดหัว” (เรียกว่า…เงินเต็ม ไร้การใส่ใจ)
ข. “ระบบทาส” (เรียกว่า…เงินก็น้อย ใจก็ไม่มี)
ค. “ซื้อด้วยใจ” (เรียกว่า…เงินพอได้ ใส่ใจดี)
ง. “สุขสมดุล” (เรียกว่า…เงินมาก ใจก็ป๋า)
เมื่อท่านผู้อ่านได้พิจารณา “ตัวเลือกทั้ง 4 ข้อ” แล้ว ท่านคิดว่า “พนักงานจะเลือกข้อไหน?” หากต้อง “เข้าไปทำงานกับนายจ้าง” ระหว่างข้อ ก. ข้อ ข. ข้อ ค. หรือข้อ ง.
แน่นอนว่า คำตอบที่ถูกเลือกก็น่าจะเป็นข้อ ง. ซึ่งถือเป็น “คำตอบที่ถูกต้องนะครับ” และหากคิดทบทวนชวนย้อนกลับไปยังอดีต เราทุกคนมักถูก “สั่งสอน” มาว่า “เมื่อจะไปทำงานกับบริษัทไหน อย่ามองเพียงเรื่องเงินทองหรือค่าตอบแทนอย่างเดียว อย่าไปละโมบมากนัก! เอาให้พออยู่ได้! แต่สิ่งที่ต้องตรองดูให้มั่นให้มากเข้าไว้ก็คือ ความรัก ความใส่ใจที่เขามีให้แก่พนักงานต่างหากล่ะ ที่ควรตระหนักเอาไว้ให้มากๆ”
ดังนั้น คนร่วมยุคร่วมสมัยต่างก็ “เข้าใจได้” ว่า “สิ่งที่จะทำให้เราอยู่อย่างมีความสุขนั่นก็คือ ความรัก ความยกย่องชื่นชม และความใส่ใจที่หัวหน้างาน (นายจ้าง) มีให้แก่พนักงาน ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าเงินทองที่เขาจ่ายมาให้! เพราะคับที่อยู่ได้ แต่ถ้าคับใจอยู่ยาก!” และถ้าจะให้ดีเลิศประเสริฐศรีที่สุด นั่นก็คือ “เงินก็ต้องมา ใจก็มากล้น” จึงจะเอา “คนรุ่น Gen ใหม่อยู่” ซึ่งช่างสอดรับกับมุมมองในเชิงวิชาการด้านจิตวิทยาว่า “พนักงานทุกคนต่างต้องการหรือเรียกร้องค่าตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่เป็นตัวเงิน” จึงอยากจะเปิดประเด็นในมุมมอง “ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงิน” โดยเฉพาะ “เรื่องการยกย่องชื่นชมและมอบรางวัลแก่พนักงาน (Employee Recognition & Rewards) ก็ถือเป็นอีก “มุมมองหนึ่ง” ในการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากร และ/หรือทีมงานในหน่วยงานในองค์กรเหลือเกิน โดยสอดคล้องกันกับ “ทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of Needs)” ที่คิดค้นโดยศาสตราจารย์อับราฮัม ฮาโรลด์ มาสโลว์ (Professor Abraham Harold Maslow) แห่งมหาวิทยาลัยแบรนดิส (Brandeis University) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้เขียนขออนุญาตนำรายละเอียดของ “ทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of Needs)” มาเขียนลงเพื่อเป็นการทบทวนประเด็นในสาระสำคัญ และเพื่อขอบพระคุณแก่ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันท่านนี้ แม้โดยเนื้อแท้แล้ว ท่านมีเชื้อสายยิวโดยชาติกำเนิดก็ตามที และได้ย้ายที่พำนักมาศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาถึงระดับสูงสุด นั่นก็คือ “ปริญญาเอกด้านจิตวิทยา” และเพื่อให้บรรดาท่านสมาชิกผู้อ่านวารสาร HR Society ได้ระลึกและทบทวนเนื้อใหญ่ใจความของ “ทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of Needs)” โดยผู้เขียนขออนุญาตไล่เรียงอย่างย่อ ดังนี้
ลำดับที่ 1 ความต้องการด้านกายภาพ ประกอบด้วย อากาศ น้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค
ลำดับที่ 2 ความต้องการด้านความปลอดภัย ประกอบด้วย ความมั่นคงในงาน สวัสดิการด้านสุขภาพ
ลำดับที่ 3 ความต้องการด้านความรักและการเป็นเจ้าของ ประกอบด้วย ความสัมพันธ์ที่ดี มีความรักระหว่างกัน
ลำดับที่ 4 ความต้องการด้านการได้รับการยอมรับ ประกอบด้วย การยกย่อง ความมีคุณค่าในตน อิสระในการทำงาน
ลำดับที่ 5 ความต้องการด้านบรรลุความเป็นผู้สำเร็จและได้ใช้ “รูปภาพประกอบ” เพื่ออ้างอิงถึงรายละเอียดสำคัญของ “ทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of Needs)” ตามรูปภาพประกอบด้านล่าง

โดยในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอ “แนวทางการยกย่องชื่นชมและมอบรางวัลแก่พนักงาน (Employee Recognition & Rewards)” ที่อิงพิงแนบกับ “ทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of Needs)” ผนวกเข้ากับผลการสำรวจของสมาคมที่ไม่แสวงหาผลกำไรแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อว่า World at Work ได้เสนอกลยุทธ์การให้รางวัลแก่พนักงานไว้ว่า รางวัลที่ใช้เพื่อยกย่องชื่นชมพนักงานนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 5 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่
1. การจ่ายค่าตอบแทน
2. สิทธิประโยชน์
3. ชีวิตการทำงาน
4. ผลการปฏิบัติงานและการได้รับการยอมรับ
5. การพัฒนาและโอกาสในการก้าวหน้า ดังรูปภาพประกอบด้านล่าง

ที่มา : worldatwork.org
ผู้เขียนขออนุญาต “นำเสนอ 5F. กลยุทธ์การให้รางวัลและยกย่องชื่นชมแก่พนักงาน” เพื่อใช้จัดทำโครงการ “การยกย่องชื่นชมและมอบรางวัลแก่พนักงาน (Employee Recognition & Rewards)” นั้น ควรประกอบด้วย
1. Financial ด้านการเงิน
2. Firmy ด้านความมั่นคง
3. Famous ด้านชื่อเสียง
4. Funny ด้านสนุกสนาน
5. Flash in Mind ด้านจุดประกายในใจ

มาดูรายละเอียดตัวอย่างของโครงการ Employee Recognition & Rewards ด้วยหลัก 5F กัน
- ตัวอย่างการให้รางวัลแก่พนักงาน F1 : Financial ด้านการเงิน เช่น ฟรีค่าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับพนักงานและผู้ติดตาม ฟรีค่าเดินทางสุดสัปดาห์และผู้ติดตาม ฟรีค่าจอดรถในห้างสรรพสินค้า ฟรีค่าตั๋วชมภาพยนตร์และผู้ติดตาม เป็นต้น
- ตัวอย่างการให้รางวัลแก่พนักงาน F2 : Firmy ด้านความมั่นคง เช่น สิทธิการยืดอายุเวลาเกษียณออกไปอีก 5 ปี เพิ่ม 50% ของเงินสมทบยามเกษียณ เป็นต้น
- ตัวอย่างการให้รางวัลแก่พนักงาน F3 : Famous ด้านชื่อเสียง เช่น ร่วมพูดคุยและรับประทานอาหารกับดาราที่มีชื่อเสียง ร่วมทำงานกับ CEO ของบริษัท 1 วัน เป็นต้น
- ตัวอย่างการให้รางวัลแก่พนักงาน F4 : Funny ด้านสนุกสนาน เช่น ฟรีตั๋วชมคอนเสิร์ตกับนักร้องดังแห่งยุค ฟรีเข้าแคมป์กับหน่วยซีล เป็นต้น
- ตัวอย่างการให้รางวัลแก่พนักงาน F5 : Flash in Mind ด้านจุดประกายในใจ เช่น การร่วมใช้ชีวิต 1 วัน กับบุคคลที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจขนาดใหญ่ ฟรีคอร์สฝึกอบรมที่สนใจระดับโลก เป็นต้น
จากตัวอย่างที่ได้กล่าวข้างต้น มาดู “ขั้นตอน” ที่จะทำให้ “การยกย่องชื่นชมและมอบรางวัลแก่พนักงาน (Employee Recognition & Rewards)” เป็นรูปเป็นร่างกันต่อเลย!
5 ขั้นตอนที่ทำให้โครงการ “การยกย่องชื่นชมและมอบรางวัลแก่พนักงาน (Employee Recognition & Rewards)” บรรลุผลสำเร็จ มีดังนี้
1. เกิดจาก “พฤติกรรมและผลลัพธ์” ของพนักงาน
2. เกิดการยอมรับและชื่นชมจาก “ระดับพนักงานด้วยกัน”
3. เกิดกระแสที่เป็น “เรื่องราวที่บอกต่อ” ในกระแสสังคม (Social & Talk of the Town)
4. เกิดได้ง่ายและเกิดบ่อย ทำให้พนักงานมีความอยากที่จะทำ
5. เกิดเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร ส่งผลให้เกิดการหล่อหลอมเป็น “วัฒนธรรมองค์กร”

“ริเริ่ม-ตระหนัก-ทบทวน” ในการจัดทำ “โครงการยกย่องชื่นชมและมอบรางวัลแก่พนักงาน (Employee Recognition & Rewards) ว่า “สามารถสร้างขวัญและกำลังใจ ให้ “คนรุ่นใหม่-คนรุ่นนี้-คนรุ่นก่อนยังคงอยู่กับองค์กรด้วยประสิทธิภาพงานอย่างยั่งยืน” เพราะสามารถ “ตอบโจทย์ลำดับความต้องการของมนุษย์” อย่างตรงเป้าตรงจุดของความเป็นคนนั่นเอง
ดังนั้น การจัดทำ “โครงการยกย่องชื่นชมและมอบรางวัลแก่พนักงาน (Employee Recognition & Rewards) จึงถือว่า “เป็นการตอบโจทย์การสร้างขวัญและจูงใจพนักงานที่ผสมผสานทั้งแบบเน้นที่ตัวเงิน และแบบที่ไม่เน้นตัวเงิน” ซึ่งก็ช่างสอดคล้องกับ “ทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์” ของนักจิตวิทยาพฤติกรรมศาสตร์นามว่าศาสตราจารย์อับราฮัม ฮาโรลด์ มาสโลว์ (Professor Abraham Harold Maslow) ว่า “มนุษย์ทุกผู้ทุกคนต่างมีลำดับของความต้องการเป็นลำดับขั้นกันไป ซึ่งมีอยู่ 5 ขั้น จึงขออนุญาตกล่าวถึง ถือว่าเป็นการทบทวนความรู้กันอีกสักรอบ โดยจัดกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1เป็นความต้องการพื้นฐาน มี 2 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ความต้องการด้านกายภาพ (Physiological Needs) ได้แก่ ปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และขั้นที่ 2 ความต้องการด้านความปลอดภัย (Safety Needs)
กลุ่มที่ 2 เป็นความต้องการด้านจิตวิทยา มี 2 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ความต้องการด้านการเป็นเจ้าของและความรัก (Belongingness & Love Needs) ได้แก่ ความสนิทสนม ความเป็นเพื่อน และขั้นที่ 2 ความต้องการด้านการชื่นชมยอมรับ (Esteem Needs) ได้แก่ ความมีศักดิ์ศรีและความรู้สึกของการประสบผลสำเร็จ
กลุ่มที่ 3 เป็นความต้องการด้านการเติมเต็มแห่งตน (Self-Fulfillment Needs) ได้แก่ การใช้ศักยภาพสูงสุดของตน การคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเมื่อรวม 3 กลุ่มของความต้องการของมนุษย์ให้เข้าด้วยกัน ก็รวมกันได้ 5 ลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ นั่นเอง
ดังนั้น บรรดาท่านที่มีสถานภาพเป็น “หัวหน้าคน” หรือมีบทบาทและหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรบุคคลอยู่ ท่านสามารถนำ “แนววิธีการเหล่านี้” ไปปรับใช้ ไปประยุกต์ให้เข้ากับบริบท นโยบาย และกรอบการบริหารทรัพยากรบุคคลในหน่วยงานขององค์กรท่านได้ เมื่อเราและท่านเข้าใจในลำดับความต้องการของมนุษย์ ก็คงมิใช่เรื่องยากที่จะใช้ทฤษฎี “การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า “Employee Recognition & Rewards การยกย่องชื่นชมและมอบรางวัลแก่พนักงาน” ที่ประยุกต์ใช้ “ทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of Needs)” ของศาสตราจารย์อับราฮัม ฮาโรลด์ มาสโลว์ (Professor Abraham Harold Maslow) แห่งมหาวิทยาลัยแบรนดิส (Brandeis University) ประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็น “เครื่องมือเชิงการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management Tools) ในการสร้างขวัญและกำลังใจแก่คนรุ่นใหม่-คนรุ่นนี้-คนรุ่นก่อน ให้อยู่กับองค์กรด้วยความรักและผูกพัน อย่างเป็นคนที่มีคุณค่า มีความสำคัญต่อหน่วยงาน ต่อองค์กร

Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ