กำลังโหลด...

×



HRM / HRD เป็นลูกจ้างวันเดียว...ตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์...

magazine image
HRM / HRD

เป็นลูกจ้างวันเดียว...ตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ จะได้สิทธิคุ้มครองกองทุนเงินทดแทนหรือไม่?

ปรานี สุขศรี

28 สิงหาคม 2567

บางคนอาจตอบว่า : ไม่มีสิทธิ...เพราะทำงานเพียงแค่วันเดียว

บางคนอาจจะตอบว่า : ไม่มีสิทธิ...เพราะลูกจ้างจงใจ หรือประมาทเลินเล่อไม่สวมใส่อุปกรณ์ที่นายจ้างจัดไว้ให้ 

คำตอบจากกรณีข้างต้น คืออย่างไรกันแน่!! 

  • เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ที่ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 หรือไม่?
  • เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน แต่ไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง เพราะลูกจ้างกระทำโดยจงใจให้ตนเองประสบอันตราย หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนประสบอันตราย หรือไม่?
  • เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน แต่ไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง เพราะลูกจ้างกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หรือไม่?

พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 บังคับให้มีการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้น โดยนายจ้างที่ไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มีหน้าที่แจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนตามอัตราที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ตามลักษณะประเภทของการประกอบกิจการของนายจ้าง (มาตรา 45) และหากลูกจ้างประสบอัตราย หรือเจ็บป่วย สูญหาย หรือถึงแก่ความตาย เนื่องมาจากการที่ลูกจ้างได้ทำงานให้แก่นายจ้าง หรือเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง หรือจากการรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง สำนักงานประกันสังคมจะทำหน้าที่จ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง (มาตรา 25)

ดังนั้น ทันทีที่ลูกจ้างเข้าทำงานกับนายจ้างในสถานประกอบกิจการ ไม่ว่าลูกจ้างจะทำงานประจำ หรือทำงานชั่วคราว หรือตกลงจ่ายให้เป็นรายวัน รายชั่วโมง หรือรายเดือนก็ตาม แม้ว่าลูกจ้างจะเข้าทำงานเพียงวันเดียว หากสาเหตุของการตายเกิดจากลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง หรือเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง หรือจากการรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน โดยนายจ้างมีหน้าที่ ดังนี้

(1) ต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาในทันที โดยต้องส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตราย หรือความเจ็บป่วยนั้น ตามแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) และหากมีค่ารักษาพยาบาล นายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไปก่อน และเบิกคืนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือนายจ้างอาจส่งตัวเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทนก็ได้  (มาตรา 13) 

(2) ต้องแจ้งการประสบอันตรายตามแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (กท.16) ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบ หรือควรจะได้ทราบถึงการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหายของลูกจ้างที่ประสบอันตรายนั้น (มาตรา 48)

ส่วนสิทธิของลูกจ้าง ถ้าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานจนถึงแก่ความตาย กองทุนเงินทดแทนมีอำนาจสั่งจ่ายเงินทดแทน คือ ค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท (ปัจจุบัน ณ เดือนกรกฎาคม 2567) และค่าทดแทนกรณีตายให้แก่ทายาทของลูกจ้าง คือ บิดา มารดา สมี ภรรยา และบุตร ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 10 ปี (มาตรา 18 (4) และมาตรา 20)

แต่การวินิจฉัยว่า ลูกจ้างประสบอันตรายหรือถึงแก่ความตายเนื่องมาจากลูกจ้างได้ทำงานให้แก่นายจ้าง หรือเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง หรือจากการรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนนั้น จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณี เพราะ…

บางครั้งการประสบอันตรายของลูกจ้าง อาจเกิดจากการที่ลูกจ้างมีส่วนทำให้เกิดอันตรายเอง หรือเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2546 ลูกจ้างผู้ตายปีนขึ้นไปบนโครงจอภาพยนตร์ แล้วเอาธงเหล็กฟาดสายไฟฟ้าแรงสูงจนถูกไฟฟ้าดูดและตกลงมาเสียชีวิต เพราะผู้ตายต้องการแสดงโอ้อวดตนเองว่าเป็นผู้วิเศษ มิใช่การประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799/2523 ลูกจ้างผู้ตายไปทำร้ายลูกจ้างอื่นก่อน และการทำร้ายก็ไม่ปรากฏว่ามีความจำเป็นหรือเหตุผลใดที่จะต้องทำร้าย ไม่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2524 ผู้ตายกับนาย ก. (ลูกมือ) ต่างเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่ติดมุกเครื่องเฟอร์นิเจอร์ของนายจ้าง ลูกจ้างผู้ตายเกิดโทสะที่นาย ก. ไม่ทำตามคำสั่ง จึงตบหน้าและใช้ขวดน้ำอัดลมตีนาย ก. บาดเจ็บ ถือเป็นการกระทำนอกเหนือการปฏิบัติงานให้นายจ้าง แต่เกิดจากสาเหตุความไม่พอใจส่วนตัว การที่นาย ก. ใช้เหล็กนาบมุกเผาไฟตีผู้ตายข้างหลังถึงแก่ความตาย เป็นการที่ผู้ตายถูกทำร้ายตายเพราะสาเหตุส่วนตัว ไม่ใช่เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง

บางครั้ง การประสบอันตรายของลูกจ้างอาจเกิดจากการที่ลูกจ้างยอมเสี่ยงภัยเอง ถือเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2543 นายจ้างไม่ได้มอบหมายให้ลูกจ้างทำงานนั้น แต่ลูกจ้างยอมรับในความเสี่ยงภัยทำเอง ไม่ถือว่าเป็นอันตรายเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง หรือเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

นอกจากนี้ การประสบอันตรายอาจเกิดจากการกระทำของลูกจ้างเอง โดย “จงใจ” ให้ตนเองประสบอันตราย หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนประสบอันตราย หรือเกิดจากการที่ลูกจ้างเสพของมึนเมา หรือสิ่งเสพติดก็ได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ จะเข้าข้อยกเว้นที่ลูกจ้างจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 บัญญัติว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนในการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างเพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 

(1) ลูกจ้างเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอื่น จนไม่สามารถครองสติได้ หรือ 

(2) ลูกจ้างจงใจให้ตนเองประสบอันตราย หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนประสบอันตราย

คำว่า “จงใจ” ตามพจนานุกรม หมายความว่า ตั้งใจ หมายใจ เจตนา หมายมั่น มุ่งมั่น แน่วแน่

คำว่า “ประมาทเลินเล่อ” ตามพจนานุกรม หมายความว่า กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง หรือละเลยในสิ่งที่ควรกระทำ

การที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ จะถือเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานหรือไม่? จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งสาเหตุเบื้องหลังของการประสบอันตราย และการกระทำที่เกิดเหตุให้ประสบอันตราย 

  • กรณีลูกจ้าง “ประมาทเลินเล่อ” ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้ตนเองประสบอันตรายไว้ ดังนั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างขาดความระมัดระวัง ลูกจ้างยังคงได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน
  • กรณีลูกจ้าง “จงใจ” หรือมีส่วนทำให้เกิดอันตรายเองด้วย หรือลูกจ้างยอมเสี่ยงภัยเอง 

ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างเข้าทำงานวันแรก และไม่รู้โดยสุจริตถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ และไม่มีพี่เลี้ยงหรือหัวหน้างานแจ้ง หรือกำชับให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กรณีนี้ก็อาจถือได้ว่า ไม่ได้เป็นการ “จงใจ” ให้ตนเองประสบอันตราย หรือมีส่วนทำให้เกิดอันตรายเอง หรือยอมเสี่ยงภัยเอง เช่นข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1898/2523 กรณีเรือประมงที่เข้าไปจับปลาในน่านน้ำประเทศกัมพูชามิได้ถูกยิงเสมอไป ผู้นำเรือเข้าไปจับปลาจึงไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจะต้องถูกยิง หรือน่าจะถูกยิงได้รับอันตรายหรือถึงแก่ความตายโดยแน่แท้ การที่ผู้ตายซึ่งเป็นไต้ก๋งเรือประมงของโจทก์ (นายจ้าง) นำเรือเข้าไปจับปลาในน่านน้ำดังกล่าว แล้วถูกยิงถึงแก่ความตาย จึงมิใช่ผู้ตายประสบอันตรายเพราะเหตุจงใจให้ตนเองประสบอันตราย จึงต้องจ่ายค่าทดแทน

แต่ถ้าลูกจ้างได้รู้กฎ ระเบียบ รู้สภาพการทำงาน ลักษณะงาน หรือเพียงแค่เล็งเห็นได้ว่าจะเกิดอันตรายได้หากไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย หรือการกระทำมีลักษณะเป็นการโอ้อวดตนเองว่าอยู่ยงคงกระพัน สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอันตรายใดๆ กรณีนี้อาจถือว่าเป็นการ “จงใจ” ทำให้ตนเองประสบอันตรายก็ได้ 

สำหรับกรณีที่ลูกจ้าง “เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติด” ที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองนั้น ข้อเท็จจริงจะต้องถึงขนาด “จนไม่สามารถครองสติได้” โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นในเรื่องเสร็จที่ 1033/2555 คำว่า “จนไม่สามารถครองสติได้” ตามมาตรา 22 (1) แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มีความหมายว่า ขาดสติ ขาดความยั้งคิดซึ่งบุคคลนั้นเคยมีอยู่ก่อน ไม่มีการควบคุมตนเองอย่างบุคคลธรรมดา หรือไม่สามารถรู้สึกผิดชอบในเรื่องต่างๆ ได้ ซึ่งการพิจารณาว่าพฤติการณ์ใดจะถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่สามารถครองสติได้นั้น จะต้องพิจารณาจากพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกเป็นรายกรณีไป หากเป็นเรื่องที่สงสัยว่าไม่สามารถครองสติได้เนื่องจากการเสพของมึนเมาที่มีแอลกอฮอล์ ก็อาจนำผลการตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดซึ่งเป็นวิธีการทางการแพทย์มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาได้ แต่ผลการตรวจดังกล่าวไม่อาจใช้ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่าบุคคลนั้นสามารถครองสติได้หรือไม่ เพราะแต่ละบุคคลมีความสามารถในการครองสติหลังจากที่ได้ดื่มสุรา หรือเสพของมึนเมาไปแล้วแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นแต่ละราย เช่น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2527 วินิจฉัยไว้ว่า การที่จำเลยพูดจาไม่รู้เรื่อง นำไปสถานีตำรวจก็ไม่รู้เรื่อง แสดงให้เห็นว่าจำเลยเมาสุรามากจนครองสติไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การตีความบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นต้องตีความไปตามถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการคุ้มครองลูกจ้างตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย 

ดังนั้น หากจะนำข้อยกเว้นนี้มาตัดสิทธิลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนในการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้าง จะต้องปรากฏว่าการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุที่ลูกจ้างเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดจนไม่สามารถครองสติได้เท่านั้น และเหตุอันตรายนั้นต้องเกิดจากการเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าลูกจ้างจะเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติด แต่ถ้ายังคงครองสติได้ หรือเหตุอันตรายเกิดจากปัจจัยอื่นมิใช่จากการเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติด ลูกจ้างก็ยังคงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ในการวินิจฉัยจึงจะต้องพิจารณาว่า (1) ณ ขณะทำงานนั้นลูกจ้างสามารถครองสติได้หรือไม่ และ (2) การประสบเหตุอันตรายนั้น เป็นผลมาจากการเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดหรือไม่ 

กรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ หากเกิดจากการที่ลูกจ้างเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดจนครองสติไม่ได้ และการไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยเป็นผลจากอาการเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติด และทำให้ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ลูกจ้างจึงอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 

ดังนั้น ปัญหาว่า ลูกจ้างถึงแก่ความตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ จะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หากลูกจ้างประมาทเลินเล่อ ไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย หรือเกิดจากความไม่รู้โดยสุจริตของลูกจ้างเอง ลูกจ้างยังคงได้รับความคุ้มครอง แต่หากลูกจ้างจงใจหรือมีส่วนทำให้เกิดอันตรายหรือยอมเอาตนเข้าเสี่ยงภัยเอง ซึ่งหากพฤติกรรมมีลักษณะเป็นการจงใจ ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม

ส่วนกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน แต่จะได้รับความคุ้มครองในกรณีจากกองทุนประกันสังคม หรือไม่? กฎหมายประกันสังคมกำหนดเงื่อนไขการเกิดสิทธิคุ้มครองกรณีตายไว้ว่า ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 1 เดือน และไม่มีบทบัญญัติยกเว้นในกรณีผู้ประกันตนจงใจหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองประสบอันตราย หรือเสพของมึนเมา หรือสิ่งเสพติด... การที่ลูกจ้างทำงานเพียงวันเดียว ถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเกิดขึ้นแล้ว ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน เป็นผลให้นายจ้างต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 1 เดือน โดยหักจากค่าจ้างของลูกจ้าง ดังนั้น จึงน่าคิดว่าเกิดสิทธิแก่ผู้ประกันตนที่จะได้รับความคุ้มครองกรณีตาย...แล้วหรือไม่?

Top 5 Contents