กำลังโหลด...

×



HRM / HRD ผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้าง มีสิทธิได้รับค่าทดแ...

magazine image
HRM / HRD

ผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้าง มีสิทธิได้รับค่าทดแทน กรณีลูกจ้างตายหรือไม่?

ปรานี สุขศรี

26 กันยายน 2567

กรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย แต่ไม่มีบิดา มารดา ไม่มีสามีหรือภรรยา ไม่มีบุตร หรือมีบุตรแต่มีอายุเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย จะได้รับเงินค่าทดแทนกรณีตายจากกองทุนเงินทดแทนหรือไม่? 

ตัวอย่าง ลูกจ้างทำหน้าที่ผู้จัดการ มีหน้าที่ดูแลการจำหน่ายสินค้า ติดตามงานขาย ติดตามตรวจเยี่ยม ประสานงานกับร้านค้าผู้ประกอบการ นายจ้างได้สั่งให้ลูกจ้างเดินทางไปตรวจเยี่ยมประสานงานกับตัวแทนจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ต่างอำเภอ หลังจากการปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้น ขณะเดินทางกลับถูกคนร้ายชิงทรัพย์จนถึงแก่ความตาย กรณีนี้ถือได้ว่าลูกจ้างประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13392/2558 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2557)

ผู้มีสิทธิ หรือทายาทของลูกจ้างตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน โดยจ่ายให้เป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนของลูกจ้าง เป็นระยะเวลา 10 ปี (มาตรา 18 (4))

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ไม่มีบิดา มารดา ไม่มีภรรยา และมีบุตร 1 คน ชื่อนายหนึ่ง เป็นบุตรตามความเป็นจริงที่มีอายุเกินกว่า 18 ปี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11837-11838/2556 ตามกฎหมายเงินทดแทนไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรตามมาตรา 20 จึงต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง) และลูกจ้างผู้ตายได้พักอาศัยกับนาย ก. ซึ่งเป็นเพื่อน และได้ช่วยเหลือเกื้อกูลทั้งค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นประจำทุกเดือน 

ปัญหาว่า นายหนึ่งซึ่งเป็นบุตรตามความเป็นจริง ที่มีอายุเกินกว่า 18 ปี และนาย ก. ซึ่งเป็นผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนที่ลูกจ้างจะถึงแก่ความตาย ที่จะเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 20 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 หรือไม่

พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาตรา 20 บัญญัติว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง 

(1) บิดา มารดา 

(2) สามี หรือภรรยา 

(3) บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนต่อไปจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี 

หมายความว่า บุตรที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ต้องพิจารณาว่าเป็นบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเสียก่อน และหากบุตรซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีนั้น มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและได้รับค่าทดแทนแล้ว ต่อมามีอายุครบ 18 ปี และยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี ก็จะได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดเวลาที่ยังศึกษา (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2561) 

(3/1) บุตรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี 

หมายเหตุ : บุตรตาม (3) และ (3/1) ดังกล่าว ไม่ใช่จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตลอดไปจนกว่าจะครบกำหนดตามคำสั่งพนักงานเงินทดแทน แต่จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนเฉพาะในระหว่างที่ตนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2529)

(4) บุตรมีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย 

วรรคสอง ให้บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือวันที่เกิดเหตุสูญหาย มีสิทธิได้รับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด 

วรรคสาม ในกรณีที่ไม่มีผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่ผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตาย หรือสูญหาย 

ในการพิจารณาจ่ายค่าทดแทนตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ผู้มีสิทธิดังกล่าวข้างต้นจะได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน และกรณีที่ผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตาย สิทธิรับเงินทดแทนเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะไม่ตกไปยังทายาทของผู้มีสิทธิ หรือไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15972/2557) กฎหมายให้นำส่วนแบ่งของผู้หมดสิทธินั้นไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไป (มาตรา 21) หรือสามี หรือภรรยาสมรสใหม่ หรือมิได้สมรสใหม่ แต่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่าอยู่กินฉันสามีหรือภรรยากับหญิงหรือชายอื่น หรือบุตรไม่มีลักษณะตามมาตรา 20 (3) หรือ (4) อีกต่อไป กฎหมายก็ให้นำส่วนแบ่งของผู้หมดสิทธินั้นไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไปเช่นกัน

นอกจากนี้ ในกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ไม่มีบิดา มารดา สามีหรือภรรยา บุตร และลูกจ้างได้อุปการะบุคคลใดบุคคลหนึ่งไว้ จะต้องจ่ายเงินทดแทนแก่ผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และต้องปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้ 

(1) ในขณะที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ไม่มีบิดา มารดา ไม่มีสามีหรือภรรยา ไม่มีบุตร ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือไม่มีบุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี หรือทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือไม่มีบุตรที่เกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย 

“บุตร” ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง จึงถือเอาอายุ การศึกษา และความทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย เป็นหลักเกณฑ์สำคัญ

(2) เป็นผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย โดยกฎหมายเงินทดแทนไม่ได้กำหนดเฉพาะเจาะจงว่าต้องมีสถานะอย่างไร หรืออายุเท่าใด จึงหมายถึงบุคคลใดๆ ก็ได้ เช่น พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา หลาน ญาติ เพื่อน ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีบุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง เช่น อายุเกิน 18 ปี หรืออายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่ไม่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี หรือไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ แต่เป็นผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย และได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตาย จะถือว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 20 วรรคสาม หรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1295-1296/2560 กรณีบุตร (โจทก์) ของลูกจ้าง มีอายุ 25 ปี และอายุ 22 ปี และไม่ได้ศึกษา วินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 20 มีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์ให้บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 20 วรรคหนึ่ง เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน แต่ถ้าหากไม่มีผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 วรรคหนึ่งแล้ว จึงจะพิจารณาผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของผู้ตายตามมาตรา 20 วรรคสาม เมื่อโจทก์เป็นบุตรผู้ตายที่มีอายุเกินกว่า 18 ปี และไม่เข้าหลักเกณฑ์ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง และไม่อาจนำหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของผู้ตายตามมาตรา 20 วรรคสาม มาใช้บังคับกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องพิจารณาตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ได้อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างตายตามมาตรา 20 วรรคสาม 

จากคำพิพากษาแปลความเสมือนหนึ่งว่า ถ้าบุตรมีอายุเกินกว่า 18 ปี และไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเงินทดแทน เช่น ไม่อยู่ระหว่างการศึกษา ไม่จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ จะถูกตัดสิทธิการเป็นผู้มีสิทธิรับเงินทดแทน จะไม่พิจารณาต่อว่าเป็นผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย และได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือไม่

(3) ผู้อยู่ในอุปการะนั้น ต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตาย หมายความว่า มีความจำเป็นจะต้องอยู่ในความอุปการะของลูกจ้าง ก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย และผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตาย ดังนั้น แม้ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย แต่หากไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตาย บุคคลดังกล่าวก็จะไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายเงินทดแทน

คำว่า “อุปการะ” มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ความช่วยเหลือเกื้อกูล ความอุดหนุน และคำว่า “ต้องได้รับความเดือดร้อน” จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2557 เมื่อลูกจ้างทำงานมีเงินเดือน จึงให้เงินช่วยเหลือโจทก์มาโดยตลอด ขณะที่ลูกจ้างมีชีวิตอยู่ ลูกจ้างก็พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับโจทก์ เชื่อว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้าง รายได้ของโจทก์เพียงเดือนละ 4,500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนที่น้อยเมื่อคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน ประกอบกับจังหวัดซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์นั้น เป็นเมืองเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง เชื่อว่าเงินรายได้ของโจทก์เพียงเดือนละ 4,500 บาท ไม่เพียงพอใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อโจทก์ขาดเงินที่ลูกจ้างมอบให้สม่ำเสมอเดือนละ 1,000 บาท ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามพระราชเงินทดแทน พ.ศ. 2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3922/2546ผู้ตายเคยให้เงินโจทก์บางเดือน เดือนละประมาณ 1,000-1,500 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก โดยให้ในช่วงที่ผู้ตายได้งานทำในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี การให้ดังกล่าวเห็นได้ว่า เป็นเพียงแต่ทำให้โจทก์ได้รับความสะดวกสบายในชีวิตครอบครัวเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่ได้รับเงินจากผู้ตายในบางเดือน การที่โจทก์ได้รับเงินจากผู้ตายดังกล่าว จึงไม่ถึงขั้นที่จะถือว่าอยู่ในอุปการะของผู้ตายตามความหมายของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1607/2560 ลูกจ้างผู้ตายส่งเงินให้โจทก์ซึ่งเป็นพี่ชาย ประมาณเดือนละ 2,000 บาท เป็นเพียงการช่วยเหลือในฐานะพี่น้องกัน ทำให้โจทก์ได้รับความสะดวกสบายในชีวิตครอบครัวเพิ่มขึ้นเท่านั้น โจทก์ประกอบอาชีพหมอดูและรับตั้งศาลพระภูมิ มีรายได้จากการทำนา ฯลฯ ไม่ถือว่าโจทก์ขัดสนในการยังชีพในชีวิตประจำวัน จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 

จากคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น การวินิจฉัยว่าผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตาย จึงเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี และหลายเรื่องประกอบกัน เช่น อาชีพ รายได้ในการยังชีพ ภาวะทางเศรษฐกิจ ความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ลักษณะการให้ความช่วยเหลือหรืออุปการะ ความสม่ำเสมอในการให้ความช่วยเหลือ ค่าใช้จ่ายในครอบครัว เป็นต้น 

สรุปคำตอบตามปัญหาข้างต้นว่า กรณีนายหนึ่ง ถ้าพิจารณาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1295-1296/2560 หากนายหนึ่งไม่เข้าเกณฑ์กรณีอายุเกินกว่า 18 ปี คือ ไม่อยู่ระหว่างการศึกษา หรือไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ถือว่าไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามกฎหมาย (แต่ผู้เขียนเห็นว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของทายาทภายหลังจากลูกจ้างถึงแก่ความตาย ดังนั้น กรณีที่ไม่ใช่บุตรตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 20 (1) หากเป็นผู้อยู่ในความอุปการะและได้รับความเดือดร้อนจากการที่ลูกจ้างควรจะพิจารณาว่าเป็นทายาทในลำดับถัดมาหรือไม่ ซึ่งน่าจะพิจารณาเป็นรายกรณีเช่นเดียวกับกรณีนาย ก. หากไม่มีทายาท จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งอาชีพ รายได้ในการยังชีพ ภาวะทางเศรษฐกิจ ความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ลักษณะการให้ความช่วยเหลือ หรืออุปการะ ความสม่ำเสมอในการให้ความช่วยเหลือ ค่าใช้จ่ายในครอบครัว เป็นต้น

Top 5 Contents