กำลังโหลด...

×



HRM / HRD ประกันแบบไหนลดหย่อนภาษีได้บ้าง และถ้าจ่ายเบี้ยประ...

magazine image
HRM / HRD

ประกันแบบไหนลดหย่อนภาษีได้บ้าง และถ้าจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ทำอย่างไรดี?

TaxBugnoms

28 ตุลาคม 2567

ประกัน ถือเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากช่วยบริหารความเสี่ยงและมอบสิทธิประโยชน์ด้านภาษี อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ทางการเงินเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการมีโอกาสลงทุนใหม่ๆ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หลายคนอาจเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันของตัวเอง

บทความนี้ขอรวบรวมแนวทางของประกันที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงเสนอแนวทางการจัดการทางการเงินสำหรับคนที่มีปัญหาในการชำระเบี้ยประกัน เพื่อให้สามารถรักษาสมดุลทางการเงินและไม่สูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ขั้นตอนที่ 1 : ทุกวันนี้เราจ่ายเบี้ยประกันเกินความจำเป็นรึเปล่า?

โดยทั่วไปแล้ว นักวางแผนการเงินแนะนำให้จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่เกิน 10-15% ของรายได้ต่อปี ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเงินเดือนเรา 25,000 บาท (รายได้ต่อปีประมาณ 300,000 บาท) ค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 30,000-45,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 2,500-3,750 บาทต่อเดือน หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับทุนประกันที่ต้องการและความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันของเรา เพราะถ้าเรามีภาระหนี้สิน เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ก็เป็นไปได้ว่าต้องลดสัดส่วนนี้ลงอีกนิด เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ

ขั้นตอนที่ 2 : เช็กทุนประกันว่าเหมาะสมไหม

นอกจากดูค่าเบี้ยประกันแล้ว เรายังต้องดูทุนประกันด้วยว่าเหมาะสมไหม ทุนประกันก็คือเงินที่เราหรือผู้รับผลประโยชน์จะได้รับถ้าเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุในกรมธรรม์ เช่น เสียชีวิต หรือเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งความต้องการทุนประกันของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป 

ทีนี้ ถ้าเราเช็กแล้วพบว่าจ่ายเบี้ยประกันเยอะเกินไป หรือทุนประกันสูงเกินความจำเป็น ก็อาจพิจารณาปรับลดได้ 

ขั้นตอนที่ 3 : ประกันที่เราซื้อลดหย่อนภาษีได้ไหม 

ปัจจุบันประกันที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ (เฉพาะส่วนของตัวเรา) มี 3 ตัว คือ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ โดยเงื่อนไขแต่ละตัวมีดังนี้

ประกันชีวิตที่ใช้ลดหย่อนภาษี สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • กรมธรรม์ประกันชีวิต มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • ต้องทำกับบริษัทรับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในประเทศไทย
  • ถ้ามีการจ่ายเงินคืนเงินปันผลหรือผลตอบแทนระหว่างสัญญา จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้
  • กรณีได้รับเงินคืนทุกปี ยอดเงินคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
  • กรณีได้รับเงินคืนตามช่วงระยะเวลาต่างๆ เช่น 2 ปี 3 ปี 5 ปี ยอดเงินคืนจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลา และกรณีอื่นๆ ผลรวมของเงินคืนตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันสะสมในช่วงนั้นๆ

ประกันสุขภาพที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมด้วยว่าเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท และต้องมีความคุ้มครองในเรื่องต่อไปนี้

  • ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

ประกันชีวิตแบบบำนาญที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเป็นจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อรวมประกันบำนาญกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว (RMF) เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องมีจำนวนเงินไม่เกิน 500,000 บาท โดยเงื่อนไขประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถลดหย่อนภาษี มีดังนี้

  • เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • ต้องเอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย
  • มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ จะจ่ายเท่ากันทุกงวด หรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้
  • มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์ เมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ก่อนได้รับผลประโยชน์

คราวนี้มาถึงจุดสำคัญที่เป็นคำถามของใครหลายคนว่า ถ้าเรายังอยากได้ความคุ้มครองอยู่ แต่จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวจริงๆ จะทำอย่างไรดี ขอแนะนำลองดูทางเลือกเหล่านี้

  • ขอผ่อนผันการชำระเบี้ยประกัน : บริษัทประกันส่วนใหญ่ให้เวลาผ่อนผันประมาณ 31 วันหลังครบกำหนด ถ้าคิดว่าเดือนหน้าจะมีเงินจ่าย ก็ใช้วิธีนี้ได้
  • เปลี่ยนงวดการจ่ายเบี้ยประกัน : แทนที่จะจ่ายรายปี เราอาจขอเปลี่ยนเป็นราย 3 เดือน 6 เดือน หรือรายเดือนก็ได้ แต่ต้องระวังว่าค่าเบี้ยรวมจะสูงขึ้นนิดนึง (ขึ้นอยู่กับประเภทของประกัน) 
  • กู้จากมูลค่ากรมธรรม์ : ถ้าเราถือกรมธรรม์มานานพอ อาจมีมูลค่าเวนคืนสะสมอยู่ เราสามารถกู้เงินส่วนนี้มาจ่ายเบี้ยประกันได้ แต่ต้องระวังเรื่องดอกเบี้ยด้วย
  • ขอลดทุนประกัน : ถ้าเราคิดว่าทุนประกันที่มีอยู่สูงเกินไป เราอาจขอลดลงได้ ซึ่งจะทำให้เบี้ยประกันลดลงตามไปด้วย
  • เปลี่ยนเป็นแบบ “ใช้เงินสำเร็จ” วิธีนี้ คือ เราจะหยุดจ่ายเบี้ยประกัน แต่ยังได้รับความคุ้มครองต่อไปตามระยะเวลาเดิม แต่ทุนประกันจะลดลง
  • เปลี่ยนเป็นแบบ “ขยายระยะเวลา” คล้ายๆ กับแบบใช้เงินสำเร็จแต่ทุนประกันจะเท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองจะสั้นลง
  • ขอเวนคืนกรมธรรม์ : วิธีนี้คือยกเลิกประกัน แล้วรับเงินคืนตามมูลค่าเวนคืนที่ระบุในกรมธรรม์ แต่จะไม่ได้รับความคุ้มครองอีกต่อไป

แต่ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรแบบไหน อย่าลืมเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย เพราะถ้าผิดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี เราอาจต้องยื่นแบบภาษีเพิ่มเติมสำหรับประกันที่เคยใช้สิทธิลดหย่อนไป และจ่ายภาษีย้อนหลังในส่วนนี้ด้วย 

สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากไว้ว่าการทำประกันเป็นเรื่องดี แต่ต้องทำให้เหมาะสมกับฐานะการเงินของเรา อย่าให้กลายเป็นภาระจนเครียด และถ้ารู้สึกว่าจ่ายไม่ไหว ลองปรึกษาตัวแทนประกันหรือบริษัทประกันได้ 

เรื่องเงินๆ ทองๆ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าเราจัดการดีๆ ชีวิตก็จะสบายขึ้นเยอะ!

Top 5 Contents