กำลังโหลด...

×



HRM / HRD จ้างแรงงาน vs จ้างทำของ

magazine image
HRM / HRD

จ้างแรงงาน vs จ้างทำของ

จ้างแรงงาน และจ้างทำของ มีความใกล้เคียงกันมาก เพราะเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งตกลงทำงาน อีกฝ่ายหนึ่งจ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้ กฎหมายแรงงานใช้บังคับกับนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น ไม่ได้บังคับใช้กับนิติสัมพันธ์ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ บทความนี้อธิบายให้เห็นถึงสัญญาทั้ง 2 ประเภท รวมทั้งเปรียบเทียบให้เห็นถึงข้อเหมือนและข้อแตกต่าง โดยมีรายละเอียดดังนี้

จ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ (ป.พ.พ. มาตรา 575) สัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

ประการแรก เป็นสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocal Contract) กล่าวคือ เป็นสัญญาที่ก่อหนี้ให้แก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกัน ลูกจ้างมีหนี้ที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างก็มีหนี้ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้างตอบแทนการทำงานให้ เมื่อลูกจ้างทำงาน นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างเป็นไปตามหลักที่เรียกกันว่า pay for work ในทางกลับกัน หากลูกจ้างไม่ทำงานให้แก่นายจ้าง นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง หรือที่เรียกกันว่า no work no pay

ประการที่สอง เรียกคู่สัญญาว่า “นายจ้าง” (Employer) ฝ่ายหนึ่ง กับ “ลูกจ้าง” (Employee) อีกฝ่ายหนึ่ง สัญญาจ้างแรงงาน เรียกคู่สัญญาว่า “นายจ้าง” กับ “ลูกจ้าง” ไม่ได้เรียกชื่อคู่สัญญาเป็นอย่างอื่น เช่น “พนักงาน”กับ “บริษัท” “ผู้ว่าจ้าง” กับ “ผู้รับจ้าง” ซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของ หรือเรียกว่า “ตัวการ” กับ “ตัวแทน” ตามสัญญาตัวแทน ชื่อที่เรียกคู่สัญญาเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการพิจารณาว่าสัญญาที่ตกลงทำขึ้นนั้นเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ เช่น คดีตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 31/2536 อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับ ร. เรียกว่า “สัญญาว่าจ้างผู้ขาย” เรียกโจทก์ว่า “บริษัท” และเรียก ร. ว่า “ผู้ขาย” ไม่ได้เรียกคู่สัญญาว่า “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ในการทำงานโจทก์ไม่ได้จ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนให้เป็นประจำ ร. จะได้รับค่าตอบแทนคิดเป็นร้อยละจากราคาสินค้าที่ขายและเก็บเงินได้เท่านั้น ไม่มีเวลาทำงานปกติ และโจทก์ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาหรือควบคุม ดูแลการทำงานของ ร. นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ ร. จึงไม่ใช่เป็นนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน

อย่างไรก็ดี การพิจารณาว่าสัญญาที่ตกลงกันเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่นั้น ไม่ได้เด็ดขาดตามชื่อที่เรียกคู่สัญญาตามที่ปรากฏในสัญญาเสมอไป จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่จำต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ของสัญญาจ้างแรงงานด้วย หากครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็เป็นจ้างแรงงานได้ เช่น คดีตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 29/2542 อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สัญญาที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลระบุว่า เป็นสัญญาจ้างแรงงาน แม้ในสัญญาจะกำหนดให้เรียกจำเลยที่ 1 ว่า “ผู้ว่าจ้าง” เรียกโจทก์ว่า “ผู้รับจ้าง” ก็ตาม แต่ในสัญญาดังกล่าวระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงจ้างโจทก์และโจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานบริหารระดับสูง โดยรับค่าตอบแทนการทำงานเป็นรายเดือน เดือนละ 90,000 บาท แสดงว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการที่โจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ตกลงจะจ่ายสินจ้างตลอดเวลาที่โจทก์ทำงานให้ อันเป็นนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นคู่สัญญาในสัญญาจ้างแรงงาน ได้แก่ บุคคลตามกฎหมายแพ่ง คือ บุคคลธรรมดา (Natural Person) และนิติบุคคล (Juristic Person) กรณีนายจ้างอาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา เช่น นายหนึ่ง นายสอง ฯลฯ และนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ฯลฯ แต่กรณีของลูกจ้าง บุคคลธรรมดาเท่านั้นที่จะทำงานเป็นลูกจ้างได้ กรณีนิติบุคคลทำงานเป็นลูกจ้างไม่ได้ เนื่องจากโดยสภาพนิติบุคคลไม่มีแรงงานหรือพละกำลังที่จะทำงานให้แก่นายจ้าง การแสดงเจตนาต่างๆ ต้องกระทำโดยบุคคลธรรมดาแสดงเจตนาแทน

เคยมีคดีตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 69/2541 วินิจฉัยว่า นิติบุคคลทำงานเป็นลูกจ้างไม่ได้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 จ้างแรงงานนั้น โดยสภาพแล้วจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่จำเลยเป็นนิติบุคคล โดยสภาพแล้วจึงไม่อาจเป็นลูกจ้างได้ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมิใช่นายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ใช่เป็นคดีแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8

ประการที่สาม ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างตกลงจ่ายสินจ้างตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง ที่ว่า “ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้าง” นั้น งานที่ลูกจ้างทำให้แก่นายจ้างอาจเป็นงานที่ใช้พละกำลัง ต้องออกแรงยก หาบ หาม แบก ทูน ลาก เข็น หรืออาจเป็นงานที่ใช้ความรู้ ความคิด สติปัญญาทำงานให้แก่นายจ้าง เช่น งานด้านการบริหารจัดการ งานการเงินบัญชี งานกฎหมาย ฯลฯ ลูกจ้างต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้างเป็นสำคัญ ถ้าบุคคลที่ทำงานนั้นไม่ได้ทำงานเพื่อประโยชน์ของอีกฝ่าย เช่น นักศึกษาฝึกงาน ทำงานเพื่อหาประสบการณ์แก่ตนเองก่อนทำงานจริง ไม่ได้ทำงานเพื่อประโยชน์ของสถานประกอบกิจการที่ไปฝึกงานเป็นหลัก สัญญานักศึกษาฝึกงานจึงไม่ถือว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนที่ว่า “นายจ้างตกลงจ่ายสินจ้างตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง” นั้น หมายความว่า นายจ้างตกลงจ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง อาจตกลงจ่ายตามผลงานคำนวณเป็นหน่วยตามที่ลูกจ้างทำได้ เช่น จ่ายเป็นรายชิ้น หรือตามระยะเวลาการทำงาน เช่น จ่ายเป็นรายชั่วโมง รายวัน หรือรายเดือน

ประการที่สี่ ลูกจ้างต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้าง ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานประการหนึ่ง คือ ลูกจ้างมีหน้าที่ทำงานตามคำสั่งและอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้างนายจ้างมีสิทธิออกคำสั่ง (Right to Demand) ในขณะที่ลูกจ้างมีหน้าที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง (Duty to Obey) จึงจะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน หากบุคคลที่ตกลงทำงานมีอำนาจทำงานโดยอิสระ ปราศจากการควบคุมบังคับบัญชาของอีกฝ่ายหนึ่ง บุคคลนั้นจะไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน

หลักเกณฑ์ที่จะถือว่าอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้างหรือไม่ อาจพิจารณาจาก ประการแรก ฝ่ายที่เป็นลูกจ้างจะต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับที่นายจ้างกำหนดไว้หรือไม่ ประการที่สอง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติ จะได้รับโทษทางวินัย เช่น ตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง หรือเลิกจ้างหรือไม่ หากต้องทำงานตามคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนดไว้ เมื่อมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับดังกล่าวแล้ว จะได้รับการลงโทษทางวินัย ก็นับได้ว่าทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ในทางตรงข้าม ถ้าทำงานโดยอิสระไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับของอีกฝ่าย หรืออาจมีคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ แต่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ไม่มีโทษทางวินัย บุคคลที่ทำงานในลักษณะนี้ไม่ใช่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน

ประการที่ห้า นายจ้างและลูกจ้างถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน คู่สัญญาจ้างแรงงาน อันได้แก่ นายจ้างและลูกจ้าง ถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน เนื่องจากการที่นายจ้างจะว่าจ้างบุคคลใดให้ทำงานเป็นลูกจ้าง ย่อมจะต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ของลูกจ้างเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันลูกจ้างจะตกลงทำงานให้แก่นายจ้างคนใดก็มักจะพิจารณาถึงความมั่นคงในการประกอบกิจการ ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้รับจากการทำงานเป็นสำคัญ คุณสมบัติของนายจ้างและลูกจ้างเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน ผลในทางกฎหมายที่ตามมา คือ นายจ้างจะโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่บุคคลภายนอก โดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้ และลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนลูกจ้าง โดยนายจ้างไม่ยินยอมไม่ได้เช่นกัน หากฝ่าฝืน อีกฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้ ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 นอกจากนี้ หากลูกจ้างถึงแก่ความตาย สัญญาจ้างแรงงานเป็นอันระงับสิ้นไป สิทธิความเป็นลูกจ้างไม่ตกทอดเป็นมรดกไปยังทายาท หากนายจ้างตาย สัญญาจ้างระงับสิ้นไปเช่นกัน

สัญญาจ้างทำของ (Hire of Work) เป็นสัญญาอีกประเภทที่ใกล้เคียงกับจ้างแรงงานจ้างทำของ เป็นสัญญาที่บุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจ้าง” ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” และผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587) จ้างทำของมีลักษณะสำคัญ ดังต่อไปนี้

ประการแรก เป็นสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocal Contract) กล่าวคือ เป็นสัญญาที่ก่อหนี้ให้แก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกัน ผู้ว่าจ้างมีหนี้ที่จะต้องทำงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างก็มีหนี้ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้างตอบแทนผลสำเร็จของงานที่ผู้รับจ้างทำนั้นให้แก่ผู้รับจ้าง จ้างทำของมีลักษณะคล้ายกับจ้างแรงงานในแง่ที่ว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำงานและอีกฝ่ายหนึ่งจ่ายค่าตอบแทนให้ เพียงแต่จ้างแรงงานมุ่งเน้นที่แรงงานของลูกจ้าง ไม่ได้เน้นที่งานที่ลูกจ้างทำต้องแล้วเสร็จหรือไม่ ส่วนจ้างทำของเน้นที่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ

ประการที่สอง เรียกคู่สัญญาว่า ผู้รับจ้าง กับ ผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ซึ่งแตกต่างไปจากจ้างแรงงานที่ลูกจ้างจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น นิติบุคคลทำงานเป็นลูกจ้างไม่ได้ แต่มีฐานะเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของได้ คดีเรื่องหนึ่ง บริษัท จ. จำกัด ว่าจ้างให้บริษัท อ. จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการโทรทัศน์ ให้ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าหน้ากากกันควันของบริษัท จ. จำกัด แพร่ภาพออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ของบริษัท อ. จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท จ. จำกัด ตกลงชำระค่าจ้างโฆษณาให้แก่บริษัท อ. จำกัด (มหาชน) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีตามสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องที่บริษัท อ. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างตกลงจะทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าจนสำเร็จให้แก่บริษัท จ. จำกัด ผู้ว่าจ้าง และบริษัท จ. จำกัด ตกลงจะชำระเงินค่าโฆษณาหรือสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น อันเข้าลักษณะของการจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2547)

ประการที่สาม ผู้รับจ้างตกลงทำงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างตอบแทนผลสำเร็จของงานที่ทำนั้นให้แก่ผู้รับจ้าง วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของ คือ ผลสำเร็จของงาน ผู้รับจ้างจึงเป็นคู่สัญญาฝ่ายที่ตกลงทำงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างเป็นคู่สัญญาฝ่ายที่ตกลงจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างตอบแทนผลสำเร็จของงานที่ผู้รับจ้างทำ

กรณีถือได้ว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ เช่น สัญญาว่าจ้างให้ทำและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งตกแต่งภายในบ้าน โดยตกลงชำระค่าจ้างให้แก่ผู้รับเหมางานดังกล่าว เป็นสัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6369/2540) สัญญาว่าจ้างให้ซ่อมเครื่องพิมพ์และเครื่องอัดเพลทจนใช้การได้ เป็นสัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2524) สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ เป็นสัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 857/2549) สัญญาจ้างเหมาต่อเติมบ้าน เป็นสัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4687/2553) สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคาร เป็นสัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6866/2552) สัญญาจ้างก่อสร้างถนน เป็นสัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4858/2548) สัญญาว่าจ้างให้ทำการโฆษณาสินค้าและภาพยนตร์ โดยตกลงจ่ายค่าจ้างตอบแทน เป็นการจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2522) สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัย เป็นสัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2552) สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7153/2551) สัญญาจ้างให้บริการบนเรือสำราญ เป็นสัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128-1129/2547)

ข้อเหมือนของจ้างแรงงาน กับจ้างทำของ 

จ้างแรงงานและจ้างทำของ ต่างเป็นสัญญาในทางแพ่งที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงทำงาน และคู่สัญญาอีกฝ่ายตกลงจ่ายสินจ้างให้แก่คู่สัญญาฝ่ายที่ทำงานให้นั้น สัญญาทั้ง 2 ประเภทนี้ กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ต้องกระทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ดังนั้น จึงสามารถทำสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของด้วยวาจา หรือจะทำเป็นหนังสือก็ได้ (คำพิพากษาที่ 2652-2653/2529 และที่ 2326/2544)

ข้อแตกต่างจ้างแรงงาน กับจ้างทำของ จ้างแรงงาน กับจ้างทำของ มีข้อแตกต่างสำคัญ ดังนี้

ประการแรก จ้างแรงงาน มุ่งเน้นที่แรงงานของลูกจ้าง ส่วนจ้างทำของ มุ่งที่ผลสำเร็จของงาน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างแรงงาน คือ แรงงานที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง โดยไม่จำเป็นว่าลูกจ้างจะต้องทำงานให้แก่นายจ้างจบงานหรือไม่ ในขณะที่สัญญาจ้างทำของมุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของงานที่ทำมากกว่าแรงงาน ผู้รับจ้างจะต้องทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้แก่ผู้ว่าจ้างจนงานนั้นเป็นผลสำเร็จ ผลสำเร็จของงานที่ทำจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้สัญญาจ้างทำของ ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล พ. ว่าจ้างนางสาวสุณีรัตน์ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลห้องปฏิบัติการ หรือห้องทดลองทางวิชาการแพทย์ โดยให้เงินเดือนเป็นรายเดือน ระยะเวลากว่า 3 ปี จนกระทั่งโรงพยาบาล พ. หาคนมาทำงานแทนนางสาวสุณีรัตน์ได้ โรงพยาบาล พ. จึงเลิกจ้างนางสาวสุณีรัตน์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นางสาวสุณีรัตน์ มิได้ตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่โรงพยาบาล พ. และโรงพยาบาล พ. จะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น หากแต่เป็นเรื่องที่นางสาวสุณีรัตน์ตกลงทำงานให้แก่โรงพยาบาล พ. ผู้เป็นนายจ้างในหน้าที่ ซึ่งโรงพยาบาล พ. มอบให้ และโรงพยาบาล พ. ตกลงที่จะให้สินจ้างเป็นรายเดือนตอบแทนตลอดเวลาที่นางสาวสุณีรัตน์ทำงานให้ ลักษณะของสัญญาจ้างระหว่างนางสาวสุณีรัตน์ กับโรงพยาบาล พ. จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2523)

ประการที่สอง จ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาในระหว่างทำงาน ส่วนจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจดังกล่าว

สัญญาจ้างแรงงาน ในระหว่างทำงาน นายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้างได้ ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของนายจ้าง หากฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษทางวินัยได้ ในขณะที่สัญญาจ้างทำของในระหว่างที่ผู้รับจ้างทำงาน ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการเหนือผู้รับจ้าง ตัวอย่างเช่น นางสาวอุบลกับพวกทำงานตามวันเวลาที่สถานประกอบการกำหนดใน 1 สัปดาห์ ต้องมาทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ เริ่มทำงานเวลา 08.00 น. เลิกเวลา 17.00 น. พักเวลา 12.00-13.00 น. การมาทำงานต้องลงเวลามาทำงาน หากไม่มาทำงานต้องยื่นใบลา ถ้าฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัยได้ สถานประกอบการมีอำนาจบังคับบัญชานางสาวอุบลกับพวกในการทำงาน โดยสามารถสั่งให้มาทำงานตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ หากนางสาวอุบลกับพวกไม่ปฏิบัติตามก็สามารถลงโทษได้ นางสาวอุบลกับพวกทุกคนไม่มีอิสระจะมาทำงานหรือไปทำที่ใดก็ได้ แม้นางสาวอุบลกับพวกได้รับค่าจ้างตามผลงานที่ทำได้ นิติสัมพันธ์ระหว่างสถานประกอบการกับนางสาวอุบลกับพวกทุกคน มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ (คำพิพากษาที่ 3838-3853/2532)

นายหนึ่งว่าจ้างนางสาวสอง ทำงานเย็บเสื้อผ้าสตรีที่ร้านของนายหนึ่ง โดยคิดค่าจ้างตามผลงานเป็นรายชิ้น ไม่มีกำหนดเวลาทำงานแน่นอน นางสาวสองจะเข้าไปทำงานวันเวลาใดก็ได้ตั้งแต่ 09.00-21.00 น. ของแต่ละวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ซึ่งร้านของนายหนึ่งหยุดประกอบกิจการ นายหนึ่งไม่มีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของนางสาวสอง นิติสัมพันธ์ระหว่างนายหนึ่งกับนางสาวสองไม่ต้องด้วยสัญญาจ้างแรงงาน (คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 31/2543)

ประการที่สาม จ้างแรงงาน ลูกจ้างได้รับค่าจ้างแม้ยังไม่มีผลสำเร็จของงาน ส่วนจ้างทำของ โดยทั่วไปจะได้สินจ้างเมื่อทำงานจนสำเร็จ

สัญญาจ้างแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง แม้ว่างานที่ทำยังไม่เป็นผลสำเร็จก็ตาม เพราะการจ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ไม่ใช่เพื่อตอบแทนผลสำเร็จของการทำงาน ในขณะที่สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างจ่ายสินจ้างเพื่อตอบแทนผลสำเร็จของงาน โดยทั่วไปผู้รับจ้างจะได้รับสินจ้างต่อเมื่อทำงานแล้วเสร็จ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602)

ประการที่สี่ จ้างแรงงาน นายจ้างต้องร่วมรับผิดกรณีลูกจ้างไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกในทางการที่จ้าง ส่วนจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดกรณีผู้รับจ้างไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก

สัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาการทำงานของลูกจ้าง ดังนั้น หากลูกจ้างไปทำความเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกในทางการที่จ้าง กฎหมายจึงกำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างเพื่อการชดใช้ค่าเสียหายต่อบุคคลภายนอก (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425) ตัวอย่างเช่น บริษัทรวดเร็ว จำกัด จ้างนายเอกทำงานเป็นพนักงานขับรถส่งสินค้า หากระหว่างนำสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้า นายหนึ่งขับรถด้วยความประมาทชนผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส ผู้บาดเจ็บมีสิทธิฟ้องนายเอกผู้ทำละเมิด และบริษัทรวดเร็ว จำกัด ให้ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายได้

ส่วนสัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาการทำงานของผู้รับจ้าง หากผู้รับจ้างไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ว่าจ้างด้วย ผู้ว่าจ้างจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้รับจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะมีส่วนผิดอยู่ด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428) หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่า บริษัท รวดเร็ว จำกัด ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนมั่นคง จำกัด ก่อสร้างอาคารหนึ่งหลัง 10 ล้านบาท ในระหว่างก่อสร้าง คนงานของห้างหุ้นส่วนมั่นคง จำกัด ประมาทเลินเล่อ ทำสิ่งของหล่นใส่หลังคาบ้านข้างเคียงได้รับความเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บ ประมาทจนผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส ผู้บาดเจ็บมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนมั่นคง จำกัด และห้างหุ้นส่วนมั่นคง จำกัด ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้เท่านั้น จะฟ้องให้บริษัทรวดเร็ว จำกัด รับผิดไม่ได้ เพราะบริษัทรวดเร็ว จำกัด เป็นเพียงผู้ว่าจ้าง ตามสัญญาจ้างทำของ 

ประการที่ห้า จ้างแรงงาน ลูกจ้างมักจะใช้เครื่องมือของนายจ้าง ส่วนจ้างทำของ ผู้รับจ้างมักทำงานโดยใช้เครื่องมือของตนเอง

สัญญาจ้างแรงงาน เป็นสัญญามุ่งเน้นที่การใช้แรงงานของลูกจ้าง ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้าง โดยทั่วไปลูกจ้างจึงไม่ต้องจัดเตรียมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทำงาน แต่นายจ้างมักจะเป็นฝ่ายจัดเตรียมให้ลูกจ้าง เพียงแต่ใช้แรงงานของตนทำงานให้แก่นายจ้างเท่านั้น ส่วนสัญญาจ้างทำของ มุ่งเน้นที่ความสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญ กล่าวคือ ผู้รับจ้างต้องทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จ การจัดเตรียมเครื่องมือและสัมภาระในการทำงาน จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้าง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 588) เช่น บริษัท ถ. จำกัด รับจ้างผลิตสบู่ให้แก่ผู้ว่าจ้าง โดยใช้เพียงแรงงานและเครื่องมือเครื่องใช้ของบริษัท ถ. จำกัด ผลิตสบู่ขึ้นมาตามสูตรและส่วนผสมที่ผู้ว่าจ้างกำหนด โดยผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระทั้งหมดที่ใช้ในการผลิต แสดงว่าผู้ว่าจ้างหวังผลสำเร็จแห่งการงานที่จ้างเป็นสำคัญ จึงเป็นการรับจ้างทำของ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2534)

ประการสุดท้าย จ้างแรงงาน กับจ้างทำของ กฎหมายให้ความคุ้มครองคู่สัญญาฝ่ายที่ตกลงทำงานแตกต่างกัน

กรณีลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน นอกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดสิทธิหน้าที่ไว้แล้ว ยังมีกฎหมายอื่นให้การคุ้มครองลูกจ้างไว้เป็นการเฉพาะเช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ฯลฯ ส่วนจ้างทำของ กฎหมายกำหนดสิทธิหน้าที่ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ความคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ

Top 5 Contents