กำลังโหลด...

×



HRM / HRD ฝ่ายบุคคลต้องปฏิบัติอย่างไร? เมื่อลูกจ้างเกษียณอาย...

magazine image
HRM / HRD

ฝ่ายบุคคลต้องปฏิบัติอย่างไร? เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ 60 ปี แต่นายจ้างตกลงจ้างต่อไป

ปรานี สุขศรี

28 พฤศจิกายน 2567

กรณีลูกจ้างที่เกษียณอายุ 60 ปี และนายจ้างตกลงจ้างต่อไปอีกเป็นรายปี  

โดยนายจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับลูกจ้าง และลูกจ้างก็พอใจที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในฐานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป 

กรณีนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจะต้องปฏิบัติอย่างไร? เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย

เป็นคำถามที่ผู้ประกันตนและนายจ้างหลายคนยังมีความสับสนและกังวลใจไม่น้อย

เพราะตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 บัญญัติคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ชัดเจนว่า 

“มาตรา 33 ให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน” ดังนั้น ลูกจ้างที่มีสิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จึงหมายถึง ในขณะแรกเข้าเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ ลูกจ้างนั้นจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และลูกจ้างจะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้ จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 44 บัญญัติ “ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง” 

กรณีที่ลูกจ้างอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป 

ต้องเป็นกรณีดังต่อไปนี้ 

1. เป็นกรณีที่ลูกจ้างนั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างต่อไป โดยยังไม่สิ้นสุดสัญญาจ้าง

2. นายจ้างและลูกจ้างตกลงขยายเวลาการจ้างออกไปอีก ก่อนถึงกำหนดที่ลูกจ้างจะเกษียณอายุ 60 ปี

กรณีที่ลูกจ้างมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างต่อไปโดยยังไม่สิ้นสุดสัญญาจ้าง เป็นไปตามมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตนต่อไป”

หมายความว่า 

(1) ลูกจ้างนั้นยังไม่ได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หรือสัญญาจ้างแรงงานยังไม่สิ้นสุดตามมาตรา 38 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 บัญญัติว่า ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลงเมื่อผู้ประกันตนนั้นสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

(2) ในขณะนั้นลูกจ้างมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์

การที่ลูกจ้างยังไม่ได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หรือสัญญาจ้างแรงงานยังไม่สิ้นสุด อาจเกิดจากนายจ้างยังไม่ได้เลิกจ้าง หรือลูกจ้างไม่ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง หรือนายจ้างโอนสิทธิของตนให้ลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างอื่นตามมาตรา 577 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย” หรือการเปลี่ยนตัวนายจ้าง ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งจะมีผลให้นายจ้างใหม่ต้องรับสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างที่มีอยู่กับนายจ้างเดิมมาด้วยทุกประการ และการโอนสิทธินายจ้าง หรือการเปลี่ยนตัวนายจ้าง ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/3524 ในกรณีที่มีการโอนสิทธินายจ้างไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างยังคงมีฐานะเป็นลูกจ้างต่อไป ทำให้สิทธิการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มีอยู่ต่อไปตามเดิม ไม่ได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) ที่ว่าความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลง เมื่อสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11206/2557 บริษัทใหม่ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิม อันได้มาควบกันนั้นทั้งสิ้น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนต้องนำระยะเวลาของบริษัทเดิมก่อนควบบริษัทมานับต่อเนื่อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2123/2555 การโอนสิทธิความเป็นนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 นายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่างๆ โดยต้องนับอายุงานต่อเนื่องด้วย เมื่อนายจ้างใหม่เลิกจ้าง จึงนับระยะเวลาทั้งหมดที่ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างเดิมรวมคำนวณเป็นค่าชดเชยด้วย

แต่กรณีลูกจ้างเกษียณอายุ มาตรา 118/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติว่า การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ดังนั้น เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุและบริษัทฯ ต้องการจ้างลูกจ้างให้ทำงานต่อไป บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้เรียบร้อยก่อนทำสัญญาจ้าง ซึ่งสัญญาจ้างที่ทำขึ้นใหม่ต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ และสอดคล้องกับกฎหมาย (อ้างอิงข้อหารือกองนิติการที่ รง 0505/1811 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560) 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อลูกจ้างที่เกษียณอายุ 60 ปีถือว่าเป็นการเลิกจ้าง จึงทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง เป็นผลให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของลูกจ้างสิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และจะเกิดผลตามกฎหมาย ดังนี้ 

(1) นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

(2) นายจ้างมีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงต่อสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความในแบบรายการที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงานเปลี่ยนแปลงไป ให้นายจ้างแจ้งเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่เลขาธิการประกาศกำหนด”

(3) เมื่อนายจ้างแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง จะมีผลทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รู้ถึงการสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ของลูกจ้าง จึงสามารถวินิจฉัยประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีต่างๆ ต่อไป เช่น การจ่ายเงินชราภาพ หรือการจ่ายเงินว่างงาน (กรณีสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อลูกจ้างอายุไม่ครบ 55 ปี) 

(4) ลูกจ้างที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมต่อไปอีก 6 เดือน 

(5) ลูกจ้างที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 

ดังนั้น การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของนายจ้างจึงเปรียบเสมือนเป็น “ประตู” ที่จะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิผู้ประกันตน จึงมีความสำคัญต่อผู้ประกันตนในหลายประการตามที่กล่าวข้างต้น หากนายจ้างไม่แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ก็จะไม่สามารถวินิจฉัยประโยชน์ทดแทนได้ และนายจ้างมีความผิดทางอาญาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 96) 

ถ้านายจ้างตกลงให้ลูกจ้างทำงานต่อไป ภายหลังจากที่ลูกจ้างเกษียณอายุ 60 ปีไปแล้ว โดยนายจ้างได้แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง หรือลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าชดเชย เป็นต้น ถือว่าเป็นการจ้างแรงงานใหม่ หรือเริ่มต้นนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างลูกจ้างใหม่ ลูกจ้างอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ จึงขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 จึงไม่มีสิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33

แต่ถ้านายจ้างและลูกจ้างตกลงกันทำงานต่อไป และนายจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับลูกจ้าง และลูกจ้างก็พอใจที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในฐานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป 

กรณีนี้นายจ้างลูกจ้างจะต้องปฏิบัติอย่างไร

ต้องเป็นกรณีที่นายจ้างลูกจ้างมีการตกลงต่ออายุสัญญาจ้างแรงงานก่อนการเกษียณอายุตามข้อบังคับ และเป็นการตกลงขยายระยะเวลาการเกษียณอายุ (อ้างอิงข้อหารือกองนิติการที่ รง 0505/2592 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560) จึงมีผลทำให้สัญญาจ้างยังไม่ได้สิ้นสุดลงและการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะยังคงมีอยู่ต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งจะมีผลทำให้ลูกจ้างยังไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย เพราะถือว่านิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้สิ้นสุดลง หรือนายจ้างยังไม่ได้เลิกจ้าง และนายจ้างก็ยังไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง ลูกจ้างจึงมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33ต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ .และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตนต่อไป”

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจะต้องปฏิบัติอย่างไร? เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้เขียนเห็นว่า โดยทั่วไปเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบุคคลจะมีหน้าที่ดูแลพนักงานหรือลูกจ้างในบริษัท ซึ่งก็คงไม่ใช่เฉพาะการรับลูกจ้างเข้าทำงาน การเลิกจ้าง การทำเงินเดือน หรือการตรวจวัน เวลาทำงาน ลากิจ ลาป่วย การดูแลเรื่องสวัสดิการ หรืออะไรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคล เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะอยู่ตรงกลางระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง เพื่อให้นายจ้างได้รับประโยชน์ในธุรกิจของนายจ้างและให้ลูกจ้างได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นธรรม และมีความสุขจากการทำงาน 

ฝ่ายบุคคลจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเป็นผู้สร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีระหว่างนายจ้างลูกจ้าง โดยเฉพาะการปฏิบัติตามกฎหมายตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุ 60 ปี และนายจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับลูกจ้างในฐานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และลูกจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินสมทบในฐานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ฝ่ายบุคคลก็ควรที่จะชี้แจงข้อกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่าต้องอายุไม่เกิน 60 ปี ในขณะเข้าเป็นลูกจ้างหรือการตกลงจ้างกันใหม่ เว้นแต่ ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างนั้นอยู่แล้วแม้ว่าจะมีอายุเกิน 60 ปีก็ตาม ลูกจ้างจะยังมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป และในกรณีที่สถานประกอบการได้กำหนดระเบียบข้อบังคับ หรือมีข้อตกลงให้ลูกจ้างเกษียณอายุเมื่อมีอายุ 60 ปี นายจ้างลูกจ้างจึงอาจตกลงกันขยายเวลาการจ้างออกไปอีก ซึ่งจะมีผลทำให้ลูกจ้างยังคงเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต่อไป และนายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงตามที่กฎหมายกำหนด 

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจะมีความชัดเจนในการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมทำให้นายจ้างมีความผิดและรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ส่วนลูกจ้างแม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดโทษไว้เช่นเดียวกับนายจ้าง แต่ลูกจ้างก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

Top 5 Contents