กำลังโหลด...

×



HRM / HRD สมรสเท่าเทียม...สิทธิที่ผู้ประกันตนมีอยู่อย่างเท่า...

magazine image
HRM / HRD

สมรสเท่าเทียม...สิทธิที่ผู้ประกันตนมีอยู่อย่างเท่าเทียม

ปรานี สุขศรี

27 ธันวาคม 2567

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยคุ้นชินกับคำว่า “สมรสเท่าเทียม” หรือคู่สมรสที่เป็น “ชาย-หญิง” หรือ“หญิง-หญิง” หรือ “ชาย-ชาย” หลายคนรอคอยและคาดหวังที่จะเห็นความงดงามของสังคมไทยรูปแบบใหม่ เพราะนับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับ การรับรองสิทธิโดยผลของกฎหมาย “การสมรสเท่าเทียม” จะเป็นจริงและย่อมส่งผลทำให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมที่เท่าเทียมและชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับรองสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ในฐานะเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งต้องเข้าใจบริบทใหม่ของสังคมว่า สถาบันครอบครัวจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะนับแต่นี้จะมิได้มีเพียงครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ลูก ที่เจริญเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติเท่านั้น แต่จะเกิดสถาบันครอบครัวอีกรูปแบบหนึ่งที่มีคู่สมรส และ/หรือบุตรที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

ในส่วนของกฎหมายประกันสังคม ซึ่งคุ้มครองผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกันตนและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม จะต้องทำความเข้าใจและมีคำตอบที่ชัดเจนว่า คู่สมรสที่เป็น “หญิง-หญิง” และเป็น “ชาย-ชาย” จะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างไร และหากคู่สมรสดังกล่าวประสงค์จะมี “บุตร” ที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ บุตรของคู่สมรสจะได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะทายาทตามกฎหมายประกันสังคมหรือไม่ ทั้งสิทธิในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย การคลอดบุตร การทุพพลภาพ การตาย การสงเคราะห์บุตร การชราภาพ การว่างงาน เนื่องจากสิทธิบางประเภทเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกันตนโดยเฉพาะ แต่สิทธิบางประเภทเป็นสิทธิของคู่สมรส หรือบุตร หรือทายาทผู้มีสิทธิอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

บทความนี้ ผู้เขียนขอเริ่มต้นแสดงความคิดเห็นเพื่อให้คู่สมรสดังกล่าวได้เห็นความเชื่อมโยงของกฎหมายและการเกิดขึ้นของสิทธิของผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม แต่อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยสิทธิประโยชน์ยังเป็นอำนาจของสำนักงานประกันสังคมที่จะต้องตรวจสอบข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้อีกครั้ง ดังนี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 บัญญัติขึ้นโดยมีเหตุผลว่า “สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่ จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัว หรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ”

โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 แก้ไขตั้งแต่สิทธิในการหมั้นเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ (มาตรา 1435) หากฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนได้ แต่ถ้าฝ่ายผู้รับหมั้นผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายผู้หมั้น (มาตรา 1439)สิทธิในการสมรส เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ศาลอนุญาตให้สมรสก่อนได้ (มาตรา 1448) การสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่กระทำไม่ได้ (มาตรา 1452) คู่สมรสต้องอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน (มาตรา 1461) การสมรสสิ้นสุดเมื่อจดทะเบียนหย่า (มาตรา 1515) การใช้อำนาจปกครองบุตรกรณีคู่สมรสหย่าหรือการอุปการะบุตร (มาตรา 1520 มาตรา 1522) การเป็นทายาทโดยธรรมในการสืบมรดก (มาตรา 1628) และเมื่อจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนี้แล้ว คู่สมรสย่อมเกิดสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฯลฯ เป็นต้น 

ดังนั้น “หญิง-ชาย” หรือ “หญิง-หญิง” หรือ “ชาย-ชาย” จะเกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อ ได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วเท่านั้น

เจตนารมณ์ของการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ดังกล่าว จึงมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาสถาบันครอบครัวในสังคมไทยให้มีความหลากหลายตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหญิง-หญิง หรือชาย-ชาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 และพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 13 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับวันที่ 9 กันยายน 2558 แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มยอมรับความเท่าเทียมและการเกิดขึ้นของสถาบันครอบครัวรูปแบบใหม่มานานแล้วหลายปี

การเริ่มต้นสถาบันครอบครัวนับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป จึงมิใช่จะมีได้แค่เพียงคู่สมรสที่เป็น “ชายและหญิง” เท่านั้น แต่ “หญิง-หญิง” หรือ “ชาย-ชาย” ก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้ แต่สำหรับการเกิดของ “บุตร” จากการสมรสระหว่าง “หญิง-หญิง” หรือ “ชาย-ชาย” ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสืบเผ่าพันธุ์โดยวิธีตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 จึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดสถาบันครอบครัวอย่างสมบูรณ์และเข้มแข็งมากขึ้นสมตามเจตนารมณ์ของการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 เฉกเช่นเดียวกับสถาบันครอบครัวที่มีมาแต่เดิม การเจริญพันธุ์โดย “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์” หมายความว่า “กรรมวิธีใดๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่นำเอาอสุจิและไข่ออกจากร่างกายมนุษย์เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้งการผสมเทียม” จึงเป็น “การเกิด” รูปแบบใหม่ที่จะทำให้เด็กที่เกิดนั้นได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมาย

การเกิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ (1) การตั้งครรภ์แทน (2) ผสมเทียม 

การตั้งครรภ์แทน กระทำได้ 2 วิธี (มาตรา 22) 

(1) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน (หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน) เกิดขึ้นได้เฉพาะคู่สมรสระหว่าง ชาย-หญิง เท่านั้น ถือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสที่เป็นเจ้าของอสุจิและไข่

(2) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่ตั้งครรภ์แทน

การผสมเทียม หมายถึง การนำอสุจิเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง เพื่อให้หญิงนั้นตั้งครรภ์โดยไม่มีการร่วมประเวณี

เด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนของผู้บริจาค โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะกระทำโดยการให้ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย (คู่สมรส-ปพพ.67 ว1) ซึ่งประสงค์จะมีบุตรเป็นผู้ตั้งครรภ์ หรือให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า ให้เด็กนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย (คู่สมรส-ปพพ.67 ว1) ซึ่งประสงค์จะมีบุตร และมีอำนาจปกครองบุตรตามมาตรา 1566 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิ หรือไข่ ซึ่งนำมาปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อตั้งครรภ์หรือผู้บริจาคตัวอ่อน และเด็กที่เกิดดังกล่าวไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก เช่น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2188/2561 วินิจฉัย กรณีชายชาวต่างชาติได้จดทะเบียนสมรสกับชายโดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศสเปน (ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม) โดยว่าจ้างให้นางสาวหนึ่งตั้งครรภ์แทน โดยใช้อสุจิของชายและไข่ของหญิงที่บริจาค ปฏิสนธิกันเป็นตัวอ่อนและฝังในโพรงมดลูกของนางสาวหนึ่ง 

คดีนี้ แม้เป็นกรณีที่ “เด็ก” เกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ใช้บังคับ แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยนำมาตรา 29 บทเฉพาะกาลในมาตรา 56 และมาตรา 1566 วรรคสอง (5) มาวินิจฉัยว่า เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร 

ปัญหา คือ คู่สมรสที่เป็น “หญิง-หญิง” และ “ชาย-ชาย” และจดทะเบียนสมรสตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 จะได้รับสิทธิคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคมอย่างไร?

โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจนถึง (ฉบับที่4) พ.ศ. 2558 ได้ระบุถ้อยคำเกี่ยวกับผู้มีสิทธิ ทั้งคำว่า “ภริยา” “สามี” “สามี-ภริยา” “คู่สมรส” และมาตรา 67 ของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 บัญญัติว่า “บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสามี ภริยา หรือ สามี-ภริยา ให้ถือว่าอ้างถึง “คู่สมรส” ที่จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ด้วย” ดังนั้น ถ้อยคำของกฎหมายประกันสังคม จึงต้องหมายถึง “คู่สมรส” ด้วย 

กรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกันตนที่จะเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือก ถ้าผู้ประกันตนเป็นข้าราชการและเป็นผู้ประกันตนด้วยจะมีสิทธิ “เลือก” ว่าจะใช้สิทธิในทางใดก็ได้ ถ้าเลือกใช้สิทธิจากประกันสังคม ถือว่าไม่มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 (มาตรา 10 วรรคหนึ่ง) แต่ถ้าคู่สมรสเป็นข้าราชการ ผู้ประกันตนต้องใช้สิทธิจากประกันสังคมในฐานะเป็นผู้ประกันตนเท่านั้น แต่ถ้าค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากประกันสังคมต่ำกว่าสิทธิข้าราชการ ก็มีสิทธิจะได้รับตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 ในส่วนที่ขาดอยู่ (มาตรา 10 วรรคสอง)

สิทธิประโยชน์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 2 ประเภท คือ เงินค่าทำศพ กับ เงินสงเคราะห์กรณีตาย คู่สมรส และ/หรือบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย

สิทธิประโยชน์ในกรณีสงเคราะห์บุตร วัตุประสงค์ในการจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนในการเลี้ยงดูบุตร โดยจะต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคู่สมรสมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงย่อมมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 

สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ คือ เงินบำเหน็จชราภาพและเงินบำนาญชราภาพ เป็นสิทธิของผู้ประกันตนโดยเฉพาะ แต่ถ้าผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย คู่สมรสและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ โดยเฉลี่ยตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด 

สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ประกอบด้วยสิทธิ 2 ประเภท คือ (1) ค่าคลอด จ่ายให้กับผู้ตั้งครรภ์ (2) เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร มีวัตถุประสงค์เพื่อชดเชยค่าจ้างของผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับจากที่ต้องหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากหญิงต้องหยุดงานเพื่อการเลี้ยงดูบุตร ย่อมมีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 

สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมดังกล่าวข้างต้น แม้จะยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนในบางกรณี แต่เมื่อกฎหมายประสงค์จะสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัวในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น สำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายประกันสังคม ก็จำต้องกำหนดสิทธิของคู่สมรสและบุตรให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย และถึงแม้ว่าบทความนี้จะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเพื่อนำเสนอให้ผู้ประกันตนได้รู้ ได้เข้าใจในเบื้องต้น และเตรียมพร้อมที่จะรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย 

จึงขอให้คู่สมรสได้รอสำนักงานประกันสังคม ได้มีการกำหนดหรือมีคำอธิบายอีกครั้ง

Top 5 Contents